จะต้องมีการลงประชามติเรื่องเสียงชาวพื้นเมืองภายใน 6 เดือนหลังรัฐสภาอนุมติ

การอนุมัติร่างกฎหมายนี้หมายความว่า การลงประชามติเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Voice the Parliament จะต้องมีขึ้นภายใน 2-6 เดือนนับจากวันนี้

Two women embrace each other in parliament house.

ร่างกฎหมายที่จะให้มีการลงประชามติเรื่อง Voice the Parliament ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา ส่งผลให้ต้องมีการลงประชามติเกิดขึ้นภายใน 2-6 เดือนนับจากนี้ Source: AAP / Lukas Coch

ประเด็นสำคัญ:
  • ชาวออสเตรเลียกว่า 17 ล้านคนได้ลงทะเบียนไว้เพื่อลงประชามติในปลายปีนี้
  • การอนุมัติร่างกฎหมายที่จะให้มีการลงประชามติเรื่อง Voice the Parliament ส่งผลให้ต้องมีการกำหนดวันที่แน่ชัดสำหรับลงประชามติ
  • วันลงประชามติต้องมีขึ้นภายใน 2-6 เดือนนับจากวันนี้
ชาวออสเตรเลียจะต้องลงคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการภายใน 6 เดือน เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าควรมีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Voice the Parliament หรือไม่ หลังจากร่างกฎหมายเสนอให้มีการลงประชามติเรื่องนี้ผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 52 ต่อ 19 เสียง

รัฐสภาก้าวข้ามอุปสรรค์อย่างเป็นทางการขั้นสุดท้ายในวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ส่งผลให้ขณะนี้ชาวออสเตรเลียจะต้องตัดสินใจว่า จะระบุลงในรัฐธรรมนูญให้มีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Voice the Parliament หรือไม่ ซึ่งการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาชาวพื้นเมืองเป็นเสาหลักสำคัญของแถลงการณ์อูลูรูจากหัวใจ (Uluru Statement from the Heart) ประจำปี 2017

บรรดาผู้รณรงค์ให้ลงคะแนนเสียง ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘Yes’ ได้ประกาศว่า "งานของรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว" และจากนี้ไป การอภิปรายในประเด็นนี้จะถูกกำหนดทิศทางโดยประชาชนกลุ่มรากหญ้าที่พยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ
    นาง ลินดา เบอร์นีย์ รัฐมนตรีด้านชนพื้นเมืองออสเตรเลีย กล่าวว่า การอนุมัติร่างกฎหมายที่จะให้มีการลงประชามติในประเด็นดังกล่าวทำให้ออสเตรเลีย "ใกล้เข้าไปอีกก้าว" ที่จะการยอมรับชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียในรัฐธรรมนูญ และทำให้ "ประเทศยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น"

    “มันเริ่มแล้ว… วันนี้ การอภิปรายทางการเมืองจบลงแล้ว วันนี้เราสามารถเริ่มการสนทนาระดับชาติในระดับชุมชนได้” นาง เบอร์นีย์ กล่าว

    "นานเกินไปแล้ว ที่ชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียมีสภาพที่แย่กว่าชาวออสเตรเลียที่ไม่ใช่ชนพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง ... มันเป็นระบบที่แตกหัก และ The Voice (Voice the Parliament คณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา) เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของเราในการแก้ไขเรื่องนี้ เพราะเมื่อเราฟังคนในพื้นที่และปรึกษากับคนท้องถิ่น เราจะตัดสินใจได้ดีขึ้นและบรรลุผลลัพธ์ที่ดีขึ้น"

    พรรคแรงงานย้ำว่า คณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา (Voice the Parliament) จะเป็นองค์กรที่ปรึกษาเท่านั้น โดยเปิดโอกาสให้ชนพื้นเมืองออสเตรเลียให้คำแนะนำแก่รัฐสภาและรัฐบาลในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยเฉพาะ

    แต่นักวิจารณ์บางคนอ้างว่า ข้อเสนอนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง ขณะที่นักวิจารณ์คนอื่นๆ โต้แย้งว่าข้อเสนอดังกล่าวยังให้อำนาจแก่ชนพื้นเมืองไม่เพียงพอ
    Penny Wong stands in Senate in front of a woman and two men sitting down
    นาง ลินดา เบอร์นีย์ รัฐมนตรีด้านชนพื้นเมืองออสเตรเลีย (เสื้อสีฟ้า) นั่งอยู่ในรัฐสภาขณะมีการอภิปราย Source: AAP / Lukas Coch
    การลงประชามติครั้งแรกในรอบเกือบ 25 ปีครั้งนี้จะมีขึ้นภายใน 2-6 เดือนนับจากวันจันทร์ (19 มิ.ย.) แม้ว่านายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีซี ได้เผยว่า จะเกิดขึ้นในปีนี้

    “โอกาสครั้งเดียวในชีวิตที่จะยกระดับประเทศอันยิ่งใหญ่ของเราให้สูงขึ้นไปอีก” นายอัลบานีซีประกาศ

    "ความจริงก็คือ สำหรับคนส่วนใหญ่สิ่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของพวกเขา แต่อาจทำให้ชีวิตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่สุดในออสเตรเลียในปัจจุบันดีขึ้นได้ ... ถ้าเราทำสิ่งเดียวกัน ทำแบบเดียวกัน เราก็ควรคาดหวังผลลัพธ์เดียวกัน”

    "นี่เป็นโอกาสที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น แทนที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้ชาวออสเตรเลียพื้นเมือง แต่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันกับชาวพื้นเมืองของออสเตรเลีย"
    Woman poses with group of people in 'yes' t-shirts.
    นาง ลินดา เบอร์นีย์ รัฐมนตรีด้านชนพื้นเมืองออสเตรเลีย กับกลุ่มตัวแทนชุมชนที่อาคารรัฐสภา กรุงแคนเบอร์รา Source: AAP / Mick Tsikas

    พรรคร่วมยอมให้ร่างกฎหมายลงประชามตินี้ผ่านได้

    แม้จะคัดค้านการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Voice the Parliament แต่พรรคร่วมก็ปล่อยให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านการอนุมัติได้ในเช้าวันจันทร์ (19 มิ.ย.)

    นาง มิคาเลีย แคช รัฐมนตรีเงาของพรรคลิเบอรัล แย้งว่า การลงคะแนนเสียง "เห็นด้วย" (Yes vote) จะ "เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียอย่างไม่อาจเพิกถอนได้" โดยอ้างว่าพรรคแรงงานไม่สามารถให้รายละเอียดที่เพียงพอว่า คณะชาวพื้นเมืองที่ปรึกษา ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้คนเห็นต่างมากมายนี้ จะทำงานอย่างไร

    "(แต่) เราเชื่อในประชาชนของประเทศนี้ และสิทธิของพวกเขาที่จะได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้" นาง แคช กล่าว

    "มันไม่เป็นสิ่งที่ไม่มีคนรู้แน่ชัด มันเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างมากมาย และมันจะอยู่ถาวร ถ้าคุณไม่รู้ว่า คณะที่ปรึกษาเสียงต่อรัฐสภา (Voice the Parliament) จะทำงานอย่างไร ตามความเห็นของฉัน คือ: โหวต
    " (No vote)”

    นาง จาซินตา ไพรซ์ โฆษกพรรคฝ่ายค้านด้านชาวพื้นเมืองของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสตรีพื้นเมืองชาววาร์ลปิรี/เคลติก แย้งว่าปล่อยให้รัฐสภาเพื่อเปิดเผยรายละเอียดหลังการลงประชามติแล้ว เต็มไปด้วยความเสี่ยงทางกฎหมาย

    “นายกรัฐมนตรีต้องการให้เราเชื่อใจให้เขาลงนามในเช็คเปล่า และยอมให้ข้อเสนอที่มีความเสี่ยงของเขาถูกบัญญัติลงในรัฐธรรมนูญตลอดไป ทั้งที่เขาไม่สามารถรับประกันอะไรได้” นาง ไพรซ์ กล่าว

    อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกพรรคร่วมไม่มากนัก ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งทางเทคนิคแล้วช่วยให้พวกเขาสามารถรณรงค์การโหวต “ไม่เห็นด้วย" (No vote) ในแผ่นพับของพรรค ที่จะถูกแจกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

    พรรคกรีนส์ต้อนรับ 'วันประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง'

    นาง ดอรินดา ค็อกซ์ ชาวพื้นเมืองออสเตรเลียที่เป็นโฆษกของพรรคกรีนส์ กล่าวว่า นี่เป็น "วันแห่งประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง" สำหรับชนชาติแรกของออสเตรเลีย

    “งานของรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว ถึงเวลาแล้วที่แคมเปญ Yes (เห็นด้วย) ในระดับรากหญ้าจะออกไปในชุมชนและแบ่งปันข้อมูลกับชาวออสเตรเลียทุกคนว่าทำไมการลงประชามติครั้งนี้จึงมีความสำคัญมาก และเหตุใดคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา (Voice the Parliament) จึงมีความสำคัญมาก” เธอกล่าว

    "นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เราจำเป็นต้องฟื้นฟูสิทธิของชนชาติแรกในประเทศนี้ เรายังต้องการความก้าวหน้าที่จะนำไปสู่การบอกเล่าความจริงและสนธิสัญญา (Truth and Treaty) และเราต้องการสิ่งเหล่านั้นตอนนี้เช่นกัน"
    A woman raises her fist as she walks in the parliament.
    ปฏิกิริยาของวุฒิสมาชิก ลิเดีย ธอร์ป หลังร่างกฎหมายจะให้มีการลงประชามติเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา Source: AAP / Lukas Coch

    ลิเดีย ธอร์ป ลั่น เสียงต่อรัฐสภา 'ปลอมและเสแสร้ง'

    วุฒิสมาชิก ลิเดีย ธอร์ป ซึ่งเป็นสตรีชาวพื้นเมืองเผ่า DjabWurrung, Gunnai และ Gunditjmara กล่าวว่าวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็น "วันแห่งการถูกกลืนหาย" และเรียกร้องให้ชาวออสเตรเลียคว่ำบาตรการลงประชามติ

    “ฉันจะโหวต No (ไม่เห็นด้วย) กับความคิดอันเลวร้ายนี้ ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจใดๆ แก่พวกเรา” วุฒิสมาชิก ธอร์ป กล่าว

    “ฉันไม่สามารถสนับสนุนสิ่งที่ทำให้คนของฉันไม่มีอำนาจใดๆ ได้ ฉันไม่สามารถสนับสนุนสิ่งที่ถูกคัดเลือกโดยผู้ใดก็ตามที่มีอำนาจ”

     
    คณะที่ปรึกษาเสียงของชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา (Indigenous Voice to Parliament) เป็นหนึ่งในคำขอที่ระบุไว้ในแถลงการณ์อูลูรูจากหังใจ (Uluru Statement from the Heart) ที่ออกโดยผู้นำชนพื้นเมืองในปี 2017

    การลงประชามติปลายปีนี้จะเป็นการถามชาวออสเตรเลีย โดยให้ตอบว่า เห็นด้วย (Yes) หรือ ไม่เห็นด้วย (No) ที่จะให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพื่ออนุมัติการจัดตั้งองค์กรอิสระถาวรในรัฐสภาและรัฐบาลสหพันธรัฐ ซึ่งจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย

    รายละเอียดและรูปแบบจำลองขององค์กรคณะที่ปรึกษานี้ จะกำหนดขึ้นโดย ส.ส. ในรัฐสภา ในกรณีที่การประชามติประสบความสำเร็จ

    นางเบอร์นีย์ รัฐมนตรีด้านชนพื้นเมืองออสเตรเลีย กล่าวว่า เธอเชื่อว่าข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นตัวตัดวงจรที่จำเป็น ที่จะพุ่งเป้าเฉพาะไปยังเรื่องสุขภาพ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และอายุคาดเฉลี่ยของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส ที่ขณะนี้ย่ำแย่กว่าประชาชนทั่วไป
    คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

    บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

    Share
    Published 30 June 2023 1:35pm
    By Finn McHugh, Biwa Kwan
    Presented by Parisuth Sodsai
    Source: SBS


    Share this with family and friends