เมื่อไหร่โควิด-19 ในออสเตรเลีย จะกลายเป็นเพียง ‘โรคประจำถิ่น’

ผู้คนเดินจับจ่ายใช้สอยบนท้องถนนในวันแดดจ้า

เราจะได้เห็นย่านซีบีดีกลับมาคึกคักได้อีกครั้งเมื่อไหร่ Source: AFP

ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของออสเตรเลียกำลังเพิ่มขึ้น มีการพูดคุยมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร เอสบีเอส เวิล์ด นิวส์ พูดคุยกับสองนักระบาดวิทยาชั้นนำของออสเตรเลีย เพื่อวิเคราะห์ว่า การแพร่ระบาดใหญ่นี้จะจบลงเมื่อไหร่และอย่างไร และอาจเกี่ยวข้องกับออสเตรเลียน้อยกว่าที่หลายคนคิด


LISTEN TO
How does a pandemic become endemic? image

เมื่อไหร่โควิด-19 ในออสเตรเลีย จะกลายเป็นเพียง ‘โรคประจำถิ่น’

SBS Thai

06/09/202108:19
ณ วันที่มืดมนที่สุด ในการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 บรรดาผู้นำของออสเตรเลียต่างออกมาย้ำเตือนประชาชนอย่างรวดเร็ว  

“เราทุกคน ในฐานะชาวออสเตรเลียจะต้องยอมรับว่า การอยู่ร่วมกับโควิด-19 เป็นอนาคต ไม่ใช่ทางเลือก” นางกลาดิส เบเรจิกเลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าว

“และเราจะอยู่ร่วมกับไวรัสนี้ เช่นเดียวกับโรคติดต่ออื่น ๆ” นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าว

จากสารที่ทั้งมุขมนตรีนิวเซาท์เวลส์ และนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวต่อประชาชน ดูเหมือนว่าโรคโควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราต่อไป ซึ่งหมายความว่า การแพร่ระบาดใหญ่นี้จะจบลง และไวรัสนี้จะกลายเป็น ‘เชื้อประจำถิ่น (endemic)'

ศาสตราจารย์โรเบิร์ต บอย (Prof Robert Booy) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ อธิบายถึงความหมายของ ‘โรคประจำถิ่น’ ไว้ดังนี้

"โรคประจำถิ่น หมายถึง การที่โรคระบาดอยู่ภายในชุมชน แต่แพร่กระจายในระดับต่ำ โรคระบาดนั้นยังอยู่ และเรารู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่มันจะไม่สร้างปัญหามากนัก" ศาสตราจารย์บอย กล่าว

ขณะที่ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ คอลิญอง (Prof Peter Collignon) นักระบาดวิทยาอีกท่านหนึ่ง กล่าวเกี่ยวกับโรคประจำถิ่นอีกว่า

“สิ่งบ่งชี้จากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า มันกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แม้จะเป็นประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดี อย่างสิงคโปร์ ออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่งนิวซีแลนด์ มันดูเหมือนว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตานั้นจะยังคงอยู่ และเป็นเรื่องยากที่จะทำให้มันหมดไป มันจะยังคงแพร่กระจายอยู่ในระดับต่ำ และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้”

“แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เราหมายถึงเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ มันจะอยู่กับเราตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องปกป้องตัวเราเอง และวิธีป้องกันที่เราทำได้ก็คือการฉีดวัคซีน” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว

แต่คำถามในตอนนี้ก็คือ เมื่อไหร่ที่การแพร่ระบาดใหญ่นี้จะจบลง จนกระทั่งโรคโควิด-19 กลายเป็นเพียงเชื้อประจำถิ่น

พญ.เคอร์รี ชานท์ (Dr Kerry Chant) ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า โรคประจำถิ่นจะต้องได้รับการจัดการ

“ฉันคิดว่านั่นคือความเป็นจริงที่เกือบทั่วโลกกำลังเผชิญ แต่สิ่งที่เรามีความยินดีที่จะกล่าวก็คือ เรามีวัคซีนที่ยอดเยี่ยม และฉันคิดว่าได้ระบุไปก่อนหน้านี้ว่า เราจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ” พญ.ชานท์ กล่าว

“มันมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ขึ้น และเราจะมีวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน คล้าย ๆ กับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งทุกปีจะมีความพยายามในการคาดการณ์ว่า เชื้อสายพันธุ์ไหนที่แพร่ระบาดอย่างเด่นชัด และเราก็จะมีวัคซีน นั่นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และใจความสำคัญก็คือ เราจำเป็นต้องไปรับการฉีดวัคซีนโดสที่สอง” 

หากอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศยังคงเป็นเช่นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ออสเตรเลียจะมีประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส 70% จากทั้งหมด ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% จากทั้งหมด ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ 

แต่สิ่งนี้จะทำให้ท้องถนนต่าง ๆ ในย่านซีบีดีของเมลเบิร์นและซิดนีย์ กลับมาคึกคักอีกครั้งอย่างทันตาเห็นเลยหรือไม่ ศาสตราจาร์คอลิญองมองว่า อาจไม่เป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด 

“ในมุมมองของผมก็คือ เราจะยังคงมีมาตรการจำกัดห้ามอยู่บางส่วน เพราะเรายังต้องดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่อเมริกา แคนาดา และทวีปยุโรป ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ซึ่งก็คือเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว

“เราอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อประชากรจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว วัคซีนจะปกป้องผู้คนส่วนใหญ่ได้ดีแค่ไหน ซึ่งเราคาดว่ามันจะทำได้ดี และหากมีปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดเพียงกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน นั่นจะเป็นอีกสัญญาณที่บอกเราว่า จะต้องทำให้ผู้คนกลุ่มสุดท้ายเหล่านั้นได้รับการฉีดวัคซีน”

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์โรเบิร์ต บอย กล่าวว่า การอยู่ร่วมกับโควิด-19 จะไม่เป็นเรื่องยาก

“เราจะยังคงทำสิ่งง่าย ๆ เหล่านี้ต่อไป เช่น การล้างมือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างทางสังคม การเช็คอินคิวอาร์โค๊ดเมื่อคุณเข้าไปในร้านค้า สิ่งเหล่านั้นไม่ซับซ้อนและเป็นเรื่องง่าย และเราสามารถทำได้”

“เราจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนย่ำแย่ อันเป็นผลมาจากมาตรการนี้ เราต้องอยู่ในจุดที่มีสติในการระมัดระวังด้วยวิธีง่าย ๆ นี้อย่างต่อเนื่อง และอยู่ในแนวทางที่เราปฏิบัติได้” ศาสตราจารย์บอย กล่าว

ชาวออสเตรเลียได้อยู่ร่วมกับไวรัสที่เป็นโรคประจำถิ่นมานานแล้ว มีไรโนไวรัส (Rhinovirus) มากกว่า 100 ชนิดที่ทำให้เกิดโรคหวัดทั่วไป และอะดีโนไวรัส (Adenovirus) อีกหลายสิบชนิด ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย อย่างโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวม และโรคตาแดง และไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่

ศาสตราจารย์บอย มองว่า ในอนาคต ผู้คนจะไปพบแพทย์ GP เพื่อไปรับการฉีดทั้งวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน และจะไม่มีปัญหาเมื่อฉีดวัคซีนสองชนิดพร้อมกัน

ขณะที่ศาสตราจารย์คอลิญอง เห็นพ้องกับศาสตราจารย์บอย โดยระบุว่า แม้ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จะมีโอกาสติดเชื้อจนมีอาการรุนแรง และในบางกรณีอาจเสียชีวิตได้ แต่โอกาสที่จะเกิดสิ่งนี้ในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนระหว่าง 20-50 เท่า

และเมื่อมีประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 80-90% ศาสตราจารย์คอลิญองมองว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จะเปลี่ยนไป โดยอาจลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ประมาณ 1,200 คน ส่วนมากเป็นผู้สูงวัยอายุระหว่าง 80-90 ปี

ด้วยจำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่ออสเตรเลียได้ฉีดให้กับประชาชนเกือบ 20 ล้านโดสแล้วนั้น หมายความว่า การเปลี่ยนสถานะจากการแพร่ระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่นของไวรัสโควิด-19 ในออสเตรเลีย กำลังใกล้เข้าสู่ความจริงมากขึ้นทุกวัน


 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

โมเดอร์นาได้รับอนุมัติเพื่อฉีดให้เด็กในออสเตรเลีย


Share