เหยื่อความรุนแรงถือวีซ่าชั่วคราวขอความช่วยเหลือยาก

NEWS: พบผู้หญิงเหยื่อความรุนแรงที่ถือวีซ่าชั่วคราวไม่กล้าขอความช่วยเหลือ กังวลอาจถูกส่งตัวกลับหากแจ้งเจ้าหน้าที่ นักวิชาการวอนภาครัฐเสริมมาตรการให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทุกกลุ่ม

lonely family

Source: AAP

มีการวิจัยล่าสุดที่พบว่า ผู้หญิงที่อพยพมายังออสเตรเลียได้ไม่นาน และตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุดในชุมชนออสเตรเลีย โดยพบในหลายกรณีที่บ่อยครั้งต้องพึ่งพาสถานะวีซ่าจากคู่ครองที่เป็นสปอนเซอร์ ซึ่งทั้งทำร้ายและข่มขู่

“ผู้หญิงกลุ่มนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุดในชุมชน เนื่องจากสถานะวีซ่าของพวกเธอ พวกเธออาจมาออสเตรเลียด้วยวีซ่านักเรียน และถ้าหากพวกเธอตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว มันไม่มีความช่วยเหลือที่เฉพาะสำหรับผู้ที่ถือวีซ่านี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์มารีย์ เซเกรฟ (Assoc. Prof. Marie Segrave) ผู้ร่วมจัดทำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) กล่าว

“สำหรับผู้ที่อยู่ด้วยวีซ่าคู่ครองนั้น มันมีความช่วยเหลือที่จำกัดในกรณีที่คุณต้องการจะออกจากวีซ่า และหาวีซ่าชนิดอื่นเพื่ออาศัยอยู่ในออสเตรเลียต่อไป ไม่มีความแน่นอนในเรื่องสิทธิ์การเลี้ยงดูบุตรว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แม้ว่าบุตรจะมีหรือไม่มีสัญชาติออสเตรเลียก็ตาม”

จากข้อมูลของผู้ช่วยศาสตราจารย์เซเกรฟ ระบุว่า สถานะวีซ่าของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเหล่านี้มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลงโทษและการข่มขู่

“แม้ในทางทฤษฎีจะมีระบบที่อนุญาตให้ผู้หญิงที่ความสัมพันธ์แตกร้าวจากความรุนแรงในครอบครัวสามารถขอรับความคุ้มครองชั่วคราว แต่สปอนเซอร์ของพวกเธอนั้นมักจะบอกว่า ‘จะทำเรื่องให้ถูกเนรเทศ’ พวกเธอจึงไม่มั่นใจในสถานการณ์อยู่อาศัยในออสเตรเลียของตัวเอง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์เซเกรฟกล่าว

“พวกเธอไม่แน่ใจว่าอะไรที่สามารถจะกระทำได้หรือไม่ได้ จนมีความกังวลมากพอว่าจะถูกเนรเทศหากหนีออกจากบ้าน หรือโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ”

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้มีการเผยแพร่ หลังรัฐบาลสหพันธรัฐประเทศแผนระดับชาติที่ 4 ในการลดความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยผู้จัดทำมีความกังวลว่า แผนของรัฐบาลสหพันธรัฐจะไม่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราว ซึ่งเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า ผู้หญิงในออสเตรเลียต้องพบกับความยากลำบาก ในการมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งรวมถึงบริการด้านกฎหมาย เงินสวัสดิการ และบริการด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะถูกยกเลิกหรือปฏิเสธที่จะอนุมัติวีซ่า หากพวกเธอแยกทางกับผู้ก่อความรุนแรง หรือโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ

นอกจากนี้ การมีบริการด้านการอพยพย้ายถิ่นทางออนไลน์ที่มากขึ้น ได้ถูกมองว่าเป็นกำแพงขวางกั้นการเข้าถึงความช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้คู่ครองที่ก่อความรุนแรงสามารถควบคุมขั้นตอนด้านวีซ่าของเหยื่อได้

รายงานการวิจัยดังกล่าวได้แนะนำว่า ควรมีการออกวีซ่าชั่วคราวชนิดใหม่สำหรับเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ เช่นเดียวกับมาตรการในการสร้างความแน่นอนในแง่ของสิทธิ์การเลี้ยงดูบุตร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เซเกรฟ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องของการทำให้บริการและความช่วยเหลือของรัฐสามารถเข้าถึงได้โดยทุก ๆ คน

“มันเป็นเรื่องสำคัญที่เรามีองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมอยู่ในระบบของรัฐ และกระบวนการด้านการเป็นสปอนเซอร์ มันสำคัญมากที่เราจะมองลงไปในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต่อขั้นตอนด้านการอพยพย้ายถิ่นที่เราเพิ่มเติมลงไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้านข้อกำหนดของการเป็นสปอนเซอร์”​ผู้ช่วยศาสตราจารย์เซเกรฟกล่าว

“ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อต่อผู้หญิงในหลายด้าน เรื่องเหล่านี้ไม่เป็นที่รับรู้ และเป็นผลที่ไม่ได้คาดคิดต่อหลายการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในระบบ”

รายงานดังกล่าวระบุว่า ออสเตรเลียควรให้การสนับสนุนเหยื่อความรุนแรงอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นสถานะวีซ่า หรือสถานภาพใดก็ตาม

Source: SBS News

You can check out the full version of this story in English on SBS News .

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่

Share
Published 16 October 2019 1:52pm
Updated 16 October 2019 5:27pm
By Gareth Boreham
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News


Share this with family and friends