คาด ‘ผู้อยู่อย่างผิดกฎหมาย’ ในออสฯ ลำบากสุดจากวิกฤตไวรัส

คาดกันว่า มีผู้อพยพย้ายถิ่นที่อยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมายหลายหมื่นคน ซึ่งไม่กล้าจะไปหาหมอเพราะกลัวถูกเนรเทศ และยังอาศัยอยู่ในที่พักที่แออัด คาดว่าคนเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

Workers on an Australian farm

Those advocating for unlawful migrants (not pictured) say they are often employed on Australian farms. Source: AAP

นักพิทักษ์สิทธิต่างเตือนว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นที่อยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมายหลายหมื่นคน เสี่ยงตกอยู่ในภาวะยากจนข้นแค้นและไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการคุ้มครองบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองให้มากกว่านี้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหพันธรัฐคาดการณ์ว่ามีผู้อพยพย้ายถิ่นที่ขณะนี้อาศัยและทำงานอยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมายกว่า 64,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่เกินเวลาที่กำหนดไว้ในวีซ่าของพวกเขา แต่จำนวนที่แท้จริงของผู้คนเหล่านี้นั้นยังไม่มีใครรู้แน่ชัด

เพราะการอยู่อย่างไม่ปรากฎตัวของคนกลุ่มนี้ ที่ทำให้นักพิทักษ์สิทธิเชื่อว่า คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตไวรัสโควิด-19

เมื่อไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะอยู่ในออสเตรเลีย ผู้อพยพย้ายถิ่นที่ไม่มีวีซ่าจึงไม่สามารถรับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมได้ หากพวกเขาตกงาน อีกทั้งยังไม่มีสิทธิ์ถือบัตรเมดิแคร์ด้วย

คนกลุ่มนี้หลายคนยังเกรงว่าพวกเขาจะต้องเปิดเผยสถานะด้านวีซ่าของตน เมื่อไปรับบริการด้านการแพทย์ จึงทำให้มีความเป็นห่วงว่าเชื้อไวรัสโคโรนาอาจแพร่ระบาดไป โดยทางการไม่สามารถตรวจสอบได้

โมฮาเหม็ด* เดินทางจากมาเลเซียมายังออสเตรเลียด้วยวีซ่าท่องเที่ยวในปี 2013 เขาบอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า ก่อนหน้านี้เขามีปัญหาอย่างหนักในการขอรับบริการทางการแพทย์สำหรับโรคหอบหืดของเขา และตอนนี้ เขาวิตกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเขาติดเชื้อไวรัสโควิด-19

“เมื่อ 2-3 ปีก่อน ผมเกิดอาการหอบหืดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน และผมพยายามไปโรงพยาบาล แต่พวกเขาบอกว่า ผมต้องจ่ายเงิน 400 ดอลลาร์เพราะผมไม่มีบัตรเมดิแคร์” โมฮาเหม็ด กล่าว ผมรู้สึกว่ามันจะยากลำบากสำหรับผมหากผมติดเชื้อโควิด-19 มันจะลำบากมากๆ

หลังอยู่เกินเวลาที่กำหนดไว้ในวีซ่าแล้ว โมฮาเหม็ด ซึ่งขณะนี้อายุ 20 ปีเศษ ได้ทำงานอย่างผิดกฎหมายในฟาร์มมาหลายปี โดยมักทำงานเก็บผลไม้ ซึ่งเขาได้รับค่าจ้างน้อยนิดเพียง 1.20 ดอลลาร์ต่อผลไม้ที่เก็บได้ 1 กล่อง

“ผมได้อยู่อย่างถูกกฎหมาย ต่อมาก็อยู่แบบผิดกฎหมาย แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นถูกกฎหมายอีกครั้ง” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า เขาเดินทางมาออสเตรเลีย เพราะมีคนบอกว่า เขาจะสามารถหาเงินไปช่วยเหลือครอบครัวได้
Temporary visa holders face significant financial hardship during the coronavirus crisis.
Temporary visa holders face significant financial hardship during the coronavirus crisis. Source: AAP
ขณะนี้ โมฮาเหม็ดถือวีซ่าชั่วคราวประเภท บริดจิง วีซ่า อี ขณะที่กำลังรอการพิจารณาวีซ่าลี้ภัย แต่เขายังคงทำงานอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของรัฐวิกตอเรีย ซึ่งเขาได้รับการจ่ายค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย เขามีเงินพอเพียงแค่จ่ายค่าเช่าที่พัก ที่เขาอยู่ร่วมกับคนอื่นอีก 4 คน และมีเงินพอแค่จ่ายค่าของชำที่ซื้อมาทำอาหารเท่านั้น

คุณแชนมาตี เวอร์มา ทนายความด้านการตรวจคนเข้าเมือง และผู้ก่อตั้งกลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้อพยพย้ายถิ่นที่ไม่มีเอกสารรับรองสถานะชื่อกลุ่ม อันดอกคูเมนเท็ด ไมแกรนต์ โซลิดาริตี (Undocumented Migrants Solidarity) กล่าวว่า เรื่องราวของโมฮาเหม็ดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากจะพบเห็น

“เมื่อพูดถึงผู้ที่อยู่อย่างไม่มีเอกสารรับรองสถานะ คนมักคิดถึงประเทศอื่น อย่างสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ซึ่งมีพรมแดนทางบก ที่หมายความว่าผู้คนสามารถเดินทางเข้าไปยังประเทศหนึ่งหรือประเทศอื่นได้โดยไม่ต้องมีเอกสารอนุญาตอย่างเป็นทางการ ระบบการอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลียดำเนินการในรูปแบบที่เป็นการมอบสถานะให้ และจากนั้น ก็มีหลายวิธีที่จะยกเลิกสถานะนั้น” คุณเวอร์มา กล่าว

นั่นหมายความว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นที่อยู่อย่างผิดกฎหมายส่วนใหญ่ในออสเตรเลีย เป็นผู้ที่อยู่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวีซ่าชั่วคราวของพวกเขา ซึ่งคาดกันว่าจำนวนของคนกลุ่มนี้ ไม่มีใครสามารถระบุจำนวนได้แน่ชัด คุณเวอร์มา กล่าว

ในปี 2017 คณะกรรมาธิการวุฒิสภา ได้รับแจ้งว่า คาดว่าจะมีผู้คนที่อาศัยอยู่เกินเวลาที่กำหนดในวีซ่าของพวกเขาราว 64,000 คนในออสเตรเลีย และในจำนวนนั้นราว 6,600 คนอาศัยอยู่ในออสเตรเลียมานานราว 15-20 ปี
แต่คุณเวอร์มา และรองศาสตราจารย์ มารี เซเกรฟส์ ของมหาวิทยาลัยโมนาช ผู้ซึ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยด้านประสบการณ์ของลูกจ้างที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมาย เชื่อว่า จำนวนของคนกลุ่มนี้น่าจะสูงขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“จากวิกฤตด้านสาธารณสุขขณะนี้ การวิเคราะห์และรายงานด้านการอพยพย้ายถิ่นทุกรูปแบบชี้ว่า เนื่องจากการตอบสนองที่เชื่องช้าและมีอคติของรัฐบาล ทำให้จำนวนผู้คนที่อยู่อย่างไม่มีเอกสารรับรองสถานะในออสเตรเลียและถูกปล่อยเกาะอย่างแท้จริงเลยนั้น จำนวนคนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างยกกำลัง” คุณเวอร์มา กล่าว

“ดังนั้น จำนวนพื้นฐานอยู่ที่ 100,000 คน ซึ่งมีแต่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น”

เนื่องจากลักษณะที่หมิ่นเหม่ของการทำงานอย่างผิดกฎหมาย ที่ลูกจ้างผู้อพยพที่ไม่มีวีซ่ามักได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ดร.เซเกรฟส์ กล่าวอีกว่า ลูกจ้างผู้อพยพที่ไม่มีวีซ่ามักอาศัยอยู่ในที่พักที่แออัด จึงหมายความว่า การรักษาระยะห่างทางสังคมจึงเป็นไปไม่ได้เลย

“ลูกจ้างส่วนใหญ่ที่ฉันได้ติดต่อไป ที่ทำงานอยู่ในสภาพนี้ กำลังอาศัยอยู่กับคนอื่นๆ หลายคน แต่มีแนวโน้มที่จะย้ายไปที่นั่นที่นี่หลายแห่ง เพราะพวกเขากำลังมองหาโอกาสในการทำงาน” ดร.เซเกรฟส์ กล่าว

“ดังนั้น ทั้งสองประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าวิตกอย่างมากจากมุมมองด้านสาธารณสุข”
สถานการณ์นี้นั้นซับซ้อนยิ่งขึ้นจากการที่อุตสาหกรรมหลายประเภท ที่ต้องสงสัยว่าจ้างงานลูกจ้างไม่มีวีซ่าเป็นจำนวนมากนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็น

รายงานฉบับหนึ่งของมหาวิทยาลัยแอดิเลด ที่ตีพิมพ์ในปี 2019 พบว่าเกษตรกรชาวออสเตรเลียจำนวนมากกำลังต้องเลือกระหว่างการจ้างลูกจ้างที่ไม่มีวีซ่า หรือต้องปล่อยให้ผลผลิตของพวกเขาเสียหาย “มาตรฐานแรงงานที่ต่ำและการเอาเปรียบลูกจ้างกลายเป็นบรรทัดฐานตามปกติในกระจุกหนึ่งของตลาดการผลิตพืชผลทางการเกษตร" รายงานดังกล่าวระบุ

“ฟาร์มต่างๆ กลายเป็นความลับที่เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้เอง” คุณเวอร์มา กล่าว และเสริมว่า อุตสาหกรรมการทำความสะอาดพื้นที่การค้า อุตสาหกรรมการจัดส่งสินค้า และอุตสาหกรรมการฆ่าสัตว์ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีลูกจ้างไม่มีวีซ่าทำงานอยู่มากมายด้วย

“สาขาทั้งหมดเหล่านี้ของเศรษฐกิจจำเป็นต้องดำเนินต่อไปในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนไปอย่างมีนัยสำคัญโดยผู้คนที่ไม่มีวีซ่า หรือผู้ที่มีวีซ่าแต่วีซ่ากำลังจะหมดอายุ และไม่มีการจัดการใดๆ ต่อจากนั้น”

นอกจากนี้ ยังมีความวิตกด้วยว่า ขณะที่อุตสาหกรรมต่างๆ กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา อุตสาหกรรมต่างๆ อาจหันไปพึ่งพาลูกจ้างที่ไม่มีวีซ่ามากขึ้น ซึ่งลูกจ้างเหล่านี้จะถูกบีบให้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าและมีสภาพการทำงานที่เลวร้าย

“ฉันคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่การเอารัดเอาเปรียบเหล่านั้นจะดำเนินต่อไป และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นด้วย” ดร.เซเกรฟส์ ระบุ “และลูกจ้างเหล่านั้นจะมีแรงจูงใจน้อยลงไปอีกในการไปขอรับความช่วยเหลือ เพราะการขาดแคลนงานอื่นๆรองรับ”
จนถึงขณะนี้ กลุ่มของคุณเวอร์มา เรี่ยไรเงินได้กว่า 41,000 ดอลลาร์จากการระดมเงินบริจาคออนไลน์ สำหรับเป็นกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพย้ายถิ่นที่ไม่มีวีซ่า ที่เดือดร้อนทางการเงินในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

กลุ่มดังกล่าว กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยรับประกันว่าผู้อพยพเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงบริการของเมดิแคร์ได้ โดยไม่เกี่ยงว่าพวกเขาจะมีสถานะวีซ่าอย่างไร

รัฐวิกตอเรีย นิวเซาท์เวลส์ และเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้งดเว้นการเก็บค่ารักษาพยาบาลเป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองที่ไม่มีประกันการเดินทาง และติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ผู้พิทักษ์สิทธิกล่าวว่า มาตรการนี้นั้นไม่กว้างขวางเพียงพอที่จะช่วยลดความหวาดกลัวของผู้ไม่มีวีซ่าที่จะกล้าออกมาขอรับบริการทางการแพทย์

“แม้แต่ภายในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งตรวจเชื้อจะเริ่มเปิดกว้างขึ้น ก็จำเป็นต้องมีการหารือกันกับชุมชนและกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิต่างๆ อย่างระมัดระวัง เพื่อแจ้งให้ผู้คนรู้ว่า เมื่อมีการตรวจเชื้อประชาชนในวงกว้าง จะไม่มีใครถามถึงสถานะวีซ่าของพวกเขา เพราะเราต้องการให้ผู้คนกล้าออกมารับการตรวจเชื้อ” ดร.เซเกรฟส์ กล่าว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายอลัน ทัดจ์ รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นที่ถือวีซ่าชั่วคราว ที่วีซ่าของพวกเขากำลังจะหมดอายุ และไม่มีหนทางเดินทางกลับประเทศ ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

หากไม่มีเที่ยวบินจริงๆ และพวกเขาวิตกว่าวีซ่าของพวกเขาจะหมดอายุลง พวกเขาก็ควรโทรศัพท์ติดต่อกรมตรวจคนเข้าเมืองอย่างเร่งด่วน

โฆษกของกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ทุกคนในออสเตรเลีย ไม่ว่าจะมีสถานะวีซ่าอย่างใด ควรปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติด้านสุขภาพที่มีขณะนี้ และไปขอรับการรักษาและไปรับการตรวจเชื้อหากไม่สบาย”

กระทรวงมหาดไทยยังขอให้ทุกคนที่อยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมาย ให้ออกมาขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ของตนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

*มีการเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อสมมุติ

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร และห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 2 คน นอกจากว่าจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันกับคุณหรืออยู่ในครัวเรือนเดียวกัน

หากคุณเชื่อว่าคุณอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา ให้โทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ (อย่าเดินทางไปที่คลินิก) หรือให้ติดต่อโทรศัพท์สายด่วนด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา ที่หมายเลข 1800 020 080

หากคุณเริ่มมีปัญหาหายใจติดขัด หรือกำลังประสบสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ ให้โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 000 เพื่อเรียกรถพยาบาล

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 20 April 2020 12:15pm
Updated 21 April 2020 12:50pm
By Maani Truu
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends