ผู้ป่วยเรื้อรังจากโควิดรวมตัวออนไลน์เพื่อหาคำตอบ

แชมป์โอลิมปิกส์สองสมัยของออสเตรเลีย โจอานนา ฮอลส์ ที่เคยมีร่างกายแข็งแรง ยังคงป่วยอยู่หลังติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเจ็ดสัปดาห์ก่อน ขณะนี้ อดีตแชมป์กีฬาฟันดาบ ประสบความยากลำบากแม้แต่จะพูดหรือเดินเร็วๆ

Joanna Halls and the Long Covid Support Group

Joanna Halls has been unwell for seven weeks and has been connecting with others online. Source: Long Covid Support Group

อาเจียน เลือดออกที่เหงือก ปวดศีรษะ สูญเสียความทรงจำ ร่างกายอ่อนเพลีย และหายใจลำบาก หากมองเผินๆ แล้ว อาการเหล่านี้อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันอย่างสิ้นเชิง แต่อาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ โจอานนา ฮอลส์ อดีตแชมป์โอลิมปิกส์สองสมัย ยังคงประสบอยู่นับตั้งแต่เธอติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเจ็ดสัปดาห์ก่อน

อดีตนักกีฬาฟันดาบวัย 46 ปี ที่อำลาวงการเมื่อสี่ปีก่อน หลังเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกส์ในปี 2000 และ 2008 แต่ยังคงเป็นผู้ที่เล่นกีฬาเป็นประจำให้ร่างกายแข็งแรง และยังคงเป็นโค้ชให้นักกีฬาฟันดาบ

แต่ขณะนี้ หลังจากติดเชื้อไวรัสโคโรนาในวันที่ 18 กรกฎาคม โจอานนาประสบความยากลำบากในการที่จะพูดโดยไม่ต้องหยุดพักเพื่อไอเป็นระยะๆ เธอกล่าวว่า เธอมีแรงแค่จะพูดคุยกับใครสักระยะหนึ่งได้ครั้งเดียวต่อวัน และไม่ต้องพูดถึงเรื่องการวิ่ง เพราะแค่เดินเร็วๆ เธอก็ไม่สามารถทำได้

“ฉันเคยแข็งแรงมาก” เธอบอกกับ เอสบีเอส นิวส์ “แต่ตอนนี้ ฉันเหมือนคนแก่ในหัว เพราะฉันไม่สามารถมีสมาธิที่ทำอะไรได้ในบางครั้ง และรู้สึกสับสน รู้สึกงุนงง รู้สึกหงุดหงิดง่าย และเมื่อฉันออกไปเดินเล่น ฉันก็อ่อนแรงและอ่อนแออย่างมาก”
Joanna Halls (left) at the 2008 Beijing Olympic Games.
Joanna Halls (left) at the 2008 Beijing Olympic Games. Source: Getty Images
โจอานนา ซึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากการทำงานแถวหน้าเพื่อรับมือกับเชื้อนี้ในเมลเบิร์น เป็นหนึ่งในผู้ป่วยจากเชื้อโควิด-19 หลายพันคน ที่มีอาการป่วยนอกเหนือไปจากอาการที่ระบุ “ตามตำราเรียน”

เนื่องจากเธอเคยเป็นผู้ที่ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพดี เธอกล่าวว่า ในตอนนั้นเธอจึงคิดว่าเธอจะสามารถหายป่วยจากเชื้อไวรัสนี้ได้และสามารถกลับไปทำงานได้ภายในไม่กี่สัปดาห์

“ผู้คนมากมายคิดว่า เราจะไม่ป่วยมากและจะดีขึ้นภายในสองสัปดาห์มันเหมือนกับเป็นไข้หวัดใหญ่ หรืออีกคนกลุ่มคิดว่าเราจะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล และมันทำให้เราป่วยมาก” โจอานนา กล่าว

“คนจำนวนมากไม่เข้าใจว่า มันมีอาการระหว่างกลางที่เป็นวงใหญ่ และมันอาจเป็นเหมือนอาการทางสุขภาพที่เรื้อรัง ซึ่งนั่นน่ากลัวมาก”
หลังจากที่การระบาดใหญ่เชื้อไวรัสโคโรนาดำเนินไปสักระยะ ได้มีกลุ่มทางโซเชียลมีเดียมากมายที่ตั้งขึ้น โดยผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็นผู้ป่วย “ระยะไกล” (long-haulers) จากเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งพวกเขามุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความตระหนักรู้ให้แก่สังคมเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “อาการระยะยาวของเชื้อโควิด” (long COVID) ขณะที่รัฐบาลต่างๆ และเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์กำลังพยายามต่อสู้กับยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากกลุ่มออนไลน์เหล่านี้จะเป็นที่ให้ผู้ที่ยังคงป่วยเรื้อรังได้ติดต่อพูดคุยกัน กลุ่มเหล่านี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยด้านการศึกษาวิจัยและเป็นปากเสียงให้ผู้คนได้ตระหนักมากขึ้นถึงผลกระทบระยะยาวของเชื้อไวรัสโคโรนา ผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มออนไลน์เหล่านี้กำลังเรียกร้องขอบริการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย ขอให้มีการศึกษาวิจัย และให้ผู้คนตระหนักว่ามีผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการต่อเนื่องระยะยาว

กลุ่มออนไลน์ดังกล่าวกลุ่มหนึ่งที่มีสมาชิกมากที่สุด ได้แก่กลุ่มทางเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Long COVID Support Group มีสมาชิกมากกว่า 20,000 คนจากทั่วโลก รวมทั้งมีผู้ดูแลห้องสนทนา (moderator) คนหนึ่งที่อยู่ในแอนตาร์กติกา ภายในห้องสนทนาออนไลน์ดังกล่าว ผู้ที่ประสบอาการป่วยระยะยาวจากเชื้อไวรัสโคโรนาพูดคุยกันถึงอาการป่วยอย่างไม่ปกติธรรมดาที่พวกเขากำลังประสบ เช่น มีผื่นตามร่างกาย เป็นต้อกระจก ผิวหนังเปลี่ยนสี เป็นโรคนอนไม่หลับ และอื่นๆ อีกมากมาย และบางคนมีอาการป่วยนานกว่า 6 เดือน พวกเขายังได้แบ่งปันข้อมูลต่างๆ ให้คำแนะนำในการรับมือ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

ทางกลุ่มได้ให้คำจำกัดความของ “ผู้ที่มีอาการระยะยาวของเชื้อโควิด” (long COVID) ว่าผู้ที่ประสบกับอาการป่วยที่ไม่เป็นไป “ตามตำราเรียน” หรือไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่เชื่อกันว่าควรจะหายป่วยได้แล้ว องค์การอนามัยโลกได้มีคำแนะนำในเดือนกุมภาพันธ์ว่า ผู้ที่มีอาการป่วยไม่มากนักจากเชื้อไวรัสโคโรนามักหายป่วยภายในสองสัปดาห์

เลสลีย์ แมคนิวเน เป็นผู้ดูแลห้องสนทนาออนไลน์ (moderator) ของกลุ่ม Long COVID Support Group เธอกล่าวว่า “เราจำเป็นต้องมีกรอบเวลาที่เป็นไปตามความเป็นจริง.... และจะต้องไม่ยึดติดกับสารที่บอกว่า คุณจะป่วยเพียงสองสัปดาห์ และจากนั้นคุณจะหายป่วย หรือไม่เช่นนั้น คุณจะลงเอยในโรงพยาบาล แน่นอนว่า ยังคงมีผู้ป่วยกลุ่มที่สามที่ไม่มีใครมองเห็น”

เลสลีย์ นักเขียนวัย 52 ปี ที่อาศัยอยู่ในสกอตแลนด์ ยังคงมีอาการป่วยจากเชื้อโควิด-19 อยู่หลังจากติดเชื้อเมื่อหกเดือนก่อน
Lesley MacNiven, one of the moderators of the Long Covid Support Group, suffered from post-coronavirus illness for six months.
Lesley MacNiven, one of the moderators of the Long Covid Support Group, suffered from post-coronavirus illness for six months. Source: Supplied
“มันทุกข์ทรมานใจอย่างเหลือเชื่อ ที่ต้องอยู่บ้านกับความเจ็บป่วยที่เราไม่เข้าใจ และตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะหัวใจของคุณมีอาการแปลกๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” คุณเลสลีย์ เล่า

“มีผู้คนที่ป่วยมาก แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุน เพราะมีทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะไปถึงเพวกเขา นอกจากนี้ อาจเพียงเพราะผู้คนไม่รู้เรื่องนี้”

คุณโจอานนา กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ยากลำบากที่สุดเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของเธอ คือการทำให้ผู้คนเชื่อว่า เธอยังคงป่วยอยู่หลายสัปดาห์หลังจากตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา

“เราก็เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์มีคนที่จะต้องดูแลมากมายจนแทบจะดูแลไม่ไหวอยู่แล้ว และต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะตามทัน มีบางครั้งที่ฉันรู้สึกว่า ไม่เป็นไร แต่ก็มีบางทีที่รู้สึกว่า เมื่อไรจะถึงตาฉันเสียที?”คุณเลสลีย์ กล่าวเสริม

การศึกษาวิจัยใหม่เกี่ยวกับผู้ป่วยระยะยาวจากเชื้อโควิด

ขณะนี้ กำลังมีการศึกษาวิจัยเป็นเวลา 12 เดือน ที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย โดยเป็นโครงการแรกของโลก เพื่อพยายามเรียนรู้และเข้าใจผลกระทบระยะยาวของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดเผยพบการค้นพบเบื้องต้นภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

การศึกษาวิจัยดังกล่าว ซึ่งกำลังปฏิบัติการในโรงพยาบาล เซนต์ วินเซนต์ (St Vincent’s Hospital) ในนครซิดนีย์ กำลังพยายามเฝ้าติดตามดูการฟื้นตัวจากอาการป่วยทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนา

ศาสตราจารย์ เกรกอรี ดอร์ แพทย์และนักวิจัยของสถาบันเคอร์บี (Kirby Institute) ซึ่งกำลังทำงานวิจัยดังกล่าว กล่าวว่า จากการคาดการณ์ในเบื้องต้นพบว่า มีผู้คนราวร้อยละ 20 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยจากเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาการดังกล่าวกินเวลานานหลายเดือน

“กำลังมีการตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าคนกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ได้ป่วยจนเข้าโรงพยาบาล และบางคนเรียกกันว่าเป็น “ผู้ป่วยระยะไกล” (long-haulers) หรือเป็นผู้ที่มีความเจ็บป่วยหรือมีอาการป่วยหลังหายจากการมีเชื้อโควิดแล้ว มีผู้คนจำนวนมากที่อาจเรียกได้ว่ามีอาการเฉียบพลันของเชื้อโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง แต่มีอาการต่อเนื่องไปสาม สี่ หรือห้าเดือน หลังการพบว่าติดเชื้อในตอนแรก” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดอร์ กล่าว

“มันสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมองให้ลึกลงไปเกี่ยวกับความเจ็บป่วยหลังโควิด เพราะเมื่อคุณมีผู้คนหลายล้านคนที่ติดเชื้อ แม้จะมีเพียงร้อยละ 10 ที่มีอาการป่วยหลังโควิด แต่นั่นก็เป็นผู้คนจำนวนมากมาย”

นายแพทย์ ดอร์ กล่าวว่า ผู้คนจำนวนมากที่มีอาการป่วยเรื้อรังเป็นคนอายุไม่มากนัก ซึ่งมักอยู่ในวัย 30 และ 40 ปีเศษ ซึ่งไม่สามารถกลับไปทำงาน หรือกลับไปใช้ชีวิตในรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เคยทำได้ เนื่องจากร่างกายที่อ่อนล้า การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ภาวะสมองล้า (brain fog) และอาการหายใจลำบาก
“มันเป็นการผสมผสานของอาการที่หลากหลายอย่างแท้จริง เรากำลังพยายามหาว่าอะไรที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ ไวรัสชนิดนี้สามารถทำให้เกิดอาการประหลาดๆ ได้ มันไม่ใช่แค่ส่งผลต่อปอดเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลและแพร่เชื้อไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้” นายแพทย์ ดอร์ กล่าว

การสามารถอ่านเรื่องราวจากผู้คนในกลุ่มออนไลน์ ซึ่งมีอาการป่วยรุนแรงเป็นเวลาหลายเดือนนั้น “น่ากลัว” แต่โจอานนา กล่าวว่า ตอนนี้ เธอมีข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับอาการของเธอ และสามารถให้การสนับสนุนแก่คนอื่นๆ ที่เพิ่งมีอาการในระยะแรกได้

“มันเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวอย่างมาก ที่อาจมีอะไรเกิดขึ้นกับเราได้โดยที่เราไม่เข้าใจ” คุณเลสลีย์ กล่าว “แต่หากคุณได้พูดคุยกับคนอื่นๆ และรู้ว่านี่เป็นประสบการณ์ทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ มันก็ช่วยให้ความวิตกกังวลลดลงอย่างมาก”


มีคำแนะนำให้ประชาชนที่ไม่สบายติดต่อโทรศัพท์สายด่วนด้านสุขภาพ (Healthdirect) ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 1800 022 222 หรือให้ติดต่อแพทย์ประจำตัวของตน ในกรณีฉุกเฉิน ให้โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 000

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 7 September 2020 11:41am
Updated 7 September 2020 2:55pm
By Maani Truu
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends