พฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัว 36 ข้อต่อไปนี้ ข้อใดที่คุณมี?

เมื่อผู้ชายที่มีประวัติใช้ความรุนแรงในครอบครัวลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์กร รีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย นี่คือรายการตรวจประเมิน หรือเชกลิตส์ ที่พวกเขาจำเป็นต้องกรอก

 

You can read the full article in English

เมื่อเรานึกถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว คนส่วนใหญ่จะคิดถึงการทำร้ายร่างกาย แต่คุณไมเคิล ไรลีย์ เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาอาวุโสของ รีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย (Relationships Australia) บอกกับ เดอะ ฟีด (The Feed) ว่า ความรุนแรงในครอบครัวนั้นครอบคลุมพฤติกรรมการข่มเหงที่หลากหลาย และการที่สามารถชี้ได้แต่เนิ่นๆ ว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมของ ‘การใช้อำนาจควบคุมคนในครอบครัว’ ก็อาจช่วยรักษาชีวิตผู้คนไว้ได้มากมาย

“อาจเป็นการที่ผู้ชายไม่ยอมให้ภรรยาของเขาออกไปข้างนอกกับเพื่อนของเธอในคืนวันศุกร์ หรือการเฝ้าดูและจำกัดการซื้อของของภรรยาที่ซื้อให้ครอบครัวของเธอ ผู้ชายจำเป็นต้องถามตนเองว่า ‘เหตุใดผมจึงจำเป็นต้องพยายามควบคุมความสัมพันธ์ มีอะไรผิดปกติกับผม และผมจะสามารถปล่อยวาง ไม่เข้าไปควบคุมได้อย่างไร?’”

และเป็นฝ่ายผู้ชายที่จำเป็นต้องถามคำถามที่ยากจะตอบนี้กับตนเอง คุณไรลีย์ กล่าว “ขณะที่มีผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ก่อเหตุความรุนแรงในครอบครัว แต่จากสถิติชี้ว่านี่ส่วนใหญ่เป็นปัญหาของผู้ชาย”

เจอร์รี เป็นชายผู้หนึ่งที่เข้าร่วมการบำบัดกลุ่มกับ รีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย และนี่คือสิ่งที่เขาบอกกับเดอะ ฟีด เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขา:

“มันน่าสนใจมากทีเดียวที่เห็นผู้ชายหน้าใหม่ๆ เข้ามา (ในกลุ่มบำบัด) และบอกทำนองว่า ‘นี่ ผมต่อยหน้าเธอที่ไหนกัน ผมแค่ใช้ฝ่ามือตบเธอเท่านั้นเอง’ หรือบอกทีก็บอกว่า ‘ผมไม่ได้ปาแก้วใส่เธอ ผมแค่ปาใส่ผนังห้องข้างๆ เธอแค่นั้น มันไม่ได้เป็นการใช้ความรุนแรงอะไร เป็นแค่ผมระบายความอัดอั้นใจเท่านั้นแหละ’ นั่นเป็นรูปแบบของการพูดกลบกลื่นที่พบได้บ่อยในหมู่ผู้ชาย พวกเราใช้สิ่งที่พวกเราต้องการฟังบอกกับตัวเอง เพื่อจะได้ทนยอมรับพฤติกรรมแย่ๆ ของตัวเองได้”

สำหรับคุณผู้ชายเมื่อคุณอ่านรายการตรวจประเมิน หรือเชกลิตส์ ข้างล่างนี้ ขอให้คุณถามตัวเองว่า ‘คุณเคยมีพฤติกรรมแบบนั้นไหมสักครั้งหนึ่ง หรือมากกว่านั้น และแสดงพฤติกรรมนี้กับใคร?’

สำหรับคุณผู้หญิง ต้องถามตัวเองดูว่าคู่ครองของคุณเคยมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเหล่านี้บ้างหรือไม่

เชกลิสต์ตรวจประเมินพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัว

  1. ตบตี/คว้าหรือกระชากตัวเข้ามา/ต่อย
  2. ขว้างปาสิ่งของให้แตก/ปาสิ่งของใส่
  3. ต่อยผนัง/ทุบโต๊ะ
  4. ใช้สายตา สีหน้า การกระทำ และท่าทาง เพื่อทำให้เธอรู้สึกเกรงกลัว
  5. ทำลายสิ่งของของเธอ
  6. ทำร้ายสัตว์เลี้ยง
  7. เอาอาวุธมาแสดงให้เห็น
  8. พยายามทำให้เธอรู้สึกผิดที่ไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์กับคุณ
  9. มีเพศสัมพันธ์กับเธอขณะที่เธอนอนหลับ หรือหมดสติจากการเมาสุรา
  10. ขู่เข็ญให้เธอมีเพศสัมพันธ์กับคุณ
  11. ขู่ที่จะฆ่าตัวตาย
  12. พยายามทำให้เธอถอนการแจ้งความกับตำรวจ
  13. พยายามทำให้เธอถอนการดำเนินคดีกับคุณ
  14. พูดจาให้เธอรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง หรือหมดกำลังใจ
  15. จับตาดูการใช้โทรศัพท์มือถือของเธอ
  16. ตำหนิเกี่ยวกับรูปร่างหรือร่างกายของเธอ
  17. ทำให้เธอคิดว่าตัวเธอเองเสียสติ
  18. กำหนดเงินใช้จ่ายให้เธอใช้
  19. ทำให้เธอรู้สึกผิด
  20. ควบคุมว่าใครที่เธอสามารถพบได้บ้าง
  21. ควบคุมสิ่งที่เธออ่าน
  22. ควบคุมว่าเธอสามารถไปไหนได้บ้าง
  23. ไม่ยอมให้เธอมีใบขับขี่ หรือไม่ยอมให้เธอมีรถใช้
  24. ใช้การหึงหวงเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมคุณจึงมีพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น
  25. มองว่าพฤติกรรมการข่มเหงของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร มองว่าความวิตกของเธอไม่ใช่เรื่องสำคัญ
  26. กล่าวโทษเธอเกี่ยวกับพฤติกรรมการข่มเหงของคุณ
  27. กล่าวโทษยาเสพติด หรือสุราว่าทำให้คุณมีพฤติกรรมการข่มเหงเหล่านั้น
  28. กีดกันไม่ให้เธอได้งานทำ หรือกีดกันไม่ให้เธอทำงานต่อไปได้
  29. ทำให้เธอต้องขอเงินจากคุณ
  30. ไม่ให้เธอรู้ หรือไม่ให้เธอเข้าถึง เงินรายได้ของครอบครัวได้
  31. คาดหวังให้เธอซื้ออาหารทั้งหมด และจ่ายบิลต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินเพียงพอ
  32. ฝากบอกเรื่องต่างๆ กับเธอ โดยใช้ลูกเป็นผู้ส่งสาร
  33. ขู่จะแจ้งกระทรวงครอบครัวและบริการชุมชนให้เล่นงานเธอ (หรือขู่จะแจ้งกระทรวงการตรวจคนเข้าเมืองให้ยกเลิกวีซ่าของเธอ)
  34. เฝ้าติดตาม และคอยคุกคามเธอทางโซเชียลมีเดีย
  35. เฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของเธอ โดยใช้แอพพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ
  36. คุณคิดว่าพฤติกรรมของคุณสร้างปัญหาให้แก่ความสัมพันธ์ของคุณหรือไม่
เชกลิตส์ หรือรายการตรวจประเมินพฤติกรรมนี้ เป็นตัวอย่างของเชกลิสต์ที่ยาวกว่านี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์กร รีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย ต้องตอบ เชกลิสต์นี้ไม่ใช่การทดสอบที่จะให้คุณสามารถเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่เป็นแนวทางที่จะให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ไตร่ตรองว่าพฤติกรรมของตนนั้นเชื่อมโยงกับปัญหาครอบครัวแตกแยกอย่างไร

หากคุณวิตกว่าคุณมีพฤติกรรมหลายอย่างตามที่ระบุในเชกลิสต์นี้ และต้องการความช่วยเหลือ ให้ไปที่เว็บไซต์ของ รีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย หรือโทรศัพท์ไปที่ 1300 364 277

หากคุณหรือเพื่อนของคุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความรุนแรงในครอบครัว ขอให้ไปหาข้อมูลที่เว็บไซต์    หรือโทรศัพท์ไปที่  1800 737 732


Share
Published 23 October 2018 11:32am
Updated 23 October 2018 11:36am
Presented by Parisuth Sodsai
Source: The Feed


Share this with family and friends