ผลสำรวจล่าสุดชี้โควิด-19 ทำคนรุ่นใหม่เสี่ยงเครียดทางการเงิน

Persone attendono in fila davanti agli uffici di Centrelink

คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะใช้เงินออมไปจนหมดและไปกู้เงินเพิ่มเพื่อที่จะอยู่รอดในระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัส Source: AAP

ศูนย์การวิจัยนโยบายผู้บริโภค The Consumer Policy Research Centre หรือ CPRC ได้สำรวจความมั่นใจในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในขณะที่ออสเตรเลียค่อยๆ ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนาและพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ต้องดิ้นรนในการอยู่รอดมากที่สุด


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

การรายงานจากผลการสำรวจคนกว่า 1,100 คนพบว่าท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้คนรุ่นใหม่และผู้เช่าที่อยู่อาศัยรวมถึงพนักงานแคชชวลเป็นกลุ่มที่ต้องดิ้นรนในการอยู่รอดมากที่สุด การสำรวจในครั้งนี้ดำเนินการโดยคุณ รอย มอแแกน โดยเริ่มต้นโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและผลการสำรวจฉบับแรกพบว่ากลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือคนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 18-35 ปี

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่อย่างไร

ในจำนวนคนหลากหลายช่วงวัยที่ได้ทำการสำรวจนั้น คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะใช้เงินออมไปจนหมดและไปกู้เงินเพิ่มเพื่อที่จะอยู่รอดในระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัส คุณ ลอเรน โซโลมอน ประธานกรรมการบริหารของ CPRC เปิดเผยในเรื่องนี้ว่า

"เราได้รับรายงานว่า ทั้งลูกจ้างชั่วคราว ผู้เช่า และรวมถึงคนรุ่นใหม่นั้นมีความกังวลอย่างมากว่าพวกเขาจะมีความสามารถที่จะหารายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการอยู่อาศัยหรือไม่ และอีกประการหนึ่งคือพวกเขายังประสบปัญหาในการเข้าถึงการช่วยเหลือต่างๆ อีกด้วย"

ซึ่งจากการรายงานผลการสำรวจนี้พบว่าคนรุ่นใหม่ร้อยละ 34 ถอนเงินออมของพวกเขาออกมาใช้ในขณะที่คนรุ่นใหม่อีกร้อยละ 8 ต้องถอนเงินซูเปอร์แรนูเอชัน (superannuation) หรือเงินสะสมหลังเกษียณของพวกเขาออกมาเพื่อสำรองค่าใช้จ่ายท่ามกลางวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนา ศาตราจารย์ บิล มิชเชล ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลชี้ว่า สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ไปอีกหลายปี

“มันส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียน มหาวิทยาลัยสู่ตลาดแรงงานมีความยุ่งยากสำหรับคนรุ่นใหม่ เช่นถ้าหากคุณตกงานมันก็หมายความว่าคุณไม่ได้รับประสบการณ์ในสายงานอย่างที่ควรจะเป็นและส่งผลให้คุณขาดการพัฒนาทักษะ ในอนาคตมันอาจทำให้คุณพลาดโอกาสต่างๆ ในชีวิตรวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย"

ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อความเครียดทางการเงิน

ผลการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่าการหาเงินเพื่อจ่ายค่าเช่าบ้านนั้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนเกิดความเครียดทางการเงินสูงถึงร้อยละ 37 ซึ่งคุณลอเรน โซโลมอน เปิดเผยเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่ามีผู้เช่าบ้านจำนวนมากที่มีแนวโน้มจะถอนเงินซุปเปอร์ของตนออกมาใช้จ่าย

“สิ่งสำคัญที่พบในการสำรวจครั้งนี้คือการที่ผู้เช่าบ้านมีความกังวลเกี่ยวกับการจ่ายค่าเช่า รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคประจำวันและคนกลุ่มนี้เองที่เราพบว่าพวกเขาถอนเงินซุปเปอร์ออกมาใช้มากที่สุดในจำนวนประชากรทั้งหมดในการสำรวจ”

ปัจจุบันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรออสเตรเลียพยายามจะพยุงค่าใช้จ่ายประจำวันด้วยวิธีหลากหลายเช่น ร้อยละ 22 ใช้เครดิตการ์ดในการจับจ่ายใช้สอย หรือใช้บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังและที่เหลืออีกร้อยละ15 ได้ยกเลิกค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็นน้อยลงเช่น ค่าประกันหรือค่าสมัครสมาชิกต่างๆ

กลุ่มใดบ้างที่ได้รับความเดือดร้อนทางการเงิน

นอกจากกลุ่มคนรุ่นใหม่จะได้รับผลกระทบมากในเรื่องการเงินแล้ว ก็ยังมีกลุ่มนักเรียนต่างชาติ คนที่ถือวีซ่าชั่วคราวและพนักงานแคชชวลที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินด้วย คุณ คริสเทน ฮาร์ทเนต ที่ปรึกษาทางการเงินจากองค์กร Salvation Army เปิดเผยว่าองค์กรของเธอได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากคนกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น

“กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ส่วนใหญ่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือที่เป็นความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน เช่น การช่วยเหลือด้านอาหารและค่าเช่าที่อยู่อาศัย”

คุณฮาร์เนตยังแนะนำให้ชาวออสเตรเลียที่ต้องการคำปรึกษาทางการเงินสามารถใช้บริการที่องค์กรของเธอได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังมีบริการล่ามสำหรับผู้ที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อีกด้วย

“ สิ่งที่เป็นประโยชน์จากบริการนี้คือ มันเป็นบริการฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายและเรามีบริการล่ามฟรีให้คุณอีกด้วย”

สำหรับการบริการล่ามฟรีคุณสามารถติดต่อที่ 13 14 50  เพื่อแจ้งภาษาของคุณและติดต่อองค์กรที่คุณต้องการ


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 



Share