ร้านอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่แฟร์เวิร์คจับตา

NEWS: แฟร์เวิร์คประกาศจับตาบางอุตสาหกรรมเป็นพิเศษในปีนี้ ซึ่งจะรวมทั้งอุตสาหกรรมร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านฟาสต์ฟูด และอุตสาหกรรมการเกษตร และอื่นๆ เพื่อปราบปรามการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานในออสเตรเลีย

Restaurant

The image is for representation only. Source: Pixabay

รายการวิทยุ เอสบีเอส ไทย ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

You can read the full article in English

นางซานดรา พาร์เคอร์ ผู้ตรวจการแผ่นดินที่เป็นธรรม หรือแฟร์ เวิร์ค ออมบัดส์แมน ประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ (3 มิ.ย.) ถึงวาระสำคัญขององค์กรในปีนี้ ซึ่งจะเป็นแนวทางกำหนดการทำงานขององค์กรในด้านการสอดส่องดูแลให้บรรดานายจ้างทั่วประเทศทำตามข้อกำหนดและกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงาน

นางพาร์เคอร์ กล่าวเรื่องนี้ในการประชุม แอนนวล เนชันแนล โพลิซี อินฟลูเอนซ์ รีฟอร์ม ประจำปี 2019 ที่กรุงแคนเบอร์รา

“ขณะที่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้กำกับดูแลกฎระเบียบที่จะสร้างความสมดุลระหว่างการใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายและให้ได้ผลลัพธ์อย่างทันท่วงที แต่ฉันก็ตระหนักดีว่ารัฐสภาได้ให้อำนาจและทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้นกับเรา ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับเราที่จะส่งสารอย่างแข็งขันออกไปเพื่อป้องปรามผู้ที่จ้องจะละเมิดกฎหมาย”

ในปีการเงิน 2019/2020 นี้ อุตสาหกรรมและประเด็นที่แฟร์เวิร์ค ออมบัดส์แมน จะจับตาดูเป็นพิเศษได้แก่:

  • ร้านอาหารฟาสต์ฟูด ร้านอาหาร และร้านกาแฟ
  • อุตสาหกรรมการเกษตรและการเก็บเกี่ยวผลผลิต
  • อุตสาหกรรมโซ่อุปทาน (supply chain) ที่มีความเสี่ยง
  • ร้านแฟรนไชส์
  • การทำสัญญาลวงเพื่อบังหน้า (sham contracting)
นางพาร์เคอร์ กล่าวว่า ลูกจ้างที่มีความเสี่ยงมากกว่าปกติที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจะเป็นกลุ่มที่องค์กรให้ความสำคัญ รวมทั้งประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจ การกระทำที่เป็นการละเมิดกฎหมายอย่างอุกอาจ หรือเป็นการกระทำผิดที่ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างและชุมชนเป็นวงกว้าง
“เราจะใช้อำนาจใหม่ที่เราได้รับ และจะเปิดเผยชื่อของนายจ้างที่ละเมิดกฎหมายให้รู้ทั่วกัน เพื่อส่งสารออกไปว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับให้เกิดขึ้นไม่ได้ สำหรับการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด หรือการกดขี่ลูกจ้างไม่ให้ได้รับสิทธิอันพึงได้รับ นายจ้างผู้ใดที่ทำเช่นนั้นจะถูกเปิดโปง” นางพาร์เคอร์ ประกาศ

“หากลูกจ้างมาหาเรา และบอกเราว่าพวกเขาไม่ได้รับเงินค่าจ้าง และนายจ้างทำให้พวกเขาต้องไล่ตามเงิน เรามีอำนาจที่จะสั่งให้นายจ้างแสดงบันทึกการจ่ายค่าจ้างได้ หากบันทึกเหล่านั้นบกพร่อง เราสามารถออกใบแจ้งการปรับได้ และหากเจ้าหน้าที่ตรวจการเรามีเหตุผลที่ทำให้น่าเชื่อว่ากำลังมีการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่ตรวจการของเราสามารถออกใบแจ้งให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายได้”

เธอกล่าวต่อไปว่าองค์กรจะมุ่งเน้นมากขึ้นในการออกใบแจ้งให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่นายจ้างที่ทำผิด เพื่อแก้ปัญหาการจ่ายค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และการละเมิดอัตราค่าจ้างของอุตสาหกรรมต่างๆ และละเมิดมาตรฐานการจ้างงานแห่งชาติ

“หากนายจ้างได้รับใบแจ้งให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องแก้ไขการปฏิบัติในธุรกิจของตนให้ถูกต้อง เราจะทำให้ใบแจ้งเหล่านั้นซับซ้อนน้อยลงเพื่อให้นายจ้างเข้าใจว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างไร แต่หากพวกเขาไม่ทำตามเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้ในใบแจ้ง แฟร์ เวิร์ค ออมบัดส์แมน จะไม่ลังเลที่จะส่งเรื่องขึ้นศาล เพื่อให้นายจ้างผู้นั้นได้รับบทลงโทษ”

“หากคุณอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านั้นที่เราจับตามอง หรือดูแลธุรกิจแฟรนไชส์ หรือจ้างลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นจำนวนมาก ขอให้คาดหวังได้เลยว่าคุณจะได้รับการติดต่อจากเรา” นางพาร์เคอร์ ผู้ตรวจการแผ่นดินที่เป็นธรรม กล่าวทิ้งท้าย

Share
Published 24 June 2019 3:10pm
Presented by SBS Thai
Source: Fair Work Ombudsman


Share this with family and friends