เตือนภัยขบวนการหลอกให้เช่าที่พักระบาดหนักช่วงโควิด

ขณะที่ผู้คนมากมายในออสเตรเลียต้องตกงาน และกำลังเผชิญปัญหาทางการเงินจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เหล่าบรรดามิจฉาชีพได้สรรหาวิธีใหม่ในการหลอกลวงผู้คนให้ตกเป็นเหยื่อ ด้วยการยื่นข้อเสนอปล่อยเช่าที่พักอาศัยราคาถูกที่ไม่มีอยู่จริง ปีนี้พบนับร้อยรายตกเป็นเหยื่อ สูญเงินรวมกันหลายแสนดอลลาร์

rental property scam

A big surge in number of different scams has been reported since the start of coronavirus pandemic Source: Getty Images

เนื้อหาสำคัญในบทความ
  • การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวผ่านการหลอกลวงให้เช่าที่พักอาศัย (rental scam) เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19
  • มีผู้คนมากกว่า 500 ราย ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงดังกล่าวในปีนี้
  • การหลอกลวงดังกล่าว สร้างความสูญเสียเป็นมูลค่ากว่า $300,000 ดอลลาร์ ในปี 2020
(บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2020)

องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย (ACCC) ได้เตือนว่า พบการหลอกลวงเพื่อปล่อยเช่าที่พักอาศัยเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา มีผู้คนสูญเงินให้กับขบวนการนี้ไปมากถึง $300,000 ดอลลาร์
Imagine paying for a rental property and end up finding the property doesn’t exist
เหล่ามิจฉาชีพจะขอค่าเช่าล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ประสงค์จะเช่าได้พักอาศัย และหลอกขโมยข้อมูลส่วนบุคคลผ่าน 'แบบฟอร์มผู้เช่า' ที่ปลอมขึ้นมา Source: Getty Images
จากรายงานของ ACCC พบว่า การหลอกลวงให้เช่าที่พักอาศัยนั้นเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะที่เหล่ามิจฉาชีพกำลังมุ่งเป้าไปยังผู้ที่กำลังหาที่พักอาศัยให้เช่า ด้วยการยื่นข้อเสนอในการคิดค่าเช่าในอัตราที่ถูกลง เพื่อชักจูงให้ผู้คนส่งเงิน หรือให้ข้อมูลส่วนตัวของพวกเขา

รายงานฉบับดังกล่าวระบุอีกว่า เหล่ามิจฉาชีพจะลงโฆษณาทางเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ และเว็บไซต์ประกาศซื้อขายต่าง ๆ โดยมุ่งเป้าไปยังผู้ที่กำลังมองหาที่พักอาศัยให้เช่าผ่านทางโซเชียลมีเดีย เมื่อพวกเขาหลงเชื่อ เหล่ามิจฉาชีพจะใช้แบบฟอร์มที่ปลอมขึ้นมา เพื่อให้ผู้ประสงค์จะเช่ากรอกข้อมูล และนัดแนะให้เข้าชมที่พักอาศัย “แบบเสมือนจริง” ทางออนไลน์ซึ่งถูกจัดฉาก พร้อมกับขอค่ามัดจำเพื่อแลกกับกุญแจ ขณะที่เหยื่อถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไปโดยไม่รู้ตัวตลอดกระบวนการ
หากข้อมูลส่วนตัวของคุณถูกขโมยไป คุณมีความเสี่ยงที่จะถูกเพ่งเล็งจากขบวนการหลอกลวงอื่น ๆ ในอนาคต
คุณดีเลีย ริคาร์ด (Delia Rikard) รองประธานองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย (ACCC) กล่าวว่า การถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวผ่านการหลอกลวงให้เช่าที่พักอาศัยนั้นกำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากการที่เหล่ามิจฉาชีพขอสำเนาเอกสารระบุตัวตน อย่างเช่น พาสปอร์ต รายงานการเดินบัญชีธนาคาร (bank statement) และสลิปค่าจ้าง (payslip) 

“หากข้อมูลส่วนตัวของคุณถูกขโมยไป คุณมีความเสี่ยงที่จะถูกเพ่งเล็งจากขบวนการหลอกลวงอื่น ๆ ในอนาคต” นางริคาร์ดกล่าว

“ผู้คนจำนวนมากกำลังประสบกับความยากลำบากทางการเงิน จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ผลกระทบทางการเงินจากการหลอกลวงนี้อาจเป็นเรื่องที่เลวร้าย”

คุณอาจสนใจฟังเรื่องนี้ จากเอสบีเอส ไทย
LISTEN TO
Thai students rental accommodation traps and pitfalls image

แออัดยิ่งกว่าปลากระป๋อง: ปัญหาห้องเช่านักเรียนไทยในออสเตรเลีย

SBS Thai

07/10/201926:39

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นการหลอกลวง

โฆษกของ ACCC ได้ให้คำตอบกับเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบว่า อย่าหลงเชื่อว่าโฆษณาที่พบเห็นนั้นน่าเชื่อถือ เพียงเพราะมาจากเว็บไซต์ประกาศซื้อขายที่น่าเชื่อถือ เพราะเหล่ามิจฉาชีพจะลงโฆษณาที่เว็บไซต์เหล่านั้นด้วย 

“ยืนยันกับผู้ปล่อยเช่าที่พักอาศัยว่าสถานที่เหล่านั้นมีอยู่จริง ก่อนที่จะส่งเอกสารใด ๆ เหล่ามิจฉาชีพสามารถขโมยข้อมูลส่วนบุคคลจากเอกสารของคุณ อย่างเช่น เอกสารระบุตัวตน และรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันทางการเงิน” คุณริคาร์ดกล่าว

“หากราคาของที่พักอาศัยที่ปล่อยให้เช่านั้นถูกเกินจริง มันก็คงไม่ใช่เรื่องจริง หากราคาที่ลงประกาศในโฆษณานั้นถูกกว่ารายอื่น ๆ ในพื้นที่เดียวกัน นั่นอาจเป็นสัญญาณว่านี่คือการหลอกลวง” 

จะป้องกันตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัย

ในส่วนนี้ โฆษกของ ACCC ได้ให้คำตอบกับเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบว่า
  1. ไปดูที่พักอาศัยจริง ๆ ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ปล่อยเช่า หรือนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรวมถึงเงินค่ามัดจำ และเงินค่าเช่า ผู้ปล่อยเช่าที่พักอาศัยและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงมักจะไม่คิดค่าเข้าชมที่พักอาศัยสำหรับผู้ที่สนใจเยี่ยมชม
  2. นักศึกษาควรพึงระวัง เนื่องจากเหล่ามิจฉาชีพนั้นจะมุ่งเป้าไปที่ผู้ที่ลงประกาศในเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ที่ระบุว่ากำลังหาที่พักอาศัยให้เช่า
  3. นักศึกษาสามารถพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัย เพื่อรับความช่วยเหลือในการหาที่พักอาศัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  4. อย่าจ่ายเงินมัดจำ หรือค่าเช่า ผ่านช่องทางชำระเงินที่ผิดสังเกต เช่น การโอนเงินทางบัญชีธนาคาร สิ่งนี้เป็นกลเม็ดที่พบได้บ่อยจากเหล่ามิจฉาชีพ ซึ่งจะทำให้การขอเงินที่โอนไปกลับคืนมานั้นเป็นเรื่องยาก
  5. อ่านข้อคิดเห็นอิสระจากผู้เช่าคนอื่น ๆ ที่มีต่อตัวแทนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คุณพบ และตรวจสอบว่าตัวแทนดังกล่าวมีใบอนุญาตภายในรัฐและมณฑลที่คุณอาศัย
หากคุณคิดว่าอาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการหลอกลวงดังกล่าว โปรดอย่ารอช้าและดำเนินการในทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อความสูญเสียทางการเงิน และความเสียหายอื่น ๆ ที่อาจตามมา ติดต่อธนาคารของคุณให้เร็วที่สุด และหากเกี่ยวข้อง ติดต่อไปยังแหล่งลงประกาศโฆษณาหลอกลวงนั้น เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

IDCARE เป็นบริการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งทำงานร่วมกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการโจรกรรมอัตลักษณ์บุคคล เพื่อพัฒนาแนวทางในการตอบสนอง และสนับสนุนผู้ตกเป็นเหยื่อตลอดกระบวนการ คุณสามารถโทรศัพท์เพื่อติดต่อ IDCARE ได้ที่หมายเลข 1300 432 273 หรือไปที่เว็บไซต์  


ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 23 September 2020 3:18pm
Updated 1 September 2022 12:56pm
By Paras Nagpal
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS Punjabi

Share this with family and friends