ออสเตรเลียเพาะไวรัสโคโรนาสำเร็จ เปิดทางคิดค้นวัคซีน

NEWS: นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียเพาะเลี้ยงไวรัสโคโรนาในห้องปฏิบัติการสำเร็จเป็นครั้งแรก เปิดเส้นทางสู่การคิดค้นวัคซีนรักษาในอนาคต

Researchers at a company in Wuqing District, Tianjin Municipality, China, 27 January 2020

Researchers at a company in Wuqing District, Tianjin Municipality, China, 27 January 2020 Source: XINHUA

นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียสามารถเพาะเลี้ยงไวรัสโคโรนาภายในห้องปฏิบัติการได้สำเร็จ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญทางการแพทย์ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนในการรักษาได้อย่างรวดเร็วในอนาคต โดยสำนักข่าวเอบีซีได้รายงานในวันนี้ (29 ม.ค.) ว่า นักวิจัยจากสถาบันเพื่อการติดเชื้อและระบบภูมิคุ้มกันปีเตอร์ โดเฮอร์ตี ในนครเมลเบิร์น สามารถเพาะเลี้ยงไวรัสโคโรนาภายนอกประเทศจีนได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

ไวรัสโคโรนาที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นในห้องปฏิบัติการ จากตัวอย่างไวรัสที่เก็บตัวอย่างในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ จะได้รับการแจกจ่ายไปยังห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การอนามัยโลกในยุโรป เช่นเดียวกับห้องปฏิบัติการในออสเตรเลีย

ทางการจีนได้เผยแพร่ข้อมูลลำดับจีโนมของเชื้อไวรัสโนเวลโคโรนา ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน แต่ ดร.จูเลียน ดรูซ หัวหน้าฝ่ายระบุเอกลักษณ์ไวรัส สถาบันปีเตอร์ โดเฮอร์ตี กล่าวว่า การพัฒนาในออสเตรเลียจะเป็น “อีกความก้าวหน้าในการวินิจฉัย”

“การมีไวรัสตัวจริง (ในห้องปฏิบัติการ) หมายความว่า เราจะสามารถทดสอบและทดลองทุกวิธีได้อย่างแม่นยำ และสามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติและการตอบสนองของไวรัสได้”​ ดร.ดรูซกล่าว
Medical workers in Wuhan form an "assault team" to battle against the deadly coronavirus epidemic.
Medical workers in Wuhan form an "assault team" to battle against the deadly coronavirus epidemic. Source: AAP
ไวรัสที่ได้รับการเพาะเลี้ยงนี้ จะสร้างการทดสอบแอนตีบอดี (antibody test) ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจหาไวรัสในผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ หรือไม่ทราบว่าอาจได้รับเชื้อมาได้  

“การทดสอบแอนตีบอดีจะทำให้เราสามารถตรวจหาการติดเชื้อในผู้ป่วยได้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพรวมของการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ว่าเป็นวงกว้างได้เพียงใด รวมถึงตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ” ดร.ไมค์ แคตทัน รองผู้อำนวยการสถาบันปีเตอร์ โดเฮอร์ตี กล่าว 

ด้าน ศาสตราจารย์เบรนดัน เมอร์ฟี หัวหน้าหน่วยงานการแพทย์ออสเตรเลีย กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงไวรัสในห้องปฏิบัติการนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการเอื้อให้เกิดการทดสอบต่าง ๆ และนำไปสู่การทดสอบแอนตีบอดีที่รวดเร็วขึ้น

“มันคือการพัฒนาที่สำคัญ และมันเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ” ศาสตราจารย์เมอร์ฟีกล่าวกับวิทยุเอบีซี  

ทั้งนี้ นักวิจัยจากทั่วโลกยังคงพยายามคิดค้นวัคซีนเพื่อหยุดการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และมียอดผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันในประเทศจีนมากกว่า 4,500 ราย โดยเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนายังคงอยู่ในสถานะปิดไม่ให้มีผู้เดินทางเข้าออก เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองใหญ่ในจีน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการจีนยังคงทำงานอย่างรีบเร่งเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสชนิดนี้ 

ในออสเตรเลีย ขณะนี้มีผู้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 5 คน โดยหนึ่งในนั้นมี 4 คนที่อยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศ เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) มีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกในเยอรมนี โดย นายแอนเดรียส แซฟ (Andreas Zapf) หัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุขและอาหารรัฐไบเอิร์นของเยอรมนี กล่าวว่า ชายอายุ 33 ปีผู้ติดเชื้อรายนี้ ไม่เคยเดินทางไปประเทศจีน แต่ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานหญิงชาวจีนที่เดินทางมายุโรป ซึ่งต่อแสดงอาการป่วยขณะกำลังเดินทางกลับจีน เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา

จนถึงขณะนี้ ชายวัย 33 ปี คนดังกล่าว ยังคงได้รับการกักกันภายในโรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกในยุโรป ส่วนผู้ร่วมงานหญิงชาวจีนได้เข้าพบแพทย์ในทันทีที่เดินทางถึงจีน

ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่พบชายอายุราว 60 ปี ซึ่งไม่เคยเดินทางไปยังประเทศจีนมาก่อน ติดเชื้อไวรัสโคโรนา หลังขับรถบัสรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น 2 กลุ่ม ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายอื่น ๆ ที่ได้รับการยื่นยันเพิ่มเติม ทั้งหมดเป็นผู้ที่เคยเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่นมาก่อน

โดยทางการญี่ปุ่นได้ยกระดับมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศจีน และส่งเครื่องบินเพื่อรับประชาชนชาวญี่ปุ่นออกจากเมืองอู่ฮั่น โดยคาดว่าจะสามารถนำประชาชนกลับมายังญี่ปุ่นได้ราว 200 คน จากราว 650 คนที่ขอเดินทางกลับภูมิลำเนา

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 29 January 2020 10:31am
Updated 30 January 2020 2:29pm
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends