วิบากกรรมสอบภาษาอังกฤษยื่นวีซ่า: เตรียมสอบไม่ดี หรือระบบมีช่องโหว่

นักศึกษาและผู้อพยพในระบบวีซ่าที่มีการนับแต้มทักษะ ตั้งข้อสงสัยการสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษว่าอาจมีความบกพร่องจนเสียเปรียบ คะแนนไม่ดีขึ้นแม้ไปสอบใหม่ เช่นเดียวกับหญิงอินเดียรายหนึ่งที่ต้องสอบถึง 67 ครั้ง ด้านบริษัทจัดสอบปฏิเสธข้อกังขาแนะไปเตรียมตัวสอบให้ดี

TOEFL-PBT results are no longer accepted for Australian student visas.

Source: Getty Images

ซิมรัน (ชื่อสมมุติ) นักศึกษาต่างชาติจากประเทศอินเดีย ต้องเข้าทำแบบทดสอบทักษะภาษาอังกฤษมากถึง 67 ครั้ง ก่อนที่จะได้คะแนนจนผ่านเกณฑ์ในการขอรับสถานะประชากรถาวรออสเตรเลีย (พีอาร์) เธอเล่าว่า ต้องเสียเงินไปนับหมื่นดอลลาร์และเวลาสองปีเต็มในออสเตรเลีย รวมถึงพลาดโอกาสในตำแหน่งงานรายได้ดี

“จนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ การผ่านแบบทดสอบภาษาอังกฤษของเพียร์สัน (Pearson’s Test of English หรือ PTE) คือเรื่องหนักอึ้งในชีวิต ฉันต้องอ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน แต่ก็ไม่ได้คะแนนตามที่ต้องการเสียที ฉันเริ่มรู้สึกว่าทำอะไรก็ล้มเหลวไปทุกอย่าง และก็เริ่มหายหน้าหายตาจากการพบปะคนในสังคม” ซิมรัน​ ซึ่งได้รับผลการทดสอบภาษาอังกฤษตามที่ต้องการในเดือนกรกฎาคม 2019 กล่าว

แต่ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนที่เธอจะย้ายมายังออสเตรเลียในปี 2012 เธอเป็นผู้ฝึกสอนนักศึกษาในอินเดีย ในการทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษ PTE และ IELTS

แต่กว่าที่เธอจะผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ PTE เธอหมดเงินไปกับค่าสมัครสอบและการกวดวิชาเป็นเงินมากกว่า 35,000 ดอลลาร์ เธอต้องทำแบบทดสอบถึง 67 ครั้ง กว่าจะได้รับคะแนนในระดับที่ผ่านเกณฑ์ และสามารถนำไปสมัครขอรับสถานะประชากรถาวรออสเตรเลียร่วมกับสามีของเธอ ซึ่งอาศัยอยู่ในออสเตรเลียในฐานะคู่สมรสอุปถัมภ์ (dependent spouse)

เมื่อเธอเดินทางมายังออสเตรเลีย ซิมรันตามฝันของเธอเพื่อที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาการบัญชีและทำงานไปด้วย ความหวังในการทำให้ออสเตรเลียเป็นบ้านตามที่เธอใฝ่ฝันนั้นดูสดใสในตอนแรก แต่แล้วแสงสว่างของความหวังก็ถูกเมฆดำบังบด เมื่อเธอต้องทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“การที่ฉันสอบไม่ผ่าน อาจเป็นเพราะงานที่ฉันทำ ฉันไม่สามารถทุ่มเวลาและพลังอย่างเพียงพอเพื่อการสอบ PTE ฉันก็เลยลาออกจากงานที่ทำ” ซิมรันเล่า พร้อมเสริมว่า การตัดสินใจของเธอในตอนนั้น ทำให้สถานะทางการเงินของครอบครัวที่เปราะบางอยู่แล้วระสำระส่ายขึ้นไปอีก
IELTS
การสอบ IELTS จะเป็นการวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ที่ต้องการทำงาน ศึกษาต่อ หรือทำงานโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการสื่อสาร Source: IELTS
เธอพยายามทำทุกอย่าง แม้กระทั่งเดินทางกลับไปอินเดียเพื่อไปเตรียมตัวสอบ

“ต้องขอบคุณสามีของฉันที่ไม่เคยถอดใจ แม้ฉันจะสอบไม่ผ่านอยู่หลายครั้ง ตอนนั้นรู้สึกอยู่อย่างเดียวว่าถูกรังแก เพื่อนฉันหลายคนก็เหมือนกันหมด คือไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเราหลายคนไม่ได้คะแนนนตามที่ต้องการ มีเพียงคนอพยพอย่างเราที่รู้ว่าต้องดิ้นรนขนาดไหนในการจ่ายค่าสมัครสอบครั้งแล้วครั้งเล่า” ซิมรันเล่า

ค่าสมัครทดสอบทักษะภาษาอังกฤษของเพียร์สัน หรือ PTE นั้นอยู่ที่ $340 ดอลลาร์ต่อครั้ง

ความกังวลที่หลายคนพบเจอ

ซิมรันไม่ใช่เพียงคนเดียวในกรณีดังกล่าว เช่นเดียวกับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลาย ๆ คน ที่ต้องการจะได้รับสถานะประชากรถาวรออสเตรเลีย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีคะแนนในการทดสอบภาษาอังกฤษในระดับที่ผ่านเกณฑ์ ก่อนที่จะสามารถยื่นขอรับสถานะประชากรถาวร (พีอาร์) โดยขึ้นอยู่ทักษะของผุ้อพยพย้ายถิ่นแต่ละบุคคล

แต่อย่างไรก็ตาม แค่การทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวก็อาจเป็นการเดินทางที่ยาวนาน ซึ่งต่อมากลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับหลายคนที่ต้องการสถานะพีอาร์ที่จะต้องผ่านไปให้ได้ แต่ก็กลายเป็นจุดจบของความฝันสำหรับอีกหลายคนเช่นกัน

ภายใต้ระบบคัดเลือกผู้อพยพย้ายถิ่นมายังออสเตรเลียด้วยระบบแต้มทักษะนั้น ผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษสูงจะได้รับแต้มมากขึ้น การทดสอบทักษะภาษาอังกฤษในออสเตรเลียอย่าง PTE และ IELTS สามารถเพิ่มแต้มทักษะให้กับผู้อพยพย้ายถิ่นได้สูงสุด 20 แต้ม

จากการสัมภาษณ์นักศึกษาต่างชาติโดยเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบ นักศึกษาหลายคนบอกว่า การทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเป็นการเดินทางสู่จุดหมายที่ยากที่สุด โดยอุปสรรคหลัก ๆ ที่พวกเขาพบเจอ คือ พวกเขาไม่สามารถได้รับคะแนนการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ ทั้ง PTE และ IELTS ได้ตามต้องการจนต้องไปสอบใหม่หลายครั้ง ถึงแม้จะได้รับการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในอินเดีย และได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัยของออสเตรเลียก็ตาม

จากการสัมภาษณ์นักศึกษาต่างชาติ 27 คน มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้คะแนนในระดับผ่านเกณฑ์ด้วยการสอบเพียงครั้งเดียว

ปัจจุบัน มีนักศึกษาจำนวนมากที่เลือกทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษ PTE มากกว่า IELTS เพราะรู้สึกว่ามีความ “เป็นรูปธรรม” และ “ไม่เอนเอียง” เนื่องจากใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจข้อสอบและให้คะแนนแทนมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออสเตรเลียให้น้ำหนักกับแบบทดสอบทั้งสองชนิดอย่างเท่าเทียมกัน

การให้คะแนนของแบบทดสอบ IELTS จะเป็นระดับ (Band) ตั้งแต่ 0 – 9 ซึ่งแตกต่างจากแบบทดสอบของ PTE ซึ่งให้คะแนนเป็นแต้มตั้งแต่ 0 - 90 ส่วนขั้นตอนการทดสอบนั้น ทั้งสองชนิดมี 4 กระบวนการเช่นกัน คือ การอ่าน การเขียน การพูด และการฟัง

'การสอบใหม่จะไม่ทำให้คะแนนดีขึ้น'

ซาชา แฮมป์สัน (Sasha Hampson) หัวหน้าศูนย์ทดสอบภาษาอังกฤษเพียร์สันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ผู้เข้ารับการทดสอบจะได้รับการประเมินคะแนน บนพื้นฐานของประสิทธิภาพของพวกเขาในวันที่เข้ารับการทดสอบ โดยคะแนนในการทดสอบในแต่ละครั้งจะไม่เกี่ยวข้องกับคะแนนที่ได้จากการสอบในครั้งที่ผ่านมา 

เธอเสริมว่า มีเพียงร้อยละ 1 ของผู้เข้าสอบทั้งหมดที่เข้ารับการทดสอบ PTE ซ้ำเกิน 30 ครั้งขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เธอปฏิเสธที่จะเปิดเผยจำนวนผู้เข้าสอบ PTE ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เป็นข้อมูลที่ “มีความอ่อนไหวทางการค้า”

นางแฮมป์สันยังได้เน้นอีกว่า แม้การสอบ PTE จะไม่มีเกณฑ์ว่า “ผ่านหรือไม่ผ่าน” แต่การใช้คะแนนของ PTE ประกอบขั้นตอนการอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลียโดยทั่วไป จำเป็นจะต้องมีคะแนนตั้งแต่ 65 – 79 เป็นต้นไป    

ด้าน นายวอร์วิก ฟรีแลนด์ (Warwick Freeland) กรรมการผู้จัดการ IELTS จาก IDP Education กล่าวว่า ผู้เข้าสอบควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าทำแบบทดสอบ

“ผู้เข้าสอบ IELTS ส่วนมากที่มาเข้าสอบนั้นมาสอบวัดระดับเพียงครั้งเดียว หากพวกเขาไม่ได้คะแนนตามที่ต้องการ พวกเขาควรหยุด และขอรับความช่วยเหลือจากทีมผู้เชี่ยวชาญของเรา เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าควรที่จะปรับปรุงในส่วนใด มากกว่าการไปทำแบบทดสอบซ้ำ ๆ และคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” นายฟรีแลนด์กล่าวกับเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบ

นายฟรีแลนด์เน้นย้ำว่า มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ที่จะเข้าสอบต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับรูปแบบของข้อสอบ แต่เตรียมตัวให้พร้อมไว้ล่วงหน้า
IELTS exam sheet
Source: Alberto G. on Flickr
อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้าสอบบางส่วนที่มองว่า รูปแบบข้อสอบและระบบการให้คะแนนเป็นอุปสรรค์กั้นขวางความสำเร็จของพวกเขา

เมื่อ ‘ชีวิตคู่’ ถูกตัดสินด้วยผลสอบ

กัลดีพ (ชื่อสมมุติ) มีความฝันที่มาอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย เมื่อเขาเลือกที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเมื่อปี 2015 แต่การเติมเต็มความฝันจะยังไม่สำเร็จ จนกว่าเขาจะผ่านการสอบทักษะภาษาอังกฤษแบบ PTE ซึ่งจะทำให้เขาสามารถยื่นขอสถานะพีอาร์ได้

กัลดีพ สำเร็จการศึกษาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา และได้พยายามสอบทักษะภาษาอังกฤษ PTE ถึง 11 ครั้ง เขาเล่าว่า เขาไม่เข้าใจเกณฑ์การให้คะแนนของปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการตรวจข้อสอบ

“ผมจะได้คะแนนดีในหัวข้อการวัดระดับส่วนมาก แต่จะได้คะแนนน้อยในหัวข้อหนึ่ง เมื่อผมไปสอบใหม่อีกครั้ง ผมตกใจมากที่พบว่า คะแนนในหัวข้อวัดผลที่ผมทำได้ดีในครั้งก่อนกลับลดลงมา” กัลป์ดีพกล่าว ระหว่างที่กำลังรอผลสอบ PTE ครั้งล่าสุด และหวังว่าคะแนนจะผ่านเกณฑ์ เพื่อที่จะได้ไปสมัครของรับสถานะพีอาร์ได้

“ผมหมั้นกับคู่ครองของผมมาเกือบ 1 ปีแล้ว ครอบครัวของคู่หมั้นผมยืนกรานว่า การแต่งงานของเราจะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ผมได้เป็น PR ชีวิตผมในตอนนี้ขึ้นอยู่กับผลสอบ PTE ระบบที่เราติดอยู่ในตอนนี้กำลังให้คุณค่าไปที่การทดสอบทักษะภาษาอังกฤษอย่างมาก”

ว่าด้วยเรื่องคะแนนสอบ

ผู้เข้าสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษหลายคนที่สอบ PTE หรือ IELTS หลาย ๆ รอบ บอกว่า พวกเข้าไม่เข้าใจระบบการให้คะแนนและรูปแบบการทดสอบได้ ซึ่งนายฟรีแลนด์จาก IDP แนะนำว่า ความเข้าใจในเรื่องนี้ จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการสอบวัดระดับ

นักศึกษาที่มาเข้าสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษส่วนมาก ขาดคะแนนไปเพียง 1 – 2 คะแนน ก็จะได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หลายคนเชื่อว่า คะแนนการทดสอบใน 4 กลุ่มทักษะนั้น ดูเหมือนจะเป็นการสลับตัวเลขคะแนนในแต่ละกลุ่มทักษะ เมื่อนำผลสอบมาเทียบกันกับคะแนนในครั้งก่อน   

ตัวอย่างเช่น เมื่อซิมรันบอกว่า ในการสอบครั้งหนึ่ง เธอได้คะแนน 17 จาก 90 ในหมวดการสะกดคำ แต่ได้ 90 จาก 90 ในหมวดการเขียน ทำให้เธอเกิดคำถามว่า คะแนนการเขียนเธอดีได้อย่างไร ในเมื่อการสะกดคำเป็นสิ่งที่เธอไม่ถนัด 

นายฟรีแลนด์ได้กล่าวในส่วนนี้ว่า “เช่นเดียวกับการสอบใด ๆ ก็ตาม แต่ละคนมีปัจจัยเฉพาะตัวที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในวันที่ทำแบบทดสอบ การสอบ IELTS นั้นมีการเดิมพันที่สูง เรารู้ดีว่ามันเป็นเรื่องน่ากังวล” 

ทั้งนายฟรีแลนด์ และนางแฮมป์สัน ได้แนะนำให้ผู้ที่จะเข้าสอบใช้ความช่วยเหลือที่อยู่บนเว็บไซต์ของแบบทดสอบทักษะภาษาอังกฤษทั้งสองให้เป็นประโยชน์

ทั้งนี้ ในส่วนของการสอบ PTE นางแฮมป์สันกล่าวว่า การเข้าสอบซ้ำ ๆ โดยเฉพาะถ้าห่างจากการสอบครั้งก่อนไม่มาก ไม่ใช่วิธีที่ได้ผลในการทำให้คะแนนสอบนั้นดีขึ้น

ข้อด้อยในการสอบพูดภาษาอังกฤษ

ผู้เข้าสอบหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า อาจมี “ช่องโหว่” ในการให้คะแนนการทดสอบการพูดของแบบทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ PTE และ IELTS

กัลดีพแสดงความกังวลว่า เสียงรอบข้างในระหว่างการทดสอบในห้องสอบนั้น ส่งผลกระทบในแง่ลบในขั้นตอนการทดสอบการพูด ของแบบทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ PTE 

“หากการสอบการพูดทำในห้องเก็บเสียง ก็จะเป็นผลดีต่อนักศึกษา เพราะบ่อยครั้งที่ไมค์โครโฟนจะจับเสียงของผู้เข้าสอบคนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้กับคุณ เนื่องจากไม่มีระบบตัดเสียงรอบข้างอย่างเพียงพอ” กัลดีพกล่าว พร้อมเน้นว่า นี่เป็นส่วนที่บกพร่องมากที่สุดในระบบการให้คะแนนการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษแบบ PTE        

ขณะที่นักศึกษาคนอื่น ๆ เชื่อว่า พวกเขาได้รับคะแนนในส่วนการพูดไม่ดี เพราะสำเนียงจากภาษาแม่ที่ปนอยู่ในการพูดภาษาอังกฤษ

สำหรับการสอบแบบ PTE นางแฮมป์สันปฏิเสธอย่างเต็มที่ต่อความเข้าใจในส่วนนี้ และกล่าวว่า โครงสร้างโปรแกรมการให้คะแนนในส่วนของการพูดของ PTE นั้นได้รับการฝึกฝนจากกลุ่มภาษามากถึง 120 กลุ่ม และสามารถรับรู้ภาษาอังกฤษได้ในหลายสำเนียง

เธอเสริมว่า “มีผู้เข้าสอบ PTE เชื้อชาติอินเดียเป็นจำนวนมากกว่าเชื้อชาติใด ๆ ในโลก”

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 January 2020 12:29pm
Updated 7 March 2020 8:33pm
By Ruchika Talwar
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS Punjabi

Share this with family and friends