ชาวเอเชียในออสเตรเลียเสี่ยงเกิดหอบหืดเฉียบพลันมากกว่าใคร

ข้อมูลล่าสุดชี้ผู้อพยพย้ายถิ่นที่เป็นชาวเอเชียบางกลุ่ม มีความเสี่ยงเกิดอาการหอบหืดเฉียบพลันในช่วงพายุฝนฟ้าคะนอง มากกว่าคนกลุ่มอื่น

จากรายงานด้านสุขภาพของรัฐบาลรัฐวิกตอเรียพบว่า ประชาชนที่มีเชื้อสายเป็นชาวเอเชียตะวันออก หรือเอเชียใต้ ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในออสเตรเลีย มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดอาการหอบหืดเฉียบพลันและเกิดอาการโรคภูมิแพ้อื่น

ศาสตราจารย์แฟรงค์ เทียน ผู้อำนวยการด้านโรคระบบการหายใจ ของ อีสเทิร์น เฮล์ท คลินิคัล สกูล (Eastern Health Clinical) แห่งมหาวิทยาลัยโมนาช เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ร่วมทำการศึกษาวิจัยนี้ เขากล่าวว่า

“ประชาชนที่มีพื้นเพเป็นชาวเอเชียและชาวอินเดียซึ่งเดินทางมายังออสเตรเลีย หรือมาอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะการแพ้ละอองเกสรดอกไม้หรือละอองพืช (Hay Fever) และโรคหอบหืด (asthma) และความเสี่ยงนั้นจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่อยู่ในออสเตรเลีย” ศาสตราจารย์เทียน กล่าว
เหตุการณ์สภาพอากาศที่สุดโต่งยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าวให้มากขึ้นอย่างกระทันหันอีกด้วย

แอนนา คิม แอนเดอร์สัน ประสบอาการหอบหืดเฉียบพลันครั้งแรก ระหว่างที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองครั้งหนึ่งในเมลเบิร์น เมื่อ 8 ปีก่อน

“ฉันเกิดอาการหายใจลำบาก ฉันรู้สึกหายใจติดขัดและมีเสียงดังเวลาหายใจ ฉันมีอาการแน่นหน้าอก และเพราะฉันไม่เคยเป็นโรคหอบหืดมาก่อน ฉันจึงไม่เข้าใจว่ามันเป็นอาการอะไร” คุณแอนเดอร์สัน เล่า
Anna Kim Anderson experienced her first asthma attack in 2010.
Anna Kim Anderson experienced her first asthma attack in 2010. Source: SBS
หลังจากเกิดอาการหอบหืดเฉียบพลันในปี 2010 คุณแอนเดอร์สันได้ประสบอาการเช่นเดียวกันอีกครั้งระหว่างมีพายุฝนฟ้าคะนองในปี 2016

เมื่อเธอไปถึงโรงพยาบาล เธอจึงตระหนักว่าเธอไม่ใช่คนเดียวที่เกิดอาการหอบหืดเฉียบพลันขึ้นระหว่างมีพายุ

“ฉันได้รับออกซิเจนน้อยมาก พวกเขาจึงนำตัวฉันส่งตรงเข้าห้องไอซียูทันที ทั้งห้องเต็มไปด้วยคนเชื้อสายเอเชียและอินเดีย ซึ่งกำลังประสบอาการหอบหืดเฉียบพลันเช่นเดียวกันฉัน”

เกือบร้อยละ 40 ของผู้ป่วยที่มายังห้องฉุกเฉินเพราะอาการหอบหืดเฉียบพลันในระหว่างพายุฝนฟ้าคะนองในปี 2016 เป็นผู้ที่เกิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือในเอเชียใต้

จากผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด 10 คนเพราะอาการหอบหืดเฉียบพลันระหว่างเหตุการณ์พายุ ในจำนวนนั้น 6 คน เป็นผู้ที่มีเชื้อสายชาวเอเชียตะวันออก และชาวเอเชียใต้

ผู้เชี่ยวชาญต่างยังคงไม่แน่ใจว่าเหตุใดผู้คนกลุ่มนี้จึงมีความอ่อนแอต่อโรคภูมิแพ้ แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าแม้แต่ผู้ที่เกิดในออสเตรเลียแต่มีพ่อแม่เป็นชาวเอเชีย ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้มีพ่อแม่เป็นชาวเอเชีย
Pollen in Melbourne, 2016.
Pollen in Melbourne, 2016. Source: AAP
การศึกษาวิจัยดังกล่าวระบุว่ากรรมพันธุ์ รวมทั้งการได้สัมผัสกับละอองเกสรดอกไม้ ละอองพืชหรือละอองหญ้าต่างๆ ที่มีในภูมิภาคเหล่านั้นในเอเชีย อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการหอบหืดเฉียบพลันนี้

ขณะที่ออสเตรเลีย มีฤดูกาลที่มีละอองเกสรดอกไม้ ละอองพืช และละอองหญ้าล่องลอยในอากาศมากกว่าปกติ ในช่วงต้นเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม คุณแองจี โบน รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจากกระทรวงสาธารณะสุขรัฐวิกตอเรีย เตือนให้ประชาชนที่มีพื้นเพเป็นชาวเอเชียตะวันออกและชาวเอเชียใต้ให้เตรียมพร้อมรับมือ

“ประชาชนสามารถเตรียมการป้องกันได้ เช่น พยายามทำให้แน่ใจว่าพวกเขามียาพ่นหอบหืดติดตัวไว้ ให้อยู่ภายในอาคารหรือในบ้านจากเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ให้ปิดหน้าต่างเพื่อไม่ให้ละอองเกสรดอกไม้หรือพืชเข้ามาภายในห้องได้” คุณโบน แนะนำ

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 30 October 2018 2:01pm
Updated 2 December 2021 4:16pm
By Amelia Dunn
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends