คุยกับสาวไทยเจ้าของฟาร์มดอกไม้ในออสเตรเลีย

Pure Maiden Flower Farm Belinda Jordaan 3.jpg

คุณจูน จุฬาลักษณ์ เวียร์ (Julaluck Wier) ที่ฟาร์มดอกไม้ของเธอกับดอกเบญจมาศสีสันสดใสในช่วงปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วง Source: Supplied / Belinda Jordaan

จุฬาลักษณ์ เวียร์ (Julaluck Wier) หรือจูน สาวเชียงใหม่ที่แต่ก่อนไม่เคยทำสวน ปลูกอะไรก็ตาย พอมาอยู่ออสเตรเลียเธอหลงใหลในการปลูกดอกไม้ พยายามหาความรู้ ลองผิดลองถูก จนในที่สุดเธอสามารถเปิดฟาร์มดอกไม้เพื่อขายส่งให้ร้านดอกไม้ต่าง ๆ ในเมืองเบ็นดิโก (Bendigo) และบริเวณใกล้เคียงได้สำเร็จ เมล็ดพันธุ์แห่งความมุ่งมั่นได้ผลิบานกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวของเธอ


ฟาร์มดอกไม้ Pure Maiden Flower Farm ตั้งอยู่ห่างจากย่านใจกลางเมืองเบ็นดิโก (Bendigo) ในรัฐวิกตอเรีย เพียงแค่ราว 15 นาที คุณจูน จุฬาลักษณ์ เวียร์ (Julaluck Wier) เจ้าของฟาร์มแห่งนี้บอกกับเอสบีเอส ไทย ว่า เธอเริ่มปลูกดอกไม้และจำหน่ายให้แก่ธุรกิจและคนในท้องถิ่นแถบนั้นมาตั้งแต่ปี 2019 โดยส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ตัดสำหรับส่งขายให้ร้านดอกไม้ในพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมขายผ่านเว็บไซต์ และขายให้ลูกค้าโดยตรงที่หน้าประตูฟาร์มในช่วงเช้าวันเสาร์
Pure Maiden Flower Farm SBS Thai 12.jpg
ดอก ranunculus สีหวาน ที่ออกดอกมากมายในฟาร์มของคุณจูนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ Source: SBS / Parisuth Sodsai
Pure Maiden Flower Farm SBS Thai 3 (2).jpg
ranunculus ดอกไม้ประเภทหนึ่งที่เป็นสินค้าหลักของฟาร์มของคุณจูน Source: SBS / Parisuth Sodsai
ที่ฟาร์มขณะนี้มีไม้ตัดดอกของเมืองหนาวหลากชนิด ทั้งที่อยู่ในช่วงทดลองปลูกในระยะแรก ไปจนถึงที่เป็นดอกไม้หลักที่สร้างรายได้ให้แก่ฟาร์ม

“ในฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้หลัก ๆ ของเราก็คือ ranunculus หรือ buttercup ซึ่งตอนนี้มีประมาณเกือบ 8,000 ต้นที่ฟาร์มของเรา ในช่วงฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง ดอกที่ขายดีที่สุดที่ฟาร์มเราก็คือดอก Dahlia หรือดอกรักเร่ โดยความพิเศษของมันคือมีหลายสีสันและหลาย texture กลีบของมันดูซับซ้อน พอลูกค้าเห็นจะ ‘ว้าว’ ลูกค้าก็เลยจะชอบดอกดาห์เลียมาก ที่ฟาร์มก็ยังมีดอกเบญจมาศด้วย ซึ่งจะบานในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเป็นช่วงสั้น ๆ คือระหว่างเดือนเมษายนจนถึงต้น ๆ มิถุนายนค่ะ” คุณจูนอธิบายถึงดอกไม้ในฟาร์ม

แม้จะกลายเป็นสาวชาวสวนที่แต่ละวันต้องดูแลเอาใจใส่ดอกไม้ที่ปลูกไว้ในฟาร์ม แต่คุณจูนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เธอไม่ได้เป็นคนที่ชอบทำสวนหรือเป็นคนมือเย็นที่ปลูกอะไรก็ขึ้น

“จริง ๆ จูนเป็นคนในเมือง ตอนอยู่เชียงใหม่ ก็ไม่เคยทำสวน แต่คุณแม่ก็ปลูกดอกกุหลาบในกระถาง แต่เราก็ไม่เคยสนใจ แต่ตอนที่แต่งงานใหม่ ๆ ตอนนั้นจูนรอวีซ่า เราก็หากิจกรรมยามว่างทำ จูนก็เลยเริ่มทำสวน พอได้ทำ ก็รู้สึกสนุกและ enjoy กับมัน”
Pure Maiden Flower Farm SBS Thai 10.jpg
ดอก ranunculus ที่สีสวยและกลีบแน่นเหมือนกุหลาบ Source: SBS / Parisuth Sodsai
Pure Maiden Flower Farm SBS Thai 5.jpg
ดอกป๊อบปี้ที่บานสะพรั่งในฟาร์มของคุณจูนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ Source: SBS / Parisuth Sodsai
จริง ๆ จูนเป็นคนในเมือง ตอนอยู่เชียงใหม่ ก็ไม่เคยทำสวน แต่คุณแม่ก็ปลูกดอกกุหลาบในกระถาง แต่เราก็ไม่เคยสนใจ
จุฬาลักษณ์ เวียร์
จุดที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณจูนคิดที่จะเปลี่ยนจากงานอดิเรกที่ทำยามว่าให้มาเป็นธุรกิจก็คือความหลงใหลในความสวยงามของดอกไม้ประเภทหนึ่ง ที่นำไปสู่การมองเห็นโอกาสในตลาดออสเตรเลีย

“วันหนึ่งเพื่อนที่ทำงานในฟาร์มดอกไม้ที่ไทยโพสต์ภาพดอกเบญจมาศที่เขาปลูกที่นั่น ซึ่งเป็นดอกเบญจมาศที่จูนไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลย จูนอยากรู้ว่าเราจะปลูกดอกเบญจมาศที่นี่ได้ไหม ก็เลยกูเกิลหาว่าจะซื้อเมล็ดพันธุ์หรือซื้อต้นมาปลูกยังไง เลยได้เจอกลุ่มที่ชื่อว่า Chrysanthemum Bendigo เป็นเหมือนกลุ่มคนรักดอกเบญจมาศที่เบ็นดิโก ซึ่งเขาจะมีพันธุ์ที่ค่อนข้างหายาก จูนก็เลยเริ่มจากตรงนั้น ก็กลายมาเป็นความชอบว่าดอกนี้มันสวย และเราเห็นโอกาสว่าเราสามารถปลูกดอกนี้ขายให้คนทั่วไปได้ เพราะเราไม่เห็นดอกนี้ตามร้านทั่วไป”
Pure Maiden Flower Farm Belinda Jordaan 2.jpg
คุณจูนกล่าวว่า ในช่วงปลายฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วงจะเป็นช่วงที่ดอกเบญจมาศบานสะพรั่งไปทั้งฟาร์ม Source: Supplied / Belinda Jordaan
กว่าที่จะเริ่มปลูกดอกไม้ในปริมาณมาก ๆ และได้คุณภาพอย่างที่ร้านดอกไม้ต้องการนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณจูนต้องเริ่มจากการหาความรู้ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุดและลองผิดลองถูกจากประสบการณ์จริง

“พอเราบอกกับครอบครัวสามีว่า อยากปลูกดอกไม้ เขาก็หัวเราะ เพราะตอนนั้นซื้อดอกอะไรมาหรือปลูกอะไรก็ตาย แต่แม่ของแฟนเขาก็ให้เราลองปลูกในแปลงดอกไม้ของเขาก่อน จูนก็เริ่มจากดอกซินเนีย (ดอกบานชื่น) ดอกทานตะวัน ซึ่งปลูกจากเมล็ด แล้วทดลองขายตามเฟซบุ๊ก สรุปว่าก็มีคนสนใจนะคะ เราจึงเริ่มเห็นโอกาสว่า จริง ๆ แล้วมันเป็นไปได้ แต่เราน่าจะโฟกัสไปที่ดอกไม้ประเภทใดประเภทหนึ่งและเรียนรู้ให้เกิดความชำนาญหรือปลูกให้ได้มาตรฐาน หรือให้มีคุณภาพที่เราจะขายให้คนอื่นได้จริง ๆ จูนก็เลยเริ่มโฟกัสที่ดอกเบญจมาศก่อน”
จูนเริ่มจากดอกซินเนีย ดอกทานตะวัน ซึ่งปลูกจากเมล็ด แล้วทดลองขายตามเฟซบุ๊ก สรุปว่าก็มีคนสนใจ เราจึงเริ่มเห็นโอกาสว่า จริง ๆ แล้วมันเป็นไปได้
จุฬาลักษณ์ เวียร์
Pure Maiden Flower Farm SBS Thai 16.jpg
ดอกไม้หลากชนิดที่คุณจูนจะตัดจากแปลงที่ปลูกไว้ในฟาร์มทุกเช้า Source: SBS / Parisuth Sodsai
“จูนอ่านหนังสือเกี่ยวกับการปลูกดอกไม้เยอะมาก ทั้งเรียนจากในอินเทอร์เนตด้วยและเรียนจากในตำราด้วย คือจากหนังสืออะไรที่เกี่ยวกับการปลูกดอกไม้เราอ่านหมด ดูในยูทิวบ์ด้วย” คุณจูนเล่า

ทุกวันนี้ ฟาร์มดอกไม้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคุณจูนเติมเต็ม

“แปลกมากเลยที่ตั้งแต่ทำฟาร์ม จูนไม่เคยรู้สึกโหยหาชีวิตในเมืองเลย รู้สึกมีความสุขมากเวลาที่ตื่นเช้ามาได้มาตัดดอกไม้ แล้วได้เห็นลูก ๆ วิ่งเล่น และได้ทำงานด้วยกันเป็นครอบครัว รู้สึกว่ามันเป็นไลฟ์สไตล์ที่เราต้องการ การที่เราได้ทำงานร่วมกัน ได้อยู่บ้านและได้ทำในสิ่งที่เรารัก จูนเลยรู้สึกว่าชีวิตของเราตอนนี้สมบูรณ์และเติมเต็ม โดยฟาร์มดอกไม้นี้สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ไม่ใช่เป็นแค่งานอดิเรก แต่มันเป็นธุรกิจของครอบครัวจริง ๆ”
Pure Maiden Flower Farm SBS Thai 7.jpg
คุณจูนกับชีวิตที่เธอบอกว่า 'เติมเต็ม' จากการทำฟาร์มดอกไม้ Source: SBS / Parisuth Sodsai
รู้สึกว่ามันเป็นไลฟ์สไตล์ที่เราต้องการ ได้อยู่บ้านและได้ทำในสิ่งที่เรารัก โดยฟาร์มดอกไม้นี้สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ไม่ใช่เป็นแค่งานอดิเรก
จุฬาลักษณ์ เวียร์
คุณจูนยังฝากข้อคิดถึงคนไทยในต่างแดนคนอื่น ๆ ที่อยากตั้งธุรกิจของตนเองว่า “หา passion ของตัวเองให้เจอก่อนว่าเราอยากทำอะไร เราชอบทำอะไรจริง ๆ แล้วพอหาเจอแล้ว ให้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นให้ลึกซึ้ง อ่านหนังสือเยอะ ๆ และพยายามทำให้ดีที่สุด ทุ่มเทกับสิ่งที่คุณทำให้เต็มร้อย” คุณจูนกล่าวทิ้งท้าย

ฟังเรื่องราวการก่อตั้งฟาร์มดอกไม้ Pure Maiden Flower Farm ของคุณจูน ทั้งเรื่องการดูแลดอกไม้หลากประเภท ความท้าทายจากสภาพอากาศ ศัตรูพืช และการทำการตลาดต่าง ๆ ของคุณจูนได้จากสัมภาษณ์ฉบับเต็ม คลิกฟังได้ที่นี่
คลิก ▶ เพื่อฟังสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
thai_260923_Pure Maiden Flower Farm.mp3 image

คุยกับสาวไทยเจ้าของฟาร์มดอกไม้ในออสเตรเลีย

SBS Thai

27/09/202319:02
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share