‘น่าวิตกอย่างยิ่ง’: น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายเพิ่มสามเท่าตัว

NEWS: นักวิทยาศาสตร์ตกใจทวีปแอนตาร์กติกาสูญเสียน้ำแข็งเกือบสามล้าน-ล้านตัน ตั้งแต่ปี 1992 หนุนระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 7.6 มม.

การสูญเสียน้ำแข็งได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 219 พันล้านตันต่อผี จาก 76 พันล้านตันก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 2012 (ภาพโดย AFP)

การสูญเสียน้ำแข็งได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 219 พันล้านตันต่อปี จาก 76 พันล้านตันก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 2012 (ภาพโดย AFP) Source: AFP

ทวีปแอนตาร์กติกาสูญเสียน้ำแข็งเป็นปริมาณมหาศาลถึงสามล้าน-ล้านตันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 จากการศึกษาครั้งสำคัญซึ่งตีพิมพ์เมื่อวานนี้ (พุธ 13 มิ.ย.) ที่ชี้แนะว่า (ผลกระทบต่อ)ทวีปอันปกคลุมด้วยน้ำแข็งดังกล่าวอาจทำให้แนวชายฝั่งของโลกเปลี่ยนแปลงไปหากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีการยับยั้ง

สองในห้าของการสูญเสียน้ำแข็งดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นถึงสามเท่าตัวของการสูญเสียน้ำแข็งปกคลุมหนานับเป็นกิโลเมตร ณ ทวีปแอนตาร์กติกา

โดยกลุ่มผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่า การค้นพบนี้น่าจะไขข้อข้องใจใดๆ ก็ตามที่เคยมีอยู่ เกี่ยวกับการหดตัวลงของมวลน้ำแข็งของทวีปดังกล่าว

พวกเขายังได้ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามต่อการอยู่รอด ซึ่งเมือง ณ บริเวณที่ลุ่มชายฝั่งกำลังเผชิญ และชุมชนต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนหลายร้อยล้านคน

คุณเอริค ริกนอท นักวิทยาศาสตร์ จากห้องทดลองการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น (Jet propulsion Laboratory)ของ NASA ซึ่งได้ติดตามแผ่นน้ำแข็งโลกมาเป็นเวลาสองทศวรรษกล่าวว่า “ในตอนนี้พวกเรามีภาพที่ปราศจากความคลุมเครือใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่แอนตาร์กติกา”

“เรามองผลลัพธ์เหล่านี้ว่าเป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีการดำเนินการเพื่อชะลอการเพิ่มอุณหภูมิของโลกเรา”

จนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์พบกับความยุ่งยากในการระบุว่าทวีปแอนตาร์กติกานั้นได้สะสมมวลเพิ่มขึ้นจากหิมะตกหรือว่าได้สูญเสียไปเนื่องจากน้ำที่ละลายและการเคลื่อนที่ของน้ำแข็งลงในมหาสมุทร

แต่ข้อมูลจากดาวเทียมเป็นระยะเวลากว่าสองทศวรรษในการค้นพบครั้งใหม่ดังกล่าว ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจทางอวกาศที่เป็นอิสระต่อกันจำนวน 24 ครั้ง ก็ส่งผลให้เห็นภาพที่สมบูรณ์มากขึ้นได้ ในที่สุด

ทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งมีพื้นที่เป็นสองเท่าของภาคพื้นทวีปของสหรัฐฯ นั้นถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งอัดแน่นเป็นปริมาณมากเพียงพอที่จะหนุนระดับน้ำทะเลให้เพิ่มขึ้นได้ถึงเกือบ 60 เมตร (210 ฟุต)

กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของน้ำแข็งนั้นอยู่ด้านบนของแอนตาร์กติกาตะวันออก ซึ่งที่ผ่านมานั้นอยู่ในภาวะคงตัวเกือบตลอดเวลา แม้การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจะผลักดันให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 องศาเซลเซียสถ้วน (1.8 องศาฟาเรนไฮต์) ก็ตาม

การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

บางงานวิจัยได้ชี้แนะว่า มีการเพิ่มขึ้นของมวลรวมในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แอนตาร์กติกาฝั่งตะวันตกนั้น ถูกพบกว่ามีความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งได้มีชั้นน้ำแข็งกว่า 6,500 ตารางกิโลเมตร (2,500 ตารางไมล์) ที่แยกตัวออกลงไปในมหาสมุทรตั้งแต่ปี 1995

ชั้นน้ำแข็งที่แยกตัวออกและกำลังลอยตัวอยู่นั้น ไม่ได้ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น แต่มีกลุ่มธารน้ำแข็งขนาดมหึมาในแอนตาร์กติกาตะวันตกที่กำลังเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ สู่ทะเล และมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะหนุนระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึง 3.5 เมตร (11 ฟุต)

ธารน้ำแข็งสองแห่งจากข้างต้น ได้แก่ธารน้ำแข็งเกาะไพน์และธารน้ำแข็งธเวทส์  (Pine Island and Thwaites) ได้เร่งความเร็วขึ้นและทุกวันนี้ก็ถูกมองว่าไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งทั้งสองนั้นทำหน้าที่เหมือนจุกคอร์กที่คอยยับยั้งมวลน้ำแข็งบนพื้นทวีปมิให้ร่วงลงสู่มหาสมุทร

การสูญเสียน้ำแข็งเป็นจำนวน 2.7 ล้าน-ล้านตันตั้งแต่ปี 1992 ได้เพิ่มระดับน้ำทะเลขึ้นประมาณแปดมิลลิเมตร

“แม้จะยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่พอควรเกี่ยวกับสมดุลของมวลบริเวณแอนตาร์กติกาตะวันออก มันก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าการสูญเสียน้ำแข็งบริเวณแอนตาร์กติกาตะวันตกนั้นได้เร่งความเร็วขึ้น” คุณเคท เฮนดรี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ออกความเห็นเกี่ยวกับผลลัพธ์ต่างๆ ดังกล่าว

งานวิจัยยังพบว่า จากแนวโน้มในขณะนี้ ที่ทวีปแอนตาร์กติกาอาจกลายเป็นแหล่งขนาดใหญ่แหล่งหลักที่ส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้น  โดยแซงหน้าแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งบริเวณภูเขาของกรีนแลนด์ และ(แซงหน้า)การขยายตัวของน้ำในมหาสมุทรเองเมื่อมีอุณภูมิสูงขึ้น

มหาสมุทรต่างๆ นั้นกำลังเพิ่มระดับขึ้น 3.4 มิลลิเมตรต่อปี และตั้งแต่ปี 1993 ระดับน้ำของมหาสมุทรได้เพิ่มสูงขึ้น 84.8 มม.

ภายในสิ้นศตวรรษ ระดับน้ำทะเล เมื่อเปรียบเทียบกับการวัดก่อนยุคอุตสาหกรรม อาจเพิ่มสูงขึ้นหลายสิบเซนติเมตรถึงกว่าหนึ่งเมตร ทั้งนี้ในส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพยายามที่จะลดการปล่อยแก๊ซเรือนกระจก

เหล่านักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดก็ตาม มหาสมุทรต่างๆ ก็จะยังคงเพิ่มระดับสูงขึ้นต่อไปเป็นเวลาอีกหลายศตวรรษ

‘น่าวิตกอย่างยิ่ง’

ในเวลาสองทศวรรษก่อนปี 2012 ทวีปแอนตาร์กติกาได้สูญเสีย(น้ำแข็ง)เป็นปริมาณ 76 พันล้านตันต่อปี จากการค้นพบใหม่ดังกล่าว ซึ่งตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา ตัวเลขก็ได้ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 219 พันล้านตันโดยเฉลี่ย

ศาสตราจารย์แอนดรูว์ เชพเพิร์ด จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ผู้นำคนหนึ่งของการทดลองสมดุลมวลแผ่นน้ำแข็ง (Ice Sheet Mass Balance Exercise) กล่าวว่า “มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการสูญเสียน้ำแข็งจากแอนตารก์ติกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”

“ทวีปนี้กำลังส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากในปัจจุบัน โดยมากกว่าช่วงอื่นๆ ในระยะ 25 ปีที่ผ่านมา”

เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ต่างกล่าวชมเชยระเบียบวิธีของงานวิจัย

คุณทวิลา มูน นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติของสหรัฐฯ ในรัฐโคโลราโดชี้ว่า “อานุภาพของงานวิจัยนี้ก็คือการที่มันได้รวบรวมวิธีการต่างๆ ซึ่งเป็นอิสระต่อกัน และจากหลายๆ ทีมแตกต่างกันไปทั่วโลก เข้าไว้ด้วยกัน”

พวกเขายังกล่าวว่า รัฐบาลต่างๆ นั้นก็ควรเล็งเห็นในเรื่องนี้

ศาสตราจารย์มาร์ติน ซีเกิร์ต จากวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยดังกล่าวออกความเห็นว่า “ผลลัพธ์นี้เป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่ง”

“ดูเหมือนว่า เรากำลังดำเนินไปในหนทางที่จะมีการสูญเสียแผ่นน้ำแข็งเป็นอย่างมากในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า โดยจะมีผลที่ตามมาในระยะยาวจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว”

“หากเรายังไม่ตระหนักถึงภยันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ นี่ก็ควรจะเป็นการปลุกให้ตื่นที่มีขนาดมหึมา” เขากล่าวเสริม

Share
Published 14 June 2018 10:38am
By AFP-SBS Wires
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS News, AFP - SBS


Share this with family and friends