ครบ 10 ปีที่มีป้าย Thai Town ที่ซิดนีย์

Photo-Thaitown sign (1)-Wikipedia.jpg

ป้ายไทย ทาวน์ถัดจากป้ายชื่อถนนแคมป์เบลล์ แถวเฮย์มาร์เก็ตในตัวเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย Credit: Wikipedia

ไทย ทาวน์ ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลียนับเป็นย่านคนไทยที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ปีนี้ครบรอบ 10 ปีที่มีการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ ฟังเรื่องราวว่าไทย ทาวน์เริ่มขึ้นได้อย่างไร และแผนการปรับปรุงโฉมใหม่โดยเทศบาลนครซิดนีย์


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

ไทย ทาวน์ ตั้งอยู่บนถนนแคมป์เบลล์ (Campbell Street) เป็นส่วนหนึ่งของเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket) ในใจกลางนครซิดนีย์และอยู่ไม่ไกลจากไชน่า ทาวน์ (China Town) เป็นแหล่งที่มีธุรกิจของคนไทยเปิดให้บริการทั้งแก่ชุมชนไทยและชุมชนชาติอื่นในออสเตรเลีย มีทั้งร้านอาหารไทย ร้านขายของชำ ร้านตัดผม ร้านนวด และร้านอื่นๆ โดยซิดนีย์เป็นเมืองที่มีประชากรที่มีเชื้อชาติไทยอาศัยอยู่สูงที่สุดในออสเตรเลียและเป็นเมืองเดียวที่มีไทย ทาวน์ (Thai Town)

เดิมคนไทยจะมักจะมาซื้อของในบริเวณไชน่า ทาวน์ จนวันหนึ่งมีร้านขายของชำเฉพาะของคนไทยเปิดตัวขึ้น ทำให้มีร้านไทยต่างทยอยมาตั้งในบริเวณเดียวกัน

คุณเจษฎา (กอล์ฟ) เที่ยงวงษ์เจ้าของร้านพรทิพย์ในปัจจุบัน (เดิมเจ้าของคือคุณพรทิพย์) เล่าถึงร้านพรทิพย์ซึ่งเป็นร้านแรกๆ บนถนนแคมป์เบลล์

“สมัยก่อนมันไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีเฟซบุ๊ก ก็จะเป็นคนไทยมาซื้อของไทย แล้วก็จะมีบอร์ดติดป้ายหางาน หาที่อยู่อะไรเงี๊ยะครับ คนก็จะมายืนดู คนไทยเค้าก็จะมาที่นี่”
Photo-Pontip grocery (1).jpg
ร้านพรทิพย์ ร้านขายของชำร้านแรกๆ ที่มาเปิดบนถนนแคมป์เบลล์ Credit: Supplied/Pontip Grocery Store
จากนั้นก็มีธุรกิจของคนไทยเปิดกิจการในบริเวณนี้มากขึ้น คุณกันยรัตน์ (ต้อง) ฤทธิเดชคนไทยที่อยู่ที่ซิดนีย์เล่าถึงสมัยที่ชุมชนไทยเริ่มเรียกจุดนี้ว่าไทย ทาวน์ ก่อนที่จะมีการขึ้นป้าย

“หลายๆ ชาติเนี่ยเค้าจะถามว่าไทย ทาวน์ เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และอยู่ที่ไหน เราก็ต้องอธิบายให้เค้าฟัง จริงๆ แล้วเธอเดินผ่าน แต่เธออาจจะไม่รู้ว่ามันคือไทย ทาวน์”

ต่อมาจึงมีการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ ซึ่งคุณต้องกล่าวว่าเป็นการปักหมุดเป้าหมายที่ชัดเจน

“ในสมัยก่อนร้านไทยอยู่กระจัดกระจายกันประมาณนึง ไม่ได้อยู่ในแคมป์เบลล์ สตรีท ทั้งหมด จะมีออกนอกเส้นทางไปบ้าง ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ว่าในปัจจุบันเราคิดว่าการที่มันมีความเป็นไทย ทาวน์ขึ้นมา มันทำให้คนไทยรู้ว่าถ้าเราต้องการอะไรที่เป็นไทยๆ เนี่ย เราก็มาที่นี่ หรือแม้กระทั่งคนออสเตรเลียนที่เค้าสนใจอาหารไทยหรืออะไรก็ตามที่เป็นไทยๆ เค้าก็รู้ มีเป้าหมายแน่นอนว่าจะมาที่ไหน”
Photo-Thaitown sign (1)-Wikipedia.jpg
ป้ายไทย ทาวน์ถัดจากป้ายชื่อถนนแคมป์เบลล์ แถวเฮย์มาร์เก็ตในตัวเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย Credit: Wikipedia
คุณกอล์ฟกล่าวว่าไทย ทาวน์เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก สิ่งที่คุณกอล์ฟเห็นว่าหายไปคือร้านเช่าวิดิโอหรือซีดี และคนที่มาเดินไทย ทาวน์ไม่ได้มีแค่คนไทยเหมือนแต่ก่อน

“คนที่มาเดินไทยทาวน์สมัยก่อนก็จะมีแต่คนไทยซะส่วนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้คนที่มาเดินซื้อของ เดินเที่ยวไทย ทาวน์ไม่ได้มีแค่คนออสซี่ เป็นคนจีน เป็นคนเกาหลี คนอินโด คนชาติอื่นๆ ผมรู้สึกว่าไทย ทาวน์ของเรามันมีชื่อเสียง”

คุณต้องเสริมว่าการที่มีป้ายไทยทาวน์มีผลดีในแง่ของการเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน
มันเป็นการยืนยันความมีตัวตนของชุมชนไทยในซิดนีย์ และคิดว่าเป็นตัวช่วยในการเสริมพลังในการต่อรองทางธุรกิจด้วยค่ะ
สำหรับประวัติการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ คุณธนาวรรณ (จอย) โรจนเวทย์ ประธานสมาคมสมาคมนักธุรกิจและชุมชนไทยทาวน์ซิดนีย์ (Thai Town Business and Thai Community Association) ย้อนเล่าถึงการสำรวจสำมะโนประชากรที่ออสเตรเลีย (Census) ปี 2012 ซึ่งพบว่าภาษาที่มีการพูดในย่านเฮย์ มาร์เก็ตมากเป็นอันดับที่ 3 คือภาษาไทย รองจากภาษาอังกฤษและภาษาจีน แสดงให้เห็นว่าเป็นสถานที่ที่ชุมชนไทยอยู่อย่างหนาแน่น ทางเทศบาลนครซิดนีย์จึงทำการสำรวจต่อไปอีก

“ก็เลยพอจะทราบว่าแรกเริ่มเนี่ย ร้านแรกที่ดึงดูดคนไทยมาคือร้านขายของชำที่เอาของมาจากเมืองไทย ทำให้ร้านอาหารต่างๆ ที่อยู่นอกเมืองเข้ามาจับจ่ายซื้อของ เมื่อมากันมากขึ้น ก็เลยมีร้านขายของที่ 2 ที่ 3 ยิ่งเพิ่มความเป็นศูนย์กลางของคนไทยมากขึ้น"
ก็มีร้านอาหารไทยเปิดตามต่อๆ มาจนกลายเป็นประมาณ 60 ร้านอาหารไทยในเขตเฮย์มาร์เก็ตนี้
เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจุดนี้เป็นแหล่งของคนไทย เทศบาลนครซิดนีย์จึงอยากสร้างจุดที่เป็นไทย ทาวน์ โดยทำงานร่วมกับกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ในเวลานั้น

สำหรับการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ คุณหัทยา คูสกุล ท่านกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ในปัจจุบันกล่าวว่าไทย ทาวน์เป็นที่รู้จักของคนท้องถิ่นซึ่งเรียกกันปากต่อปากอยู่แล้ว และรัฐบาลไทยได้เข้ามามีส่วนผลักดันด้วย

“ในช่วงของการเยือนของท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2012 มีการหารือกับผู้นำระดับสูงของทางออสเตรเลีย ซึ่งก็ได้มีการยกเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม มีการยกว่าชุมชนไทยของเราที่มาอยู่ในนครซิดนีย์ก็มีการประกอบธุรกิจ เป็นชุมชนที่สร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม นำเอาวัฒนธรรมด้านอาหารมาเผยแพร่ ก็อยากให้ทางการท้องถิ่นให้การยอมรับ การขึ้นป้ายไทย ทาวน์ก็จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี”
Photo-Thai Town sign opening ceremony.jpg
พิธีเปิดป้ายไทย ทาวน์ครั้งแรกในปี 2013 ที่ซิดนีย์ Credit: Supplied/Thai Town Business and the Thai Community Association
จากนั้นสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ผลักดันต่อกับเทศบาลนครซิดนีย์ (City of Sydney) จนมีการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ในเดือนตุลาคม ปี 2013 โดยมีนายกเทศมนตรีโคลเวอร์ มัวร์ (Clover Moore) เข้าร่วมพิธีเปิดป้ายไทย ทาวน์ด้วย

คุณจอยกล่าวถึงวันที่มีพิธีเปิดป้ายไทย ทาวน์ว่า
ตอนนั้นรู้สึกภาคภูมิใจที่ชุมชนธุรกิจเล็กๆ ของคนไทยที่มารวมกันอยู่ในจุดนี้ได้รับความสนใจจากซิตี้ ออฟ ซิดนีย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของออสเตรเลีย จนมอบป้ายติดถนนที่เขตนี้ว่าเป็นเขตไทย ทาวน์
นอกจากนี้ไทย ทาวน์ยังเป็นสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมทั้งสำหรับชุมชนไทยและกิจกรรมร่วมกับชุมชนออสเตรเลียด้วย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Thailand Grand Festival กลับมาแล้ว 14-15 พ.ค.

“เรามีการจัดกิจกรรมร่วมกับเทศบาลนครซิดนีย์อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นที่มาของโครงการ Thailand Grand Festival ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ได้ร่วมผลักดันกับธุรกิจร้านอาหารที่อยู่ในย่านไทยทาวน์ นำเสนออาหารไทย ศิลปะวัฒนธรรมไทย จัดต่อเนื่องมา 10 ปี”   
Photo-Thai consulate (2).jpg
กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ คุณหัทยา คูสกุล Credit: Supplied/Hataya khusakul
ตรงนี้ท่านกงสุลใหญ่ฯ หัทยากล่าวว่าไทย ทาวน์นับเป็นจุดเผยแพร่วัฒนธรรมหรือเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ของไทยซึ่งชุมชนไทยในออสเตรเลียถือว่ามีส่วนช่วยผลักดัน ส่งผลยังต่อเนื่องไปถึงเรื่องการท่องเที่ยวและการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลียด้วย

10 ปีผ่านไป คุณจอยกล่าวถึงความรู้สึกทุกครั้งเมื่อเดินทางมาที่ไทย ทาวน์ในปี 2023 ว่า

“ดีใจเวลาเดินเข้ามาในไทย ทาวน์ก็จะมีความสุขใจปนไปด้วย เพราะว่าเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ที่เราเห็นมาตลอด ไทย ทาวน์ มีความเปลี่ยนแปลง ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสถานการณ์มา บางครั้งทำให้ธุรกิจในย่านนี้ต้องสะดุดไปบ้าง เช่น การปิดถนนเพื่อสร้างรถราง (Light rail) พอสร้างเสร็จก็ต้องล็อกดาวน์เพราะโควิด 2 ปี ล้มลุกคลุกคลานกันมาพอสมควร”
Photo-Joy (1).jpg
คุณธนาวรรณ (จอย) โรจนเวทย์ ประธานสมาคมนักธุรกิจและชุมชนไทยทาวน์ซิดนีย์ Credit: Supplied/Thanawan Rochanavedya
แต่คุณจอยกล่าวว่าไทย ทาวน์กลับมาเข้มแข็ง คึกคักมากกว่าเดิม มีร้านอาหารไทยเปิดเพิ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมา พูดได้ว่าเป็นสีสันของเทศบาลนครซิดนีย์ และมั่นใจว่าจะเติบโตต่อไปอีก
ล่าสุดเทศบาลนครซิดนีย์มีแผนที่จะปรับปรุงไชน่า ทาวน์และรวมถึงไทย ทาวน์ด้วย คุณจอยกล่าวว่าตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ไทย ทาวน์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเฮย์มาร์เก็ต โดยชุมชนหลักคือชาวจีนซึ่งมีไชน่า ทาวน์อยู่คนละฝั่งถนน

“ในอดีต เขตนี้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ค้าขายเจริญรุ่งเรืองมายาวนาน พอเวลาผ่านไปเขตไชน่า ทาวน์ขณะนี้ค่อนข้างซบเซา"
ทางเทศบาลฯเล็งเห็นว่าควรมีการปรับโฉมย่านเฮย์มาร์เก็ตให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีก โดยที่ไทยทาวน์รวมอยู่ในเฮย์ มาร์เก็ตด้วย
เนื่องจากมีคนมาที่ไทย ทาวน์ค่อนข้างมากจึงเป็นจุดขายของเทศบาลนครซิดนีย์ จึงมีแผนจะปรับปรุงถนนให้สวยขึ้น

ฟังบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มถึงแผนการปรับปรุงโฉมใหม่ให้ไทย ทาวน์ ว่าจะมีอะไรบ้าง ชุมชนไทยอยากให้ปรับปรุงจุดไหนบ้าง รวมถึงคำตอบว่าป้ายไทย ทาวน์ หายไปไหน

กด ▶ ฟังบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
Thai_Interview_10 years Thai Town_291123.mp3 image

ครบ 10 ปีที่มีป้าย Thai Town ที่ซิดนีย์

SBS Thai

29/11/202320:00

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share