วิทยุเอสบีเอสเริ่มให้บริการในห้าภาษาใหม่แล้วทางระบบดิจิตอล

วิทยุเอสบีเอสประกาศเมื่อวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 ว่าภาษาใหม่ห้าภาษา – ภาษากะเหรี่ยง ทิเบต ชิน(ฮักคา) มองโกเลีย และคิรุนดี ได้เริ่มให้บริการแล้วทางแอพ SBS Radio และทางเว็บไซต์ของเอสบีเอส

SBS Radio

Source: SBS Radio

วิทยุเอสบีเอสเริ่มออกรายการในภาษาใหม่ๆ แล้ว

มาดูกันว่า กลุ่มภาษาใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นในรายการของเรานั้นมีอะไรบ้าง

ได้มีการเพิ่มเติมกลุ่มภาษาจำนวนเจ็ดกลุ่มในรายการวิทยุเอสบีเอส เพื่อให้การรองรับต่อชุมชนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานในออสเตรเลียที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

รายการในภาษาชิน(ฮักคา) มองโกเลีย คิรุนดี ทิเบต และ กะเหรี่ยง ได้เริ่มต้นแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีภาษาโรฮิงญาและภาษาเตลูกูกำลังตามมาในอีกไม่นานนี้

พอดคาสต์ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเฉพาะในภาษาต่างๆ ดังกล่าวจะให้บริการฟรีทางระบบดิจิตอล ซึ่งจะรวมไปถึงบริการด้านข่าวสาร ข้อมูลการย้ายถิ่นฐานและข่าวเกี่ยวกับชุมชนต่างๆ

ในปัจจุบันชาวออสเตรเลียมากกว่าหนึ่งในห้าพูดภาษาซึ่งไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่บ้าน โดยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้วซึ่งเคยอยู่ที่เพียงกว่าหนึ่งในเจ็ดเล็กน้อยเท่านั้น ภาษาเหล่านี้จำนวนมากเป็นภาษาใหม่ในประเทศออสเตรเลียและจำนวนผู้พูดในชุมชนต่างๆ นั้นกำลังเพิ่มมากขึ้น

ภาษาชิน (ฮักคา)

ภาษาชินนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วพูดกันในรัฐชินทางตะวันตกของประเทศเมียนมาร์ ในปัจจุบันมีผู้พูดเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 คนแล้วในออสเตรเลีย โดยที่จำนวนมากเป็นผู้ซึ่งมายังออสเตรเลียผ่านโปรแกรมด้านมนุษยธรรม

ผู้ผลิตรายการภาษาชิน คุณเลียน ชิง กล่าวว่า ชุมชนดังกล่าวนั้นอยู่กระจัดกระจายไปตามเมืองหลักต่างๆ และมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว

“พวกเราได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากหมอสอนศาสนา (มิชชันนารี) ที่มาจากอเมริกา” คุณชิงกล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“ประชากรชาวชินนั้นโดยทั่วๆ ไปแล้วนับถือศาสนาคริสต์ … ภาษาของเรา วัฒนธรรมของเราและการปฏิบัติทางศาสนาของเรานั้นแตกต่างไปโดยสิ้นเชิงหากเทียบกับชาวพม่า”

ภาษามองโกเลีย

คุณแดนนี แบตต์ซอก และคุณ เซ็งเกิล กางคยาง นั้นเป็นเพื่อนกันและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประชากรที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในออสเตรเลีย นั่นก็คือนักเรียนนานาชาติจากประเทศมองโกเลีย

รัฐบาลออสเตรเลียกล่าวว่า จำนวนนักเรียนชาวมองโกเลียนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 215 คนในปี ค.ศ. 2015 เป็นกว่า 2,200 คนในปัจจุบัน

คุณแบตต์ซอกอธิบายว่าเพราะเหตุใด

“ผมคิดว่ามีอิทธิพลมาจากคนต่างด้าวชาวออสเตรเลียซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่บ้านของพวกเรา และก็ระบบการศึกษาระดับโลกของประเทศออสเตรเลีย และระดับของมาตรฐานต่างๆ ที่ออสเตรเลียนั้นมีให้”

คุณแบตต์ซอกนั้นเป็นผู้ผลิตรายการภาษามองโกเลียท่านแรกของวิทยุเอสบีเอส

“ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากของชุมชนชาวมองโกเลียในออสเตรเลียนั้นเริ่มต้นในปี 2010 มีเยาชนเป็นจำนวนมากเติบโตขึ้นในออสเตรเลีย และผมว่ามันก็ไม่ผิดถ้าจะพูดว่า พวกเขานั้นกำลังกลายเป็นชาว ‘มอสซี’”

ภาษาคิรุนดี

ผู้ผลิตรายการภาษาคิรุนดีของวิทยุเอสบีเอส คุณมีเรียลล์ คาเยเย กล่าวว่า ผู้ที่พูดภาษาดังกล่าวในชุมชนของเธอนั้นมายังประเทศออสเตรเลียโดยโปรแกรมด้านมนุษยธรรม

“ชาวบุรุนดีซึ่งอยู่อาศัยในออสเตรเลียนั้นเป็นชาวบุรุนดีซึ่งถูกย้ายถิ่นฐานมาที่นี่ด้วยวีซ่าด้านมนุษยธรรม เกือบทั้งหมดมาจากค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศแทนซาเนีย โดยหลบหนีสงครามกลางเมืองและความรุนแรงซึ่งมีประวัติเป็นเวลายาวนานในประเทศบุรุนดี”
 

ภาษาทิเบต

เรื่องราวก็คล้ายคลึงกันสำหรับชุมชนผู้พูดภาษาทิเบต ผู้ลี้ภัยจำนวนมากนั้นรวมไปถึงอดีตนักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งซึ่งเคยใช้เวลาในเรือนจำของประเทศจีนเป็นเวลาหลายปี

ผู้ผลิตรายการภาษาทิเบตของเอสบีเอส คุณพีมา ดอลการ์ นั้นมายังประเทศออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัย

“ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาใช้เวลาในเรือนจำของประเทศจีนเป็นเวลาหลายปี … เพราะฉะนั้น หากพูดถึงด้านอารมณ์แล้ว มันยากเย็นมากสำหรับพวกเขาที่จะปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่นี้เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นมีบาดแผล”

แต่ผู้ผลิตรายการท่านดังกล่าวก็เผยว่า “วัฒนธรรมทิเบตนั้นมีรากฐานหยั่งลึกในชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นเมื่อมีผู้ลี้ภัยใหม่เดินทางเข้ามาในออสเตรเลีย พวกเขาก็จะได้รับการช่วยเหลืออย่างแข็งขัน”

ชุมชนต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

วิทยุเอสบีเอสในปัจจุบันผลิตเนื้อหาใน 68 ภาษา ซึ่งเป็นบริการที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดตั้งแต่ปี 1975 เพื่อรองรับความต้องการต่างๆ อันเปลี่ยนแปลงไปของชุมชนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานในออสเตรเลีย 

หลังจากการสำรวจสำมะโนประชากรทุกๆ ครั้ง เอสบีเอสนั้นศึกษาข้อมูลและปรึกษากับชุมชนต่างๆ เพื่อระบุว่าจะมีภาษาใหม่ภาษาใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากการถูกรวมอยู่ในบริการของวิทยุเอสบีเอส

ภาษาต่างๆ นั้นได้รับเลือกโดยมีพื้นฐานจากความจำเป็น บางภาษานั้นเนื่องจากมีการเพิ่มจำนวน ในขณะที่ภาษาอื่นๆ นั้นเนื่องจากความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ย ซึ่งก็หมายถึงว่าจะมีความยากลำบากมากกว่า ในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตในประเทศออสเตรเลีย

ผู้จัดการด้านเนื้อหาของวิทยุเอสบีเอส คุณมาร์ค คัมมินส์กล่าวว่า “เราได้ศึกษาเกี่ยวกับผู้ที่มาใหม่ ว่าผู้คนนั้นใช้ภาษาอังกฤษได้ดีหรือไม่ในชุมชน”

“ในกรณีของภาษาใหม่ๆ เหล่านี้ ภาษาพวกนี้อยู่บนสุดเลยในแง่ที่มีความจำเป็นสูง และพวกเขาก็จำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างมากเพื่อปรับตัวและเรียนรู้ว่าชีวิตในออสเตรเลียนั้นเป็นเช่นไร”

คู่มือการย้ายถิ่นฐาน  (มีบริการในหลายภาษา) ยังช่วยเหลือผู้มาอยู่ใหม่ในหลายแง่มุมของชีวิตประจำวันในประเทศออสเตรเลียซึ่งพวกเขาอาจพบว่ามีความท้าทาย ตั้งแต่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างไร หรือยื่นแบบคืนภาษีอย่างไร ไปจนถึงข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำและอัคคีภัย การดูแลสุขภาพและที่พักอาศัย

ดร. เอเลีย อิมโทล เป็นผู้อำนวยกานด้านนโยบายของสหพันธ์ชุมชนชาติพันธุ์แห่งออสเตรเลีย

เธอกล่าวว่า การเรียนรู้ภาษาใหม่และการรับข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตในออสเตรเลียในภาษาแม่ของแต่ละคนนั้นสามารถเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้

“เราสนับสนุนการเรียนภาษาอังกฤษให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเข้ามาอยู่ใหม่ ของกระบวนการย้ายถิ่นฐาน แต่เราก็ยังตระหนักถึงคุณค่าที่มหาศาลของบริการในภาษาต่างๆ เพราะว่าบริการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานใหม่สามารถเข้าถึงบริการใหม่ต่างๆ ที่เหมาะสม และเข้าถึงข้อมูลซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเริ่มต้นชีวิตในประเทศออสเตรเลียได้โดยสำเร็จ”




Share
Published 30 May 2018 10:45am
Updated 1 June 2018 9:09pm
By Peggy Giakoumelos
Presented by Tanu Attajarusit

Share this with family and friends