โพลพบคนหนุ่มสาวต้องการเปลี่ยนวันชาติจาก 26 ม.ค.

กว่าครึ่งของชาวออสเตรเลีย 5,000 ตอบแบบสำรวจในโซเชียลมีเดียเน้นกลุ่มเยาวชน ต้องการให้เปลี่ยนวันชาติออสเตรเลีย จากวันที่ 26 ม.ค. ไปเป็นวันอื่นแทน ขณะการอภิปรายเข้มข้นอีกครั้งเรื่องวันชาติ

Protest against Australia Day in Melbourne

Indigenous activists and supporters protesting in Melbourne on 26 January 2019. Source: Getty Images

คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสำรวจ ต้องการให้เปลี่ยนวันชาติออสเตรเลีย (Australia Day) จากวันที่ 26 มกราคม ไปเป็นวันอื่นแทน จากการสำรวจความเห็นประชาชนล่าสุด ขณะนายกรัฐมนตรีถูกตำหนิที่แสดงความเห็นใจผู้ตั้งถิ่นฐานที่เดินทางมากับกองเรือฝูงแรกที่มาถึงออสเตรเลีย (First Fleet settlers)

การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับวันชาติออสเตรเลียของผู้ใช้งาน 5,000 คนของ ยูโบ (Yubo) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของฝรั่งเศส ที่เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่น เจเนเรชัน แซด (เกิดหลัง ค.ศ.1995) พบว่าร้อยละ 53.6 เชื่อว่า ควรเปลี่ยนไปเป็นวันอื่นแทนวันที่ 26 ม.ค.

ร้อยละ 34.7 ของผู้ตอบแบบสำรวจต้องการให้ยังคงเป็นวันเดิมต่อไป และร้อยละ 11.7 ไม่แน่ใจ

วันที่ 26 มกราคม ตรงกับวันที่มีการชักธงยูเนียน แจ็ก ขึ้นเหนือดินแดนออสเตรเลียเป็นครั้งแรกในปี 1788 หลังกองเรือฝูงแรก (First Fleet) ของสหราชอาจักร (อังกฤษ สกอตแลนด์และเวลส์) ได้เดินทางมาถึง โบทานี เบย์ (Botany Bay) หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

สำหรับหลายๆ คนแล้ว นี่เป็นวันแห่งความโศกเศร้า ที่เป็นสัญญาณของการรุกรานพื้นแผ่นดินนี้ของชาวยุโรป หลังจากชาวพื้นเมืองได้ถือครองดินแดนแห่งนี้มานานกว่า 60,000 ปี

โพลของยูโบ ระบุว่าร้อยละ 92 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจความคิดเห็น เข้าใจความหมายเบื้องหลังวันชาติออสเตรเลีย (Australia Day)

ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจหลายคน (ร้อยละ 23.6) ต้องการจะไปปิ้งบาร์บีคิวรับประทานกับครอบครัว หรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง (ร้อยละ 18.5) ในวันอังคาร ที่ 26 ม.ค. เกือบ 1 ใน 5 กล่าวว่า พวกเขาจะเข้าร่วมการชุมนุม “วันแห่งการรุกราน” (Invasion Day)

ผลโพลครั้งนี้ถูกเผยแพร่ออกมาขณะที่การอภิปรายกันเรื่องวันชาติออสเตรเลียกลับมาเผ็ดร้อนอีกครั้ง โดยนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ถูกตำหนิจากการแสดงความเห็นที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างหนัก

“ในวันชาติออสเตรเลีย ทั้งหมดนี้มันเกี่ยวกับการตระหนักว่าพวกเรามาไกลเพียงไร” นายมอร์ริสัน บอกกับผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดี ที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา

“เมื่อเรือ 12 ลำเหล่านั้นได้มาถึงยังซิดนีย์ มันไม่ใช่วันที่หรูหราสำหรับผู้คนในลำเรือเหล่านั้นเช่นกัน”

นักวิจารณ์บางคนกล่าวหานายมอร์ริสัน ซึ่งเป็นลูกหลานของนักโทษที่เดินทางมากับเรือฝูงแรก (First Fleet) คนหนึ่ง ว่าเปรียบเทียบกันอย่างผิดๆ ระหว่างผู้ที่เดินทางมากับฝูงเรือดังกล่าว กับประสบการณ์ของชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย

นางลิเดีย ทอร์ป วุฒิสมาชิกพรรคกรีนส์ ที่มีเชื้อสายชาวพื้นเมือง กล่าวว่า คำพูดของนายกรัฐมนตรีนั้นดูหมิ่นและอุกอาจที่เปรียบเทียบประสบการณ์ของผู้คนกลุ่มแรกของชาติ (First Nations) กับผู้คนในกองเรือฝูงแรก
นางลินดา เบอร์นีย์ โฆษกของชาวพื้นเมืองออสเตรเลียของพรรคแรงงาน ตำหนินายกรัฐมนตรีเช่นกัน โดยกล่าวว่า “การประสบความทุกข์ทรมานไม่ใช่เรื่องที่ต้องแข่งกัน”

นายเกรแฮม เพอร์เรตต์ สส. พรรคแรงงาน ชี้ว่า ความจริงแล้วกองเรือฝูงแรกมีเรือเพียง 11 ลำ

นายกรัฐมนตรีนั้นกล่าวถึงองค์กร คริกเก็ต ออสเตรเลีย ที่ไม่ใช้คำว่าวันชาติออสเตรเลีย (Australia Day) ในการประชาสัมพันธ์การแข่งขันคริกเก็ต บิก แบช ลีก (Big Bash League) ที่จะแข่งขันในวันที่ 26 มกราคม

“ผมคิดว่าแฟนคริกเก็ตชาวออสเตรเลียต้องการให้องค์กร คริกเก็ต ออสเตรเลีย พุ่งความสนใจมากขึ้นในเรื่องคริกเก็ต และน้อยลงในเรื่องการเมือง” นายมอร์ริสัน กล่าว

องค์กร คริกเก็ต ออสเตรเลีย ปฏิเสธที่จะพลิกกลับการตัดสินใจของตน
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

ออสเตรเลียอนุมัติวัคซีนโควิดของไฟเซอร์แล้ว


Share
Published 25 January 2021 3:06pm
By SBS News
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends