ครูจีนเสี่ยงไม่ได้พีอาร์เพราะไวรัสตับอักเสบบี

SBS Exclusive: หลังอาศัยอยู่ในซิดนีย์มา 7 ปี ครูชาวจีนคนดังกล่าวได้รับแจ้งว่าเขาอาจไม่ได้รับอนุมัติวีซ่าออสเตรเลียเนื่องจากไม่ผ่านข้อกำหนดด้านสุขภาพสำหรับการขอวีซ่า แม้ว่าค่ายาสำหรับไวรัสตับอักเสบ บีของเขาจะเพียงแค่ “1 ดอลลาร์ต่อวัน” ตอนนี้ เขากำลังเสี่ยงที่จะทำให้สุขภาพของตนแย่ลงโดยหวังว่ารัฐบาลออสเตรเลียจะเปลี่ยนคำตัดสิน

พอล* และครอบครัวอาจต้องกลับประเทศจีน หลังอาศัยอยู่ในออสเตรเลียมา 7 ปี (Supplied)

พอล* และครอบครัวอาจต้องกลับประเทศจีน หลังอาศัยอยู่ในออสเตรเลียมา 7 ปี Source: Supplied

รายการวิทยุ เอสบีเอส ไทย ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

You can read the full article in English

ชายผู้เป็นพ่อชาวจีนผู้หนึ่งได้หยุดกินยาเพื่อควบคุมอาการโรคไวรัสตับอักเสบ บี เพื่อพยายามทำให้เขาและครอบครัวได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในออสเตรเลียต่อไป

พอล* ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อจริง อาศัยอยู่ในซิดนีย์มาตั้งแต่ปี 2012 เมื่อเขา ภรรยาและลูกๆ ได้เดินทางมาด้วยวีซ่านักเรียน

ลูกๆ ของเขาได้รับการศึกษาส่วนใหญ่ในออสเตรเลีย และพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก

จากนั้น พอลเริ่มสอนหนังสือ และได้สมัครขอวีซ่า 186 ที่มีนายจ้างเป็นสปอนเซอร์ ซึ่งจะอนุญาตให้เขาและครอบครัวอาศัยอยู่ในออสเตรเลียได้อย่างถาวร

แต่เมื่อปีที่แล้ว เขาได้พบว่า เขาไม่ผ่านข้อกำหนดด้านสุขภาพเพื่อการย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากเขามีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งสงสัยว่าเขาได้รับมาจากแม่ของเขาตั้งแต่เกิด และการที่เขามีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี นี้เอง ที่ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียประเมินว่าจะทำให้ต้องใช้เงินภาษีประชาชนเป็นจำนวนมากเกินไปเพื่อดูแลสุขภาพของเขา

“ผมรู้สึกเครียดมากกับผลลัพธ์ที่ออกมา ค่ายาของผมนั้นน้อยกว่า 1 ดอลลาร์ต่อวันด้วยซ้ำ” เขาบอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“สิ่งที่ผมวิตกที่สุดคือลูกๆ ของผม เพราะผมอยู่ที่นี่มา 7 ปีแล้ว และพวกเขาได้รับการศึกษาที่นี่ และผมรู้ว่ามันลำบากที่ผมจะพาพวกเขากลับประเทศของผม”
กฎเกณฑ์ด้านสุขภาพเพื่อการอพยพย้ายถิ่นฐานของรัฐบาลนั้น กำหนดให้ผู้สมัครขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลียต้องปราศจากโรคหรืออาการของโรค “ที่มีแนวโน้มจะต้องได้รับการดูแลรักษาด้านการแพทย์ หรือต้องได้รับบริการชุมชน” ซึ่งจะ “ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากแก่ชุมชนของออสเตรเลีย”

ขณะนี้ “เพดานสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ถือว่าเป็นจำนวนมาก” อยู่ที่ 40,000 ดอลลาร์

“หากบุคคลสมมุติผู้หนึ่งในออสเตรเลียที่มีอาการเช่นเดียวกับผู้สมัคร มีความรุนแรงของโรคเช่นเดียวกัน บุคคลนั้นมีแนวโน้มจะต้องการบริการดูแลสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญในระยะยาว รวมทั้งต้องได้รับยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งอาจไม่จำกัดอยู่แค่นั้น” จากข้อความของเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของรัฐบาลที่ระบุเกี่ยวกับกรณีของพอล

ศาสตราจารย์ เบนจามิน โควี แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า ค่ายาต้านเชื้อไวรัสได้ลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะยาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น สำหรับพอลนั้นก่อนหน้านี้เขาได้ซื้อยาเหล่านี้มาจากประเทศจีน แต่นายแพทย์โควีกล่าวว่า ยานี้นั้นมีราคาพอๆ กันในออสเตรเลีย

“หากคุณพยายามซื้อยานี้จากใบสั่งยาส่วนบุคคล ที่ไม่มีเงินชดเชยค่ายาให้จากรัฐบาล ค่ายาอาจมีราคาถูกเพียงแค่ 30 ดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่สำหรับยาตัวเดียวกัน รัฐบาลกำลังจ่ายค่ายาตัวนี้ด้วยราคาสูงกว่าถึง 5 เท่า ในโครงการพีบีเอส [Pharmaceutical Benefits Scheme]” นายแพทย์โควี บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

หากค่ายาต้านเชื้อไวรัสน่าจะอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อเดือนอย่างที่นายแพทย์โควี กล่าว หากพอลมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 50 ปี ค่ายาตัวนี้ของเขาทั้งหมดจะอยู่ที่ 18,000 ดอลลาร์เท่านั้น

“จำเป็นต้องมีการคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านั้นใหม่ และผมขอแนะนำให้มีการตรวจสอบว่าโครงการพีบีเอส จ่ายค่ายาเหล่านี้เท่าไร สำหรับยาที่สามารถสั่งซื้อส่วนตัวได้ในราคาที่ถูกกว่าถึง 5 เท่า” นายแพทย์โควี กล่าว โดยตั้งคำถามว่าความแตกต่างของราคายาได้ถูกนำมาคำนวณในการพิจารณาวีซ่าหรือไม่

กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ได้แจ้งกับเอสบีเอส นิวส์ว่า เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ภายใต้ข้อกำหนดด้านสุขภาพสำหรับการย้ายถิ่นฐาน กระทรวงจะใช้ค่ายาที่รัฐบาลจ่ายให้

“มีแค่ทางเดียว”

หลังจากได้รับแจ้งว่าเขาไม่ผ่านข้อกำหนดด้านสุขภาพ พอลบอกกับแพทย์ของเขาในเดือนกุมภาพันธ์ว่าเขาได้หยุดกินยาต้านเชื้อไวรัสที่เขาได้กินมาตั้งแต่ปี 2006 เพราะเชื่อว่าค่ายาทำให้เขาไม่ผ่านข้อกำหนดด้านสุขภาพ

ขณะนี้ เขากำลังรอผลการตรวจสุขภาพ โดยหวังว่าผลการตรวจะแสดงให้เห็นว่าตับของเขาทำงานได้อย่างปกติโดยไม่ต้องพึ่งการกินยา และหวังว่านี่จะทำให้เจ้าหน้าที่ประเมินด้านสุขภาพกลับคำตัดสิน

“มีเพียงทางเดียว คือถ้าผมพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นได้ว่า หากผมหยุดกินยา แล้วตับของผมยังคงทำงานได้ดี ปริมาณไวรัสในร่างกายอยู่ในระดับต่ำ และมันไม่เป็นไร บางที พวกเขาอาจจะยังคงรับพิจารณาใบสมัครของผม” พอล กล่าว

แต่แม้จะมีความหวัง แต่พอลกล่าวว่า เขากังวลว่าการหยุดยาจะส่งผลต่อสุขภาพเขาอย่างไร
Professor Benjamin Cowie, a physician and expert in hepatitis B at the University of Melbourne, said the cost of antiviral medication has plummeted.
Professor Benjamin Cowie, a physician and expert in hepatitis B at the University of Melbourne, said the cost of antiviral medication has plummeted. Source: SBS News
ด้านนายแพทย์โควี กล่าวว่า ยาต่อต้านเชื้อไวรัสสามารถลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งตับสำหรับประชาชนที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ลงได้ร้อยละ 50 ถึง 70 ในเวลาเพียงไม่กี่ปี

อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่า 3 ใน 4 ของผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใดๆ ในช่วงชีวิตของพวกเขา แต่สำหรับผู้ที่ต้องได้รับการรักษา ยาต้านเชื้อไวรัสที่มีอยู่แพร่หลาย “เป็นโอกาสที่วิเศษ” สำหรับพวกเขา
“การที่บุคคลหยุดการรักษาเพียงพ่อพยายามให้ได้อาศัยอยู่ที่นี่ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริงๆ ที่คนคนหนึ่งหยุดทำสิ่งที่จะช่วยชีวิตตัวเอง เพื่อพยายามอย่างสิ้นหวัง ที่จะสามารถมีร่วมสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมออสเตรเลียได้” นายแพทย์โควี กล่าว

ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นโรคติดเชื้อที่ตับ ซึ่งพบได้ทั่วโลก ในบางกรณี เชื้อนี้อาจทำให้ตับอักเสบเรื้อรัง อาจเป็นมะเร็งที่ตับ หรือตับล้มเหลวได้ หากไม่มีการเฝ้าติดตามดูอาการ

ในออสเตรเลีย คาดว่ามีผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อนี้ราว 230,000 คน เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถติดต่อกันได้ทางเลือด และจากเพศสัมพันธ์ แต่ไม่ติดต่อกันผ่านอาหาร น้ำ หรือการสัมผัสทั่วไป หรือการไอ และจาม

การปฏิเสธวีซ่าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากไวรัสตับอักเสบ บี

จากข้อมูลของนายแพทย์โควี เขากล่าวว่า เพิ่ง 5 ปีมานี้เอง ที่ประชาชนที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธวีซ่าของออสเตรเลีย เนื่องจากการที่พวกเขามีเชื้อนี้

เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ผู้ที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อ หรือรายงานอาการของตน นั่นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลีย

“แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 2-3 ปีมานี้ มีคนจำนวนมากเมื่อพวกเขาแจ้งให้รัฐบาลทราบจากข้อกำหนดการขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร หรือพวกเขาได้รับการตรวจและพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรเพราะเหตุผลที่ว่า” นายแพทย์โควี กล่าว

ไม่แน่ชัดว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่นายแพทย์โควี กล่าวว่า อาจเป็นเพราะมีความตระหนักรู้มากขึ้นถึงทางเลือกในการรักษาสำหรับประชาชนเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี

ด้านโฆษก กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย กล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านสุขภาพ ที่ทำให้มีจำนวนผู้สมัครขอวีซ่าไม่ผ่านข้อกำหนดมากขึ้น และระบุว่านโยบายปัจจุบันของกระทรวงไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครที่มีความพิการทุกพลภาพ หรือมีโรค หรือทั้งสองอย่างประกอบกัน อาการความเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่าผู้สมัครจะไม่ผ่านข้อกำหนดด้านสุขภาพ

ในสถานการณ์ของพอลนั้น มีความเป็นไปได้ที่ผลการตรวจของเขาจะแสดงให้เห็นว่าร่างกายของเขาทำงานได้เป็นปกติโดยไม่ต้องใช้ยาต้านเชื้อไวรัส หากผลการตรวจชี้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา และร่างกายของเขามีแนวโน้มที่จะอยู่ในสภาพเช่นนี้ตลอดไป ก็เป็นไปได้ว่าค่ารักษาพยาบาลของเขาน่าจะถูกคำนวณว่าต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์ และกระทรวงอาจพลิกคำตัดสินก่อนหน้านี้ ที่ไม่อนุมัติให้เขาเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร

นายแพทย์โควี ระบุว่า นี่ไม่ใช่เฉพาะกรณีของพอล แต่ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบ

“การตัดสินใจของกระทรวงควรต้องปรับปรุงให้ทันกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมด้านการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน และสิ่งที่เราเห็นว่ากำลังเกิดขึ้นกับโรคไวรัสตับอักเสบ บี เพื่อที่ว่า เราจะไม่ปฏิเสธโอกาสสำหรับผู้คนต่อไป โอกาสที่พวกเขาจะได้ร่วมสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมออสเตรเลีย เพียงแค่พวกเขามีอาการทางสุขภาพ ที่พวกเขาเป็นมาตั้งแต่เกิด”

*ชื่อสมมุติ

เอสบีเอส ไทย: นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลักกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับประเทศไทยคาดว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรังราว 2.2-3 ล้านคน (ข้อมูลปี 2017)

ด้านสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย เผยว่า ในประเทศไทยความชุกการของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อยู่ที่ 5-8 เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นอัตราการติดเชื้อที่สูงกว่าโรคติดเชื้อที่อันตรายอื่นๆ เช่นโรคเอดส์ หรือโรคมะเร็งบางชนิด แต่ประชาชนกลับให้ความสนใจป้องกันและรักษาโรคตับอักเสบน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ยังคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว

Share
Published 18 June 2019 12:04pm
Updated 19 June 2019 10:59am
By Maani Truu
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends