ชุมชนหลากภาษาวัฒนธรรมตกเป็นเป้าข้อมูลเท็จวัคซีนโควิด

ขณะที่ทั่วโลกทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญย้ำชุมชนหลากภาษาวัฒนธรรมยังคงตกเป็นเป้าหมายของข้อมูลเท็จและกลปลุกปั่นให้ตื่นกลัว

Facebook promises action against vaccine misinformation

With social media being a popular source of information for many in the African community, the line between fact and fiction was blurred for some. Source: Courtesy of ABC

กระแสความลังเลในการรับวัคซีน (vaccine hesitancy) เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญขัดขวางการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ต่อโรคระบาดโควิด-19 หลายฝ่ายเกรงว่าชุมชนผู้ย้ายถิ่นฐานอาจเป็นกลุ่มสุ่มเสี่ยงที่สุด

ผู้ย้ายถิ่นฐานจำนวนไม่น้อยพึ่งพาข้อมูลโควิด-19 จากประเทศบ้านเกิดเป็นหลัก อีกทั้งภาษาอังกฤษยังอาจไม่ใช่ภาษาแม่ของพวกเขา ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับวัคซีนอาจเข้าไม่ถึงประชากรกลุ่มนี้จนเสี่ยงได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความจริง



“เราพบเห็นข้อมูลเท็จมุ่งเจาะตลาดเป้าหมายกลุ่มย่อย[ในสังคม] คุณอิมราน อาเหม็ด (Imran Ahmed) หัวหน้าศูนย์ต่อต้านความเกลียดชังดิจิทัล (Centre for Countering Digital Hate) ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร อธิบายเพิ่มเติม “ตัวอย่างเช่น มีการตลาดเฉพาะเจาะกลุ่มมารดา มุสลิม หรือกลุ่มย่อยอื่น ๆ”

คุณอาเหม็ดกล่าวว่า ข้อมูลเท็จ (misinformation) จำนวนมากบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมาจาก “นักต่อต้านวัคซีนมืออาชีพ” ไม่กี่ราย ซึ่ง “เจาะจงทำลายความเชื่อมั่นต่อวัคซีน[โควิด-19]

จากนั้น ผู้ผลิตเนื้อหาประเภทนี้จะพยายาม “ชี้นำผู้หลงเชื่อข้อมูลเท็จให้กลายเป็นทรัพย์สินออนไลน์ของตน เปลี่ยนคนเหล่านี้ให้กลายเป็นว่าที่ลูกค้า ขายหนังสือ ขายการเข้าถึงข้อมูลลับ หรือวิธีรักษาลวงโลก”

พญ.ราเชล ฮีป (Rachel Heap) ช่วยก่อตั้งกลุ่มผู้สนับสนุนการฉีดวัคซีนแห่งนอร์เทิร์นริเวอส์ (Northern Rivers Vaccination Supporters) ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เธอกล่าวว่าความรอบรู้ด้านสุขภาพ (health illiteracy) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลเท็จ

“อาจเป็นเพราะพวกเขามาจากภูมิหลังที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ อาจเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้ย้ายถิ่นฐานใหม่ หรืออาจมาจากท้องถิ่นที่ผู้คนเกิดและโตมาภายใต้กรอบวัฒนธรรมความเชื่อที่มองว่า เจ้าหน้าที่ทางการและแนวคิดกระแสหลักเป็นสิ่งเลวร้าย”

“มีคนจำนวนหนึ่งที่คอยล่าเหยื่อกลุ่มเสี่ยง” ดร.ฮีปกล่าว “คนพวกนี้เล็งคนที่อาจไม่รู้เรื่องสุขภาพมากนัก คนที่กลัวหรือไม่ไว้ใจรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่”



พญ.นาเดีย ชาเวส (Nadia Chaves) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ กล่าวว่า กุญแจต่อสู้กับข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนที่มุ่งเป้าชุมชนเหล่านี้คือต้องทำความเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพบางประการ 

ส่วนผสมของกำแพงภาษา ความยากจน และการเหยียดเชื้อชาติเชิงโครงสร้าง หมายความว่าคนบางกลุ่มอาจมีแนวโน้มหลงเชื่อข้อมูลเท็จมากกว่ากลุ่มอื่น

“ความพยายามลดทอนกระแสความลังเลต่อวัคซีน และปราบปรามข้อมูลเท็จในหมู่ประชากรที่มีภูมิหลังหลากวัฒนธรรมและภาษา ก่อนอื่นต้องแจกแจงอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพและสร้างความเชื่อใจ” พญ.ชาเวสอธิบาย

“แน่นอนว่าเราต้องแปลข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เป็นภาษาต่าง ๆ แต่แค่เอกสารฉบับแปลนั้นไม่เพียงพอ”

“ขณะที่การรณรงค์ฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ต้องส่งเสริมการจัดหาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย การจ้างงานที่มั่นคง ตลอดจนบริการด้านสุขภาพจิตและสวัสดิภาพที่เกี่ยวข้อง หากไม่สนับสนุนการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุม ก็ไม่อาจสร้างหรือรักษาความเชื่อใจได้”

อ่านรายงานฉบับเต็มเป็นภาษาอังกฤษที่ 

ชมสารดคี The Fight Against Vaccine Hesitancy ได้ทาง SBS on Demand


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 3 June 2021 4:22pm
Updated 3 June 2021 4:26pm
By Darren Mara
Presented by Phantida Sakulratanacharoen


Share this with family and friends