รัฐบาลเร่งแจงรายละเอียดข้อกำหนดสอบภาษาวีซ่าคู่ครอง

IELTS

International student group petitions extension of IELTS, PTE result validity and seeks other reforms. Source: IELTS

รัฐบาลออสฯ เร่งชี้แจงผู้ยื่นสมัครวีซ่าคู่ครอง กรณีข้อกำหนดสอบภาษาอังกฤษ ย้ำไม่กีดกันการออกวีซ่าสำหรับผู้ที่สอบไม่ผ่าน หลังเกิดกระแสไม่พอใจในชุมชนพหุวัฒนธรรม ชี้อาจพาประเทศกลับเข้าสู่นโยบายคนผิวขาวเป็นใหญ่


LISTEN TO
Government responds to backlash over proposals for English language test image

รัฐบาลเร่งแจงรายละเอียดข้อกำหนดสอบภาษาวีซ่าคู่ครอง

SBS Thai

12/10/202007:09
เมื่อปี 2017 คุณเชลซี ซอนการ์ (Chelsea Sonkar) ตกหลุมรักกับ คุณซันเจย์ (Sanjay) ชายผู้เป็นสามีของเธอในตอนนี้ ระหว่างที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศอินเดียครั้งแรกในชีวิตของเธอ 

เขาและเธอมีลูกแล้ว 1 คน แต่ยังคงต้องรอวันเวลาที่จะได้พบกันอีกครั้ง

“จากสถานที่ซึ่งคุณซันเจย์อยู่ในตอนนี้ ในบางครั้ง รัฐบาลออสเตรเลียอาจทำให้มันเป็นเรื่องยากในการเข้าประเทศ สำหรับคู่รักที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับ และการที่ไม่มีทางรู้เลยว่าวีซ่าของเราผ่านหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่น่ากลัว” คุณซอนการ์กล่าว

โดยตั้งแต่ปลายปี 2021 เป็นต้นไป จะมีการเพิ่มข้อกำหนดในการสอบทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับคู่รักที่ต้องการยื่นสมัครวีซ่าคู่ครองของออสเตรเลีย
เรารู้สึกโกรธเคืองมากกับเรื่องนี้ เพราะมันเป็นอุปสรรคที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งผู้ยื่นขอวีซ่าจากต่างประเทศรวมถึงสปอนเซอร์ต้องผ่านไปให้ได้ และก็ไม่มีคำอธิบายว่าข้อกำหนดนี้จะเป็นอย่างไร คุณซอนการ์กล่าว
ข้อกำหนดที่รัฐบาลประกาศ ในการแถลงร่างงบประมาณแผ่นดิน เมื่อวันอังคารที่ 6 ต.ค.​ที่ผ่านมานั้นไม่มีการระบุรายละเอียดอย่างชัดเจนสร้างความกังวลให้กับคู่รักในต่างประเทศ ว่าพวกเขาอาจถูกกีดกันไม่ให้เข้ามายังออสเตรเลียหากไม่พูดภาษาอังกฤษ

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลได้ออกมาชี้แจงว่า หากผู้สมัครวีซ่าคู่ครองไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงระดับทักษะภาษาอังกฤษในระดับพอใช้ ผ่านช่องทางการสอบได้ พวกเขาจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ามีความพยายาม “อย่างเหมาะสม” ในการเรียนภาษาอังกฤษ

นั่นหมายถึงการเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษฟรีของรัฐบาลเป็นเวลา 500 ชั่วโมงเมื่อเดินทางมาถึง

ต่อมา นายอลัน ทัดจ์ (Alan Tudge) รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีด้านตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นใหม่ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงทักษะภาษาอังกฤษที่เพียงพอ จะไม่ถูกปฏิเสธวีซ่าคู่ครองที่ได้ยื่นสมัครไป

นายทัดจ์กล่าวว่า ขณะที่การเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นนั้น อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับบางคน แต่อย่างน้อยรัฐบาลก็ต้องการให้พวกเขาลองพยายาม

เขากล่าวอีกว่า สิ่งนั้นจะช่วยให้ผู้อพยพย้ายถิ่นได้รับโอกาสที่ดีกว่าในการมีงานทำ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในออสเตรเลียอย่างเต็มที่ 

“สำหรับผู้คนส่วนมาก มันจะใช้เวลา 500 ชั่วโมง และจะทำให้พวกเขาได้รับทักษะภาษาอังกฤษในระดับหนึ่ง แต่สำหรับบางคน พวกเขาอาจต้องการจำนวนชั่วโมงมากขึ้น ในการเรียนให้ได้ทักษะพื้นฐาน แต่นั่นไม่ใช่ข้อบังคับ สิ่งที่จะเป็นข้องบังคับนั้น คือการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาใช้ความพยายามที่มีเหตุผล และนั่นก็คือการกำหนดเกณฑ์การเรียนภาษาอังกฤษเป็นจำนวน 500 ชั่วโมง”

โดยการประมวลผลวีซ่าคู่ครองนั้นแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ข้อมูลจากสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ข้อกำหนดด้านภาษาใหม่นี้จะยังไม่มีความจำเป็น จนกว่าจะมีการยื่นขอวีซ่าคู่ครองอย่างถาวร ซึ่งตามปกติแล้วจะเป็นช่วงเวลา 2 ปี หลังจากที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียด้วยวีซ่าคู่ครองชั่วคราว

แต่อย่างไรก็ตาม นายทัดจ์ได้กล่าวปกป้องข้อกำหนดใหม่นี้ โดยย้ำถึงการเน้นย้ำว่า ภาษาอังกฤษนั้น มีความสำคัญในการมีชีวิตอยู่ในออสเตรเลีย และทำให้ผู้หญิงรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
ถ้าคุณไม่มีทักษะภาษาอังกฤษ มันจะเป็นเรื่องยากในการมีงานทำ มันเป็นเรื่องยากในการมีส่วนร่วม และใช้โอกาสในสังคมของออสเตรเลียอย่างเต็มที่ และแน่นอนว่า มันจะทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะพบเจอความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากไม่มีความสามารถในการสื่อสาร นายทัดจ์ กล่าว
แต่ คุณแอน อะลี (Anne Aly) ผู้รอดชีวิตจากเหตุความรุนแรงในครอบครัว และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแรงงาน ไม่เห็นด้วยเช่นนั้น  

“ดิฉันมีทักษะภาษาอังกฤษดีเยี่ยม แต่มันก็ไม่ได้ช่วยปกป้องดิฉันจากความรุนแรงได้เลย นโยบายที่ท่านรัฐมนตรี และท่านนายกรัฐมนตรีประกาศออกมานั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติอย่างมาก” คุณอะลีกล่าว

นอกจากนี้ คำชี้แจงเหตุผลของนโยบายดังกล่าวยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยอดีตรองเลขาธิการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย นายอะบูล ริซวี (Abul Rizvi)
มันเหมือนมีดที่ปักลงกลางใจของชุมชนพหุวัฒนธรรมในออสเตรเลีย มันไม่ผิดที่จะส่งเสริมให้ผู้อพยพย้ายถิ่นพูดภาษาอังกฤษ แต่หากกำหนดเป็นเงื่อนไข อย่างที่กำหนดในวีซ่าคู่ครองนั้น ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าใจหาย นายริซวี กล่าว
นางเนฮา แมดฮอก (Neha Madhok) จากเดโมเครซี อิน คัลเลอร์ (Democracy in Colour) องค์กรด้านความยุติธรรมระหว่างชาติพันธุ์ เห็นด้วยกับนายริซวี

“สารที่ข้อกำหนดนี้ได้ส่งออกไปนั้นชัดเจนว่า หากคุณเป็นคนผิวสี หากคุณไม่ได้มาจากภูมิหลังที่ใช้ภาษาอังกฤษ คุณจะต้องก้าวผ่านอุปสรรคเพิ่มมาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งคนผิวขาวไม่พบเจอ” นายแมดฮอก กล่าว

รัฐบาลกล่าวว่า ข้อกำหนดด้านทักษะภาษาอังกฤษใหม่นี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณของออสเตรเลีย เป็นมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์ 


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share