จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณถูกจับโดยไม่มีวีซ่า?

อดีตเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเผยกับเอสบีเอสนิวส์ ถึงเบื้องหลังกิจวัตรแต่ละวันของการไล่ล่าผู้อยู่เกินวีซ่าในออสเตรเลีย

เพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่มีคนกระโดดออกนอกหน้าต่าง

แต่คุณคริสโตเฟอร์ เลวิงสโตน เล่าว่า บ่อยครั้งกว่า ที่ผู้คนซึ่งเขาเข้าประชิดตัว จะกลั้นอารมณ์ไม่อยู่และร้องไห้ โดยบางกรณีนั้นเนื่องมาจากความโล่งใจ

ทุกๆ คนในที่นี้คือผู้ที่อยู่เกินวีซ่าของพวกเขาในประเทศออสเตรเลีย และไม่ว่าจะเป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี ต่างล้วนพบว่าเวลาของพวกเขาได้หมดลงแล้ว

คุณเลวิงสโตนทำงานให้กับกรมตรวจคนเข้าเมือง โดยเขามีหน้าที่แจ้งให้ผู้คนทราบว่าพวกเขานั้นถูกจับแล้วในที่สุด

“ลองสมมติว่าคุณต้องเก็บทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต โดยไม่รู้ตัวมาก่อน ภายใน 10,15 นาที ที่จะต้องเก็บกระเป๋าของคุณ” คุณเลวิงสโตนกล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“มันเหมือนฝันร้ายเลยใช่ไหม? พวกเขาน่าสงสารมาก”
“ลองสมมติว่าคุณต้องเก็บทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต โดยไม่รู้ตัวมาก่อน ภายใน 10,15 นาที”
ในปัจจุบัน คุณเลวิงสโตนทำงานเป็นทนายความด้านการตรวจคนเข้าเมืองที่ให้การช่วยเหลือกับผู้คนรวมไปถึงกรณีผู้อยู่เกินกำหนด และช่วยพวกเขาต่อกรกับระบบวีซ่าซึ่งซับซ้อนของประเทศออสเตรเลีย แต่ก่อนที่เขาจะออกจากกรมฯ เมื่อปี ค.ศ. 1990 นั้น เขาเล่าว่าได้เคยจับกุมผู้คนเป็นจำนวน “หลายร้อยคน” ซึ่งอยู่ในประเทศโดยไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง

การหลบหนีการจับกุม

กรณีของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ซึ่งมางานคอมมอนเวลธ์เกมส์เมื่อไม่นานมานี้นั้น  ได้ทำให้สาธารณชนพุ่งความสนใจไปยังปัญหาการอยู่เกินกำหนด ทว่าพวกเขานั้นเป็นเพียงเศษส่วนเล็กน้อยเท่านั้นหากจะเทียบกับจำนวนผู้ซึ่งอยู่ในออสเตรเลียหลังจากวีซ่าหมดอายุลงในแต่ละปีจำนวนหลายพันคน

มี “ชาวต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย” ซึ่งคาดว่ายังอยู่ในประเทศ ในปี 2016/17 เป็นจำนวน 62,900 คน  โดยอ้างอิงจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ติดตามพบตัวเป็นจำนวน 15,885  คนในช่วงเวลาเดียวกันดังกล่าว

ทางกระทรวงฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ อาทิการสัมมนาให้ข้อมูล ซึ่งมุ่งเน้นที่จะ “ส่งเสริมการให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ” ผู้คนซึ่งถูกจับได้ว่าอยู่เกินกำหนดนั้นอาจถูกกักตัว ส่งออกนอกประเทศ และถูกห้ามเข้าประเทศออสเตรเลียอีกเป็นเวลาอย่างน้อยสามปี

ถึงแม้ว่ามีเดิมพันต่างๆ ที่มหาศาล คุณเลวิงสโตนก็เล่าว่า เขาไม่ได้ใช้เวลาครุ่นคิดอย่างมากมายเท่าใดนัก ถึงผลอันหนักหน่วงที่จะตามมาทุกๆ ครั้งเมื่อเขาเดินทางมายังประตูบ้านของใครสักคน

“ผมเกรงว่า ผมอาจจะมีแนวโน้มต่อต้านสังคมเล็กน้อยก็เป็นได้ เพราะผมสามารถบอกได้อย่างสัตย์จริงว่า ในทางอารมณ์นั้นผมไม่ได้รู้สึกหนักใจมากมายเท่าไหร่เลยในเรื่องนี้” เขากล่าว

“ผมสนใจที่จะทำงานดังกล่าว ผมสนใจในการตามหาตัวผู้คน ผมสนใจต่อการจับกุมพวกเขาแล้วก็ทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่วิ่งหนีหรือได้รับบาดเจ็บ”
คุณคริสโตเฟอร์ เลวิงสโตน ได้จับกุมผู้อยู่เกินวีซ่าเป็นจำนวน “หลายร้อยคน” ระหว่างที่เขาทำงานให้กับรัฐบาล ขณะนี้เขาช่วยให้คนเหล่านั้นได้อยู่ต่อ
คุณคริสโตเฟอร์ เลวิงสโตน ได้จับกุมผู้อยู่เกินวีซ่าเป็นจำนวน “หลายร้อยคน” ระหว่างที่เขาทำงานให้กับรัฐบาล ขณะนี้เขาช่วยให้คนเหล่านั้นได้อยู่ต่อ (Image: supplied) Source: supplied via SBS News
ตัวอย่างของชายที่กระโดดออกนอกหน้าต่างนั้น เป็นหนึ่งในชาวฟิลิปปินส์หลายคนที่ถูกควบคุมตัว

“เราไปที่นั่น ผมคิดว่ามันเป็นคืนวันอาทิตย์นะ เพื่อที่จะไปจับกุมเขา มีผู้คนจำนวนหนึ่งอยู่ที่นั่น และทุกคนก็ถูกจับทั้งหมด” เขากล่าว “โชคไม่ดีที่ชายคนนี้คิดว่าการกระโดดออกนอกหน้าต่างนั้นเป็นความคิดที่ดี”
“โชคไม่ดีที่ชายคนนี้คิดว่าการกระโดดออกนอกหน้าต่างนั้นเป็นความคิดที่ดี”
คุณเลวิงสโตนเล่าว่าเขาบาดเจ็บอย่างมาก “แต่ขอบคุณพระเจ้าที่เขาไม่เสียชีวิต”

การแจ้งเบาะแสคนอื่นๆ

คุณเลวิงสโตนกล่าวว่าในหลายๆ ครั้ง การถูกสุ่มให้หยุดรถนั้นเป็นความหายนะของผู้อยู่เกินกำหนด แต่ 99 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาจะถูกพบจากการ “แจ้งเบาะแส” หรือถูกรายงานข้อมูลเข้ามายังทางกระทรวงฯ โดยที่บ่อยครั้งนั้นจากผู้คนในชุมชนเดียวกันกับพวกเขาเอง

เขากล่าวว่าปัญหาทางเพศ เงินทอง และเจตนาร้ายนั้นเป็นแรงจูงใจหลักๆ สำหรับการกระทำดังกล่าว

“บางคนอาจจะติดเงินกันอยู่ แล้วก็เลยถูกแจ้งเบาะแส” เขากล่าว “บางคนอาจจะกำลังคบชู้กันอยู่ แล้วคู่ครองของพวกเขาก็รู้สึกไม่พอใจในเรื่องนี้ และพวกเขาก็แจ้งเบาะแสเข้ามา หรือไม่พวกเขาก็อาจจะแค่ต้องการทำโทษกัน”

สำหรับคนอื่นๆ นั้น ภัยคุกคามจากการที่อาจถูกจับกุมตัวได้ตลอดเวลาก็เป็นการทำโทษในตัวเองอย่างเพียงพอแล้ว

“ลองสมมติชีวิตที่หลบๆ ซ่อนๆ ชีวิตที่ต้องคอยวิ่งหนี มันก็น่าเครียดอย่างมาก” เขากล่าว “แต่สำหรับบางคนพวกเขาก็เก่งมากๆ ระยะเวลายาวนานที่สุดซึ่งผมเคยพบคนอยู่เกินวีซ่าของพวกเขานั้นประมาณ 40 ปี”

คุณเลวิงสโตนเล่าว่า ในกรณีดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้ววิกฤตในครอบครัว ก็ทำให้ชาวมาเลเซียท่านนั้นต้องออกไปพบกับทนายความด้านการตรวจคนเข้าเมือง

ชายคนดังกล่าว ปรากฏว่ามีสิทธิ์ที่จะได้รับสัญชาติในฐานะ “บุคคลผู้ถูกกลืนปนไป (absorbed person)” ซึ่งก็เป็นหนึ่งในหลายพันรายซึ่งคุณเลวิงสโตนคาดคะเนว่าเขาเคยเข้าประชิดตัวในระยะเวลา 26 ปี เพื่อ “ปรับสถานภาพของพวกเขาให้เป็นที่ทราบได้ตามปกติ”

ทางเลือกที่มีน้อย

เขาเล่าว่า บ่อยครั้งอาจมีหนทางที่สามารถอยู่ต่อได้โดยเป็นทางการ แทนที่จะเสี่ยงต่อการถูกจับ เขาเผยเพิ่มเติมว่า มันยากขึ้นเรื่อยๆ หากจะอยู่โดย “หลบหนี” ในชุมชน

“หากคุณจำเป็นต้องใช้บัตรประจำตัวต่างๆ 100 แต้มเพื่อเปิดบัญชีธนาคาร คุณก็จะพบว่ามันยากมากที่จะเปิดบัญชีธนาคาร ถ้าหากว่าคุณไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง” เขายกตัวอย่าง

ทางกระทรวงฯ ได้แจ้งกับเอสบีเอสนิวส์ว่า ต้องการให้ผู้ที่อยู่ในออสเตรเลียโดยไม่มีวีซ่าถูกต้องนั้นมาแก้ไขสถานภาพของพวกเขา เช่นผ่านทางบริการแก้ไขสถานภาพ (Status Resolution Service) หรือมิฉะนั้นก็ออกนอกประเทศไปเสีย

“บุคคลใดๆ ซึ่งไม่ทำตามนี้ อาจจำเป็นที่จะต้องถูกควบคุมตัวและส่งกลับ” ตัวแทนเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งกล่าว

คุณเลวิงสโตนกล่าวว่า ทางเลือกของแต่ละคนนั้นจะเหลือน้อยลงหากว่าพวกเขาถูกจับและส่งไปยังสถานกักกัน ซึ่งพวกเขาอาจอยู่ที่นั่นโดยไม่มีกำหนด หากไม่มีทางเลือกที่ชัดเจนสำหรับพวกเขาว่าจะอยู่หรือจะไป

“หากคุณอยู่เกินกำหนดมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี พวกเขาก็จะบอกว่า งั้นทำไมเราถึงจะยอมให้คุณออกไปได้ล่ะ?” เขาเล่า “มันยากลำบากมากๆ ที่จะออกจากสถานกักกันหากคุณได้เข้าไปแล้ว”

ไปที่เวบไซต์  เพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่าที่กำลังจะหมดอายุหรือหมดอายุลงไปแล้ว

หากคุณต้องการแบ่งปันเรื่องราวของคุณกับเอสบีเอส ติดต่อ


Share
Published 7 June 2018 1:37pm
Updated 7 June 2018 6:56pm
By Leesha McKenny
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS News


Share this with family and friends