ชาวออสเตรเลียอายุยืนขึ้น แต่คุณภาพชีวิตแย่ลง

A doctor checking a diabetes patient's blood sugar levels

A doctor checking a diabetes patient's blood sugar levels Source: Getty

การมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นนั้นฟังดูเป็นข่าวดี แต่สำหรับชาวออสเตรเลียหลายคน อายุที่ยืนยาวขึ้น กลับมาพร้อมกับโรคเรื้อรัง ที่ทำให้สุขภาพ และคุณภาพชีวิตนั้นแย่ลง


LISTEN TO
Australians living longer - but with poorer quality of life image

ชาวออสเตรเลียอายุยืนขึ้น แต่คุณภาพชีวิตแย่ลง

SBS Thai

19/10/202007:18
จากการศึกษาด้านภาระจากโรคภัยไข้เจ็บระดับโลก (Global Burden of Disease) โดยวารสารทางการแพทย์ The Lancet ได้เปิดเผยว่า​ คุณภาพชีวิตของชาวออสเตรเลียนั้นกำลังลดลง จากโรคไม่ติดต่อที่สามารถป้องกันได้ เช่น โรคเบาหวาน และโรคอ้วน 

คุณบิล สตาวเรสกี (Bill Stavreski) ผู้จัดการทั่วไปของ Heart Health and Research จากมูลนิธิหัวใจออสเตรเลีย (Heart Foundation of Australia) กล่าวว่า แม้ผู้คนจะมีอายุมากขึ้นในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา แต่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่กับภาวะโรคเรื้อรัง  

“ข่าวดีก็คือ อายุของผู้คนนั้นยืนยาวขึ้นและยืนยาวที่สุดในรอบ 50 ปี แต่เรากำลังอยู่กับภาวะโรคเรื้องรังมากขึ้น มีชาวออสเตรเลียจำนวนมากขึ้นที่มีโรคซึ่งเกิดร่วมกับโรคอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน" คุณสตาวเรสกี กล่าว 

สิ่งที่งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นก็คือ เรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่โชคไม่ดีที่เราไม่มีความรื่นรมย์และคุณภาพชีวิตที่ดี” 

มีข้อมูลว่า ชาวออสเตรเลียที่เกิดในวันนี้ จะมีชีวิตยืนยาวขึ้น 6 ปี มากกว่าผู้ที่เกิดมาเมื่อ 30 ปีก่อน

งานวิจัยดังกล่าวยังได้พบว่า ปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับแรกที่นำไปสู่การเสียชีวิตในออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา คือภาวะความดันโลหิตสูง ตามมาด้วยความเสี่ยงด้านโภชนาการ การสูบบุหรี่ ค่าดัชนีมวลกายสูง และระดับกลูโคสในพลาสมาหลังการอดอาหารสูง

โดยในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตจากภาวะความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียวมากถึง 25,500 ราย

คุณสตาวเรสกี กล่าวว่า ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและกรรมพันธุ์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูง

“ภาวะความดันโลหิตสูงอาจเกิดขึ้นได้จากทั้ง 2 ปัจจัย แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ผู้คนสามารถทำได้ เพื่อทำให้แน่ใจว่าพวกเขาดูแลระดับความดันโลหิตซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การออกกำลังกาย แต่ยังหมายถึงการปรับปรุงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดการบริโภคเกลือ ทำให้แน่ใจว่าคุณไม่รับประทานอาหารที่เค็มจัดเป็นประจำ" คุณสตาวเรสกี กล่าว

และมันก็เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องตรวจสุขภาพของหัวใจอย่างสม่ำเสมอกับแพทย์ และควบคุมระดับความดันในเลือดอยู่เสมอ” 

การค้นพบดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นอุปสรรคในการรับความช่วยเหลือเกี่ยวกับภาวะโรคเรื้อรัง จากการไปพบแพทย์ที่น้อยลงเพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ

แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีดังกล่าวยังได้ชี้ว่า อัตราการเสียชีวิตของชาวออสเตรเลียจากโรคหัวใจนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการดูแลที่ดีขึ้นในโรงพยาบาลและภายในชุมชน  

ศาสตราจารย์แกรี เจนนิงส์ (Prof Garry Jennings) หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ ของมูลนิธิหัวใจของออสเตรเลีย (Heart Foundation of Australia) กล่าวว่า ภาวะอาการอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความยากลำบากในช่วงท้ายปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในออสเตรเลียเพียงอย่างเดียว

“เราทำได้ดีเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ดีอย่างที่เราอยากให้เป็น เรากำลังเห็นอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจที่ลดลงในหลายกลุ่มอายุทั้งชายและหญิง แต่ก็ยังพบอัตราการเสียชีวิตในอัตราสูงอย่างน่ากังวลในหมู่ชาวอะบอริจินและชาวหมู่เกาะทอร์เรส สเตรท รวมถึงผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับต่ำ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน” ศาสตราจารย์เจนนิงส์ กล่าว 

“ดังนั้น มันยังมีอีกหลายสิ่งที่เราต้องทำ ตราบใดที่ความเท่าเทียมยังเป็นเรื่องน่ากังวล แต่อัตราการเสียชีวิตนั้นได้เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางในทั่วโลก ซึ่งกำลังพบกับความเปลี่ยนแปลงจากโรคระบาด สู่ภาวะโรคเรื้อรังเหล่านี้”

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เจนนิงส์ ยังกล่าวอีกว่า ผู้คนจากชุมชนที่มีภูมิหลังซึ่งไม่ได้พูดภาษาอังกฤษนั้น กำลังเผชิญกับภาวะโรคเรื้อรังในอัตราสูงในออสเตรเลีย

“เราพบอัตราที่แตกต่างในหมู่ผู้ลี้ภัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราเห็นความแตกต่างด้านเศรษฐกิจและสังคม ผู้ที่อยู่ในย่านชานเมืองที่มีรายได้ต่ำ มีความเป็นไปได้มากที่จะเผชิญกับภาวะโรคหัวใจ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ที่อยู่ในชุมชนห่างไกล เหล่านี้คือตัวอย่างของกลุ่มผู้คนที่เราต้องมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพหัวใจ และความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ” ศาสตราจารย์เจนนิงส์ กล่าว 

ดัชนีดังกล่าว ยังได้พบปัญหาด้านโภชนาการที่นำไปสู่ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของออสเตรเลีย

โดยในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตจากความเสี่ยงที่เกี่ยวกับโรคเบาหวานมากถึง 21,600 คน ซึ่งมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ 

คุณเจน มาร์ติน (Jane Martin) ผู้จัดการบริหารของแนวร่วมนโยบายภาวะโรคอ้วน (Obesity Policy Coalition) กล่าวว่า เธอต้องการที่จะพบเห็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการรับมือกับภาวะโรคอ้วนที่กำลังจะมีการเปิดเผยในเร็ว ๆ นี้ ในการรับมืออย่างจริงจังกับปัญหาโรคอ้วนที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง 

“เราคาดหวังที่จะเห็นนโยบายบางส่วนได้รับการแนะนำในระดับโลก ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว อย่างเช่น การป้องกันเด็ก ๆ จากการตลาดของอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอันดาษดื่น การปรับปรุงการแสดงฉลากของอาหารที่จำเป็นต้องมีคะแนนดาวสุขภาพ (Health Star Ratings) รวมถึงนโยบายภาษีน้ำตาล (sugar levy) ในการเพิ่มราคาเครื่องดื่มที่น้ำตาลสูง ซึ่งราคาส่วนต่างนั้นสามารถนำไปสมทบทุน โครงการป้องกันภาวะโรคเบาหวานได้” คุณมาร์ติน กล่าว

“เรามีปัญหาที่มีความเคร่งเครียด ผู้ใหญ่ถึง 2 ใน 3 และเด็ก 1 ใน 4 นั้นเผชิญกับโรคเบาหวาน มันจะไม่หายไปไหน และเราจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านั้น ในการป้องกันผู้คนจากความเสี่ยงเหล่านี้”


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share