ออสเตรเลียเปลี่ยนแปลงระยะเวลาประเมินวีซ่าคู่ครอง

กระทรวงมหาดไทยได้ลดระยะเวลาประเมินคำร้องวีซ่าคู่ครองลงเกือบครึ่งหนึ่งในโปรแกรมการเป็นสปอนเซอร์โดยคู่ครอง

Image of a couple holding hands by Pixabay

Source: Pixabay

You can read the full version of this story in English on SBS Punjabi .

กระทรวงมหาดไทย(ของเครือรัฐออสเตรเลีย)ได้ลดระยะเวลาการประเมินวีซ่าคู่ครองจากทั่วโลกลงเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็จะเป็นการช่วยให้ผู้ที่รอผลอยู่นั้นรู้สึกโล่งใจมากขึ้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมาระยะเวลารอคอยนั้นได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อไม่นานมานี้กระทรวงมหาดไทยได้ลดระยะเวลาการประเมินสำหรับคำร้องจากทั่วโลกลงเป็น 14-16 เดือน จากเดิม 21-26 เดือน

ระยะเวลาประเมินสำหรับคำร้องจากทั่วโลกดังกล่าวนี้ได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อมูลของเดือนก่อนหน้าซึ่งสิ้นสุดลง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2018

คู่ครองของชาวออสเตรเลียหรือผู้อยู่อาศัยถาวร ซึ่งยื่นคำร้องสมัครขอวีซ่าคู่ครองจากนอกประเทศออสเตรเลียก่อนหน้านี้จะรอคอยเป็นเวลายาวนานถึง 26 เดือนกว่าจะสามารถเริ่มมาอยู่ด้วยกันในประเทศออสเตรเลียได้ และอาจนานกว่านั้นได้อีกในบางกรณี

“ข่าวนี้ฟังแล้วหูผึ่งเลยทีเดียว สำหรับลูกค้าของเราซึ่งรอคอยอยู่อย่างมีน้ำอดน้ำทน ให้คำร้องของพวกเขานั้นเป็นที่สิ้นสุด” คุณรานบีร์ ซิงห์ จากลักษยาไมเกรชัน กล่าว

“ทางกระทรวงนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ก่อนหน้าแล้ว ในเรื่องของระยะเวลารอคอยซึ่งน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างมาก โดยอาจยาวนานถึงสองปี ในขณะที่ก็เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนแพงลิบถึงกว่า $7000”

 

การรอคอยการประเมินวีซ่านั้น ‘เพิ่มความตึงเครียด’ ให้กับความสัมพันธ์

ว่าความล่าช้าในการประเมินวีซ่านั้น ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในด้านสังคมและด้านการเงินต่อคู่ครองชาวอินเดียกับชาวออสเตรเลีย

นางราพินเดอร์ คาร์ ซี่งทำงานดูแลผู้สูงอายุอยู่ในนครเมลเบิร์น แต่งงานกับชาวอินเดียเมื่อเดือนมกราคม 2017 สามีของเธอ นายอามรีก ซิงห์ ยื่นขอวีซ่าคู่ครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2017

ในระหว่างนั้น นายซิงห์ได้ยื่นขอวีซ่านักท่องเที่ยวเพื่อมาอยู่กับภรรยาของเขาที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ทว่ากลับถูกปฏิเสธ

“มันเกินกว่าที่เราจะรับได้ ดิฉันหวังว่า [กระทรวงมหาดไทย] จะเข้าใจสภาวะทางอารมณ์ของพวกเรา” นางคาร์กล่าวพร้อมกับถอนหายใจลึก “เราเหมือนอยู่กันบนเส้นยาแดง เราไม่สามารถตั้งเป้าหมายระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต่างๆในด้านการเงินหรือการวางแผนครอบครัว ความล่าช้านั้นได้ก็ให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในความสัมพันธ์ของเรา”

Abi Sood with his wife T Sethi.
อาบี สูด กับภรรยา ที เศษฐี (Supplied/SBS Punjabi) Source: Supplied
สัญญาณดีถึงการ ‘กลับมาอยู่ในกรอบ’

คุณรานบีร์ ซิงห์ ซึ่งทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการอพยพย้ายถิ่นฐานในนครเมลเบิร์นก็ยินดีต่อความเปลี่ยนแปลงล่าสุดเกี่ยวกับระยะเวลาประเมินวีซ่าคู่ครอง

“มันน่ายินดีที่ได้เห็นเรื่องนี้เกิดขึ้น ฉันก็หวังอย่างจริงใจว่ามันจะกลับมาอยู่ในกรอบ ถ้าหากว่าทำให้น้อยกว่าหกเดือนได้ก็จะเป็นสถานการณ์ในอุดมคติเลย สำหรับผู้ที่ยื่นคำร้อง” เขากล่าว

“ความล่าช้าในการประเมินวีซ่ามีผลกระทบอย่างหนักต่อลูกค้าของเรา พวกเขากลายเป็นว่ามีความวิตกกังวลมากเกินไปเมื่อเราแจ้งให้พวกเขาคาดการณ์ว่าระยะเวลาในการออกวีซ่าจะกินเวลาประมาณสองปี”

“อุปสรรคสำคัญๆ ที่พวกเขาพูดคุยกันถึงเกี่ยวกับความล่าช้า ก็เป็นเรื่องการซื้อบ้านหลังแรกของพวกเขา การหางานทำ และการวางแผนครอบครัว...และในกรณีที่สุดโต่ง มันก็ทำให้ความสัมพันธ์นั้นล่มสลายลง”

 

ระยะเวลาการประเมินวีซ่า ‘ยังควบคุมไม่อยู่’

นายอาบี สูด ยังคงรอผลของคำร้องขอวีซ่าคู่ครองของภรรยาของเขา และได้ริเริ่มล่ารายชื่อเพื่อร้องเรียนทางออนไลน์ ต่อปัญหาความล่าช้าซึ่งยังคงเกิดขึ้นอยู่ในระยะเวลาการประเมินวีซ่าคู่ครอง

เมื่อได้ทราบเกี่ยวกับการประกาศครั้งใหม่ดังกล่าว เขาก็มีปฏิกิริยาตอบโต้โดยกล่าวว่า ก็ยังคงเป็นระยะเวลา ‘ที่ยาวนานอย่างย่ำแย่มาก’ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่นแคนาดาหรือสหรัฐอเมริกา

“มันยังควบคุมไม่อยู่ ผมหวังว่าพวกเขาจะลดลงให้เหลือหกเดือนให้ได้ ความล่าช้านั้นได้ก่อให้เกิดความเครียดอย่างมากเกินไปต่อคู่ครองทั้งหลาย” คุณสูดกล่าว

“ชีวิตของพวกเราต้องหยุดรอ เพียงเราเพราะว่าพวกเขา [กระทรวงมหาดไทย] ใช้เวลายาวนานเกินไปเพื่อตัดสินใจว่าใครคนหนึ่งนั้นดีพอหรือไม่ที่จะอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียกับคู่ครองของเขา” เขากล่าว

“ผมขอแนะนำว่า หากใครก็ตามที่รอคำร้องของพวกเขาเป็นเวลายาวนานกว่า14 เดือน เมื่อถึงตอนนั้นก็ให้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ประจำกรณีของคุณ (case officers)”

ทางกระทรวงกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ความล่าช้าต่างๆ นั้นเนื่องมาจากมีความต้องการที่สูง และมีการเพิ่มอัตราส่วนของคำร้องที่อยู่ในกลุ่ม “ความเสี่ยงสูง”

จำนวนวีซ่าคู่ครองนั้นยังคงอยู่ที่ 47,825 ราย ในแผนระดับการอพยพย้ายถิ่นฐานประจำปีตั้งแต่เมื่อปี 2014-15 เป็นต้นมา แม้ว่าจะมีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 7% ในปี 2016-17 โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเป็น 56,333


Share
Published 12 September 2018 10:32am
Updated 12 September 2018 6:21pm
By Preetinder Grewal
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS Punjabi, Pixabay


Share this with family and friends