พลเมืองออสเตรเลียเผยความลำบากในการขออนุญาตเดินทาง

Empty check-in counters at Brisbane International Airport

Empty check-in counters at Brisbane International Airport. Source: AAP

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

คุณต้อย คนไทยในวิกตอเรียและพลเมืองออสเตรเลียคนอื่นๆ เล่าความยากลำบากในการขอยกเว้นข้อห้ามเดินทางออกนอกประเทศช่วงโควิดระบาด มีจุดใดบ้างที่รัฐบาลควรปรับปรุงเกี่ยวกับเรื่องนี้


ชาวออสเตรเลียส่วนหนึ่งกำลังพยายามขอยกเว้นจากการห้ามเดินทางที่รัฐบาลกำหนด ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามกลับบ้านจากต่างประเทศ หรืออยู่ในออสเตรเลียแต่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ คุณต้อย คนไทยในออสเตรเลียเล่าประสบการณ์การยื่นขออนุญาตเดินทางไปยังประเทศไทยของเธอ พร้อมฟังมุมมองจากทนายความที่ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ และจากชาวออสเตรเลียที่ติดค้างในต่างประเทศ
LISTEN TO
Australians desperately seeking exemptions to travel image

พลเมืองออสเตรเลียเผยความลำบากในการขออนุญาตเดินทาง

SBS Thai

04/09/202009:37

พลเมืองในออสเตรเลียสับสนว่าใครจะได้รับอนุญาตเดินทางออกนอกประเทศได้

คุณต้อย เป็นพลเมืองออสเตรเลีย เชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ในรัฐวิกตอเรีย เธอหวังจะเดินทางไปดูแลแม่ที่อายุมากแล้วที่ประเทศไทย และไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเธอไปสอนเป็นประจำในช่วงครึ่งหลังของทุกปี

“การสมัครขอยกเว้น พี่ทำสองรอบ รอบแรกใช้เหตุผลที่ขอกลับไปดูแลคุณแม่ที่อายุ 86 ปีแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลในด้านมนุษยธรรม ยื่นไปกลางเดือนมิถุนายน รอสามอาทิตย์ ยังไม่ได้รับคำตอบเลยค่ะ” คุณต้อยเล่า

แต่ต่อมากระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย มีการอธิบายถึงข้อยกเว้นเพิ่มเติมถึงชาวออสเตรเลียที่ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างออสเตรเลียและประเทศอื่น คุณต้อยจึงยื่นใบสมัครไปอีกครั้ง และได้รับการปฏิเสธภายในหนึ่งสัปดาห์

“เขาปรับข้อมูลใหม่อธิบายในเรื่องของคนที่ไปๆ มาๆ หรือใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอื่นนอกออสเตรเลียด้วย ครั้งที่สองที่ขอเข้าไป มีการเพิ่มหลักฐานด้วยว่า เราไปทำงานประจำในช่วงเวลานี้ ที่ทำงานของเราก็ส่งจดหมายรับรองมาให้ อ้างอิงถึงการเดินทางของเราทุกปีในช่วงเวลานี้ไปด้วย ประกอบกับการอ้างอิงถึงใบสมัครที่เราขอออกนอกประเทศฉบับก่อนไปว่า จะไปดูแลแม่ด้วยในช่วงเวลานี้ ส่งทุกอย่างเข้าไป พี่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ได้” คุณต้อย กล่าว

คุณดอนนา เบอร์ตัน เป็นชาวออสเตรเลียอีกคนหนึ่งที่ต้องการเดินทางไปร่วมงานแต่งงานของลูกสาวในประเทศอังกฤษในเดือนกรกฎาคม เธอซื้อตั๋วเครื่องบิน 2,000 ดอลลาร์ และยื่นขอยกเว้นการห้ามเดินทาง

แต่ได้รับแจ้งให้ยื่นเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม เธอจึงยื่นสมัครไปอีกเป็นครั้งที่สอง จากนั้น เธอไม่ได้รับคำตอบในเรื่องนี้เลย

“ฉันคิดว่า ถ้าฉันได้รับแจ้งก่อนหน้านี้ว่าฉันไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ฉันคิดว่ามันคงจะง่ายขึ้นมากที่ฉันจะทำใจได้และในง่ายขึ้นด้วยในด้านการเงิน หากพวกเขาบอกว่าฉันไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์” คุณเบอร์ตัน กล่าว

คุณต้อยและคุณเบอร์ตัน เป็นหนึ่งในพลเมืองออสเตรเลียหลายพันคน ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ

จากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียได้จัดพนักงานมากขึ้นดูแลเรื่องนี้ และนำเครื่องมือออนไลน์มาใช้เพื่อลดระยะเวลาในกระบวนการพิจารณา แต่ขณะเดียวกัน จำนวนการยื่นขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน

สถิติจากกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ระบุว่าตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม มีการอนุมัติยกเว้นข้อห้ามเดินทางให้เพียงราว 22,000 กรณี หรือ 1 ใน 4 ของการยื่นขอยกเว้นทั้งหมดในช่วงนั้นกว่า 90,000 กรณี

แต่ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม การอนุมัติเพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 34,000 กรณี หรือ 1 ใน 3 ของคำร้องเกือบ 105,000 กรณี

หลักเกณฑ์ว่าการพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติยังคงไม่ชัดเจน

แต่ผู้ที่ทำงานให้บริการโดยตรงแก่ผู้ที่ต้องการเดินทางที่กำลังเข้าตาจนอย่าง คุณอดัม เบิร์นส์ ทนายความด้านการตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า กระบวนการอนุมัตินั้นไม่คงเส้นคงวา

“เรามีใบสมัครที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งผู้ใช้บริการของเราไม่ได้มีคุณสมบัติอย่างชัดเจนตามเกณฑ์ที่ระบุบนเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย แต่เราก็มีบางใบสมัครที่แข็งแกร่งที่สุดที่เรายื่นสมัครไป และเราได้ยื่นหลักฐานสนับสนุนในเกือบทุกด้านที่สามารถทำได้ แต่พวกเขาก็ถูกปฏิเสธ” คุณเบิร์นส์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ เขาได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลืออย่างล้นหลาม

เขากล่าวว่า หลายคนถูกปฏิเสธไม่ให้เดินทาง ขณะที่พยายามเดินทางไปหาญาติที่ป่วยหนัก หรือไปหาลูกที่อายุยังน้อยของตนในต่างประเทศ

“ผู้คนเหล่านี้มากมายยื่นสมัครไปหลายครั้ง และถูกปฏิเสธหลายครั้ง ผู้ใช้บริการของเราบางคนยื่นสมัครไป 17, 18 หรือ 20 ครั้ง และพวกเขาก็ถูกปฏิเสธทุกครั้ง และเหตุผลที่ปฏิเสธมีเพียงแค่บรรทัดเดียวเท่านั้น” คุณเบิร์นส์ ทนายความ เล่า

คุณต้อยกล่าวในประเด็นนี้ว่า ผู้ที่ถูกปฏิเสธการขอยกเว้นไม่มีหนทางใดที่จะรู้ได้ว่าการยื่นสมัครของตนบกพร่องอย่างไร

“พอเราได้รับคำตอบนี้ เราไม่สามารถที่จะโทรศัพท์ไปหาใครที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ เวลาโทรเข้าไป ก็คือเขาบอกให้ยื่นใหม่ ให้ลองใหม่ คือไม่สามารถอธิบายได้ว่า มันผิดพลาดอย่างไร”

ขณะเดียวกัน คุณต้อย เห็นว่ากระทรวงมหาดไทยควรมีการช่องทางให้ประชาชนสอบถามได้เกี่ยวกับการขอยกเว้นเพื่อเดินทางไปต่างประเทศโดยเฉพาะ

“ตอนที่พี่ทำเรื่องขอเข้าไปครั้งแรก แล้วเรื่องไม่มา พี่ก็โทรศัพท์เข้าไปสอบถาม เวลาโทรเข้าไป จะมีให้กดหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ว่าจะกดหมายเลขไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการขอต่อวีซ่า การยื่นเรื่องโน่นนี่นั่น แต่ไม่มีเรื่องนี้เลย มันเหมือนกับไม่มีส่วนนี้เลย ซึ่งพี่ก็รู้ว่ามันเป็นการทำงานเพิ่ม อาจต้องใช้คนเพิ่ม เพื่อจะให้สอบถามได้เกี่ยวกับการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับโควิดในช่วงการระบาดของโควิด” คุณต้อยแสดงความเห็น

เสียงเพรียกจากชาวออสเตรเลียที่ติดค้างในต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา ส่งผลให้มีพลเมืองออสเตรเลียราว 18,000 คน ยังคงติดค้างอยู่ในต่างประเทศ

คุณร็อบ คอลลิแกน ได้พยายามเดินทางกลับมาบ้านในออสเตรเลียจากสิงคโปร์มาเป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว ในเดือนมีนาคม คุณคอลลิแกนและภรรยา ได้รับคำแนะนำให้อยู่ในสิงคโปร์ต่อไป เมื่อขณะนั้นพวกเขาทั้งสองยังคงมีงานทำและมีบ้านอยู่ แต่นั่นกำลังจะเปลี่ยนไป

เราไม่มีที่อยู่ เราไม่มีความช่วยเหลือเลย ผมต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ผมเริ่มตีฆ้องร้องป่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีชุมชนชาวต่างชาติที่นี่ มีชุมชนชาวออสเตรเลียที่นี่ ซึ่งได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ และผมก็ซาบซึ้งใจอย่างมาก” คุณคอลลิแกน เผยความรู้สึก

เขากล่าวว่า การขาดความช่วยเหลือทำให้เขารู้สึกว่า รัฐบาลออสเตรเลียได้ทอดทิ้งพวกเขา

“พวกเรารู้สึกเหมือนถูกหักหลัง นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น คุณหักหลังคนของคุณเอง ที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศ” คุณคอลลิแกน กล่าว

ในเดือนกรกฎาคม ผู้แทนรัฐมนตรีของรัฐและมณฑลต่างๆ ได้จำกัดจำนวนผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศให้เหลือ 4,000 คนต่อสัปดาห์ ส่งผลให้บางสายการบินคิดค่าบัตรโดยสารเป็นจำนวนเงินกว่า 10,000 ดอลลาร์


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share