ออสเตรเลียผลักดันไทยเป็นตลาดใหม่ส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์

การส่งออกกุ้งร็อกล็อบสเตอร์ (rock lobster) ของออสเตรเลียนำรายได้เข้าประเทศราว 1.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีนชะลอการนำเข้ากุ้งร็อกล็อบสเตอร์ไปยังจีน แต่ตอนนี้ชาวประมงผู้จับกุ้งล็อบสเตอร์กำลังพยายามมองหาช่องทางใหม่ๆ

กุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของ GFC

กุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของ GFC Source: SBS / Rachel Cary

คุณแมตต์ รัตเทอร์ เดินไปตามอ่างขนาดใหญ่ที่ตั้งเรียงรายเป็นแถว ภายในอ่างเหล่านั้นมีน้ำทะเลหมุนวนและเต็มไปด้วยกุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ในโรงเก็บสินค้าที่รอการส่งออกแห่งใหม่ ใกล้สนามบินเพิร์ท

“กุ้งล็อบสเตอร์ของออสเตรเลียเหล่านี้ถูกมองว่ามีคุณภาพดีที่สุดในบรรดากุ้งล็อบสเตอร์จากทั่วโลก” คุณรัตเทอร์ ซีอีโอของสหกรณ์ชาวประมงของพื้นที่เจอรัลด์ตัน (Geraldton Fishermen's Co-operative หรือ GFC) กล่าว

“กุ้งล็อบสเตอร์เหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากจากทั่วโลก เนื่องจากสี ความแน่นของเนื้อ และรสชาติ และเนื่องจากพวกมันไม่มีก้าม จึงมีส่วนประกอบของเนื้อในปริมาณที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับกุ้งล็อบสเตอร์ของสหรัฐฯ”

จีเอฟซี (Geraldton Fishermen's Co-operative หรือ GFC) เป็นตัวแทนของครอบครัวชาวประมงมากกว่า 300 ครอบครัว ในแนวชายฝั่ง 1,000 กิโลเมตรในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เซาท์ออสเตรเลีย และวิกตอเรีย

ระยะเวลาเที่ยวบินที่สั้นเพื่อไปยังเอเชียทำให้มีความต้องการมากขึ้นสำหรับการส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์แบบเป็นๆ ของ GFC จนกระทั่งสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้การส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ประสบภาวะถดถอย

“ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเรา” คุณรัตเทอร์ กล่าว
คุณแมตต์ รัตเทอร์ ซีอีโอของสหกรณ์ชาวประมงของพื้นที่เจอรัลด์ตัน (Geraldton Fishermen's Co-operative หรือ GFC)
คุณแมตต์ รัตเทอร์ ซีอีโอของสหกรณ์ชาวประมงของพื้นที่เจอรัลด์ตัน (Geraldton Fishermen's Co-operative หรือ GFC) Source: SBS / Rachel Cary
“เห็นได้ชัดว่าในช่วงโควิด เราเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบเมื่ออุตสาหกรรมภาคการบริการปิดตัวลง และเมื่อไม่นานมานี้ เรายังมีปัญหาเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าในภูมิภาคของเราอีกด้วย”

คุณรัตเทอร์ กำลังหมายถึงการห้ามนำเข้ากุ้งร็อกล็อบสเตอร์จากออสเตรเลีย ซึ่งลดปริมาณการส่งออกกุ้งร็อกล็อบสเตอร์ของประเทศลงอย่างรุนแรง

“ก่อนโควิด ราว 95 เปอร์เซ็นต์ของกุ้งล็อบสเตอร์ของเราถูกส่งออกไปยังประเทศจีน” คุณรัตเทอร์ กล่าว

“ตั้งแต่เริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด รายได้จากการส่งออกสำหรับอุตสาหกรรมนี้ลดลง 50 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าเงินที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้และไปสู่ครอบครัวชาวประมงต่างๆ น้อยลงมาก” คุณรัตเทอร์ กล่าว

ราคาเฉลี่ยของกุ้งร็อกล็อบสเตอร์ลดลงไป 1 ใน 4 ของราคา นับตั้งแต่ปี 2017 จากระดับสูงสุดที่ 81.67 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม เป็น 60.94 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมในปี 2021

จีเอฟซีเป็นสหกรณ์ที่จัดการ 70 เปอร์เซ็นต์ของกุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของออสเตรเลีย ที่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ และแปรรูปกุ้งล็อบเตอร์ราว 10 ล้านตัวต่อปีผ่านโรงงานในเครือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เจอรัลด์ตัน เพิร์ท และฟรีแมนเทิล
กุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของ GFC
กุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ (Western Rock Lobsters) ของ GFC Source: SBS / Rachel Cary
สหกรณ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1950 โดยกลุ่มชาวประมงที่ต้องการควบคุมซัพพลายเชน (supply chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน) ของตน

“ตอนนี้สหกรณ์ของเรามีอายุมากกว่า 70 ปีแล้วและน่าภาคภูมิใจที่ยังคงมีชาวประมงต่างๆ เป็นเจ้าของสหกรณ์อยู่” คุณรัตเทอร์ กล่าว

“และในฐานะสหกรณ์ ไม่ใช่บริษัท เราดำเนินการเพียงเพื่อประโยชน์ของชาวประมงของเราเท่านั้น”

สัตว์ทะเลที่เรือประมงของพวกเขาจับได้จากทะเลนั้นวางตลาดภายใต้แบรนด์ Brolos (โบรโลส) ซึ่งตั้งชื่อตามหมู่เกาะอะโบรห์โลส ในทะเลนอกชายฝั่งเมืองเจอรัลด์ตัน ทางตอนเหนือของพื้นที่ประมงของสหกรณ์

นอกจากนี้ สหกรณ์จีเอฟซี ยังได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการบริการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากทะเล (Marine Stewardship Council) ในด้านการปฏิบัติที่ยั่งยืนอีกด้วย

“อุตสาหกรรมการจับกุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ มีการบริหารจัดการโควตา ซึ่งหมายความว่าการจับประจำปีมีปริมาณคงที่และถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย” คุณรัตเทอร์ กล่าว

เช่นเดียวกับผู้ส่งออกหลายๆ ราย คุณรัตเทอร์ทำงานอย่างใกล้ชิดกับออสเทรด (Austrade) ซึ่งเป็นสำนักงานคณะกรรมการการค้าและการลงทุนของออสเตรเลีย เพื่อหาทางก้าวต่อไปข้างหน้า

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่รัฐบาลสหพันธรัฐให้ความช่วยเหลือเรามากมาย” คุณรัตเทอร์ กล่าว

คุณเดวิด เจมิสัน ผู้จัดการอาวุโสด้านโอกาสทางธุรกิจระดับโลกของออสเทรด (Austrade) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่มีการเติบโตสำหรับการส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์จากออสเตรเลีย

“มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากภาคการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับแรงหนุนจากโรงแรมและร้านอาหารจำนวนมาก” คุณ เจมิสัน กล่าว
คุณเดวิด เจมิสัน ผู้จัดการอาวุโสด้านโอกาสทางธุรกิจระดับโลกของออสเทรด (Austrade)
คุณเดวิด เจมิสัน ผู้จัดการอาวุโสด้านโอกาสทางธุรกิจระดับโลกของออสเทรด (Austrade) Source: SBS / Rachel Cary
ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ของออสเตรเลียไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 42,000 ดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 9.4 ล้านดอลลาร์ในปี 2021

เมื่อเร็วๆ นี้ ออสเตรเลียและไทยได้ข้อตกลงขั้นสุดท้ายสำหรับใบรับรองด้านสุขภาพฉบับใหม่ เพื่อให้สามารถนำเข้ากุ้งล็อบสเตอร์เป็นๆ จากออสเตรเลีย เพื่อการบริโภคของมนุษย์ได้

ใบรับรองใหม่นี้จะทำให้ออสเตรเลียส่งออกกุ้งเวสเทิร์น ร็อก ล็อบสเตอร์ แบบเป็นๆ ไปยังประเทศไทยได้เป็นครั้งแรก

ความต้องการอาหารระดับพรีเมียมในประเทศไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเดินทางทั่วโลกกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง และภาคการบริการฟื้นตัวจากข้อจำกัดโควิด-19

คุณรัตเทอร์ ขอบคุณออสเทรดที่ช่วยสหกรณ์จีเอฟซีหาตลาดใหม่ๆ ได้ในประเทศไทย

“การมีทีมเจ้าหน้าที่ออสเทรด (Austrade) ลงพื้นที่ ซึ่งช่วยเราค้นคว้าหาข้อมูลและพูดคุยกับลูกค้า เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิดเป็นเรื่องสำคัญมาก” คุณรัตเทอร์ กล่าวเสริม
การส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ของออสเตรเลียไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 42,000 ดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 9.4 ล้านดอลลาร์ในปี 2021
การส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ของออสเตรเลียไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 42,000 ดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 9.4 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 Source: SBS / Rachel Cary
ทั้งออสเทรดและสหกรณ์จีเอฟซีมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมเกี่ยวกับปี 2022

“มันดูมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นสำหรับเรา ขณะนี้เรากำลังส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไปยังประเทศต่างๆ หลากหลายประเทศมากขึ้น” คุณรัตเทอร์ กล่าว

“ผมอาจพูดได้ว่าดำเนินการเพื่อป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ไม่ว่าโลกจะก่อให้เกิดสถานการณ์อย่างไรกับเรา เราก็จะสามารถรับมือได้และปรับตัวไปตามสถานการณ์นั้นได้”

คุณเดวิด เจมิสัน จาก ออสเทรด (Austrade) ก็เห็นด้วย

“หากมีสิ่งที่ดีที่ซ่อนอยู่จากการหยุดชะงักเหล่านี้และจากการระบาดใหญ่ของโควิด ก็อาจเป็นว่า เรากำลังเข้าถึงผู้บริโภคในระดับสากลมากขึ้นสำหรับอาหารทะเลอันโอชะนี้”

“และหวังว่านั่นจะช่วยให้เราสามารถยืนหยัดได้ในระยะยาว”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai



Share
Published 4 April 2022 11:56am
Updated 4 April 2022 1:59pm
By SBS Small Business Secrets
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS

Share this with family and friends