รัฐนิวเซาท์เวลส์เตือนระวังโรคหัดระบาด ล่าสุดติดเชื้อเพิ่ม 5 ราย

A rash is one of the defining symptoms of measles.

ผื่นแดงขึ้นตามผิวหนังกระจายตั้งแต่บริเวณศรีษะไปจนทั่วลำตัวเป็นอาการบ่งบอกว่าคุณอาจจะติดเชื้อโรคหัด Source: AAP

NEWS: สาธารณสุขนครซิดนีย์เตือนประชาชนให้ระวังโรคหัดระบาด ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5 ราย พร้อมเตือนทุกคนควรตรวจสอบภูมิคุ้มกันโรคหัดของตน


กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังรายละเอียดเรื่องนี้

กระทรวงสาธารณสุขของรัฐนิวเซาท์เวลส์ รายงานว่าเมื่ออาทิตย์ที่แล้วพบชายวัยรุ่น อายุประมาณ 20 ปีคนหนึ่งที่ติดเชื้อโรคหัด ขณะนี้ยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนว่าเขาติดโรคนี้ติดมาจากที่ใด แต่มีความน่าเป็นห่วงเพราะว่าในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาขณะที่เขากำลังติดเชื้อโรคระบาดนี้ เขาได้เดินทางไปในเขตต่างๆในนคซิดนีย์หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นเมืองวูลองกอง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชายฝั่งทางทิศใต้ของนครซิดนีย์ ไปยังเขตตอนกลางของนครซิดนีย์ และจากนั้นก็เดินทางไปยังเขตในเมืองฝั่งตะวันตกและบอนได บีช (Bondi Beach) ซึ่งอาจทำให้เชื้อไวรัสโรคหัดแพร่กระจายสู่ประชาชนได้

ส่วนสถานการณ์โรคหัดล่าสุดที่พบตั้งแต่หลังวันคริสต์มาสจนถึงวันปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้น 5 รายแล้ว ซึ่งพบในเขต ลิตเติล เบย์ บีช (Little Bay beach) ไฮด์ พาร์ค (Hyde Park) มารูบรา (Maroubra) แมคควารี ฟิลด์ส (Macquarie Fields) และแบงค์สทาวน์ (Bankstown)

อาการของโรคหัดที่คุณควรสังเกต

ดอกเตอร์ ลีนา กัปตา จากองค์กรสาธารณสุขประจำเขตของนครซิดนีย์ได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนว่าให้ระวังสังเกตอาการของโรคหัดเธอกล่าวว่า

“อาการของโรคหัดที่คุณสังเกตได้คือ มีไข้ เจ็บระบบบริเวณตา มีน้ำมูก ไอ และในอีกสามสี่วันต่อมาก็จะมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนังและจะกระจายตั้งแต่บริเวณศรีษะไปจนทั่วลำตัว” ดอกเตอร์ ลีน่า กัปตา อธิบาย

ด้านองค์การอนามัยโลกชี้แจงว่าโรคหัดสามารถติดต่อจากการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำมูก หรือ สเลด จากผู้ป่วยที่มีอาการโรคนี้ และปกติจะแสดงอาการ 10 หรือ 12 วัน หลังจากติดเชื้อ
The measles virus
ไวรัสโรคหัดสามารถติดต่อจากการสัมผัสละอองน้ำลาย หรือน้ำมูกจากผู้ป่วยที่มีอาการโรคนี้ Source: Universal Images Group Editorial
สถานการณ์ปัจจุบันของโรคหัดในออสเตรเลียและทั่วโลก

ในปี 2019 มีการรายงานว่าพบโรคหัดกระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วออสเตรเลีย ซึ่งทำให้ ดอกเตอร์ โทนี่ บาร์โทน ประธานแพทยสภาแห่งออสเตรเลียเรียกการระบาดในครั้งนั้นว่าเป็นสัญญาณเตือนภัย  เขากล่าวว่า

 “ถ้าเราย้อนเวลาไปเพียง 50 ปีที่แล้วเราจะเห็นว่าการสาธารณสุขพื้นฐานของเราก้าวหน้ามากเพียงใด อย่างหนึ่งก็เพราะว่าโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนของเรา และเราก็ประสบผลสำเร็จยอดเยี่ยมที่ทั่วโลกให้การยอมรับแต่ในขณะที่เรารู้สึกว่าเราพอใจกับผลที่ได้แล้ว เราก็กลับมาเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยก่อนอีกครั้งหนึ่ง” ดอกเตอร์ โทนี่ บาร์โทน ชี้

ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายพบผู้ที่เสียชีวิตจาดโรคหัดกว่า 1000,000 คน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ถึงแม้ว่าจะมีบริการการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพก็ตาม องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่าผู้คนที่เสียชีวิตจากโรคหัดมีจำนวนลดลงทั่วโลกจากตัวเลขผู้เสียชีวิต 550,100 คน ในปี 2000 เหลือเพียง 140, 000 คน ในปี 2018  ซึ่งปัจจัยหลักๆ ก็คือมีอัตราผู้ที่ได้รับวัคซีนโรคหัดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ในขณะมีข่าวดีที่จำนวนผู้เสียชีวิตโรคหัดลดลงแต่ในปี 2016 กลับมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโรคหัดเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจทั่วโลกถึงร้อยละ 30

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโรคหัดจำนวน 112 คน ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2018 ซึ่งเป็นสถิติการระบาดที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของนครนิวยอร์ก ในขณะที่ในทวีปยุโรปตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาก็พบผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัดราวๆ 60,000 คน  ซึ่งพบว่าตัวเลขผู้ป่วยโรคหัดในยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบศตวรรษ
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดจำเป็นอย่างไร

ดอกเตอร์ ลีน่า กัปตา เปิดเผยว่าการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่เกิดหลังจากปี 1966 เป็นต้นมา เธอกล่าวว่า

“ก่อนหน้าปี 1966 ผู้คนอาจจะเคยได้รับเชื้อโรคหัด เพราะเป็นโรคระบาดรุนแรงซึ่งพบได้แพร่หลายในออสเตรเลีย แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาผู้คนต้องได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันกับโรคนี้ และไม่ว่าใครก็ตามก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคหัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่เกิดหลังจากปี 1966  และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอีกกลุ่มหนึ่งก็คือเด็กทารกที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหลาย ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อที่เราจะสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้กับชุมชนของเรา”ดอกเตอร์ ลีน่า กัปตา  แนะนำ

กระแสต่อต้านการฉีดวัคซีนกับการแพร่ระบาดของโรคหัด

ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนถึงกระแสการต่อต้านการฉีดวัคซีนว่าเป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานเพื่อป้องกันหรือหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคหัดที่มีมาหลายสิบปีสูญเปล่า

ด้านกลุ่มผู้สนับสนุนกระแสต่อต้านการฉีดวัคซีนอ้างว่ามีการค้นพบว่าการฉีดวัคซีนมีผลกระทบต่อการป่วยเป็นโรคทางพัฒนาการทางสมองต่างๆ เช่น กลุ่มโรคออทิสติก แต่อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเรื่องนี้ได้ให้การปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้

ดอกเตอร์ แฮนนาห์ เคิร์ก จากคลินิกศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านสมองและการเรียนรู้ จากมหาวิทยาลัยโมนาชเปิดเผยกับเอสบีเอสว่าในปี2019 ที่ผ่านมาสื่อได้มีบทบาทอันสุ่มเสี่ยงในการสร้างกระแสต่อต้านการฉีดวัคซีนให้แพร่หลายมากขึ้น เธอกล่าวว่า

“เราต้องการต่อสู้กับความคิดที่ว่าการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายผ่านทางโซเซียล มีเดีย และสำนักข่าวต่างๆ เป็นที่แน่นอนว่าเราจะมีรายงานเกี่ยวกับผลการวิจัยนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าถึงแม้เราจะแสดงให้เห็นว่ามันไม่มีผลกระทบกับความปกติด้านสมองแต่มันก็ทำให้หัวข้อนี้กลับมาสู่ความสนใจของสาธารณชนและเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้งหนึ่ง”  ดอกเตอร์ แฮนนาห์  เคิร์ก กล่าว

ด้านดอกเตอร์ ลีนา กัปตา กล่าวว่าในกรณีล่าสุดที่พบในนครซิดนีย์นั้นควรจะเป็นกรณีศึกษาที่เตือนผู้คนให้ตรวจสอบสถานะการฉีดวัคซีนของตน  เธอกล่าวว่า

“ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าคุณมีภูมิคุ้มกันโรคหัดแล้วหรือยัง คุณควรจะไปหาแพทย์ประจำบ้าน หรือ GP ของคุณ  การวัคซีนเป็นสิ่งที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมาก สำหรับคนส่วนมากการฉีดวัคซีนซ้ำครั้งที่สองจะเป็นการป้องกันโรคหัดของคุณไปตลอดชีวิต” ดอกเตอร์ ลีนา กัปตา สรุป

คุณสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังรายละเอียดเรื่องนี้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 


 

 

 

 


Share