หมอไทยในออสฯ สาธิตการใช้ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ไทยในเมลเบิร์น

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ไทยในเมลเบิร์น Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat/Unsplash

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ไทยในเมลเบิร์น อธิบายพร้อมสาธิตวิธีการใช้ชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) ซึ่งเธอกล่าวว่า อาจมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยนำเราไปสู่ความปกติใหม่ภายใต้โควิด หลังการเปิดเมือง เปิดประเทศ และการมาถึงของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน


พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด (Dr.Siraporn Tagerd) แพทย์จีพี (GP) ในเมลเบิร์น เชื่อว่าการตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองที่บ้าน จะมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการการระบาดของโควิด เมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนเพิ่มขึ้นหลังการเปิดเมืองและเปิดประเทศ โดยจะเป็นสิ่งช่วยในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในเบื้องต้นและป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชน

ฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
Thai doctor demonstrate how to use rapid antigen test kit image

หมอไทยในออสฯ สาธิตการใช้ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง

SBS Thai

02/12/202116:17
ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว หรือ Rapid Antigen Test มีจำหน่ายตามร้านขายยาและซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ให้ประชาชนในออสเตรเลียสามารถซื้อมาตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองที่บ้านได้แล้ว โดยคณะกรรมาธิการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (Australia’s Therapeutic Goods Administration หรือ TGA) ได้อนุมัติชุดตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเอง 33 ยี่ห้อให้วางจำหน่ายในออสเตรเลียได้

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด บอกกับ เอสบีเอส ไทย ถึงข้อพึงระวังที่สำคัญเกี่ยวกับชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว หรือ Rapid Antigen Test ว่า
Rapid Antigen Test จะเป็นมาตรการที่มีความสำคัญในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในเบื้องต้น แต่ไม่ใช่วิธีการที่แม่นยำที่สุดในการตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่
“การตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์ (PCR Test) ตามศูนย์ตรวจก็ยังคงเป็นโกลด์สแตนดาร์ด (gold standard) เป็นการตรวจเชื้อเพื่อวินิฉัยโรคโควิดที่มีความแม่นยำสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี แต่การตรวจ Antigen Test เป็น screening test คือเป็นการตรวจคัดกรอง ซึ่งมีความแม่นยำราว 80-95 เปอร์เซ็นต์” พญ.ศิราภรณ์ อธิบาย

แต่สิ่งที่ทำให้การตรวจเชื้อด้วยชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองมีความได้เปรียบการตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์คือรอเพียงแค่อึดใจ ก็ทราบผลการตรวจแล้ว
การตรวจแบบพีซีอาร์แม้จะมีความแม่นยำ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงกว่าจะรู้ผลการตรวจ ในขณะที่การตรวจ Antigen Test จะใช้เวลา 10-20 นาทีเท่านั้นก็รู้ผล
พญ.ศิราภรณ์ กำลังอธิบายเกี่ยวกับชุดทดสอบโควิดด้วยตนเอง (ATK)
พญ.ศิราภรณ์ กำลังอธิบายเกี่ยวกับชุดทดสอบโควิดด้วยตนเอง (ATK) Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
แต่การตรวจเชื้อด้วยตนเองด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็วด้วยอุปกรณ์ Rapid Antigen Test นั้น มีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยจากการที่ประชาชนต้องซื้ออุปกรณ์การตรวจจากร้านขายยาหรือจากซูเปอร์มาร์เก็ต

“ในออสเตรเลีย การตรวจแบบพีซีอาร์นั้นเราสามารถไปตรวจตามศูนย์ตรวจของรัฐได้ฟรี แต่ชุดอุปกรณ์การตรวจ Antigen Test เราต้องไปซื้อมาเอง ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 10-20 ดอลลาร์ต่อ 1 ชุด ณ ตอนนี้”
ชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็วชนิดต่างๆ ที่หาซื้อได้ทั่วไปในปัจจุบัน
ชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็วชนิดต่างๆ ที่หาซื้อได้ทั่วไปในปัจจุบัน Source: Getty Images
แม้ในตอนนี้ จะการตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็วยังไม่มีการใช้งานแพร่หลายเท่าไรนัก แต่พญ.ศิราภรณ์ เชื้อว่าเมื่อมีการเปิดเมืองและเปิดประเทศ ชุดตรวจเชื้อด้วยตนเองจะมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยบริหารจัดการสถานการณ์โควิด

“การตรวจ Antigen Test มีข้อดีในแง่ที่ว่าอาจเป็นการช่วยในแง่ early detection (ระบุชี้การติดเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ) เป็นการตรวจในคนที่ยังไม่มีอาการเลยในระยะแรกของการติดโรคและสามารถระบุชี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายในชุมชนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หมอคิดว่าจะมีประโยชน์ในอนาคตเมื่อมีการตรวจมากขึ้น” คุณหมอแสดงความเห็น
Antigen Test มีข้อดีในแง่ที่ว่าอาจเป็นการตรวจคนที่ยังไม่มีอาการเลยในระยะแรกของการติดโรค และเมื่อระบุชี้ได้เนิ่นๆ จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้
เธออธิบายถึงลักษณะของชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว หรือ Rapid Antigen Test ที่จะมี 3 สิ่งหลักๆ ที่เหมือนกันในแต่ละชุดอุปกรณ์ แต่จะมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย

“ในทุกชุดอุปกรณ์การตรวจ (kit) จะมี 3 สิ่งหลักๆ สิ่งแรกคือ ไม้ตรวจหรือไม้ swab สิ่งที่สองคือ น้ำยาตรวจและภาชนะใส่น้ำยาตรวจ สิ่งที่ 3 คือ แผ่นตรวจ แต่วิธีการทำอาจแตกต่างกันเล็กน้อย ทุกคนที่ไปซื้อชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อด้วยตนเองมาใช้ ชุดไหนก็แล้วแต่ ต้องอ่านคำแนะนำวิธีการใช้ ให้เข้าใจ เพราะแต่ละชุดอุปกรณ์อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง”
ในทุกชุดอุปกรณ์การตรวจจะมี 3 สิ่งหลักคือ ไม้ตรวจ น้ำยาตรวจ และแผ่นตรวจ
เมื่แกะกล่องชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็วออกมา ก็จะพบกับแผ่นตรวจ น้ำยาตรวจ และไม้ตรวจ
เมื่แกะกล่องชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็วออกมา ก็จะพบกับแผ่นตรวจ น้ำยาตรวจ และไม้ตรวจ Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
ชุดอุปกรณ์บางตัวอาจไม่ต้องเก็บตัวอย่างเชื้อจากโพรงจมูก แต่ใช้น้ำลาย แต่ชุดอุปกรณ์การตรวจประเภทนี้ไม่แพร่หลายมากนัก พญ. พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด อธิบายวิธีการใช้ชุดอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนคือ

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด
Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


ขั้นตอนที่ 1 สอดไม้ตรวจเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อเก็บตัวอย่างเชื้อ

สำหรับชุดอุปกรณ์ที่ต้องเก็บตัวอย่างเชื้อจากภายในโพรงจมูก คุณหมอแนะนำว่า หากมีน้ำมูกในจมูก ให้สั่งน้ำมูกเสียก่อนทำการตรวจเชื้อ จากนั้นให้สอดไม้ตรวจเข้าไปในจมูก

“แยงไม้ตรวจหรือไม้ swab เข้าไปในโพรงจมูก แต่ไม่ต้องลึกไปถึงข้างหลังของโพรงจมูกเหมือนเวลาตรวจพีซีอาร์ สิ่งที่เขาแนะนำคือ แยงเข้าไปประมาณ 2 เซ็นติเมตรหรือแยงเข้าไปจนถึงชนผนังโพรงจมูกเล็กน้อย แต่ไม่ถึงขนาดว่าเจ็บมาก หลักจากนั้นให้หมุนไม้ไปรอบๆ อาจเป็น 5 ครั้ง 3 ครั้งหรือ 10 ครั้งแล้วแต่ชุดตรวจ ทำในโพรงจมูกทั้งสองข้างเหมือนกัน”

เจ้าหน้าที่กำลังจุ่มตัวอย่างที่เก็บได้จากโพรงจมูกในขั้นแรกลงในหลอดน้ำยาตรวจ
จุ่มตัวอย่างที่เก็บได้จากโพรงจมูกในขั้นแรกลงในหลอดน้ำยาตรวจ Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


ขั้นตอนที่ 2 คือการนำไม้ตรวจที่ผ่านการเก็บตัวอย่างเชื้อในโพรงจมูกแล้วไปจุ่มลงในน้ำยาตรวจ

“นำไม้ตรวจหรือไม้ swab มาใส่ในน้ำยาตรวจ ซึ่งเขาจะบอกให้หมุนวนไม้ไป 10 ครั้งหรือ 10 วินาทีแล้วแต่ชุดตรวจอีกเช่นกัน จากนั้นเขาจะให้เราบีบหลอดใส่น้ำยาที่มีไม้ตรวจอยู่ เราก็บีบเพื่อพยายามเอาน้ำออกจากไม้ตรวจให้มากที่สุด เสร็จแล้วจึงเอาไม้ตรวจไปทิ้งและปิดจุกหลอดใส่น้ำยาตรวจ”

เจ้าหน้าที่กำลังหยดน้ำยาลงบนแผ่นตรวจเชื้อโควิดแบบทราบผลเร็ว
เจ้าหน้าที่กำลังหยดน้ำยาลงบนแผ่นตรวจเชื้อโควิดแบบทราบผลเร็ว Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


ขั้นตอนที่ 3 เป็นการนำน้ำยาตรวจไปหยดลงบนแผ่นตรวจ และขั้นที่ 4 คือการรอผลตามระยะเวลาที่ในแต่ละชุดอุปกรณ์กำหนดไว้

“หยดน้ำยาตรวจจากหลอดลงบนแผ่นตรวจ จะเป็น 3 หยด 5 หยด หรือ 10 หยดก็แล้วแต่ชุดตรวจ หลังจากนั้นให้รอผล 10 นาที 15 หรือ 20 นาทีแล้วแต่ชุดตรวจเช่นเดียวกัน ต้องรอตามเวลาที่กำหนด เพื่อดูผล”

ผลตรวจที่เป็นบวกและลบ ของชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็ว
ผลตรวจที่เป็นบวกและลบ ของชุดตรวจโควิดแบบทราบผลเร็ว Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


คุณหมออธิบายบนแผ่นตรวจจะมีตัวอักษร C และ T ซึ่งการดูผลการตรวจจะใช้การดูขีดที่ตัวอักษรทั้งสองนี้

“เราอยากเห็น 1 ขีดที่ตัว C (บนแผ่นตรวจ) ถ้ามีหนึ่งขีดตรงตัว C แสดงว่าเราปลอดภัย แต่ถ้ามี 2 ขีดที่ทั้ง C และ T คือเป็นผลบวก (ติดเชื้อ) ถ้ามี 2 ขีดเราต้องไปตรวจพีซีอาร์ทันทีและแยกตัวจากผู้อื่นจนกว่าจะได้ผลตรวจพีซีอาร์เป็นลบ แต่ถ้ามีหนึ่งขีดตรงตัว T แสดงว่าชุดอุปกรณ์มีปัญหา ต้องตรวจใหม่อีกรอบ” คุณหมออธิบาย
1 ขีดที่ตัว C (บนแผ่นตรวจ) คือเราปลอดภัย ถ้ามี 2 ขีดที่ทั้ง C และ T คือเป็นผลบวก (ติดเชื้อ)
บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า ถ้ามีอาการ ก็สามารถตรวจเชื้อด้วยตนเองด้วยชุดอุปกรณ์การตรวจเชื้อแบบทราบผลรวดเร็วหรือ Antigen Test ได้ แต่คุณหมอชี้แจงว่า นี่ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง  

“สำคัญมากคือ ถ้ามีอาการ สิ่งที่ต้องทำมี 2 อย่างคือ ต้องไปตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์ และต้องอยู่บ้านกักตัวจนกว่าจะได้ผลตรวจพีซีอาร์เป็นลบ ถ้ามีอาการ ยังไงก็ต้องไปตรวจพีซีอาร์ ถึงแม้ว่าเราจะตรวจ Antigen Test ด้วยตนเองแล้วได้ผลเป็นลบ เพราะมันไม่แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่จะบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเราติดหรือไม่ติดโควิด คือการตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์เท่านั้น” พญ.ศิราภรณ์ ย้ำ
ถ้ามีอาการ ยังไงก็ต้องไปตรวจพีซีอาร์ ถึงแม้ว่าเราจะตรวจ Antigen Test ด้วยตนเองแล้วได้ผลเป็นลบ เพราะมันไม่แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์
A health worker collects swab samples from a resident at a Covid-19 testing clinic in Sydney on July 17, 2021
การเก็บตัวอย่างบริเวณหลังโพรงจมูกเพื่อตรวจเชื้อโควิดแบบพีซีอาร์ ที่คลินิกแห่งหนึ่งในนครซิดนีย์ Source: STEVEN SAPHORE/AFP via Getty Images


ขณะที่ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เป็นจำนวนสูงอยู่ โดยเฉพาะในเมลเบิร์น คุณหมอจึงฝากถึงทุกคนให้อย่าประมาท

“ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง พยายามอย่าเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการติดโควิด และยังคงล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างจากผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยในบางสถานการณ์ ซึ่งยังสำคัญอยู่”

“สิ่งสุดท้ายคือเรื่องวัคซีน ถ้าใครยังไม่ได้ฉีด ให้ไปฉีดเสีย ถ้าใครถึงเวลาฉีดเข็มบูสเตอร์ (เข็มกระตุ้นเข็มที่สาม) ก็ไปฉีดเสีย ตอนนี้มีผลการวิจัยที่ออกมาทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า วัคซีนไม่เฉพาะกันตายเท่านั้น แต่วัคซีนยังกันติดได้ด้วย ที่สำคัญคือเมื่อใดที่มีอาการ ให้ไปตรวจพีซีอาร์ และอยู่บ้านกักตัวเพื่อรอผลนะคะ” พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ไทยในเมลเบิร์นผู้นี้ กล่าวทิ้งท้าย

ฟังคุณหมออธิบายว่า ในสถานการณ์ใดบ้างที่เราสามารถใช้ชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็วได้ บทบาทของชุดตรวจเชื้อด้วยตนเองในออสเตรเลียขณะนี้และพร้อมเปรียบเทียบกับประเทศไทย พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด อธิบายประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดในสัมภาษณ์เต็มๆ ที่นี่
LISTEN TO
Thai doctor demonstrate how to use rapid antigen test kit image

หมอไทยในออสฯ สาธิตการใช้ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง

SBS Thai

02/12/202116:17
คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share