6 หมื่นดอลลาร์ต่อนาที แบงก์ใหญ่ออสฯ โกยกำไรในวิกฤตค่าครองชีพ

ภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงกำลังสร้างความเดือดร้อนให้ชาวออสเตรเลียจำนวนมาก แต่ภาคส่วนการธนาคารกลับรวยขึ้น

A composite image of signage of Australia's 'big four' banks ANZ, Westpac, the Commonwealth Bank and the National Australia Bank

Australia's 'big four' banks - ANZ, Westpac, the Commonwealth Bank and the National Australia Bank - have all recorded significant profits as the country battles through a cost of living crisis. Source: AAP / Joel Carrett

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • 4 ธนาคารใหญ่ในออสเตรเลีย (บิ๊กโฟร์) คว้ากำไรรวม 16,000 ล้านดอลลาร์ในเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ธนาคารเวสต์แพ็ค (WBC) เป็นธนาคารล่าสุดที่เปิดเผยรายงานผลประกอบการ ประกาศผลกำไรครึ่งแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 22% เป็น 4,000 ล้านดอลลาร์
  • อัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ผลกำไรของธนาคารเพิ่มสูง
กลุ่ม 4 ธนาคารใหญ่ของออสเตรเลีย (บิ๊กโฟร์) ได้ผลกำไรจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นรวมกัน 16,000 ล้านดอลลาร์ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา หรือคิดเป็นประมาณ 60,000 ดอลลาร์ต่อนาที ท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพระดับชาติ

ธนาคารเวสต์แพ็ค (WBC) เป็นธนาคารล่าสุดที่ได้รายงานผลประกอบการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 พ.ค.) โดยประกาศว่าผลกำไรครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เป็น 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเหนือความคาดหมายว่ากำไรของธนาคารจะชะลอตัว และเป็นผลกำไรครึ่งปีแรกที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018

ด้าน ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย (NAB) และ ธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZ) ได้เปิดเผยผลประกอบการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งชาติออสเตรเลียมีผลกำไรครึ่งปีแรกอยู่ที่ราว 4,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ส่วนธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มีผลกำไรครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เป็น 3,800 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนธนาคารคอมมอนเวลธ์ (CBA) รายงานผลกำไรครึ่งปีแรก 5,200 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมีกำหนดในการให้ข้อมูลอัปเดตการซื้อขายภายในสัปดาห์นี้

การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ที่ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ใช้ในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อระดับสูง นำไปสู่การเรียกเก็บเงินจากผู้กู้ยืมมากกว่าเงินที่จ่ายให้กับผู้ออมเงิน ซึ่งสร้างกำไรเป็นจำนวนมากให้กับธนาคารในฐานะผู้ปล่อยเงินกู้

อัตราเงินเฟ้อที่สูงและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ได้สร้างความเจ็บปวดครั้งใหญ่สำหรับชาวออสเตรเลีย ขณะที่ผู้คนจำนวนมากต่างกำลังประสบปัญหาในการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน อาหาร และยารักษาโรค
ศาสตราจารย์ พอล คอฟแมน (Prof Paul Kofman) คณบดีคณะธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า “โครงสร้างการธนาคารของออสเตรเลียนั้นค่อนข้างมั่นคงและปลอดภัยมาก และ “กำไรสูง” คือราคาที่คุณต้องจ่ายเพื่อสิ่งนี้

“ธนาคารทำได้ดีขึ้น เพราะค่าสเปรด ซึ่งคืออัตรากู้ยืม (borrowing rate) ลบด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (lending rate) จะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น” ศาสตราจารย์คอฟแมน กล่าว

“นั่นเป็นการสร้างกันชนให้กับธนาคารต่าง ๆ เพราะในขณะเดียวกันก็มีผู้คนที่ประสบปัญหากับอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก และสิ่งนั้นจะกัดกร่อนผลกำไรของธนาคาร ธนาคารจะไม่ได้รับประโยชน์จากลูกค้าที่หมดเนื้อหมดตัว”

การเข้าซื้อกิจการ Credit Suisse ธนาคารรายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ของ UBS Group และความล้มเหลวของธนาคารขนาดเล็กหลายแห่งในสหรัฐ ฯ ได้สร้างความกังวลต่อสุขภาพของระบบการเงินโลก แต่ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย และรัฐมนตรีคลัง จิม ชาลเมอร์ส (Jim Chalmers) ได้ยืนยันอย่างรวดเร็วว่า ธนาคารของออสเตรเลียมีความแข็งแกร่ง
ศาสตราจารย์คอฟแมน กล่าว่า ธนาคารของออสเตรเลียมีกำไรมากมาเป็นเวลานานแล้ว

“ส่วนหนึ่งเป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างตลาดของธนาคาร ซึ่งคุณมีธนาคารที่ทรงอิทธิพลอยู่ 4 แห่ง” ศาสตราจารย์คอฟแมน กล่าว

“โครงสร้างตลาดแบบนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจมากนัก ในการแข่งขันอย่างมากระหว่างธนาคารเหล่านั้น ดังนั้น จีงไม่มีแรงกดดันมากนักเมื่อเทียบกับตลาดที่มีการแข่งขันสูง”

ศาสตราจารย์คอฟแมน กล่าวว่า ธนาคารต่างๆ จะหยุดบันทึกผลกำไรในระดับสูง หากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อความสามารถของลูกค้าธนาคารในการชำระสินเชื่อบ้าน

นอกจากนี้ ยังมีข้อบ่งชี้เล็กน้อยที่ระบุว่า กำไรจำนวนมากเหล่านี้อาจผิดไปจากความคาดหวังของนักลงทุนบางส่วน และผลกำไรของธนาคารจะไม่สามารถดำเนินต่อไปเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

เชน เอลเลียต (Shayne Elliott) ประธานบริหารของธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZ) เตือนว่า “อีก 6 เดือนข้างหน้าจะยากกว่าที่ผ่านมา” เนื่องจากการแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อบ้าน ท่ามกลางกระแสการรีไฟแนนซ์ที่เฟื่องฟู ส่วน ปีเตอร์ คิง (Peter King) ประธานบริหารของธนาคารเวสต์แพ็ค (WBC) ให้สัญญาณถึงอัตรากำไรของธนาคารที่ลดลงในอนาคต และได้กำหนดเป้าหมายในการตัดลดต้นทุนโดยอ้างถึงอัตราเงินเฟ้อ
A composite image showing the logos of the Commonwealth Bank, Westpac, ANZ, and NAB.
4 ธนาคารใหญ่ในออสเตรเลียได้กำไรจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพระดับชาติ ผลกำไรครึ่งปีแรกรวมกันสูงถึง 16,000 ล้านดอลลาร์ Source: AAP / Joel Carrett
แซลลี ทินดอลล์ (Sally Tindall) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเว็บไซต์เปรียบเทียบทางการเงิน Rate City กล่าวว่า ยังมีสัญญาณอื่น ๆ ที่ชึ้ว่าธนาคารต่าง ๆ รู้สึกได้ถึงแรงกดดัน

“ในช่วงเริ่มต้นของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เราเห็นธนาคารต่าง ๆ ให้ส่วนลดให้กับลูกค้าใหม่ เพื่อดึงดูดธุรกิจใหม่ ๆ เนื่องจากชาวออสเตรเลียกำลังอยู่ท่ามกลางกระแสการรีไฟแนนซ์ที่เฟื่องฟู”คุณทินดอลล์ กล่าว

“อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาได้ริบคืนส่วนลดของลูกค้าใหม่บางส่วน เนื่องจากความสมดุลระหว่างต้นทุนการกู้ยืมเงิน และการให้ส่วนลดเหล่านั้นแก่ลูกค้าจำนวนมากได้สร้างความเสียหายขึ้นแล้ว และพวกเขาก็ริบมันคืนมาจากลูกค้าบางส่วน”

คุณทินดอลล์ กล่าวว่า ชาวออสเตรเลียจำนวนมากลงทุนเงินสะสมหลังเกษียณกับธนาคารใหญ่ต่างๆ ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นผู้ถือหุ้น และ “ผลกำไรเป็นประวัติการณ์ของธนาคารเหล่านั้นก็จะเป็นประโยชน์กับเงินซูเปอร์คงเหลือของพวกเขาด้วยเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม เกร็ก เจริโค (Greg Jericho) จากสถาบันออสเตรเลีย (Australian Institute) กล่าวว่า “มันเป็นความสบายใจเพียงเล็กน้อยของผู้บริโภคที่เงินซูเปอร์ของพวกเขากำลังเติบโต เพราะเงินนั้นจะไม่สามารถนำออกมาใช้ได้จนกว่าพวกเขาจะเกษียณ และพวกเขากำลังรู้สึกถึงความร้อนระอุของอัตราดอกเบี้ยอยู่ในตอนนี้”
คุณเจริโค กล่าวอีกว่า ธนาคารไม่ใช่ภาคส่วนเดียวที่ทำกำไรได้ดีมากจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยได้พูดถึงกำไรที่งอกงามในบริษัทใหญ่ต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

“สิ่งที่เราได้เห็นก็คือ ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ในปี 2020 อุตสาหกรรมทั้งหมดยกเว้น 4 อุตสาหกรรมเหล่านี้มีกำไรเติบโตเร็วกว่าค่าจ้าง” คุณเจริโค กล่าว

“มันเน้นให้เห็นถึงสิ่งที่เราโต้เถียงกันมา นั่นก็คือผลกำไรขององค์กรต่าง ๆ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นผ่านผ่านอัตราค่าจ้างที่แข็งแกร่ง การเติบโต หรืออะไรทำนองนั้น”

คุณเจริโค กล่าวว่า สถาบันออสเตรเลียได้ผลักดันให้รัฐบาลจัดการเก็บภาษีลาภลอยจากผลกำไรที่มากเกินไป

“เมื่อพวกเขาทำกำไรเหล่านี้จากสิ่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ธนาคารสำรอง ฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่พวกเขาเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมัน เราจะโต้แย้งว่ารัฐบาลควรเก็บภาษีจากพวกเขาในอัตราที่สูงขึ้น” คุณเจริโค กล่าว

เขากล่าวอีกว่า เงินที่ได้จากการเก็บภาษีในส่วนนี้สามารถนำไปสนับสนุนประชาชนที่มีรายได้น้อยซึ่งกำลังดิ้นรนกับการจ่ายค่าผ่อนบ้าน หรือค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูง


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจ จาก เอสบีเอส ไทย

หนาวนี้ อย่าลืมตรวจสอบสโมค อลาร์ม


Share
Published 9 May 2023 3:51pm
By Madeleine Wedesweiler
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends