เกือบ 6 หมื่นธุรกิจขอรับเงินชดเชยค่าจ้างให้ลูกจ้างจากรัฐบาล

ธุรกิจเกือบ 60,000 แห่งรีบลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเงินชดเชยค่าจ้างด้วยงบ 130,000 ล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหพันธรัฐ นับตั้งแต่มีการประกาศในช่วงบ่ายวันจันทร์ (30 มี.ค.)

Treasurer Josh Frydenberg

Treasurer Josh Frydenberg Source: AAP

ธุรกิจต่างรีบลงทะเบียนกับรัฐบาลสหพันธรัฐ เพื่อขอรับเงินชดเชยค่าจ้างให้ลูกจ้างระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยโครงการดังกล่าวของรัฐบาลนี้ใช้งบประมาณ 130,000 ล้านดอลลาร์

ธุรกิจเกือบ 60,000 แห่งได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือนี้แล้วภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังรัฐบาลประกาศเรื่องนี้ออกมาเมื่อบ่ายวันจันทร์

นายจอช ไฟรเดนเบิร์ก คาดการณ์ว่าแผนนี้จะช่วยเหลือลูกจ้างในออสเตรเลีย 6 ล้านคน

“ออสเตรเลียไม่เคยเห็นการช่วยเหลือด้านรายได้แบบนี้มาก่อน” เขาบอกกับ สกาย นิวส์ ในวันอังคารวันนี้ (31 มี.ค.)

ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยค่าจ้างให้เป็นอัตราตายตัว คือ 1,500 ดอลลาร์ต่อ 2 สัปดาห์ โดยรับเงินนี้ผ่านนายจ้าง จากความพยายามของรัฐบาลที่จะช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากเชื้อไวรัสโคโรนา

เงินชดเชยค่าจ้างดังกล่าว จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างฟูลไทม์ และพาร์ท ไทม์ ผู้ประกอบกิจการเจ้าของคนเดียว (sole trader) รวมทั้ง ลูกจ้างแคชวล ซึ่งทำงานกับนายจ้างนั้นมานานอย่างน้อย 12 เดือน

เงินชดเชยค่าจ้างดังกล่าวจะจ่ายให้เป็นเวลา 6 เดือน

นายไฟรเดนเบิร์ก กล่าวว่า ขณะที่จะมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินประกาศออกมาอีก แต่จะไม่มีมาตรการใดที่จะทัดเทียมกับมาตรการนี้ที่ประกาศออกมาในวันจันทร์ ในแง่ของจำนวนเงิน
เขากล่าวว่า อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่รัฐบาลจะจ่ายหนี้ที่เกิดจากมาตรการเหล่านี้ได้หมด แต่รัฐบาลก็ต้องทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

นายมาธิอัส คอร์มานน์ รัฐมนตรีด้านการเงิน กล่าวว่า รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณเทียบเท่ากับร้อยละ 16.4 ของจีดีพีของออสเตรเลีย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจพร้อมจะฟื้นตัว

“มันเป็นจำนวนเงินที่สูงจนน้ำตาเล็ดทีเดียว ... เป็นเงินลงทุนที่สูงมากๆ” วุฒิสมาชิกคอรืมานน์ กล่าว

เงินชดเชยค่าจ้างเหล่านี้จะจ่ายให้แก่ธุรกิจต่างๆ ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม โดยลูกจ้างที่ถูกสั่งให้พักงาน (stand down) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม จะสามารถได้รับเงินชดเชยค่าจ้างย้อนหลังไปถึงช่วงดังกล่าวได้

โครงการเงินชดเชยค่าจ้างนี้ ยังครอบคลุมถึงชาวนิวซีแลนด์ ที่ถือวีซ่าทำงานชั่วคราว ประเภท 444 และผู้อพยพย้ายถิ่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะรับเงินสวัสดิการด้วย

นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวว่า บางประเทศอาจเผชิญสภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย หรือเป็นรูกลวงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะที่เชื้อไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดไปทั่วโลก
“ในสถานการณ์ที่แล้วร้ายที่สุด เราจะได้เห็นประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในความโกลาหล ซึ่งนี่จะไม่ใช่ออสเตรเลีย” นาย มอร์ริสัน กล่าว

รัฐสภาจะมาประชุมกันอย่างเร็วที่สุดคือสัปดาห์หน้า เพื่อผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับโครงการเงินชดเชยค่าจ้างนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เงิน จ๊อบคีพเปอร์ (JobKeeper payment) ขณะที่พรรคแรงงานมีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนโครงการนี้โดยรวม ซึ่งเป็นส่วนที่สหภาพแรงงานและกลุ่มธุรกิจต่างสนับสนุน

จำนวนเงินชดเชยค่าจ้าง 1,500 ดอลลาร์ต่อ 2 สัปดาห์นี้ เทียบเท่ากับราวร้อยละ 70 ของค่าจ้างมัธยฐาน (median wage)

ด้านนางแซลลี แมคมานัส เลขาธิการสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย หรือเอซีทียู กล่าวว่า ขณะที่สภายินดีกับมาตรการช่วยเหลือนี้ แต่จำนวนเงินที่จ่ายให้นั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ

“เราเชื่อว่า มันจำเป็นที่จะต้องอนุญาตให้เงินชดเชยที่จ่ายให้ เพิ่มขึ้นมาให้เท่ากับค่าจ้างมัธยฐาน ที่ 1,375 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์”

เธอยังได้หยิบยกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือลูกจ้างแคชวล ที่ได้ทำงานกับนายจ้างคนเดียวกันแต่ไม่ถึง 12 เดือน และลูกจ้างคนอื่นๆ ที่มาตรการนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึง

ธุรกิจที่สนใจลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยลูกจ้าง (JobKeeper Scheme) สามารถแจ้งความสนใจได้กับกรมสรรพากรของออสเตรเลีย หรือเอทีโอ

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้ 

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 31 March 2020 10:59am
Updated 31 March 2020 12:23pm
By SBS Thai
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends