อธิบายวิถีออสซี: ออสซีสแลง

Farmers load sheep

มีภาษาออสซีสแลงหลายพันคำที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวันของชาวออสเตรเลีย Source: Getty Images/Moment RF

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

"คุณอยากทานบิกกี (bikkie) เป็นเบรคกี (brekkie) ไหม หรือจะทานบาร์บี (barbie) ดี" นี่คือตัวอย่างคำสแลงออสเตรเลียบางคำอาจทำให้หลายๆ คนสับสนงงงวยได้ เรายังมีเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับวิถีออสซีอีก ติดตามได้ใน พอดคาสต์ ซีรีส์ Australia Explained อธิบายวิถีออสซี ของเอสบีเอส ไทย


กดฟังพอดคาสต์
LISTEN TO
australia-explained-aussie slang image

อธิบายวิถีออสซี: ออสซีสแลง

SBS Thai

09/02/202213:42
การที่คุณเก่งภาษาอังกฤษก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเข้าใจคำสแลงออสซีเสมอไป ในตอนที่หนึ่งของอธิบายวิถีออสซีพอดคาสต์นี้คุณจะได้รู้จักประวัติความเป็นมาและลักษณะเฉพาะของคำสแลงออสเตรเลียที่แตกต่างไปจากภาษาอังกฤษในประเทศอื่นๆ อย่างไร

ภาษาต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ต่างมีคำสแลงที่ใช้พูดกับเพื่อนหรือการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการในชีวิตประจำวัน แต่ทำไมเราจึงใช้คำสแลงและคำสแลงนั้นเริ่มต้นมาจากไหน ดร. อัญญรัตน์  ธารดำรงค์ นักภาษาศาสตร์และนักวิจัยด้านภาษาเปรียบเทียบผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโมนาชในนครเมลเบิร์นอธิบายว่าภาษาสแลงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ และความรู้สึกเป็นกลุ่ม เป็นพวกเดียวกัน สร้างความสามัคคี ความรู้สึกเป็นปึกแผ่นและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั้นๆ  

โดยทั่วไปแล้วภาษาสแลงเป็นภาษาที่ใช้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่ตัดหรือรวบคำให้สั้นกระชับเพื่อที่สะดวกและง่ายต่อการสื่อสาร แต่หลายคำก็เป็นคำที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับคำเดิม ดร. อัญญรัตน์ เปรียบเทียบคำทั่วไปที่แผลงมาเป็นคำสแลงได้แก่

“ตัวอย่างคำในภาษาไทยเช่น มหาวิทยาลัย ก็ถูกตัดให้สั้นลงเหลือแค่ มหาลัย  หรือ ภาษาอังกฤษ University ก็ตัดเหลือแค่ Uni เป็นต้น”
Obstacles which migrants face in Australia and how to tackle them
นักภาษาศาสตร์ชี้ว่าคำสแลงของออสเตรเลียมีต้นกำเนิดจากที่ใดยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏแน่ชัด Source: Pixabay
ส่วนต้นกำเนิดของภาษาสแลงแบบออสซีนั้นเริ่มต้นมาจากที่ใดนั้น นักภาษาศาสตร์พบว่าไม่มีการบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจนและก็ยังเป็นหัวข้อที่โต้เถียงกันอยู่ ซึ่งนักภาษาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าภาษาสแลงของออสเตรเลียเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1789 ในช่วงที่กัปตัน อาเธอร์ ฟิลิปส์ ได้ล่องเรือนำคนมาตั้งรกรากที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีคนมาจากหลายท้องถิ่นของสหราชอาณาจักรเช่น ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และรวมถึงคนอังกฤษและเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการปรับใช้ภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ให้ สั้น กระชับขึ้น

ส่วนนักภาษาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าต้นกำเนิดของสแลงออสซีมาจากกลุ่มนักโทษที่ได้เข้ามาในออสเตรเลียในสมัยนั้น ซึ่งภาษาที่กลุ่มนักโทษเหล่านี้ใช้กันนั้นมีชื่อเรียกว่าภาษาแฟลช  ดร. อัญญรัตน์ ขยายความไว้ดังนี้

“ภาษาสแลงออสเตรเลียไม่มีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการว่าเริ่มมาเมื่อไหร่ นักภาษาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าภาษาสแลงของออสเตรเลียเริ่มมาจากชนชั้นล่างจากหลายท้องถิ่นเช่น ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และรวมถึงคนอังกฤษ ย้อนไปในช่วงประวัติศาสตร์เข้ามาช่วงปี 1789 ในช่วงที่กัปตัน อาเธอร์ ฟิลิปส์ ได้ล่องเรือนำคนหลายกลุ่มมาตั้งรกรากที่ออสเตรเลียทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของภาษาเพื่อง่ายต่อการใช้ แต่ต้นกำเนิดอีกแหล่งหนึ่งเชื่อว่าภาษาสแลงอาจมีที่มาจากกลุ่มนักโทษที่เรียกว่า ภาษาแฟลช  มีการใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มของเขา”

วิวัฒนาการของภาษาสแลงออสเตรเลียได้มีการปรับใช้กันมาเรื่อยๆ ภายในประเทศ แต่ในช่วงปี 1960-1970 ทั่วโลกก็เริ่มรู้จักภาษาสแลงของออสเตรเลียผ่านตัวละครชื่อดังในยุคนั้นคือ เดม เอดนา เอเวอเรจ (Dame Edna Everage) ซึ่งแสดงโดยนักแสดงชาวออสเตรเลีย คุณ แบรี ฮัมฟรีย์ (Berry Humphries) จากตัวละครนี้ผู้ชมได้ติดตามการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงภาษาพูดที่ใช้กันของแม่บ้านชาวเมลเบิร์น ซึ่งมีคำฮิตไปทั่วโลกคือ “Hello Possums” 

อิทธิพลของภาษาสแลงออสเตรเลียนี้ก็มีต่อเนื่องมาจนสมัยปัจจุบัน ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในบทความของ BBC ที่ชี้ถึงความนิยมของสแลงออสเตรเลียในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ ก็นำไปใช้ด้วย แม้กระทั่งออกซ์ฟอร์ด ดิกชันนารี (Oxford Dictionary) ฉบับปรับปรุงใหม่ก็มีการนำเอาภาษาสแลงออสเตรเลียไปบรรจุไว้ด้วย หรือแม้กระทั่งมีคำสแลงยอดฮิตติดปากที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ อย่างเช่น Take a selfie ก็มีที่มาจากออสซีสแลงนั่นเอง  ดร. อัญญรัตน์ มองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง

“ในฐานะนักภาษาศาตร์มองว่าสิ่งที่ BBC จดบันทึกหรือการนำคำศัพท์ออสซีสแลงไปบันทึกในออกซ์ฟอร์ด ดิกชันนารี ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะการบันทึกคำศัพท์สแลงหรือคำศัพท์ทั่วไปก็ถือว่าเป็นการบันทึกคำที่คนในยุคสมัยนั้นใช้กัน”
dictionary
ภาษาสแลงออสซีถูกบรรจุไว้ในดิกชันนารีออกซ์ฟอร์ด Source: Pixabay
แม้กระทั่งในโลกโซเชียลคำสแลงออสซีก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าคำเหล่านี้มีที่มาจากภาษาสแลงของออสเตรเลีย เช่นคำว่า Take a selfie ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา  ดร. อัญญรัตน์อธิบายเรื่องนี้ไว้ดังนี้

“ในปี 2015 ออสซีสแลงกว่า 2,000 คำที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพราะคนที่มีชื่อเสียง เซเลบริตี จากออสเตรเลีย เช่น ฮิวจ์ แจคแมน หรือดาราออสซีอื่นๆ ใช้คำศัพท์เหล่านั้น  ส่วนคำว่า “take a selfie” ที่ถูกเริ่มใช้ในปี 2018 ซึ่งคนไทยหรือคนอเมริกันก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน คนก็นึกว่ามาจากอเมริกา แต่จริงๆ แล้วมาจากออสเตรเลียเพราะมีการเปลี่ยนเสียงคำต่อท้ายเป็นเสียง อี ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคำสแลงออสเตรเลีย และคำว่า Take a selfie  ก็ถูกบันทึกในออกซ์ฟอร์ด ดิกชันนารี ด้วยว่าเป็นคำที่ทั่วโลกใช้”

ลักษณะเฉพาะของภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียที่แตกต่างจากคำสแลงของกลุ่มผู้ใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง การออกเสียง การเน้นคำ การสะกดคำ คำศัพท์ และ ลักษณะการใช้งาน ดร. อัญญรัตน์ อธิบายว่าการออกเสียงของภาษาอังกฤษแบบออสซีนั้นแตกต่างจากกลุ่มผู้ใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ  เพราะออกเสียง T เป็น เสียง D  ดร. อัญญารัตน์ยกตัวอย่างว่า

“ คนออสเตรเลียออกเสียงตัว T เป็นตัว D ซึ่งต่างจากกลุ่มอื่นๆ เช่นคำว่า คนอเมริกันออกเสียงคำว่า Bottle (บอเทิล)  แต่คนออสเตรเลียออกเสียงเป็น Boddle (บอดเดิล)  หรือคำว่า  Footy  คนเอเมริกันออกเสียง ฟุตตี  แต่คนออสเตรเลียออกเสียงว่า ฟุดดี ซึ่งคำว่า Footy นี้คือคำสแลงของคนออสเตรเลียที่แปลว่ากีฬาฟุตบอลแบบออสเตรเลียนั่นเอง”

ประการต่อไปคือการเน้นเสียงตัวอักษร ซึ่งภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียจะมีการเน้นคำหรือตัวอักษรชัดกว่าภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน 

“การเน้นคำนี้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันอาจจะไม่มีการเน้นคำมาก แต่ออสเตรเลียมี เช่นคำว่า Garage (การาจ) ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียจะเน้นคำว่า Ga  ชัดกว่า”

ส่วนตัวสะกดนั้นพบว่าภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียมีความคล้ายคลึงกันกับภาษาอังกฤษแบบบริทิช แต่บางคำก็มีการสะกดแตกต่างกับภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน โดยที่จะเพิ่มหรือสลับอักษรบางตัว เช่นคำว่า CENTER กับ CENTRE หรือ  ALUMINUM  หรือ ALUMINIUM  ดร. อัญญรัตน์ ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างนี้ว่า

“เช่นคำว่า ALUMINUM อเมริกันไม่มีตัว I แต่ออสเตรเลียจะมีตัว I เพิ่มเข้ามาหลังตัว N”

ในเรื่องของคำศัพท์ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียก็มีความหลากหลายและหลายๆ คำก็ใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกับผู้ใช้ภาษาอังกฤษทั่วโลกด้วย  

“อเมริกันใช้คำว่า GAS ในการเติมน้ำมันแต่ที่ออสเตรเลียใช้ PETRO  หรือคำว่ายาฉีดกันแมลง อเมริกันใช้ INSECT REPELLENT แต่ออสเตรเลียใช้  MOZZIE SPARY”

ประการสุดท้ายที่ทำให้ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียมีความเฉพาะตัวสูงคือการใช้คำที่สามารถใช้เป็นคำนามและคำกริยาเวลาเดียวกัน  ดร. อัญญรัตน์ ยกตัวอย่างคำว่า PET

“ในออสเตรเลียบางคำจะเป็นทั้งคำนามและคำกริยา เช่นคำว่า PET  Can I pet your dog ซึ่งหมายความว่าฉันเล่นกับหมาของเธอได้ไหม  แต่อเมริกันจะใช้คำว่า PAT แทน เช่น  Can I pat your dog “
Uluru
Uluru Source: Guy McLean
นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ของชาวพื้นเมืองหลายพันคำที่ใช้กันในคำสแลงของพวกเขา เช่นคำว่า เดดลี “DEADLY” ซึ่งชาวพื้นเมืองและชาวเกาะทอเรส สเตรท ใช้พูดกันเป็นประจำในชีวิตประจำวันและคำว่า “DEADLY” นี้หมายถึงยอดเยี่ยม สุดยอด หรือ เจ๋ง ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างจะมีความหมายตรงกันข้ามกับที่เราคิด และวลีที่ใช้คู่กันกับคำนี้คือ “Too Deadly”  นั่นเอง  

ส่วนอีกคำหนึ่งคือคำว่า ม็อบ “Mob”  ซึ่งเป็นคำที่ใช้แทนความหมายว่าพวกเรา เมื่อใช้คำว่า “My mob” จะหมายถึงกลุ่มชาวพื้นเมืองที่ใช้ภาษาเดียวกัน ครอบครัว หรือเครือญาติ หรือกระทั่งคนในชุมชนในท้องถิ่นหรือสังคมที่กว้างออกไปก็ได้

อีกคำหนึ่งคือว่า เชม "Shame" สถานการณ์ที่คุณจะใช้คำว่า  Shame เมื่อคุณรู้สึกอับอายหรือรู้สึกไม่ดีในสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งคำนี้จะใช้งานค้อนข้างแตกต่างจากกลุ่มคนที่ไม่ใช้ชนพื้นเมือง วลีที่ใช้คู่กับกับคำว่า Shame คือ Shame job  เช่นบางคนอาจจะถามว่า “Do you want to show me your best dance moves ?” ซึ่งแปลว่าเธออยากจะโชว์ท่าเต้นสุดเจ๋งของเธอให้ดูไหม และคนที่ถูกถามก็รู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะทำและอาจจะตอบว่า “No way, Shame Job"

You can listen to all episodes of  in  and 

Australia Explained was originally created by Maram Ismail for 


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai

Share