เราต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไวรัสโคโรนาหรือไม่?

The Feed: เราไปถามผู้เชี่ยวชาญว่า ความจริงแล้ว การสวมหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งจะช่วยป้องกันเราจากเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่

People wear face masks while walking through Sydney

Source: AAP

ความเสี่ยงจากทั้งไฟป่าและจากเชื้อไวรัสโคโรนา ส่งผลให้ออสเตรเลีย กำลังเผชิญภาวะการขาดแคลนหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่าน หัวหน้าวิทยาลัยการแพทย์ รอยัล ออสเตรเลียน คอลเลจ ออฟ เจเนรัล แพรกทิชันเนอส์ หรืออาร์เอซีจีพี (RACGP) ประกาศว่า แพทย์ทั่วไปต่างๆ ต้องการหน้ากากอนามัยอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้รัฐบาลจัดการปัญหานี้ด้วยการนำหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้นออกมาให้จากคลังสินค้าอุปกรณ์ด้านการแพทย์แห่งชาติ

หน้ากากอนามัยเหล่านั้น จะถูกแจกจ่ายไปยังแพทย์ทั่วไป และร้านขายยาต่างๆ ในพื้นที่ที่ไฟป่าได้ทำให้สต็อกหน้ากากอนามัยลดลง
หากคุณกำลังประสบปัญหาไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยในพื้นที่ของคุณได้ในขณะนี้ ก็ไม่ต้องตื่นตกใจ ความจริงแล้ว หากคุณกำลังพยายามป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโคโรนา คุณอาจไม่จำเป็นต้องมีหน้ากากอนามัยด้วยซ้ำ

ใครจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยในตอนนี้?

ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ผู้ที่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยได้แก่ ผู้ที่กำลังมีอาการของเชื้อไวรัสโคโรนา รวมทั้ง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา

นั่นคือ หากคุณได้ไปยังประเทศจีนในช่วง 14 วันที่ผ่านมา และคุณกำลังมีอาการ ที่ได้แก่การมีไข้ ไอ เจ็บคอ หรือหายใจลำบาก มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้บุคคลเหล่านี้ต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่บุคคลอื่น และให้พบแพทย์ประจำตัวของคุณ

บุคลากรทางการแพทย์ ที่ให้การรักษาผู้คนที่สงสัยว่าอาจมีเชื้อไวรัสโคโรนา ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นกัน

สำหรับคนอื่นๆ ทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องรีบไปซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่

“ไม่จำเป็นที่ประชาชนทั่วไปในออสเตรเลียจะต้องสวมหน้ากากอนามัย คนกลุ่มเดียวที่ควรสวมหน้ากากอนามัยในกรณีที่เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ คือผู้ที่ไม่สบาย และมีประวัติการเดินทางที่เกี่ยวข้อง”  นายเบรนเดน เมอร์ฟี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของออสเตรเลีย กล่าวเมื่อวันอังคาร (28 ม.ค.)

นายแพทย์ แฮร์รี เนสโพลอน ประธานวิทยาลัยการแพทย์ รอยัล ออสเตรเลียน คอลเลจ ออฟ เจเนรัล แพรกทิชันเนอส์ หรืออาร์เอซีจีพี (RACGP) บอกกับ เดอะ ฟีด (The Feed) ว่า ไม่จำเป็นที่คนส่วนใหญ่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยในขณะนี้ นอกจากว่าพวกเขาต้องการสวมใส่เอง

ขณะนี้ คำแนะนำคือ แค่เดินไปตามท้องถนนจะไม่ทำให้คุณติดเชื้อไวรัสโคโรนา คุณจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ทั้งมีอาการ และเคยไปเมืองจีนมาในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จึงจะมีความเสี่ยง นพ. เนสโพลอน ย้ำ

“หากคุณสบายดีในตอนนี้ คุณก็ควรใช้ชีวิตตามปกติ”

หน้ากากอนามัยประเภทไหนที่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาได้?

หากคุณมองหาหน้ากากอนามัยที่จะซื้อมาใช้ พยายามทำให้แน่ใจว่าเป็นหน้ากากที่เหมาะสำหรับสถานการณ์ของคุณ

ทั้งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัย P2 (หรือที่รู้จักกันว่าหน้ากากอนามัย N95) สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ แต่อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัย P2 จะครอบที่บริเวณจมูกและปากได้อย่างแน่นหนากว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ธรรมดา

หากคุณกำลังมองหาหน้ากากอนามัยเพื่อกรองฝุ่นจากควันไฟป่า คุณต้องใช้หน้ากากอนามัย P2 เนื่องจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ธรรมดาไม่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กของฝุ่นที่มากับควันไฟป่าได้

วิธีใดดีที่สุดในการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา?

คำแนะนำล่าสุดในการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโคโรนา คือเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงด้านสุขภาพของออสเตรเลียคือ

ขณะนี้ กระทรวงแนะนำให้เราล้างมือของเราบ่อยๆ ให้ปิดปากเมื่อไอหรือจาม และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่าหรือสัตว์ในฟาร์ม

"ประชาชนที่ติดเชื้อไวรัส หรือมีอาการของการติดเชื้อไวรัส ควรทำตามคำแนะนำทั่วไป ที่เราแนะนำประชาชนทุกปีเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัส" นพ. เนสโพลอน บอกกับ เดอะ ฟีด

ก็เช่นว่า หากคุณไอ ให้ไอใส่ที่บริเวณข้อศอกของตนเอง หรือก็คือให้ปิดปากเมื่อไอ และพยายามทำให้แน่ใจว่าคุณล้างมือของคุณหลังจากนั้น หากคุณจับบริเวณใบหน้าของคุณบ่อยๆ เพราะคุณสั่งน้ำมูล ก็เช่นเดียวกัน คือต้องล้างมือของคุณหลังจากนั้น

ให้ใช้กระดาษทิชชูใหม่ทุกครั้ง และให้โยนมันทิ้งไปทุกครั้ง และหากคุณไม่สบายมาก ก็ให้อยู่บ้าน อย่างแพร่เชื้อไปยังเพื่อนร่วมงานของคุณในที่ทำงาน

“หลายอย่างเกี่ยวกับความรับผิดชอบ และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนของเรา ดังนั้น หากคุณมีความเสี่ยง และเรารู้ว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงคืออะไร คุณก็ควรไปพบแพทย์ประจำตัวของคุณ”
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 31 January 2020 2:49pm
Updated 3 April 2020 4:47pm
By Sam Langford
Presented by Parisuth Sodsai


Share this with family and friends