แชร์ลูกโซ่:ภัยร้ายคู่ชุมชนไทย

คนไทยในออสเตรเลียกว่าสิบคนถูกเชิดเงินเกือบครึ่งล้านดอลลาร์ จากลูกไม้เก่าๆ ที่ทุกวันนี้มาทางเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง "เฟซบุ๊ก" โดยไม่เฉลียวใจว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของ "แซร์ลูกโซ่"

Kai, a Thai in Australia, who has lost over $25,000 on a dubious investment scheme she came across on Facebook

Kai, a Thai in Australia, who has lost over $25,000 on a dubious investment scheme she came across on Facebook. (SBS Thai) Source: SBS Thai

คนไทยในออสเตรเลียไม่น้อยที่หาเงินมาอย่างยากลำบากจากหยาดเหงื่อและแรงงาน ตั้งแต่การทำงานเสิร์ฟอาหาร ล้างจาน ทำครัว ทำความสะอาด ดูแลผู้สูงอายุ หรือทำงานอื่นๆ ที่จะหาได้ในออสเตรเลีย เพื่อเก็บหอมรอมริบเงินที่หาได้มาแรมปี แต่สุดท้ายถูกหลอก เพราะสิ่งที่เรียกกันว่า “แชร์เงินออม” ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นร่างอวตารของ “แชร์ลูกโซ่”

“แชร์ลูกโซ่” ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อให้สวยหรูดูไร้พิษภัย ที่โฆษณากันทางสื่อสังคมออนไลน์ในชื่อ “แชร์เงินออม” กำลังระบาดหนักในหมู่คนไทยในออสเตรเลีย เพราะเป็นการนำจุดอ่อนของคนทั่วไปที่โลภ อยากได้รายได้ตอบแทนสูงภายในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้คนไทยจำนวนหลายร้อยคนต้องเสียเงินไปมหาศาลจากการฉ้อโกงกันเพราะแชร์เหล่านี้ นอกจากเสียเงินไปแล้ว ยังเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต ในการพยายามตามทวงเงินจากท้าวแชร์ ที่ล้มวงแชร์ แล้วหนีหาย

คนไทยไม่น้อยโพสต์ประจานท้าวแชร์ที่โกงกันตามห้องชุมชนออนไลน์ต่างๆ  บ้างก็ต้องไปแจ้งสถานกงสุลไทย แจ้งองค์กรรับเรื่องการฉ้อโกงของออสเตรเลีย แจ้งตำรวจออสเตรเลีย และตำรวจไทย แต่จนถึงขณะนี้ เหยื่อเหล่านั้นจำนวนมากก็ยังคงไม่ได้เงินคืน

ภัยร้ายคู่สังคมไทยที่ขณะนี้มาทางโซเชียลมีเดีย

ไก่ (นามสมมุติ) เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในนครเมลเบิร์น ซึ่งถูกโกงเงินจากวงแชร์ออนไลน์ไปราว 25,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เธอว่าเงินที่เธอถูกโกงไปนั้นมีที่มาหลากหลาย ซึ่งทำให้เธอต้องตกที่นั่งลำบากทุกวันนี้

“เงินที่ถูกโกงไปก็มีทั้งเงินตัวเอง เงินของแฟน เงินก้อนใหญ่มาจากบัตรเครดิต และเงินของเพื่อนด้วยค่ะ” ไก่ บอกกับเอสบีเอส ไทย

ไก่กล่าวว่า เธอเป็นหนึ่งในคนไทยกว่า 100 คนที่ถูกท้าวแชร์ผู้หนึ่งฉ้อโกงเงินไปจาก “แชร์เงินออม” ที่ขณะก่อเหตุท้าวแชร์ผู้นี้ได้อาศัยอยู่ที่นครซิดนีย์ และหลังมีข่าวล้มวงแชร์ ท้าวแชร์ก็ย้ายที่พำนักไปอยู่ที่ประเทศไทยอย่างไม่มีกำหนดจะกลับมาออสเตรเลียอีก

ไก่และคนไทยผู้เสียหายในออสเตรเลียอีก 14 คน ที่สูญเงินไปรวมกันกว่า 480,000 ดอลลาร์ (กว่า 12 ล้านบาท) จึงได้รวมตัวกันแจ้งความดำเนินคดีกับท้าวแชร์คนดังกล่าว โดยแจ้งความกับทั้งตำรวจในออสเตรเลีย และตำรวจที่ประเทศไทย

ไก่เล่าว่า เธอได้รู้จักวงแชร์ออนไลน์นี้ จากการโพสต์โฆษณาวงแชร์ของท้าวแชร์ผู้นี้ ตามห้องสนทนาที่เป็นที่นิยมของชุมชนชาวไทยในออสเตรเลียในเฟซบุ๊ก อีกทั้งยังมีการโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของท้าวแชร์ ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ ให้คนทั่วไปสามารถอ่านประกาศโฆษณาเกี่ยวกับวงแชร์ต่างๆ ที่เธอตั้งขึ้นมาได้
ตัวอย่างโฆษณาชวนเชื่อตามกลุ่มเฟซบุ๊กชุมชนไทยในออสเตรเลีย
ตัวอย่างโฆษณาชวนเชื่อตามกลุ่มเฟซบุ๊กชุมชนไทยในออสเตรเลีย (Source: SBS Thai) Source: SBS Thai
The rate is too good to be true
The rate is too good to be true Source: SBS Thai
“เขาได้คุยมาส่วนตัว เขาบอกว่าธุรกิจของเขาถูกต้องตามกฎหมาย มีการจ่ายภาษีถูกต้อง มีหลักประกันมั่นคงแน่นอน สามารถได้เงินคืน 100%” ไก่ เล่า

เธอยอมรับว่าถูกล่อใจด้วยดอกเบี้ยที่สูงในระยะเวลาอันสั้นที่ท้าวแชร์เสนอให้ โดยไม่ได้เฉลียวใจ เธออธิบายให้เอสบีเอส ไทย ฟังถึงรูปแบบของ “แชร์เงินออม” ที่ว่า ซึ่งมีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ และแท้จริงแล้วเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลีย

“เขาจะมีการเปิดออม มีการเปิดเงินออมเป็นรายเดือน หรือรายวัน เขาจะไม่มีการเปียแชร์ คือเราเอาเงินให้เขาทั้งหมดเลย เช่นลงเงินต้น 1,000 ดอลลาร์ ดอกเบี้ยราย 15 วัน เราลงทุน 3 เดือน เงินต้นจะอยู่ที่เขา 3 เดือน แต่ทุกๆ 15 วัน เขาจะมาโอนดอกเบี้ยให้ทุกคนคนละ 60 ดอลลาร์” ไก่ ยกตัวอย่าง

“เงินที่อยู่กับเขา 3 เดือน เขาก็เอาไปลงทุนอย่างอื่น หรือเขาเอามาหมุนทำแชร์อีกหรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจค่ะ แต่ตอนนี้มั่นใจว่าคงใช่ หนูเพิ่งมาคิด เพิ่งมารู้ตอนนี้ว่ามันเป็นแชร์ลูกโซ่”

คุณวาร์เรน เดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนแห่งออสเตรเลีย หรือเอสิก (Australian Securities and Investments Commission หรือ ASIC) และเป็นกรรมาธิการของเอสิกประจำรัฐวิกเตอเรีย บอกกับ เอสบีเอส ไทย ว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขนาดนั้น จากตัวอย่างข้างต้นคิดเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 36 ต่อ 3 เดือนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

“ทั้งหมดที่พวกเขาทำคือจ่ายดอกเบี้ยใหม่ให้กับคนต่อไปที่มาลงเงิน ถ้าคุณเป็นคนแรกๆ ที่มาลงเงิน คุณคงจะได้รับการจ่ายดอกเบี้ยให้ ทำให้คุณคิดว่านี่คงเป็นเรื่องจริง นี่คงสร้างกำไรให้คุณจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณได้ส่วนหนึ่งของเงินต้นคืนจากคนต่อไปที่เข้ามาลงเงิน และก็ทำเหมือนกันในแต่ละครั้ง พวกเขานำเงินจากคนอื่นที่คิดว่ามาลงทุน เอามาจ่ายให้คุณ ในช่วงใดช่วงหนึ่ง คนที่มาลงเงินทีหลัง ก็จะสูญเงินไปทั้งหมด อุบายแบบนี้มีชื่อเรียกกันว่า พอนซี สกีม หรือ พอนซี สแกม” คุณเดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของเอสิก อธิบาย
คุณวาร์เรน เดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนแห่งออสเตรเลีย หรือเอสิก (Australian Securities and Investments Commission หรือ ASIC)
คุณวาร์เรน เดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนแห่งออสเตรเลีย หรือเอสิก (Australian Securities and Investments Commission หรือ ASIC) (Source: ASIC) Source: ASIC

อุบายเก่าๆ ที่คนยังคงหลงเชื่อ

หรือที่คนไทยรู้จักกันว่า “แชร์ลูกโซ่” นั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายในออสเตรเลีย โดยจัดเป็นการฉ้อโกง เพราะไม่มีการลงทุนจริงเกิดขึ้น แต่เป็นการนำเงินของผู้ลงเงินกลุ่มใหม่ไปจ่ายให้ผู้ลงเงินกลุ่มก่อนหน้า โดยใช้วิธีเปิด “แชร์เงินออม” เป็นจำนวนหลายสิบวงในระยะเวลาใกล้ๆ กัน หรือเปิดวงใหม่เมื่อต้องหาเงินไปจ่ายให้คนกลุ่มก่อน

ตัวอย่างของแชร์ลูกโซ่ในลักษณะของพอนซี่ สกีมนั้นไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในสังคมไทย ในช่วงปี พ.ศ.2528 หรือเมื่อราว 34 ปีก่อน มีข่าวใหญ่ที่สะเทือนเศรษฐกิจไทย คือเรื่อง ‘คดีแชร์แม่ชม้อย’ ของนางชม้อย ทิพย์โส พนักงานบริษัทน้ำมันได้ระดมเงินจากประชาชน โดยอ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจน้ำมัน แชร์แม่ชม้อยนั้นให้ผลตอบแทนที่สูงมาก คือลงทุน 160,500 บาท ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือร้อยละ 6.5 ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 78 ต่อปี ส่งผลให้มีประชาชนไทยเกือบ 14,000 คนแห่นำเงินมาลงทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นเกือบ 4,500 ล้านบาท

แต่แท้จริงแล้ว นางชม้อยกับพวกไม่ได้นำเงินของประชาชนไปลงทุนใดๆ แต่ใช้วิธีจัดคิวเงิน โดยนำเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่ ไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุนรายแรกๆ และวนซ้ำไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นนางชม้อยกับพวกได้นำเงินของผู้ลงทุนไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือไปซื้อทรัพย์สินที่มีมูลค่าต่างๆ และซุกซ่อนไว้ จนเมื่อระดมเงินได้มากแล้ว จึงร่วมกันเอาเงินทั้งหมดหลบหนีไป จนสุดท้ายแม่ชม้อยกับพวกถูกจับและถูกดำเนินคดี เธอถูกจำคุกอยู่เกือบ 8 ปี และประชาชนได้เงินที่ถูกฉ้อโกงไปคืนราว 510 ล้านบาท แต่เงิน 4,000 ล้านบาทก็อันตรธานหายไป

ในกรณีที่เกิดขึ้นกับไก่ ก็เข้าลักษณะเดียวกัน เธอได้เงินที่ท้าวแชร์บอกว่าเป็นดอกเบี้ยจ่ายเพียงราว 3,000 ดอลลาร์ ขณะที่ลงเงินต้นไปรวมทั้งหมด 25,000 ดอลลาร์ และเวลาผ่านไปกว่า 1 ปี เงินต้นดังกล่าวก็ยังคงไม่สามารถติดตามกลับคืนมาได้
Kai invested $25,000 of her own money into one of Ponzi scheme
"ไก่" หมดเงินไปราว $25,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย กับการลงทุนในร่างอวตารสวยหรูของ "แชร์ลูกโซ่" (Source: SBS Thai) Source: SBS Thai

กลยุทธ์การสร้างภาพ

ไก่ ยอมรับกับเอสบีเอส ไทย ว่าเธอเชื่อใจท้าวแชร์คนดังกล่าวโดยที่ไม่เคยพบหน้าค่าตากันจริงๆ เพียงเพราะความที่เธอคิดว่าเขาเป็น “คนบ้านเดียวกัน” ประกอบกับภาพลักษณ์ภายนอกของท้าวแชร์ที่เห็นผ่านเฟซบุ๊ก และคำบอกเล่าต่อๆ กันของผู้ที่อ้างว่าเป็นเพื่อนหรือรู้จักท้าวแชร์ผู้นี้

“หนูคิดว่าที่นี่กฎหมายเข้มงวด คนไทยที่นี่คงไม่โกงกัน โพรไฟล์ในเฟซบุ๊กของเขาก็น่าเชื่อถือ ภาพในเฟซบุ๊กที่เห็น เขาดูมีฐานะดี กินดีอยู่ดี เข้าออกร้านแบรนด์เนม ดูความเป็นอยู่ดี คนที่ในวงแชร์ที่เคยไปเจอตัวเขามาแล้ว ก็มาบอกว่า ‘ท้าวสวยและรวยมาก หรูหรามาก’ หนูคิดว่า เขาไปเจอตัวกันมาแล้ว เลยมั่นใจ อีกอย่าง เขามาจากครอบครัวที่ทำงานดี จบสถาบันดี ทั้งยังมีคนไทยคนอื่นที่เล่นแชร์กับเขาอีก 140 ครอบครัว หนูเลยคิดว่าเขาคงจะไม่โกงเรา” ไก่ เผย พร้อมบอกว่า เมื่อตกลงจะลงเงิน ท้าวแชร์ยังส่งสำเนาหนังสือเดินทาง และบิลค่าไฟฟ้า ที่ระบุที่อยู่ของท้าวแชร์มาให้เธอเก็บไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม คุณวาเรน เดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของเอสิก กล่าวว่า กลยุทธ์ที่นักต้มตุ๋นด้วยแชร์ลูกโซ่ใช้ มักเป็นการแสดงภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูน่าเชื่อถือ “บ่อยครั้งที่คุณจะเห็นเว็บไซต์ที่ดูดีมาก ดูเก๋ไก๋ และดูเป็นมืออาชีพมาก”

เขายังเสริมอีกว่า เขาไม่แปลกใจเลยที่จะมีการใช้บุคคลที่เป็นที่รู้จักในชุมชนมาชักชวนให้คนอื่นหลงเชื่อ หรือแม้แต่การใช้เพื่อนและครอบครัวมาชักจูงใจให้ผู้คนนำเงินมาลงทุนในแชร์ลูกโซ่ เขากล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวออสเตรเลียทั่วไปที่เมืองจีลอง ในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งมีประชาชนสูญเงินไปราว 70 ล้านดอลลาร์ กับแชร์ลูกโซ่ที่เป็นลักษณะชักชวนกันลงทุน
A sample of Facebook post which shows an unusual rate, luring in new investors.
ตัวอย่างโพสที่สามารถพบเห็นได้ตามกลุ่มเฟซบุ๊กชุมชนคนไทยในออสเตรเลีย (Source: SBS Thai) Source: SBS Thai
“อย่างที่จีลอง ตอนนั้น มี คนจำนวนมากบอกกับครอบครัวและเพื่อนฝูงของตนว่า ‘เราได้เงินตอบแทนมากมายเลย คุณควรมาลงทุนเหมือนเรานะ’ แต่สุดท้ายทุกคนก็สูญเงินไปหมด มีสามีภรรยาหลายคนที่ต้องหย่ากันเพราะเรื่องนี้ มีพ่อแม่หลายคนที่ไม่สามารถคุยกับลูกได้อีกต่อไป เพราะความอับอายที่พวกเขาพาครอบครัวมาพบกับการหลอกลวง” คุณเดย์ จากเอสิก ยกตัวอย่าง

ถามทั้งท้าวแชร์และตัวเองจะได้ไม่ถูกหลอก

เขาแนะนำว่า วิธีหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงผ่านแชร์ลูกโซ่ หรือพอนซี สกีม คือการตั้งคำถามต่างๆ ให้มากเกี่ยวกับการลงทุนที่มีคนมาเสนอแก่คุณ

“คุณต้องถามคำถามเยอะๆ หากบุคคลนั้นบอกว่าไม่อยากตอบคำถามของคุณ หรือคุณกำลังจะพลาดโอกาสเพราะเวลาจะหมดแล้ว นั่นเป็นสัญญาณที่ดีที่บอกให้คุณควรหลีกเลี่ยงการลงทุน” คุณเดย์ กล่าว

เขาอธิบายต่อไปว่า คำถามสำคัญที่ประชาชนควรถามกับผู้มาเสนอให้คุณนำเงินไปลงทุนกับพวกเขาคือ บุคคลนั้นมีใบอนุญาตให้บริการทางการเงินหรือไม่ เพราะการให้บริการลงทุนโดยไม่มีใบอนุญาตนั้นผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่ประชาชนจะสูญเงินไป

“หากคุณเสนอให้คนนำเงินมาลงทุนเพื่อได้รับดอกเบี้ยตอบแทนสำหรับการลงทุน คุณต้องมีใบอนุญาตในออสเตรเลีย ใบอนุญาตดังกล่าวเรียกว่า ซึ่งเอสิกออกให้ หากไม่มีใบอนุญาตนี้ คุณก็ไม่ควรลงทุนกับพวกเขา เพราะสิ่งที่เราพบเห็นบ่อยครั้งคือ ประชาชนที่ลงทุนกับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาต พวกเขาจะสูญเสียเงินไป โดยไม่มีทางได้คืน ขณะที่หากมีใบอนุญาติ นั่นหมายความว่าบุคคลนั้นมีเงินทุนสำรองที่จะชำระหนี้ได้ และหากมีข้อพิพาท คุณก็สามารถไป ที่จะช่วยคุณติดตามเงินคืนได้”

หมายเลข เอเอฟเอสแอล (AFSL) เป็นสิ่งที่คุณต้องถามหาจากบุคคลที่มาชักชวนคุณไปลงทุน โดยทั่วไปแล้ว บุคคลที่มีใบอนุญาตจากเอสิก จะต้องระบุหมายเลข เอเอฟเอสแอล ตามโฆษณาบริการการลงทุนของตน และประชาชนสามารถ ว่าบุคคลนั้นหรือบริษัทที่ติดต่อคุณมานั้น มีใบอนุญาติเอเอฟเอสแอลจริงหรือไม่

คุณเดย์ จากเอสิก ยังแนะให้ประชาชนถามตนเองว่าอัตราดอกเบี้ย ที่แชร์หรือการลงทุนต่างๆ เสนอมานั้นสูงเกินความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าสูงจนไม่น่าเป็นจริง ก็น่าเชื่อได้ว่าเป็นการหลอกลวง

“ขณะนี้สำหรับบัญชีเงินฝากธนาคาร ประชาชนได้ดอกเบี้ยเพียง 1-2% ต่อปีในออสเตรเลีย เงินกองทุนซูเปอร์ที่สะสมระยะยาวให้ดอกเบี้ยตอบแทนระหว่าง 7-9% ในแต่ละปี นั่นเป็นสิ่งที่สถาบันใหญ่ องค์กรใหญ่ ที่มีคนจำนวนมากที่มีความเชี่ยวชาญสามารถทำได้ แต่ถ้ามีใครที่ติดต่อคุณผ่านเฟซบุ๊ก หรือมีใครที่บอกว่า พวกเขาสามารถให้ผลตอบแทนแก่คุณได้มากกว่านั้น คุณก็ต้องถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วว่าทำไม ทำไมพวกเขาถึงเก่งขนาดที่ธนาคารและกองทุนเงินซูเปอร์ยังเก่งไม่เท่า นั่นอาจบอกคุณได้ว่า สิ่งที่พวกเขากล่าวอ้างนั้นไม่จริง”

“ให้คุณถามพวกเขาไปว่า คนเหล่านั้นให้อัตราดอกเบี้ยแก่คุณสูงขนาดนี้ได้อย่างไร ในเมื่อธนาคารและกองทุนเงินซูเปอร์ยังทำไม่ได้ แล้วคุณจะประหลาดใจกับคำตอบที่โลดโผน น่ามหัศจรรย์ ที่แต่งขึ้นมาทั้งนั้น ยิ่งพวกเขาเล่าเรื่องให้คุณฟังมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งตระหนักมากขึ้นเท่านั้นว่าสิ่งเหล่านี้นั้นเป็นเรื่องโกหก”

ถ้ามันฟังดูดีเกินจริง มันคงไม่ใช่เรื่องจริง

ไก่ บอกกับเอสบีเอส ไทยว่า เธอสอบถามท้าวแชร์ก่อนลงเงินว่าเงินจากคนที่มา ‘ลงทุน’ นั้น ท้าวแชร์นำไปหาดอกผลอย่างไร คำตอบที่ได้รับดูเหมือนจะเลื่อนลอยและหาหลักฐานยืนยันได้ยากว่าจริงหรือไม่ “เขาบอกว่าเอาเงินไปซื้อเรทเงิน เอาเงินไปปล่อยในบ่อนคาสิโน เอาไปลงทุนในธุรกิจขายกระเป๋าแบรนด์เนม และเอาเงินไปปล่อยดอกเบี้ย”

แต่ไก่ยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจสอบกับองค์กรของรัฐอย่างเอสิก ว่าท้าวแชร์มีใบอนุญาตการให้บริการการลงทุน หรือหมายเลข เอเอฟเอสแอล (AFSL) หรือไม่ และเธอยังเชื่อสนิทใจว่าอัตราดอกเบี้ยที่ดูสูงเกินจริงนั้นเป็นเรื่องจริง

ด้านคุณวาเรน เดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของเอสิก ย้ำว่าการจะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่มาหลอกลวงคุณให้ลงทุนในแชร์ลูกโซ่นั้นสิ่งสำคัญคือคุณต้องถามตัวเองและเตือนสติตัวเองอยู่เสมอ

“มันอาจยากที่คนไทยจะตั้งข้อสงสัย และระมัดระวังตัวเมื่อเพื่อนฝูงและญาติมาบอกว่านี่เป็นการลงทุนที่ดี เพราะคุณต้องการสนับสนุนญาติมิตร และเออออไปกับพวกเขา แต่ผมขอย้ำอีกครั้งให้คุณถามคำถามกับตนเองทุกครั้งว่า ธุรกิจที่มาชวนให้เรานำเงินที่เราหามาได้อย่างยากลำบากนั้น มี หรือไม่ ถ้าไม่มี เราขอแนะนำว่าอย่าลงทุนกับบริษัทนั้น คำถามต่อมาคือ บริษัทเหล่านั้นกำลังกดดันเร่งรัดให้เราลงทุนหรือไม่ หากเราได้รับการเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ที่แม้แต่ธนาคารและกองทุนเงินซูเปอร์ยังไม่สามารถให้ได้ คุณก็ควรบอกกับตัวเองว่า เราจะไม่ลงทุน เพราะมันฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องจริง และก็คงไม่ใช่เรื่องจริง ให้ถามคำถามเหล่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง ขอให้คุณดูแลเงินที่คุณทำงานหามาได้อย่างยากลำบากเสียตั้งแต่ต้น อย่ากลัวที่จะบอกปฏิเสธ และอย่ากลัวที่จะบอกว่า นี่มันฟังดูดีเกินจริง และหลีกเลี่ยงเสีย” คุณเดย์ จากเอสิก สรุป

สำหรับไก่นั้น เส้นทางการติดตามเงินที่ถูกโกงแชร์ยังคงอีกยาวไกล แต่เธอก็มีความหวัง  “หนูเชื่อมั่นในกฎหมาย เชื่อในกระบวนการยุติธรรม ว่าจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ตามความเหมาะสม”

แต่เธอยอมรับว่าเข็ดไปตลอดชีวิตกับ “แชร์เงินออม” หรือแชร์ต่างๆ และอยากฝากให้คนไทยใช้วิจารณญาณและระมัดระวังกับการลงทุนที่มาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบ “แชร์เงินออม” แชร์รายวัน แชร์รายเดือน แชร์ที่ดิน รับแลกเรทเงินราคาดี ไปจนกระทั่งถึงแชร์ทอง แชร์น้ำมัน แชร์ข้าว แชร์ก๋วยเตี๋ยว หรือชื่อเรียกอื่นๆ ที่แท้จริงแล้วก็คือกลอุบายแชร์ลูกโซ่นั่นเอง

“นี่เป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่มากค่ะที่โดนคนไทยโกงกันเอง เลยอยากให้ทุกคนฉุกคิดนิดหนึ่งถ้ามีการโพสต์ลักษณะนี้ ให้ดูว่าเขามีตัวตนจริงไหม แล้วการตั้งโพรไฟล์สวยๆ หรูๆ มันเป็นไปได้ไหม การโพสต์ว่าจะได้ดอกเบี้ยสูงๆ นั้น มันเป็นไปได้ไหม”

“สำหรับตัวเองและผู้เสียหายรายอื่นๆ ที่โดนหลอก เพราะเราหลงเชื่อว่ามันเป็นไปได้ และเชื่อในตัวเขา เลยอยากให้ทุกคนระวังกันให้มากๆ” ไก่ กล่าวทิ้งท้าย



อ่านรายละเอียดกลยุทธ์ที่มิจฉาชีพใช้ล่อเหยื่อมาติดกับ “แชร์ลูกโซ่” วิธีการร้องเรียนหากพบเห็นแชร์ลูกโซ่ หรือตกเป็นเหยื่อ ความเป็นไปได้ในการติดตามผู้ก่อเหตุที่หลบหนีไปอยู่ประเทศไทย และสารถึงชุมชนไทยเรื่องแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ ติดตามได้กับบทสัมภาษณ์พิเศษ คุณวาเรน เดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของเอสิก 

Share
Published 14 March 2019 3:41pm
Updated 10 August 2022 8:59pm
By Parisuth Sodsai
Source: SBS Thai


Share this with family and friends