วัคซีนโคโรนาในออสเตรเลีย: จะได้รับเมื่อไหร่ และทุกชุมชนจะเข้าถึงได้อย่างไร

เอสบีเอสนิวส์อธิบายทางเลือกวัคซีน 3 ตัวที่รัฐบาลกลางจ่ายไป และความสำคัญของการที่คนออสเตรเลียทุกคนจะมีส่วนร่วมเมื่อเริ่มใช้

Australia vaccine graphic

Australia is due to roll out a vaccine in 2021. Source: SBS News

วัคซีนต่างๆ ถูกผลิตขึ้นด้วยความรวดเร็วจนสร้างความประหลาดใจให้ผู้คนทั่วโลก

อังกฤษและสหรัฐอเมริกาอนุมัติการใช้วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)/ไบออนเทค (BioNTech) อย่างเร่งด่วน รวมถึงวัคซีนโมเดิร์นนาในอเมริกาด้วย โดยเริ่มฉีดให้คนในชุมชนที่ติดเชื้อได้ง่ายก่อนแล้ว

ตอนนี้เคสผู้ติดเชื้อโควิด 19 เริ่มประทุขึ้นอีกครั้งในออสเตรเลีย หลายคนสงสัยว่าเมื่อไหร่จะมีการเริ่มฉีดวัคซีนที่นี่

รัฐบาลสหพันธรัฐยืนยันว่าวัคซีนกำลังจะมา และเริ่มเตรียมแผนการจำหน่ายที่ครอบคลุมในไตรมาสแรกของปี 2021 แต่ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน และนี่คือสิ่งที่เรารู้ในตอนนี้

ทำไมออสเตรเลียถึงยังไม่อนุมัติวัคซีน?

ศาสตราจารย์เอเดรียน เอสเทอร์แมน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาท์ ออสเตรเลียชี้ว่าคำตอบง่ายๆ คือ ยังไม่มีอะไรต้องรีบร้อน
Allergic reactions to the Pfizer/BioNtech vaccine are said to be incredibly rare.
Allergic reactions to the Pfizer/BioNtech vaccine are said to be incredibly rare. Source: Photonews
เขากล่าวว่าสิ่งสำคัญที่ต้องนึกถึงคือการอนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคในประเทศอังกฤษและอเมริกานั้นเป็น “การอนุมัติแบบเร่งด่วน” กล่าวคือการทดลองระยะที่สามยังไม่เสร็จสิ้น แต่ความต้องการที่จะต้องใช้นั้นสูงเกินที่จะรอ  

“มันไม่ใช่เรื่องปกติที่จะใช้วัคซีนแบบเร่งด่วน แต่ประเทศอย่างอังกฤษและอเมริกากำลังเผชิญสถานการณ์โควิด 19 ที่ร้ายแรง พวกเขาไม่สามารถรอได้ และมันก็สมเหตุสมผล” เขากล่าว

เมื่อไหร่ออสเตรเลียจะเริ่มใช้วัคซีน?

“หน่วยงานควบคุมของเรา (องค์กรบริหารสินค้าเพื่อการบำบัด) อยากรอผลของการทดลองที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยเสียก่อน วิเคราะห์ผลอย่างถี่ถ้วน มั่นใจว่าจะอนุมัติใช้ได้จริง แล้วถึงค่อยเริ่มใช้วีคซีน” ศาสตราจารย์เอสเทอแมนกล่าว ก่อนที่จะมีการระบาดในชุมชนที่ซิดนีย์

เขาคาดว่าจะมีการเริ่มใช้วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค “ประมาณเดือนมีนาคม” 2021 

ใครจะได้รับวัคซีนก่อน?

ศาสตราจารย์พอล เคลลี รักษาการประธานสาธารณสุขของออสเตรเลียยืนยันว่าวัคซีนจะถูกนำไปใช้ตามกลุ่มความต้องการ โดยจะให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นกลุ่มแรก

เขากล่าวว่าคนที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ดูแลคนชราเป็นกลุ่มที่สอง ตามด้วยคนที่ต้องทำงานในหน่วยฉุกเฉินและคนที่ทำงานซึ่งมีความจำเป็น (Essential worker)

ออสเตรเลียจ่ายเงินให้กับวัคซีนอะไรไปบ้าง?

หลังจากที่ตัดสินใจไม่สนับสนุนวัคซีนที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ รัฐบาลออสเตรเลียตอนนี้มีสามตัวเลือก ทุกตัวเลือกต้องฉีดคนละสองครั้ง และครอบคลุมประชากร 25 ล้านคนหรือมากกว่านั้น

  • แอสตราเซเนกา

    Image

รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะเพิ่มการสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจากเดิม 33.8 ล้านเป็น 53.8 ล้านโดส ยังไม่มีการอนุมัติใช้วัคซีนนี้ในประเทศอื่น แต่ผลการวิจัยมีประสิทธิภาพถึง 90 เปอร์เซ็นต์

“เราเรียกวัคซีนนี้ว่าไวรอล เวคเตอร์ เป็นการใช้ไวรัสจากลิงชิมแปนซีซึ่งไม่มีอันตรายฉีดเข้าไปเพื่อส่งต่อวัคซีน” ศาสตราจารย์เอสเทอร์แมนกล่าว

บริษัทเทคโนโลชีชีวภาพของออสเตรเลียหรือ CSL ได้ทำสัญญาการผลิต 50 ล้านโดสในเมลเบิร์น ตอนนี้ได้เริ่มเตรียมความพร้อมในการผลิตแล้ว แต่ยังต้องรอให้วัคซีนแอสตราเซเนกาได้รับการอนุมัติก่อนถึงจะเริ่มผลิตได้

  • โนวาแวกซ์

Novavax
Source: SBS News
อีกหนึ่งทางเลือกคือวัคซีนโนวาแวกซ์ของสหรัฐอแมริกาจำนวน 51 ล้านโดสซึ่งกำลังอยู่ในการทดลองขั้นที่สาม

ศาสตราจารย์เอสเทอร์แมนเรียกวัคซีนนี้ว่า “วัคซีนโปรตีน” ที่มีการทดลองและตรวจสอบแล้ว ซึ่งเขาคิดว่าจะได้รับการอนุมัติช่วงปีใหม่

“พวกเขาเพิ่งเริ่มการทดลองขั้นที่สามในเดือนกันยายน” ศาสตราจารย์อธิบาย

“เช่นเคย มันจะไม่ถูกนำมาใช้น่าจะจนกว่าประมาณเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนปีหน้า”

  • ไฟเซอร์/ไบออนเทค

Pfizer/BioNtech
Source: SBS News
วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค 10 ล้านโดสที่มีระดับประสิทธิภาพอยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นวัคซีนที่น่าจะมาถึงประเทศออสเตรเลียเป็นวัคซีนแรก เทคโนโลยีของวัคซีนนี้เรียกว่า mRNA ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ผลิตวัคซีนมาก่อน

ถึงแม้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องฉีดสองครั้ง หมายความว่าจะมีประชากรออสเตรเลีย 5 ล้านคนเท่านั้นที่จะได้วัคซีนนี้

นายแพทย์คริส มอย รองประธานสมาคมการแพทย์ออสเตรเลียกล่าวว่าการที่รัฐบาลกลางมีแผนการณ์ที่สามารถรับประกันได้ว่ามีทางเลือกวัคซีนจากหลายแห่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

“ที่จริงแล้ว ประเด็นคือความพยายามที่จะไม่ผูกมัดกับทางเลือกเดียวในสถานการณ์วิกฤตของประเทศ และสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุด” นายแพทย์มอยชี้ “เราไม่สามารถเลือกทุกสิ่งได้”

แต่พรรคแรงงานชี้ว่าการตกลงกับผู้ผลิตวัคซีนแค่สามแห่งยังไม่พอ ตามมาตรฐานสากลควรมีประมาณห้าถึงหกแห่ง

วัคซีนไฟเซอร์เก็บรักษายากหรือไม่?

ใช่ วัคซีนนี้ต้องถูกเก็บรักษาที่อุณหภูมิลบ 70 องศาเซลเซียสตลอดเวลา ทำให้การนำไปใช้ยุ่งยากเล็กน้อย

“มันต้องถูกเก็บไว้ในภาชนะบรรจุพิเศษ เหมือนกล่องเก็บความเย็น แต่ใช้ไนโตรเจนเหลวที่เก็บความเย็นสูงแทน” ศาสตราจารย์เอสเทอแมนกล่าว
داروشناسی در حال تحویل‌گیری نخستین محموله واکسین کرونا در شفاخانه‌ای در لندن.
The Pfizer/BioNTech vaccine must be kept at very cold temperatures. Source: Getty
เมื่อถูกถามว่าเขาคิดว่าออสเตรเลียจะสามารถจัดการเรื่องความท้าทายในการขนส่งได้หรือไม่ ศาสตราจารย์ตอบว่า “มันสามารถทำได้”

“วัคซีนไฟเซอร์จะถูกส่งไปทั่วประเทศออสเตรเลียในกล่องเก็บความเย็นพิเศษ ถึงแม้ว่ามันจะลำบากในการที่ต้องส่งวัคซีนในกล่องเก็บความเย็น แต่ก็สามารถทำได้ง่ายในออสเตรเลีย”

วัคซีน mRNA ก็ไม่สามารถผลิตในออสเตรเลียได้เช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคเพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่

“มีการพูดถึงว่าเราจะพัฒนาความสามารถในการผลิตวัคซีน mRNA ผมคิดว่ามันคงเป็นความคิดที่ดีสำหรับการระบาดในอนาคต” ศาสตราจารย์เอสเทอแมนกล่าว

เกิดอะไรขึ้นกับวัคซีนของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และ CSL?

ท่ามกลางความพยายามที่จะคิดค้นวัคซีนในออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ CSL ต้องหยุดการคิดค้นไว้ในเดือนนี้ หลังผู้เข้าร่วมทดลองแสดงผลเอชไอวีที่ผิดพลาด

“มันไม่ได้สร้างความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี” ศาสตราจารย์โรเบิร์ต โบย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลียซิดนีย์กล่าว

“สิ่งที่เราใช้คือโปรตีนในจำนวนน้อย ไม่ได้มีผลในการสร้างไวรัสที่ติดเชื้อ”
แต่นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าถึงแม้วัคซีนจะปลอดภัย แต่ผลการตรวจเชื้อเอชไอวีที่ผิดพลาดอาจกระทบกับการตรวจเอชไอวีในออสเตรเลีย รวมถึงการบริจาคเลือด ความคิดเห็นของสาธารณชน และความมั่นใจในการใช้วัคซีน

คนออสเตรเลียคิดอย่างไรกับการใช้วัคซีน?

เพื่อให้โครงการวัคซีนประสบความสำเร็จ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและสมัครใจที่จะใช้วัคซีน

นายแพทย์อภิเษก เวอมา แพทย์รักษาโรคทั่วไปในเมลเบิร์นกล่าวว่าหลังจากต้องถกเถียงกับคนไข้ที่กังวลกับโควิด 19 ในปีนี้ เขาได้ปัดเป่านิยายปรัมปราเกี่ยวกับวัคซีนไปหลายเรื่อง

“มีคำถามมากมายกับการฉีดวัคซีน มันจะปลอดภัยไหม? จะมีการบังคับใช้ไหม? มันจะเป็นอันตรายไหม?” นายแพทย์เผย
ในระหว่างที่มีความพยายามที่จะคิดค้นวัคซีน คนไข้หลายคนมีความกลัวและความกังวลเรื่องความปลอดภัย

“สิ่งที่เราทำคือพูดคุยอย่างเปิดอกกับคนไข้ และพูดคุยเรื่องความกังวลของพวกเขา” นายแพทย์ชี้

“เราพยายามที่จะใช้โอกาสในการพูดถึงข้อมูลที่เราได้รับจากกรมสาธารณสุขและการทดลองทางแพทย์ เราพยายามที่จะส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักฐานที่มี ที่ทำให้เราเชื่อว่าการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”

ในเดือนพฤศจิกายน มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียทำการสำรวจและพบว่าคนออสเตรเลีย 3,061 คนหรือ 58.5 เปอร์เซ็นต์จะฉีดวัคซีนแน่นอน 6 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าจะไม่ฉีดวัคซีนแน่นอน

คนออสเตรเลียทุกคนจะมีส่วนร่วมในการใช้วัคซีนหรือไม่?

นายแพทย์เวอมากล่าวว่ากลุ่มผู้อพยพใหม่บางกลุ่มอาจไม่ได้ถูกพูดถึง เพราะมีอุปสรรคทางภาษาและการขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมด้วยปัจจัยเรื่องวัฒนธรรม

“พวกเขามักไม่ได้รับสิทธิ์ และไม่สามารถเข้าถึงการดูแลในระดับทั่วไปและการดูแลเบื้องต้น” นายแพทย์เวอมาชี้ “เพราะฉะนั้นผมคิดว่าพวกเขาจะมีอุปสรรคบางประการ เพราะพวกเขามักจะมีข้อมูลที่ผิด หากพวกเขาไม่ได้รับข้อมูลจากแหล่งที่ถูกต้อง”

รัฐบาลในแต่ละรัฐและรัฐบาลสหพันธรัฐถูกวิจารณ์ในระหว่างการระบาดเกี่ยวกับความผิดพลาดในการสื่อสารกับชุมชนที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ตั้งแต่การแปลข้อมูลผิดพลาด จนถึงการไม่ปรึกษากับตัวแทนชุมชน นั่นหมายความว่าบางคนจะหันไปหาข้อมูลข่าวสารเรื่องไวรัสที่ไม่เป็นทางการ
คุณอะเดล ซาลมาน โฆษกของสภาอิสลามแห่งวิกตอเรียเผยว่า “มีข้อมูลที่ผิดเพี้ยนในเรื่องวัคซีนมากมายออนไลน์” และการต่อสู้กับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นความท้าทายที่ไม่ใช้แค่เฉพาะคนกลุ่มน้อยในออสเตรเลียเท่านั้น แต่รวมถึงสำหรับประชากรทั่วโลก

“ฉันคิดว่ามันสำคัญมากที่จะส่งเสริมการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแบบมีประสิทธิภาพ เพราะมีการสร้างความหวาดกลัวอยู่มาก และการเผยแพร่ทฤษฎีสมคมคิดอีกมากมาย” เขากล่าว “เราต้องมั่นใจว่าข้อมูลสามารถส่งไปถึงพวกเขาได้ และเรามีคนให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ในแนวทางที่เหมาะสม”

เขาเรียกร้องให้รัฐบาลสหพันธรัฐเริ่มโครงการให้ข้อมูลล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มใช้วัคซีน
นักแปลในชุมชนออสเตรเลียต้องต่อสู้กับโคโรนาไวรัสเช่นกัน นายเกรก ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ว่า รัฐบาลจะ “ยังคงปรึกษาและสอบถามคำแนะนำจากหน่วยงานพหุวัฒนธรรมและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการตอบรับในเรื่องของโควิด 19 ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและการจัดส่งวัคซีน และแผนการสื่อสาร”

รัฐบาลเพิ่งจัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาสาธารณสุขเพื่อการจัดการ Covid 19 จากชุมชนที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมที่มีการประชุมเป็นครั้งแรกในเดือนนี้

ความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้น

ศาสตราจารย์พอล กริฟฟิน ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์เผยว่าการใช้วัคซีนในออสเตรเลียอาจมีความยุ่งยาก

“ผมคิดว่าปัญหาหลักคือการขนส่งและความลังเลในการใช้วัคซีนเป็นสิ่งที่เราจะเจอ ผมไม่แน่ใจว่าเราพยายามจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ดีหรือยัง” ศาสตราจารย์กล่าว
“การขนส่งจะเป็นสิ่งที่ทำได้ลำบากมาก เพราะเราไม่เคยต้องทำอะไรแบบนี้มาก่อน”

“เรามีวัคซีนไข้หวัดธรรมดาที่ใช้ นั่นรวมถึงการใช้หลายวิธีที่จะให้ประชาชนได้ฉีดวัคซีนนั้น และเราไม่เคยประสบความสำเร็จในระดับที่เราพอใจ เราอยากจะประสบความสำเร็จกับวัคซีนโควิด” ศาสตราจารย์กล่าว

“รวมถึงการบันทึกประวัติ และการทำให้ประชาชนมีหลักฐานว่าได้รับวัคซีนแล้วก็สำคัญ วัคซีนที่เราจะเริ่มต้องฉีดสองครั้งเป็นอย่างต่ำ ถ้าประชาชนไม่กลับมาฉีดครั้งที่สอง มันอาจทำให้ระดับการป้องกันลดลง”

วัคซีนจะใช้ได้ผลไหม?

นายแพทย์มอยกล่าวว่ายังต้องมีการชี้แจงในเรื่องเป้าหมายของโปรแกรมการฉัดวัคซีนในระยะสั้นและระยะยาว

“มันมีประสิทธิภาพในการทำให้คุณไม่ป่วย ในตอนนี้เราไม่แน่ใจว่ามันดีพอที่จะทำให้คุณไม่ติดเชื้อหรือแพร่เชื้ออย่างไร เพราะฉะนั้นมันอาจจะดีสำหรับสิ่งหนึ่ง แต่อาจจะไม่ดีสำหรับสิ่งอื่น” นายแพทย์เผย

“เราไม่เพียงแค่พยายามที่จะปกป้องเป็นรายบุคคล เราพยายามที่จะหยุดการแพร่เชื้อในชุมชนด้วย โดยรวมแล้ววัคซีนเหล่านี้มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และยังมีบางสิ่งที่ยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ เช่น วัคซีนจะอยู่ได้นานเท่าไหร่”

เมื่อไหร่เราจะมีข้อมูลมากกว่านี้?

ศาสตราจารย์เคลลี่กล่าวว่ารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้วัคซีนในออสเตรเลียจะเผยต่อสาธารณะในเดือนมกราคม

 


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ ที่นี่

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080 

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 


Share
Published 23 December 2020 7:42pm
Updated 12 August 2022 3:09pm
By Amelia Dunn, Marcus Megalokonomos
Presented by Chollada K-Ross


Share this with family and friends