วัดลาวในซิดนีย์ตั้งคลินิกตรวจโควิดใกล้ชิดชุมชน

The Wat Phrayortkeo Dhammayanaram Lao Buddhist Temple in Edensor Park, New South Wales.

The Wat Phrayortkeo Dhammayanaram Lao Buddhist Temple in Edensor Park, New South Wales. Source: SBS News

ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาในบางชุมชน ตั้งแต่เรื่องค่าตรวจแพง ไปจนถึงเรื่องความปลอดภัย และข้อสงสัยว่าจะไปตรวจได้ที่ไหน เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคลินิกตรวจหาเชื้อแบบป็อปอัพรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นขจัดความเข้าใจผิดในชุมชน และกระตุ้นให้ผู้คนมาตรวจหาเชื้อมากขึ้น


นอกจากชี้นำผู้ศรัทธาทางจิตวิญญาณแล้ว ในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เหล่าพระสงฆ์ในวัดพระยอดแก้ว ธรรมยนาราม (Wat Phrayortkeo Dhammayanaram) วัดชาวลาวทางพื้นที่ซิดนีย์ตะวันตก ยังคงต้องเทศนาเกี่ยวกับไวรัสดังกล่าวอีกด้วย

พระใหม่ สมเด็จ (Mai Somdeth) จากวัดพระยอดแก้ว ได้เชิญชวนให้ผู้คนไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนามากขึ้น

“ไม่ว่าคุณจะมาจากส่วนไหนของโลก คุณอยู่รวมกันที่นี่ คุณจำเป็นที่จะต้องไปตรวจหาเชื้อ ทำตนเองและผู้คนรอบข้างให้ปลอดภัย” พระใหม่ สมเด็จ กล่าว

หลวงพ่อดา เส็ง จันพะแก้ว  (Da Seng Chanphakeo) จากวัดพระยอดแก้ว กล่าวว่า ชุมชนของท่านนั้น พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ

“หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาสามารถมาที่ศูนย์ชุมชนแห่งนี้ หรือไปที่วัดเพื่อสอบถามกับอาตมาโดยตรง หรือสอบถามกับพระสงฆ์รูปอื่น ๆ” หลวงพ่อดา เส็ง จันพะแก้ว กล่าว

Da Seng Chanphakeo and Mai Somdeth at Wat Phrayortkeo Dhammayanaram Lao Buddhist Temple
Da Seng Chanphakeo and Mai Somdeth at Wat Phrayortkeo Dhammayanaram Lao Buddhist Temple Source: Amelia Dunn/SBS News


ที่วัดซึ่งมีความคึกคักในนครซิดนีย์แห่งนี้ ที่ได้มีการจัดตั้งคลินิกป๊อปอัพ (pop-up clinic) ขึ้นมา ทั้งหมดเป็นแผนในการกระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนชาวลาวไปรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาให้มากขึ้น

คุณเจซูซา เหลารัตนี (Jesusa Helaratne) จากบริการสื่อสารพหุวัฒนธรรมรัฐนิวเซาท์เวลส์​ (The New South Wales Multicultural Communication Service) กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดหลายเรื่อง ที่ทำให้ผู้ซึ่งมีภูมิหลังเป็นผู้อพยพย้ายถิ่น ไม่ไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาที่คลินิก หนึ่งในนั้นคือข้อจำกัดด้านภาษา ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และความปลอดภัย

“พวกเขามีความกลัวว่า พวกเขาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการไปตรวจหาเชื้อ และหากพวกเขาเป็นนักศึกษาต่างชาติ หรือไม่มีวีซ่า หรืออยู่บนวีซ่าทำงาน พวกเขาคิดว่าอาจจะไม่สามารถทำงานที่นี่ได้อีก" คุณเหลารัตนีกล่าว

"พวกเขาคิดว่าตนเองไม่มีบัตรเมดิแคร์ คือคุณไม่จำเป็นต้องมีบัตรเมดิแคร์นะคะ คุณสามารถมาที่คลินิกเพื่อเข้ารับการตรวจได้เลย เพียงแค่คุณมีเอกสารระบุตัวตนเท่านั้น” 

คุณเหลารัตนีกล่าวอีกว่า ข้อกังวลอีกอย่างหนึ่ง คือความกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากผลการตรวจไวรัสโคโรนาเป็นบวก 

“หนึ่งในความเข้าใจผิดอีกอย่าง นั้นก็คือ หากพวกเขาไปรับการตรวจหาเชื้อโควิด และได้รับผลการตรวจเป็นบวก พวกเขาอาจกังวลว่าจะต้องเสียค่ารักษา แต่นั้นไม่ใช่ประเด็น" คุณเหลารัตนีอธิบาย

"หากพวกเขามีผลการตรวจหาเป็นบวก บริการด้านสุขภาพสามารถโทรหาพวกเขา ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ จะสามารถให้แนวทางไปยังกระบวนการต่าง ๆ ต่อไป และทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะไม่มีบัตรเมดิแคร์” 

มีการคาดว่า การจัดตั้งคลินิกป๊อปอัพในชุมชนท้องถิ่น หรือภายในศาสนสถาน ในลักษณะเดียวกับที่วัดพุทธชาวลาวแห่งนี้ จะทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจที่จะมารับการตรวจหาไวรัสโคโรนามากขึ้น

คุณเทรีซา ไอซ์เดล (Theresa Isedale) ผู้จัดการด้านภัยพิบัติ จากสำนักงานเขตสุขภาพท้องถิ่นพื้นที่ซิดนีย์ตะวันตกเฉียงใต้ (South Western Sydney's Local Health District) กล่าวว่า ทางสำนักงานเขตจะมีการประเมินจากปัจจัยหลายอย่าง ในการเลือกสถานที่เพื่อจัดตั้งคลินิกป็อปอัพ 

“เมื่อเราจัดตั้งคลินิกป็อปอัพ เราจะต้องทำให้แน่ใจว่า ผู้คนในชุมชนจะสามารถเข้าถึงได้ มีความปลอดภัย และจะต้องทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่” คุณไอซ์เดลกล่าว

การมีคลินิกที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชน ยังหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะสามารถร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในท้องถิ่น รวมถึงล่ามแปลภาษาและแพทย์

การทำงานกับบริการของรัฐ อย่างหน่วยงานพหุวัฒนธรรมรัฐนิวเซาท์เวลส์ (Multiculture NSW) หรือบริการสุขภาพผู้ลี้ภัย (Refugee Health Service) เป็นการทำให้แน่ใจว่า เราเข้าใจ และรับฟังเสียงของผู้คน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน" คุณเหลารัตนีอธิบาย

"ด้วยการทำเช่นนี้ ทำให้เราเข้าใจว่า อะไรจะเป็นสาระสำคัญที่เราจะส่งออกไป และไม่เพียงเท่านั้น แต่สารเหล่านั้นจะต้องมีความเหมาะสมทางวัฒนธรรมและภาษาอีกด้วย” 

การทำให้แน่ใจว่า สารเหล่านั้นจะเข้าไปถึงผู้คนในชุมชน ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความท้าทาย การใช้ผู้แทนที่ได้รับความไว้วางใจ เช่นเดียวกับการใช้ช่องทางการสื่อสารที่ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น 

คุณเดธ สิเสนกราท (Deth Sysengrath) ซึ่งทำหน้าที่ด้านความร่วมมือกับกลุ่มชุมชนชาวลาวก้าวหน้า (Lao Community Advancement) กล่าวว่า การใช้โซเชียลมีเดีย เป็นอีกวิธีซึ่งเป็นประโยชน์

“เราพูดคุยกับสมาชิกในชุมชน เราโทรศัพท์หาพวกเขา เราให้พวกเขาอยู่บนเฟซบุ๊ก และขอให้พวกเขามารับการตรวจเพื่อความปลอดภัยของทุกคน กับพวกเขาและครอบครัว และสาธารณชน” คุณสิเสนกราทกล่าว

คุณสิเสนกราทกล่าวว่า เขาต้องการทำให้แน่ใจว่า ผู้คนในชุมชนชาวลาวทุกคนจะออกมารับการตรวจหาเชื้อ

“เราบอกกับพวกเขาเสมอว่า การมาตรวจหาเชื้อนั้นมีความปลอดภัย ไม่มีค่าใช้จ่าย และง่ายมาก แม้แต่ผู้ที่ไม่มีบัตรเมดิแคร์ก็สามารถมาตรวจได้ และเราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ” คุณสิเสนกราทกล่าว

ทั่วออสเตรเลีย หน่วยงานด้านสาธารณสุขกำลังพยายามเข้าถึงชุมชนที่มีภูมิหลังหลากหลาย โดยที่รัฐนิวเซาท์เวลส์เพียงอย่างเดียว ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 เกือบ 900 ชิ้น ในมากกว่า 50 ภาษา


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share