Explainer

ทำไมชุมชนพหุวัฒนธรรมจึงต้องการข้อมูลวัคซีนโควิดในภาษาของตนเอง

จากการยับยั้งข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่แพร่หลายเป็นวงกว้าง ไปจนถึงการช่วยชีวิตผู้คน ผู้นำชุมชนพหุวัฒนธรรมในออสเตรเลียเผยเหตุผลสำคัญในการมีข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่ถูกต้องและชัดเจนในภาษาต่าง ๆ และหลายช่องทาง

Vaccine messaging

Vaccine messaging Source: SBS News/Nick Mooney

การให้ข้อมูลแก่ชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรมในออสเตรเลีย (CALD) เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาอย่างถูกต้อง ได้ถูกพิสูนจ์แล้วว่าเป็นอุปสรรค์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่

ความผิดพลาดในการแปลข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐบาลสหพันธรัฐและรัฐบาลระดับรัฐได้ถูกเปิดเผย ขณะที่เมื่อเดือนก่อนมีข้อมูลที่พบว่า บางชุมชนพหุวัฒนธรรมในรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่ยังคงคิดว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19

การเอาชนะข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญในข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่ถ้าหากเป็นข้อมูลในอีกหลาย ๆ ภาษา จะเป็นอย่างไร

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหพันธรัฐได้เปิดตัวโครงการด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา งบประมาณ $23.9 ล้านดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการนำข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เข้าไปยังชุมชนพหุวัฒนธรรมของออสเตรเลีย

ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผู้นำชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรมได้อธิบายว่า เพราะเหตุใด การสื่อสารในเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนไวรัสโคนาโดยเจ้าหน้าที่ทางการอย่างชัดเจนในภาษาของพวกเขาผ่านช่องทางต่าง ๆ นั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ระบาดหนัก

นายโรแลนด์ จาบบอร์ (Roland Jabbour) ประธานสมาคมชาวอาหรับออสเตรเลีย (Australian Arabic Council) กล่าวว่า ความสับสนในการหาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในภาษาของพวกเขา กำลังทำให้ผู้คนในชุมชนชาวอาหรับต่างต้องหาข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าข้อมูลทุกอย่างที่พบนั้นจะเป็นความจริง

“สมาชิกในชุมชนของเราพูดคุยกัน และสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลซึ่งไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป มีหลายทฤษฎีสมคบคิดที่กำลังถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย” นายจาบบอร์ กล่าว 

เพื่อเป็นการรับมือในส่วนนี้ นายจาบบอร์ กล่าวว่า มันเป็นสิ่งสำคัญในการที่เจ้าหน้าที่ทางการจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนต่าง ๆ ตลอดช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสนี้

“การมุ่งเน้นในส่วนนี้ จำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชุมชนต่าง ๆ เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำชุมชน เพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้องได้รับการเผยแพร่ และเป็นที่รับรู้ว่ามาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ” นายจาบบอร์ กล่าว

นายเมอร์รี-โจ คามารา (Murray-Jo Kamara) นักทำงานเพื่อสังคม และผู้นำเยาวชนชาวแอฟริกัน กล่าวว่า ข่าวสารที่ผิดพลาดนั้นได้แพร่กระจายไปในหมู่วัยรุ่นชาวแอฟริกันในออสเตรเลียเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย

เขายอมรับว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายในชุมชน จะสามารถช่วยแก้ไขความเข้าใจผิด ๆ ของผู้คนได้เป็นอย่างมาก

“หากข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมาจากองค์กร หรือกลุ่มชุมชนที่พวกเขาเชื่อถือ พวกเขาก็จะไว้วางใจและปฏิบัติตามอย่างจริงจัง” นายคามารา กล่าว

“เรามีองค์กรในชุมชนของผู้คนวัยหนุ่มสาว เช่น กลุ่มเล่นกีฬา และกลุ่มสังคมต่าง ๆ ที่เยาวชนให้ความไว้วางใจ ดังนั้น ถ้าสารเหล่านี้มาจากผู้คนเหล่านั้น มันจะเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพวกเขา”

ไม่ใช่ทุกคนที่รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลัก

นายวินเซน โอกู (Vincent Ogu) ประธานองค์กร Africa Health Australia กล่าวว่า มีชุมชนชาวแอฟริกันในออสเตรเลียส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาจากสื่อกระแสหลัก หรือสื่อดั้งเดิม อย่างวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์

“ผู้คนในชุมชนไม่ได้เข้าถึงข้อมูลจากสื่อกระแสหลักเสมอไป ดังนั้น มันยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องสำรวจช่องทางเหล่านี้ที่พวกเขารับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่ไม่มีภูมิหลังในการพูดภาษาอังกฤษ” นายโอกู กล่าว

“ต้นทางข่าวสารในลักษณะข้างต้นก็มีอยู่แล้ว นั่นคือองค์กรที่มีพื้นเพในชุมชน ซึ่งสามารถแปลข้อมูลข่าวสารเป็นภาษาท้องถิ่นได้ ซึ่งผู้คนจะเริ่มไว้วางใจกับข้อมูลข่าวสารที่มาจากช่องทางเหล่านี้”
Dr Vincent Ogu, the chair of Africa Health Australia.
داکتر وینسنت اوگو، رییس سازمان صحی آفریقا-آسترالیا Source: SBS News/Bernadette Clarke
นอกจากนี้ ในบางชุมชนหลังวัฒนธรรมยังได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนไวรัสโคโรนาในภาษาของตนเอง เพื่อทำให้แน่ใจว่า ข้อมูลเหล่านี้มาจากแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือ และได้รับการแปลอย่างถูกต้อง

“เรากำลังมีความคิดว่า ทันทีที่วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาเปิดตัว เราจะจัดทำแผ่นพับซึ่งจะแจกให้กับบรรดาสมาชิกชุมชน” นายปรากาช เมห์ทา (Prakash Mehta) ประธานสมาคมชาวฮินดูแห่งออสเตรเลีย (Hindu Council of Australia) กล่าว โดยเขาได้เสริมว่า “จะมีการจัดสัมมนาทางออนไลน์ร่วมกับแพทย์ในชุมชนชาวฮินดู รวมถึงตัวแทนจากรัฐบาล”

นายเมห์ทา กล่าวว่า การมีข้อมูลข่าวสารในภาษาฮินดี ภาษาทมิฬ และภาษาปัญจาบ จะเป็นผลดีอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนชาวฮินดูของออสเตรเลีย

“ประชากรชาวฮินดูส่วนมากเข้าใจภาษาอังกฤษ แต่สำหรับผู้สูงอายุบางคน หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่บางคนอาจไม่เข้าใจ ซึ่งนั่นจะเป็นการส่งเสริมเกี่ยวกับวัคซีนในอนาคต” นายเมห์ทากล่าว

มันอาจเป็นเรื่องของความเป็นและความตาย

นพ.มูเกช ไฮเคอวอล (Mukesh Haikerwal) แพทย์ตรวจโรคทั่วไปในย่านฮอบสันส์ เบย์ (Hobsons Bay) ซึ่งเป็นเทศบาลปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดในรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่า การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่ถูกต้องนั้น สามารถช่วยเหลือชีวิตผู้คนได้

“เรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเราทุกคนในฐานะชาวออสเตรเลียก็เป็นส่วนหนึ่งและยินดีกับสิ่งนี้ แต่นั่นเป็นข้อกำหนดสำคัญที่เราต้องทำให้แน่ใจว่า เมื่อเราทำสิ่งใดที่มีความสำคัญเช่นนี้ ชุมชนต่าง ๆ ของเราจะต้องทราบดีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น” นายไฮเคอวอล กล่าว  

“เราต้องส่งสารไปเป็นภาษาต่าง ๆ เราจำเป็นที่จะต้องข้อมูลเป็นตัวอักษร รวมถึงเป็นคลิปวิดีโอ ที่ผู้คนสามารถรับฟังหรือชมผ่านทางโซเชียลมีเดียและทางแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ด้วย”

นพ.ไฮเคอวอล กล่าวอีกว่า ชุมชนที่มีความหลากหลายทางภาษา จำเป็นที่จะต้องได้รับสารเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในมาตรฐานเดียวกับข้อมูลฉบับภาษาอังกฤษที่ชาวออสเตรเลียซึ่งใช้ภาษาอังกฤษได้รับ โดยแพทย์ตรวจโรคทั่วไปนั้นมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้คนในชุมชน

“การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่เราพบว่าได้ช่วยเหลือชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุ และสิ่งนี้ทำโดยแพทย์ตรวจโรคทั่วไปในออสเตรเลีย เรามีคนทำงานเป็นแพทย์ตรวจโรคทั่วไปจำนวนมากที่สามารถพูดได้หลายภาษา พวกเขาสามารถช่วยเหลือให้ผู้คนเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน รวมถึงสิ่งที่จำเป็น สิ่งต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงก่อนฉีด และการช่วยเหลือเพื่อขจัดความกังวลต่าง ๆ ได้ในภาษาของตนเอง” นพ.ไฮเคอวอล กล่าว

รัฐบาลทำอะไรบ้างเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงทุกคน

หน่วยงานสาธารณสุขของออสเตรเลีย ระบุว่า โครงการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา งบประมาณ $23.9 ล้านดอลลาร์นี้ จะ.ให้การสนับสนุนกับชาวออสเตรเลียทุกคน รวมถึงชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม

“มันเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาจะได้รับข้อมูลที่พวกเขาเข้าใจได้ ซึ่งรวมถึงเนื้อหาที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ และขณะนี้เรายังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง” โฆษกหน่วยงานสาธารณสุขของออสเตรเลีย กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“มีการพัฒนาแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่การโฆษณาสำหรับชุมชนพหุวัฒนธรรมหลายรูปแบบ เช่น บทบรรณาธิการทางสิ่งพิมพ์และวิทยุ วิดีโออธิบายเกี่ยวกับการติดตามข้อมูลล่าสุด รวมถึงแนวทางในการพัฒนาเนื้อหาวิดีโอสำหรับผู้นำชุมชนในการถ่ายทำด้วยตนเอง ข้อมูลในเว็บไซต์เป็นภาษาต่าง ๆ โพสต์สำหรับเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงโปสเตอร์ และบทความในจดหมายข่าว”

โฆษกหน่วยงานสาธารณสุขกล่าวว่า เนื้อหาต่าง ๆ จะได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจากข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และระหว่างที่ข้อมูลต่าง ๆ ได้รับการเผยแพร่มากขึ้นจากทางหน่วยงาน โฆษกระบุว่า จะมีการปรับปรุงข้อมูลข่าวสารอย่างทันท่วงทีในช่องทางต่าง ๆ

นอกจากนี้ หน่วยงานสาธารณสุขออสเตรเลียยังได้ทำงานร่วมกับเอสบีเอส เพื่อตรวจสอบเนื้อหาขั้นสุดท้าย ในวิดีโออธิบายเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ ความปลอดภัยในการใช้วัคซีน กลุ่มประชาชนที่จะได้รับวัคซีนตามลำดับ และการติดตามข้อมูลล่าสุด โดยเอสบีเอส กำลังอยู่ในระหว่างการผลิตเนื้อหาใน 63 ภาษา และมีกำหนดการเผยแพร่ในวันที่ 22 ก.พ.นี้

โฆษกหน่วยงานสาธารณสุขยังระบุอีกว่า รัฐบาลในรัฐและมณฑลต่าง ๆ จะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับล่ามแปลภาษาในจุดรับวัคซีน ขณะที่จุดรับวัคซีนต่าง ๆ กำลังได้รับการยืนยัน

ผู้ถือวีซ่าใดบ้างที่จะได้รับการฉีดวัคซีนฟรี

อีกจุดหนึ่งที่สร้างความสับสนให้กับชุมชนหลากวัฒนธรรมคือ จะมีใครบ้างที่ได้รับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา รัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า การฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนานั้นไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับชาวออสเตรเลีย ผู้อาศัยถาวร และผู้ถือวีซ่าออสเตรเลียส่วนใหญ่

นั่นหมายความว่า ผู้ใดก็ตามในออสเตรเลียที่ถือวีซ่านักเรียน วีซ่าทำงาน วีซ่าทักษะ วีซ่าครอบครัว วีซ่าคู่ครอง วีซ่าผู้ลี้ภัย วีซ่าโครงการมนุษยธรรม วีซ่าส่วนภูมิภาค วีซ่าบริดจิง หรือวีซ่าพิเศษ จะสามารถฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือวีซ่า 4 ชนิดดังต่อไปนี้ จะไม่ได้รับสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

  • Subclass 600 - tourist (วีซ่าท่องเที่ยว)
  • Subclass 771 – transit (วีซ่าทรานซิท)
  • Subclass 651 – eVisitor (วีซ่าผู้มาเยือน)
  • Subclass 601 - electronic travel authority  
จากข้อมูลของหน่วยงานมหาดไทยออสเตรเลีย พบว่ามีผู้ถือวีซ่า 4 ชนิดข้างต้นราว 69,000 คน โดยวีซ่าเหล่านี้ไม่ใช่วีซ่าในการอยู่อาศัย และได้รับอนุมัติเป็นเวลาระยะสั้นระหว่าง 72 ชั่วโมง ถึง 12 เดือน เพื่อจุดประสงค์ในการท่องเที่ยว การมาเยี่ยมเพื่อนและสมาชิกครอบครัว และไม่ได้รับสิทธิ์ในการทำงานในออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานมหาดไทยออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาวีซ่าทั้ง 4 ประเภทนี้ เพื่อดูว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่ ในการให้ผู้ที่ถือวีซ่าดังกล่าวรับวัคซีนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามแผนฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ระดับชาติ


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 4 February 2021 6:25pm
Updated 4 February 2021 6:34pm
By Claudia Farhart
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends