อเล็กซานดราเฉียดสูญเงินบน Facebook Marketplace เธอรอดมาได้อย่างไร

เตือนคนซื้อและประกาศขายของผ่าน Facebook Marketplace หรือ Gumtree ระวังกลลวงดูดเงินจากเหล่ามิจฉาชีพที่กำลังระบาดหนักจากการใช้ระบบรับชำระเงิน PayID

FACEBOOK MARKETPLACE SCAM

Melbourne resident Alexandra Duffin was almost the victim of a scam on Facebook Marketplace.

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • ธนาคารในออส ฯ เตือนประชาชนเกี่ยวกับการหลอกลวงรูปแบบใหม่ตามช่องทางประกาศขายของออนไลน์
  • หญิงจากเมลเบิร์นคนหนึ่งเกือบสูญเงิน 500 ดอลลาร์ ให้กับผู้ซื้อที่หวังหลอกลวง
  • หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคเผยว่า มีหลายวิธีที่สามารถป้องกันตัวเองได้ในฐานะผู้ซื้อ แนะใช้ PayPal-บัตรเครดิต
อเล็กซานดรา ดัฟฟิน (Alexandra Duffin) ต้องการเพียงที่จะขายคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของเธอผ่าน Facebook Marketplace จนกระทั่งมีข้อความหนึ่งขึ้นมาในแช็ตของเธอ

“ยังมีขายอยู่ไหม”

หญิงวัย 29 ปีคนนี้ตอบว่าใช่ และแจ้งผู้ซื้อว่าเธอทำที่ชาร์จคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเครื่องนี้หายไป

“เธอ (ผู้ซื้อ) บอกว่า ‘ไม่เป็นไร ขอที่อยู่รับของหน่อย’” คุณดัฟฟิน กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

ทั้งสองนัดรับของที่ร้านอาหารในท้องถิ่นแห่งหนึ่ง แต่ผู้ซื้อบอกเธอว่าไม่สามารถไปพบกันตัวต่อตัวได้ แต่จะให้พี่น้องของเธอไปรับแทน และพวกเขาต้องการที่จะรับเงินผ่าน PayID

PayID คือข้อมูลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ อย่างเช่น หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือหมายเลขเอบีเอ็น (ABN) ของธนาคาร ที่ผู้คนสามารถใช้เพื่อรับการชำระเงินได้

ต่อมา ผู้ซื้อต้องการให้เธอตั้งค่าบัญชี PayID ในตอนแรก คุณดัฟฟินรู้สึกสับสน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกสงสัยอะไร
เธอ (ผู้ซื้อ) บอกว่า ‘ฉันจะจ่ายเงินผ่านบัญชีธุรกิจของครอบครัว และฉันต้องการอีเมลจากผู้ขายเพื่อในการยืนยันการชำระเงิน’
คุณดัฟฟิน กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
“และเธอก็ส่งภาพแคปหน้าจอวิธีการกรอกอีเมล (ในตอนนั้น) มันดูถูกต้องตามกฎหมาย”
Facebook messages.
การสนทนาระหว่างคุณดัฟฟินและสแกมเมอร์ที่อ้างว่าตนเป็น "ผู้เกรงกลัวต่อพระเจ้า"
คุณดัฟฟินให้ที่อยู่อีเมลของเธอไป ซึ่งต่อมาเธอได้รับสิ่งที่ดูเหมือนเป็นสเตทเมนท์ธนาคาร ภายในแสดงชื่อของเธอ และจำนวนเงินตามที่มีการทำธุรกรรม แต่ในภาพแคปหน้าจออันเดียวกันกลับมีสิ่งที่ปรากฏว่าเป็น “การชำระเงินที่ต่างออกไป” ซึ่งทำให้คุณดัฟฟินรู้สึกสงสัย

อีกสิ่งที่ส่อเค้าว่าการซื้อขายครั้งนี้จะมีปัญหา นั่นก็คือเมื่อผู้ซื้อบอกว่า พวกเขาจะส่งเงินให้กับคุณดัฟฟินมากกว่าราคาที่เธอเสนอขายในตอนแรก
เธอ (ผู้ซื้อ) บอกว่า ‘ฉันจำเป็นต้องส่งเงินเพิ่มให้อีก 500 ดอลลาร์ ซึ่งจะรวมกันทั้งหมดเป็น 1,200 ดอลลาร์เข้ามาในบัญชีของคุณในทันที และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณต้องส่งเงินคืนฉันมา 500 ดอลลาร์’
คุณดัฟฟิน อินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย เล่าต่อว่า หลังจากนั้น เธอได้รับอีเมลพร้อมกับภาพแคปหน้าจอที่ดูเหมือนจะยืนยันว่าเงิน 500 ดอลลาร์ได้อยู่ในบัญชีของเธอ แต่หลังจากนั้นผู้ซื้อก็ขอเงินคืน
หลังจากที่ฉันดูอีเมลฉบับนั้น และมันขึ้นว่าเป็นบัญชีผู้ใช้งานของ Gmail ฉันรู้ได้ทันทีว่านี่เป็นการหลอกลวง
“เราทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า บริษัทใหญ่ ๆ ไม่ใช่ Gmail กันหรอก”

“ฉันพิมพ์กลับไปว่า ‘น่าไม่อายจริง ๆ’ แล้วเธอก็ออกจากกลุ่มไปทันที ฉันบล็อกเธอไปแล้ว”

มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่บอกเล่าถึงสถานการณ์ในลักษณะเดียวกันของการใช้ PayID หลอกลวงผู้ขายที่ลงประกาศผ่านช่องทางในโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงเว็บไซต์โฆษณาขายของออนไลน์อย่าง Gumtree

การหลอกลวงด้วย PayID ทำงานอย่างไร

เฮอร์ริเทจ แบงก์ (Heritage Bank) ได้ประกาศแจ้งเตือนไปยังลูกค้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเตือนว่าการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวทำงานอย่างไร

ประกาศของธนาคารระบุว่า ผู้ซื้อที่ไม่ซื่อสัตย์จะบอกผู้ขายว่า พวกเขาไม่สามารถไปพบกับผู้ขายแบบตัวต่อตัวได้ โดยจะส่งคนรู้จัก หรือญาติของพวกเขาไปรับของแทน

“จากนั้น สแกมเมอร์ก็จะส่งอีเมล PayID ปลอมให้กับผู้ขาย”
อีเมลปลอมนี้จะระบุว่า มีปัญหาในการรับการชำระเงิน เนื่องจากมีการกำหนดวงเงินที่สามารถชำระได้สำหรับบัญชี PayID ที่ไม่ใช่บัญชีธุรกิจ
“ผู้ขายจะต้องทำการโอนเงินเพื่อเพิ่มวงเงิน PayID เสียก่อน เพื่อให้รับการชำระเงินได้ ทันทีที่ขั้นตอนนี้เสร็จสิ้น พวกเขาจะสัญญาว่าผู้ขายจะได้รับเงินคืน รวมถึงได้รับการชำระเงินจากผู้ซื้อ”

“แต่อันที่จริงแล้ว ผู้ขายที่ไม่ทันระวังตัวได้ถูกหลอกให้จ่ายเงินให้สแกมเมอร์ไปแล้ว”

จะปกป้องตนเองจากการหลอกลวงได้อย่างไร

องค์กรเพื่อผู้บริโภคของออสเตรเลีย ระบุว่า สิ่งสำคัญในการหลีกเลี่ยงจากสแกมเมอร์ นั่นคือการสื่อสารและการทำธุรกรรมการเงินในแพลตฟอร์มที่ปลอดภัย

“ผู้คนจำนวนมากรายงานการสูญเงินหลังติดต่อกับสแกมเมอร์ผ่านทางอีเมล เพื่อเจรจาซื้อขายผ่านทางตลาดดิจิทัล” โฆษกคณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันทางการค้าและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
สแกมเมอร์มักขอชำระเงินผ่านช่องทางบัตรของขวัญที่เติมเงินแล้ว การโอนเงินผ่านธนาคารหรือโอนเงินระหว่างประเทศ และการชำระด้วยสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตฯ) ซึ่งทำให้การกู้คืนเงินนั้นทำได้ยากขึ้น ทั้งนี้ ACCC ได้แนะนำให้ใช้ช่องทางรับชำระเงินทาง PayPal หรือบัตรเครดิต

นอกจากนี้ ACCC ยังเตือนให้ระวังของที่ราคาต่ำมาก ๆ ซึ่งบ่อยครั้งจะต่ำกว่าราคาของที่เทียบเคียงหรือของประเภทเดียวกันในเว็บไซต์อื่น ๆ
ใจเย็น ๆ และพิจารณาว่าการขายนั้นฟังดูดีเกินจริงหรือไม่
โฆษก ACCC กล่าว

หากถูกหลอกแล้วจะทำอย่างไร

หากคุณคิดว่าตกเป็นเหยื่อของสแกมเมอร์ ACCC แนะนำให้คุณติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินของคุณในทันทีที่ทำได้ และยังแนะนำให้คุณติดต่อแพลตฟอร์มที่คุณถูกหลอกลวง และแจ้งให้พวกเขาทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“บอกเพื่อนและครอบครัวของคุณ การแบ่งปันประสบการณ์ของคุณจะช่วยให้พวกเขาสามารถให้การสนับสนุนได้ และคุณก็สามารถช่วยปกป้องพวกเขาจากสแกมเมอร์ได้” โฆษก ACCC ระบุ

มีการรายงานการหลอกลวงมากกว่า 10,000 ครั้งเมื่อปี 2022 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 8 ล้านดอลลาร์ในออสเตรเลียเพียงอย่างเดียว

สำหรับคุณดัฟฟิน เธอกล่าวว่า ประสบการณ์ที่พบเจอยังทำให้เธอหวั่นใจ

“พอฉันจะขายอะไร พอฉันจะไปที่ไหน และต้องรู้ว่ามีคนแบบนี้อยู่ข้างนอกเนี่ยนะ?”

คุณดัฟฟิน เล่าอีกว่า เธอได้รับข้อความจำนวนหนึ่งจากผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกหลายคนที่เสนอราคาสำหรับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของเธอ แต่คุณดัฟฟินไม่ได้ตอบกลับไป

ทั้งนี้ เอสบีเอส นิวส์ ได้ติดต่อไปยัง PayID ผ่านบริษัท นิว เพย์เมนต์ แพลตฟอร์ม (New Payment Platform) เพื่อขอความคิดเห็น แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับใด ๆ

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 16 January 2023 3:57pm
By Tom Canetti
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends