บิดาสาวซาอุฯ ซึ่งต้องการขอลี้ภัยที่ออสเตรเลียเดินทางถึงกทม. แล้ว

NEWS: การมาเยือนของครอบครัวได้เกิดขึ้นขณะเดียวกันกับที่ออสเตรเลียกล่าวว่าจะพิจารณากรณีของ ราฮาฟ โมฮัมเมด อัล-คูนุน อย่างถี่ถ้วน

Image of Rahaf Mohammed Al-Qunun by AAP

นายฟิล โรเบิร์ตสัน จากกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า บิดาและพี่ชายของเธอนั้น เป็น “ญาติผู้ชายซึ่ง (นางสาวคูนุน) หวาดกลัวมากที่สุด” Source: AAP

You can read the full version of this story in English on SBS News .

บิดาและพี่ชายของหญิงสาวชาวซาอุดิอาระเบียซึ่งกำลังข้อลี้ภัยมายังประเทศออสเตรเลียได้เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครแล้วเมื่อวานนี้  (8 ม.ค.) โดยต้องการที่จะเยี่ยมเยือนสตรีวัย 18 ปีคนดังกล่าว

โดยที่ราฮาฟ โมฮัมเมด อัล-คูนุน ขณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ซึ่งกล่าวว่าจะใช้เวลาประมาณห้าวันในการประเมินคำขอความช่วยเหลือของเธอ หลังจากที่เธอกล่าวว่าเธอนั้นหวาดกลัวว่าครอบครัวของเธอจะสังหารเธอถ้าหากว่าเธอถูกส่งกลับบ้าน
Rahaf Mohammed al-Qunun in Bangkok.
Rahaf Mohammed Alqunun has been found to be a refugee. Source: AAP
หัวหน้าการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทยนายสุรเชษฐ์ หักพาล กล่าวว่า บิดาและพี่ชายของเธอนั้นจำเป็นจะต้องรอคอยก่อนที่จะทราบว่าตัวแทนผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติจะอนุญาตให้พวกเขาเข้าพบหรือไม่

“บิดาและพี่ชายต้องการที่จะพูดคุยกับราฮาฟ แต่ทางสหประชาชาติจำเป็นจะต้องอนุมัติการสนทนาดังกล่าว” พล. ต. ท. สุรเชษฐ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

รัฐบาลออสเตรเลียได้กล่าวเมื่อวานนี้ว่า จะพิจารณาคำขอลี้ภัยอย่างสิ้นหวังของหญิงสาวชาวซาอุฯ อายุ 18 ปีคนดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีที่เป็นที่สนใจของทั่วโลก

“รัฐบาลออสเตรเลียรู้สึกยินดีที่คำร้องขอความคุ้มครองของนางสาวราฮาฟ โมฮัมเมด อัล-คูนุน นั้นกำลังถูกประเมินโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์)” โฆษกของกระทรวงมหาดไทยคนหนึ่งกล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“รัฐบาลฯ ได้ส่งตัวแทนไปยังรัฐบาลไทยและสำนักงานกรุงเทพมหานครของยูเอ็นเอชซีอาร์แล้ว เกี่ยวกับความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีนี้ และในเรื่องความจำเป็นที่คำร้องของนางสาวอัล-คูนุนนั้นจะต้องได้รับการประเมินอย่างเร่งด่วน” โฆษกคนดังกล่าวเผย

“การยื่นขอวีซ่าด้านมนุษยธรรมของนางสาวอัล-คูนุนนั้นจะได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เมื่อกระบวนการของทางยูเอ็นเอชซีอาร์ได้เสร็จสิ้นลง”

“ไม่ว่าใครก็ตามจะมีวีซ่านักท่องเที่ยวหรือไม่ จะไม่มีผลต่อการประเมินนี้”

ในช่วงเช้าวานนี้ มีผู้สนับสนุนหญิงสาวชาวซาอุฯ วัย 18  ปีคนดังกล่าว ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อกล่าวว่าวีซ่าของเธอนั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

โดยเป็นการตอบโต้ ผู้อำนวยการของกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลีย นางอีเลน เพียร์สัน กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนว่า “ถ้าหากว่าวีซ่าของเธอถูกยกเลิก นั่นก็จะน่าวิตกอย่างยิ่ง”

“เธอไม่ปลอดภัยที่ประเทศไทย ... ดิฉันไม่คิดว่าเธอจะปลอดภัยอย่างแท้จริงได้จนกว่าจะไปถึงประเทศที่สาม”

นางสาวอัลคูนุนถูกปล่อยตัวให้อยู่ในการดูแลของสหประชาชาติเมื่อเย็นวานนี้ หลังจากที่มีความขัดแย้งอย่างยาวนานกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทย



เธอถูกกักตัวอยู่ในห้องโรงแรมแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ หลังจากที่ถูกหยุดยั้งโดยเจ้าหน้าที่ทางการทูตของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งอ้างว่าเธอนั้นไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง

วุฒิสมาชิกของพรรคกรีนส์ นางสาวซาราห์ แฮนสัน-ยัง ได้เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียลงมือ “อย่างรวดเร็ว” เพื่อพยายามให้แน่ใจว่า นางสาวอัลคูนุนนั้นจะได้เป็นผู้ลี้ภัยในประเทศออสเตรเลียในที่สุด

นางสาวแฮนสัน-ยังกล่าวว่า ออสเตรเลียควรจะให้ “สถานที่อันปลอดภัย” กับนางสาวอัลคูนุน เพื่อที่เธอจะได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศซึ่ง “เคารพสตรีและหญิงสาว”
คำเรียกร้องของวุฒิสมาชิกแฮนสัน-ยังนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลออสเตรเลียเปิดเผยว่า ได้ส่งตัวแทนไปยังรัฐบาลไทยในนามของนางสาวอัลคูนุน เพื่อช่วยให้แน่ใจว่าเธอนั้นสามารถเข้าถึงกระบวนการของผู้ลี้ภัยภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติได้

“คำกล่าวอ้างต่างๆ ของนางสาวอัลคูนุนว่าเธอจะเป็นอันตรายหากถูกส่งกลับไปยังซาอุดิอาระเบียนั้นเป็นที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

เรื่องในครอบครัว

ประเทศไทยนั้นไม่ได้ลงนามต่อสนธิสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ และผู้ขอลี้ภัยนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะถูกเนรเทศหรือต้องรอคอยเป็นเวลาหลายปีเพื่อที่จะได้รับการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติยืนกรานว่า ผู้ใดก็ตามซึ่งมีคำกล่าวอ้างขอลี้ภัย ไม่ควรจะถูกส่งกลับไปยังประเทศที่พวกเขาหลบหนีมา ภายใต้หลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม (non-refoulement)

ในการแถลงต่อสื่ออย่างสั้นๆ ซึ่งได้รับการเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนบริเวณด้านนอกสถานทูตที่กรุงเทพมหานครเมื่อวานนี้  รัฐบาลซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า ทางรัฐบาลไม่ได้เรียกร้องให้มีการส่งตัวเธอกลับ โดยเสริมว่ากรณีดังกล่าวเป็น “เรื่องในครอบครัว” แต่ว่าก็อยู่ภายใต้ “การดูแลและควานสนใจ” ของทางสถานทูต

ในคำอธิบายแยกต่างหากก่อนหน้านี้ซึ่งเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ ทางสถานทูตยังได้ปฏิเสธเรื่องการส่งเจ้าหน้าที่ไปยังสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อพบกับนางสาวอัลคุนูนในขณะที่เธอเดินทางมาถึง หรือในเรื่องการริบหนังสือเดินทางของเธอ -- ตามที่เธอได้กล่าวอ้าง

ทางสถานทูตยังกล่าวว่าได้ติดต่อกับบิดาของเธอ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสส่วนภูมิภาคในราชอาณาจักร “เพื่อแจ้งให้เขาทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ของเธอ”

หัวหน้าด้านการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทย นายสุรเชษฐ์ หักพาล กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า บิดาและพี่ชายของนางสาวอัลคูนุนได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อเช้าวานนี้

เขากล่าวว่า เขาจะเจรจากับตัวแทนผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สมาชิกครอบครัวจะพบกัน

“นางสาวราฮาฟไม่ใช้กรณีผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง” เขายืนยัน “มันไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่อย่างใด”

เขาเสริมว่า รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย “เห็นชอบว่าควรมีการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของราฮาฟเป็นอันดับแรก”

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้เผยแพร่รูปถ่ายของนายสุรเชษฐ์และทีมงานซึ่งนั่งร่วมกับหัวหน้ากิจการของสถานทูตซาอุดิอาระเบีย นายอับดุลลาห์ โมฮามเม็ด อัลเชบี

นายฟิล โรเบิร์ตสัน จากกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า บิดาและพี่ชายของเธอนั้น เป็น “ญาติผู้ชายซึ่ง (นางสาวคูนุน) หวาดกลัวมากที่สุด” และ “อาจทำร้ายร่างกายเธอในความพยายามที่จะบังคับให้เธอกลับไป” โดยเขาได้ติดต่อกับเธอตั้งแต่เธอเริ่มทำการส่งทวีตสดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เขากล่าวว่า “เธอเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งได้หลบหนีกฎหมายการ ‘คุ้มครอง’(guardianship) อันกดขี่และแบ่งแยกของซาอุดิอาระเบีย และชายเหล่านี้จำเป็นต้องตระหนักว่ากฎต่างๆ ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว” โดยเสริมว่า มันจะเป็น “การตัดสินใจของเธอเพียงคนเดียวเท่านั้น” ว่าจะพบกับพวกเขาหรือไม่

นางสาวคูนุนได้กล่าวไว้ว่า เธอเชื่อว่าจะถูกกุมขังหรือสังหารหากถูกส่งกลับ และครอบครัวของเธอนั้นก็เข้มงวดมาก โดยพวกเขาได้เคยล็อกเธอไว้ในห้องเป็นเวลาหกเดือนเนื่องจากเธอตัดผม

มีการลงรายชื่อบนเว็บไซต์ Change.org เพื่อให้มีการให้นางสาวคูนุนนั้นลี้ภัยไปยังประเทศอังกฤษ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็มีผู้ลงนามกว่า 80,000 รายมือชื่อแล้ว
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 9 January 2019 12:21pm
Updated 18 January 2019 10:41am
By Riley Morgan
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS News, AAP, Twitter


Share this with family and friends