สาวไทยทาวน์นำน้ำใจไทยสู่วงการโทรทัศน์ออสซี

พลิศา แอนเดอร์สัน (Palisa Anderson) ลูกสาวน้าตุ๋ยร้านชาติไทยในซิดนีย์ จะมีรายการโทรทัศน์ชุด Water Heart Food (อาหารน้ำใจ) ทางสถานีโทรทัศน์ SBS

พลิศา แอนเดอร์สัน (Palisa Anderson) ลูกสาวน้าตุ๋ยร้านชาติไทยในซิดนีย์ จะมีรายการโทรทัศน์ชุด Water Heart Food (อาหารน้ำใจ) ทางสถานีโทรทัศน์ SBS Source: SBS Publicity

พลิศา แอนเดอร์สัน ลูกสาวน้าตุ๋ยร้านชาติไทยในซิดนีย์ เป็นลูกหลานไทยคนแรกที่มีรายการโทรทัศน์ของตัวเองในออสเตรเลีย เธอเล่าด้วยภาษาไทยถึงการถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเรื่องความมีน้ำใจให้แก่ทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่แนวคิดการปลูกพืชผักออร์แกนิกส์ในฟาร์ม Boon Luck ของเธอ และรายการโทรทัศน์ชุด Water Heart Food (อาหารน้ำใจ) ที่จะเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ SBS


พลิศา แอนเดอร์สัน (Palisa Anderson) เป็นลูกสาวน้าตุ๋ย Amy Chanta ผู้ก่อตั้งร้านชาติไทย ที่มีสาขาถึง 12 แห่งทั่วซิดนีย์ นอกจากพลิศาจะช่วยน้าตุ๋ยดูแลร้านอาหารในเครือแล้ว เธอยังมีฟาร์ม Boon Luck ที่ปลูกผักออร์แกนิกส์ แถวไบรอน เบย์ ขณะที่ยามว่าง เธอยังเป็นนักเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอาหาร การปลูกพืชผัก และวัฒธรรมผสมผสาน ให้แก่สื่อใหญ่ของออสเตรเลียหลายสำนักด้วย

ล่าสุด พลิศา แอนเดอร์สัน สาวไทยจากไทยทาวน์ในซิดนีย์ผู้นี้ กำลังมีรายการโทรทัศน์ชุด Water Heart Food (อาหารน้ำใจ) ที่จะเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ SBS ช่อง SBS Food โดยจะออกอากาศตอนแรกในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายนนี้

ฟังการพูดคุยกับ พลิศา แอนเดอร์สัน
LISTEN TO
Palisa Anderson's Water Heart Food image

สาวไทยทาวน์นำน้ำใจไทยสู่วงการโทรทัศน์ออสซี

SBS Thai

27/11/202023:38
พลิศา ที่มีชื่อเล่นแบบไทยๆ ว่า กิ๊บ พูดคุยกับเอสบีเอส ไทย ผ่านทางโทรศัพท์จากก้นครัวในร้านอาหารของครอบครัว โดยพูดถึงบทบาทผู้ดำเนินรายการของรายการโทรทัศน์ Water Heart Food (อาหารน้ำใจ) ว่า “กิ๊บรู้สึกภูมิใจที่เขาชวนทำรายการด้วย เราก็ตั้งใจ เวลามีคำไทยที่ต้องพูด เราก็พยายามพูดให้ดีที่สุด เพราะจริงๆ แล้ว กิ๊บไม่ได้โตที่เมืองไทย กิ๊บโตอยู่ที่นี่” พลิศา กล่าว

เธอเล่าให้เราฟังถึงบทบาทล่ามจำเป็นให้แม่ ที่ทำมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ในการเป็นตัวกลางสานความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมออสเตรเลีย

“กิ๊บรู้สึกว่าตัวเราเองเป็น interpreter (นักแปล) ให้แม่ ให้วัฒนธรรมของคนไทยสำหรับฝรั่ง ให้ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วทุกคนไม่ได้แตกต่างกันมากมาย มันอาจแตกต่างกันที่อาหารที่เรากิน หรือความเป็นอยู่ แต่ทุกอย่างที่เราคิดว่าเป็นความแตกต่างกันอย่างมาก จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย ในทางกลับกัน กิ๊บก็เป็น interpreter (นักแปล) ให้วัฒนธรรมฝรั่ง สำหรับคนไทยหรือพี่น้องที่อยู่ด้วยกัน มันทำให้เราเป็นเหมือนสะพานเชื่อมตลอดเวลา ซึ่งกิ๊บรู้สึกยินดีมากๆ ที่โตมาแบบนี้”
การที่เป็นลูกของคนไทยเพิ่งย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในออสเตรเลียเป็นรุ่นแรก ยังทำให้พลิศา มองเห็นความยากลำบากของผู้อพยพใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือผู้คนจากหลากเชื้อชาติ หลากภาษาและวัฒนธรรม ที่มีอุปสรรคร่วมกัน

“ทุกคนที่มาออสเตรเลียในรุ่นแรก ทุกคน struggle (ต้องดิ้นรนต่อสู้) หมด ทุกคนมีอุปสรรค ทุกคนเป็นคนล็อตแรกที่มา แล้วเขาไม่มีใครเลย คือภาษาเขาก็ไม่ได้เก่งในประเทศนี้ แล้วเราเอง เราก็ยังเด็กอยู่ การที่แม่ทำงานหนัก เราก็อยู่กับเขาทุกวัน เราเห็นว่าเขาทำงานหนักขนาดไหน”

“เราเห็นพ่อแม่เราทำงานหนัก แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีทางเลือกนะคะ แต่เขามี drive (แรงผลักดัน) จากการที่จะต้องดิ้นรน ซึ่งบางทีเด็กสมัยนี้ รวมทั้งตัวกิ๊บเองด้วย ไม่มี เพราะเรามาถึงอีกจุดหนึ่งแล้ว”

“แม่กิ๊บมาออสเตรเลียพร้อมกับเงิน 300 เหรียญ เหมือนกับมีแค่เสื่อผืนหมอนใบจริงๆ แม่เขามาโดยเขาไม่ได้มีอะไรเลย เขาทิ้งทุกอย่างที่เมืองไทย เพื่อที่จะเอาลูกๆ มา เพราะเขาเป็น single mother (คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว)” พลิศา เล่า
น้าตุ๋ย Amy Chanta ผู้ก่อตั้งร้านชาติไทย ในซิดนีย์
น้าตุ๋ย Amy Chanta ผู้ก่อตั้งร้านชาติไทย ในซิดนีย์ Source: Supplied
การได้รับการอบรมสั่งสอนแบบไทยๆ จากแม่ และได้คลุกคลีกับชุมชนคนไทยในซิดนีย์มาตั้งแต่เด็ก ได้บ่มเพาะความเป็นไทย ที่หยั่งรากลึกอยู่ในใจของพลิศา จนนำมาเป็นแนวคิดสำคัญที่เธออยากสื่อผ่านรายการโทรทัศน์ของเธอ

“คำว่าน้ำใจน่ะค่ะ กิ๊บคิดถึงคำนี้ตลอดเวลา เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่แม่เขาได้สอนมาตลอดเวลาว่า เราต้องมีน้ำใจให้คนอื่น เราต้องมีน้ำใจให้คนรอบข้าง การที่มีน้ำใจ ไม่ใช่แค่มีน้ำใจให้ผู้คนอย่างเดียว เราต้องมีน้ำใจให้สิ่งที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของเราด้วย”

แนวคิดความมีน้ำใจ ที่พลิศาอยากแบ่งปันให้แก่สภาพแวดล้อม ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากสิ่งที่เธอเคยพบเห็นจากประสบการณ์ตรงของแม่ขณะทำงานในร้านอาหารของครอบครัว

“กิ๊บเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะเราอยู่ในร้านอาหาร มันก็ต้องใช้สารเคมีเยอะมากสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ แล้วกิ๊บก็เห็นมือแม่ ที่เขาทำงานหนัก มือก็ลอกไปหมดเลย แล้วยังโดนน้ำมันลวก กิ๊บเลยรู้สึกว่า เวลาเราใช้อะไร เราควรใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด”

นั่นจึงเป็นที่มาของหลักการสำคัญในการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ที่ฟาร์ม Boon Luck ซึ่งตั้งอยู่แถบไบรอน เบย์ ในนิวเซาท์เวลส์ ของพลิศาและครอบครัว โดยที่นั่น เธอปลูกทั้งพืชพันธุ์ไทย ทั้งสมุนไพร ผักและผลไม้ เพื่อนำไปใช้ที่ร้านอาหาร และจำหน่ายที่ร้านขายผักออร์แกนิกส์ในไทยทาวน์ด้วย
“กิ๊บคิดว่า มันสำคัญมากที่เราจะไม่ฆ่า เราจะพยายามไม่ฆ่าหญ้า ไม่ฆ่าแมลง เราพยายามไม่ใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ ไม่ใช้ยากำจัดวัชพืชสังเคราะห์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่สังเคราะห์จากเคมี” พลิศา บอกกับ เอสบีเอส ไทย

แนวคิดความมีน้ำใจแบบไทยๆ ทั้งต่อผู้คนและต่อสิ่งแวดล้อมของเธอ ได้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านรายการโทรทัศน์ ชุด Water Heart Food (อาหารน้ำใจ) โดยเสนอตอนแรกในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายนนี้ เวลา 19.00 น. ทางช่อง SBS Food

พลิศาตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้อาหารไทยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลก และวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่เธออยากสื่อให้ชาวออสเตรเลียและผู้คนจากวัฒนธรรมอื่นได้ตระหนัก

“ทุกคนชอบอาหารไทย เพราะเป็น cuisine of balance (อาหารแห่งความสมดุล) มันเป็นอาหารที่เราจะได้ทุกรสชาติ เช่น เค็ม หวาน รสอาหารคาว รสขม เปรี้ยว มันมากับการที่เรากินอาหารไทย เวลาที่เรานั่งกินด้วยกันกับเพื่อนๆ กับครอบครัวของเรา ตรงนี้เป็นจุดที่กิ๊บอยากสื่อให้วัฒนธรรมอื่นได้รู้ว่า การที่เรากินด้วยกัน การที่เรากินอาหารหลายๆ อย่างนั้น จริงๆ แล้ว the whole is more important than the one (สิ่งที่รวมกันเป็นทั้งหมด สำคัญกว่าสิ่งๆ เดียว)” พลิศา แสดงความเห็น

ในรายการ Water Heart Food (อาหารน้ำใจ) ของพลิศา เธอยังจะได้พูดคุยกับเยาวชนเชื้อสายคนไทยในซิดนีย์คนอื่นๆ ถึงอาหารไทยและวัฒนธรรมไทยในมุมมองของพวกเขาที่เติบโตมาในออสเตรเลียด้วย
พลิศา แอนเดอร์สัน และมาฮาเลีย บาร์นส์
พลิศา แอนเดอร์สัน และมาฮาเลีย บาร์นส์ Source: SBS Publicity
“ในรายการตอนที่สอง กิ๊บชวนเพื่อนของกิ๊บมาออกรายการด้วย มาฮาเลีย บาร์นส์ (Mahalia Barnes) ลูกของจิมมี บาร์นส์ (Jimmy Barnes) ที่คุณแม่ของเขาคือคุณเจนเป็นคนไทย ซึ่งเขาก็โตมาในร้านอาหารของกิ๊บเหมือนกัน เพราะแม่เขาก็จะพาเขามาทานข้าวที่ร้านกิ๊บ เพื่อนอีกคนหนึ่งคือ อารี ที่แม่ของเขาคือป้าพรทิพย์ ของร้านพรทิพย์ในไทยทาวน์ แม้เราจะไม่ได้ไปโรงเรียนเดียวกัน เราอยู่คนละฝั่งของเมือง แต่ว่าเราจะมารวมกันที่ไทยทาวน์ เพราะว่าพ่อแม่เรามีกิจการ เปิดร้านอยู่ที่นั่น”

“พวกเราจะมาคุยกันในรายการว่า การที่เราโตมาในทั้งสองวัฒนธรรม แล้วความเข้าใจของเพื่อนทั้งสองคน เหมือนกับความเข้าใจของกิ๊บไหมว่า เวลาที่เรากินอาหาร คือการที่เรารวมกัน ซึ่งเพื่อนๆ ก็บอกว่า เขารู้สึกแบบนี้เหมือนกัน เพราะเขาโตมา แม่เขาก็สอนมาแบบนี้” พลิศา เล่า

เธอขอให้คนไทยในออสเตรเลียติดตามชมรายการ พร้อมฝากบอกว่า “ถ้ามีเวลา ก็อยากให้ทุกคนได้ชม และถ้าหากกิ๊บทำอะไรที่ไม่ถูกต้องตามวัฒนธรรมไทย หนูก็ขอให้ทุกคนอย่าถือสานะคะ แล้วอยากให้ทุกคนรู้ว่า อาหารในออสเตรเลีย ได้รับอิทธิพลจากอาหารไทยเยอะมากจริงๆ ค่ะ” พลิศา แอนเดอร์สัน กล่าวกับเอสบีเอส ไทย


คุณสามารถฟัง พลิศา เล่าถึง หลักการทำสวนออร์แกนิกส์ปลูกพืชไทยในนิวเซาท์เวลส์ของเธอ ที่มีทั้งพืชพันธุ์ไทยที่มักปลูกในสวนครัว ไปจนถึงพืชไทยหายาก พร้อมฟังเรื่องราวสนุกแต่ใช้ได้จริงของการไม่ยอมให้ของที่ยังใช้ได้เหลือทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไปกินอาหารที่ร้านอาหาร การไปตามเก็บกล่องจากหลังร้านค้า การไปเก็บถังใส่ผักดองที่ร้านโยนทิ้ง ติดตามฟังเรื่องราวเหล่านี้ ที่พลิศาเล่าอย่างสนุกสนานได้ในพอดคาสต์ด้านบน

คุณสามารถติดตามชมรายการโทรทัศน์ ชุด Palisa Anderson’s Water Heart Food (อาหารน้ำใจ) ที่จะนำเสนอตอนแรกในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายนนี้ เวลา 19.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ SBS  ช่อง SBS Food หรือไปติดตามชมได้ทุกเมื่อที่คุณต้องการทาง SBS on Demand  อ่านรายละเอียดได้

Share