การเดินทางโดยเครื่องบินปลอดภัยแค่ไหน

มีการประมาณว่า ผู้โดยสารบนเครื่องบิน 70% นั้นกลัวการเดินทางบนเครื่องบิน คุณคิดว่าสมเหตุสมผลหรือไม่

การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นปลอดภัยแค่ไหน

พนักงานบริการบนเครื่องบินกำลังทำการสาธิตขั้นตอนความปลอดภัย Source: LightRocket / Getty Images

มีรายงานอิสระจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเครื่องบินโดยสารสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH370 ที่มีการเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ไม่สามารถหาสาเหตุของการหายตัวไปได้ ผู้โดยสาร 239 ชีวิตถูกสรุปว่าเสียชีวิตทั้งหมด และยังคงเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญและสร้างปริศนามากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินสมัยใหม่ นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความปลอดภัยทางการบิน

การบินนั้นปลอดภัยแค่ไหน

พูดกันในแง่ของข้อมูลเชิงสถิตินั้น การเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารคือรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด โดยข้อมูลสถิติของสหรัฐระบุว่า อัตราการเสียชีวิตบนเครื่องบินนั้นอยู่ที่ 1 ใน 205,552 หากเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในแบบอื่น จะพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการขี่จักรยาน 1 ใน 4,050 การจมน้ำ 1 ใน 1,086 คน และอุบัติเหตุทางรถยนต์ 1 ใน 102 คน

นั้นเป็นเพราะว่า นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีการเดินทางโดยเครื่องบินในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ยังมีการออกกฏข้อบังคับการบินระหว่างประเทศอย่างระมัดระวังอีกด้วย
Plane on fire
Passengers evacuate from a plane on fire at Fort Lauderdale airport, Florida in 2015. Source: AFP
“ทั้งระบบนั้นถูกออกแบบมาให้คุณปลอดภัย” นางคริสติน เนโกรนี (Christine Negroni) นักเขียนและนักประพันธ์ทางการบินจากสหรัฐฯ กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“เรารู้ว่าใครอยู่ในเครื่องบินทุกลำรอบตัวคุณ ใครเป็นผู้ควบคุมจราจรทางอากาศบนน่านฟ้า เครื่องบินต่างๆ ได้รับการดูแลอย่างไร คุณจะไม่พบสิ่งเหล่านี้ในรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง หรือว่ารถไฟ” นางคริสตินกล่าวเสริม

อุบัติเหตุส่วนใหญ่ร้ายแรงหรือไม่

อุบัติเหตุทางเครื่องบินที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน เกิดขึ้นในปี 1977 เมื่อเครื่องบินสองลำชนกันบนรันเวย์ในเกาะเทเนริเฟ (Tenerife) ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะคานารี (Carnary Islands) ของสเปน มีผู้โดยสารเสียชีวิต 583 คน

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ซึ่งเป็นตัวแทนของ 290 สายการบินทั่วโลก (คิดเป็น 82% ของการจราจรทางอากาศทั่วโลก) ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของอุบัติเหตุทางการบินในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมาคือ 75 ครั้งต่อปี (เกือบ 11 ครั้งที่มีความสูญเสีย) ต่อการบินรายปี 37.3 ล้านเที่ยว ซึ่งประมาณได้ว่า ค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางอากาศ 315 คนในแต่ละปี แต่ในปี 2017 นั้น มีผู้เสียชีวิตเพียง 19 คน
IATA Accident Overview
Source: SBS News
นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า บางสิ่งที่นางคริสตินกล่าวมาในข้างต้นนั้ได้รับการเข้าใจเพียงน้อยนิด นั่นคือ แม้คุณจะโชคร้ายพอที่จะประสบอุบัติเหตุทางอากาศ คุณก็มีโอกาสที่จะรอดชีวิต

“คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุตัวเลขออกมาว่า 95% ของอุบัติเหตุทางอากาศนั้นมีผู้รอดชีวิต ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่หลายคนพูดกัน” นางคริสตินกล่าว

สายการบินไหนปลอดภัยที่สุด

นายเจฟฟรีย์ โทมัส (Geoffrey Thomas) นักข่าวด้านการบินจากรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้พัฒนาระบบจัดลำดับแบบเจ็ดดาว เพื่อให้คะแนนสายการบินที่ปลอดภัยที่สุดในโลกบนเว็บไซต์ AirlineRatings.com สำหรับนักเดินทางจากออสเตรเลียนั้น เมื่อได้เห็นลำดับสายการบินที่ปลอดภัยอันดับโลกแล้วน่าจะรู้สึกยินดี เพราะสายการบินควอนตัส (Qantas) และเวอร์จินออสเตรเลีย (Virgin Australia) คือสายการบินออสเตรเลียที่ติดอันดับ 1 ใน 20 ในปี 2018
SBS News
Source: SBS News
ระบบการให้คะแนนสายการบินของนายโทมัสนั้น มีพื้นฐานจากการตรวจสอบความปลอดภัยในการจัดการและควบคุมอากาศยานของสายการบินต่างๆ ของ IATA (IOSA) ที่จะมีขึ้นปีละ 2 ครั้ง สายการบินที่ผ่านการตรวจสอบดังกล่าวจะได้รับคะแนน 3 ดาวโดยอัตโนมัติ

“ความปลอดภัยในการบินนั้นได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมากเพราะระบบการตรวจสอบนี้” นายโทมัสกล่าว

“ในทุกปี มีผู้เดินทางโดยเครื่องบิน 4 พันล้านคน โดยตัวเลขความสูญเสียนั้นลดน้อยลงไปมาก ถ้าคุณเดินทางโดยเครื่องบินในประเทศอย่างสหรัฐฯ ทวีปยุโรป หรือในออสเตรเลีย โอกาสที่คุณจะประสบอุบัติเหตุบนเครื่องบินพาณิชย์นั้นแทบจะเป็นศูนย์” นายโทมัสกล่าวเสริม

นอกจากนี้ การจัดคะแนนบนเว็บไซต์ดังกล่าวยังได้นับรวมถึงเรื่องกฎหมายและข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยในแต่ละประเทศด้วย (เช่น ระบบนำร่อง และคุณภาพของกฎข้อบังคับต่างๆ) รวมถึงสายการบินที่ติดแบล็กลิสต์ของสหภาพยุโรป และอัตราการเกิดอุบัติเหตุของสายการบินต่างๆ (ซึ่งไม่รวมการก่อการร้ายและการฆ่าตัวตายหมู่)

“การบินถูกปกคลุมไปด้วยปริศนา ความมหัศจรรย์ในการบินกลับกลายเป็นความลึกลับ สายการบินลุฟท์ฮันซาได้ประมาณว่า 70% ของผู้ที่ขึ้นเครื่องบินมีความกลัวการบินอยู่ในระดับหนึ่ง ส่วนอีก 30% นั้นมีความกลัวในระดับรุนแรง และเหตุผลอันดับแรกของการจองตั๋วกับสายการบินนั้นคือเรื่องความปลอดภัย” นายโทมัสกล่าวเสริม
SBS News
Source: SBS News
ทั้งนี้ บางภูมิภาคของโลกก็มีความปลอดภัยทางการบินมากกว่าภูมิภาคอื่นเช่นกัน โดยสถิติของ IATA ได้แสดงให้เห็นว่า อุบัติเหตุทางอากาศที่มีความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นมากในทวีปแอฟริกา และในเครือรัฐเอกราช (หรือสหภาพโซเวียตในอดีต)

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก

ดร. รอน บาร์ช (Dr Ron Bartsch) ประธานบริหาร AV Law ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยทางการบินในนครซิดนีย์ระบุว่า 85-90% ของอุบัติเหตุทางการบินที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความผิดพลาดโดยมนุษย์ (human error)

“อุบัติเหตุโดยส่วนใหญ่มีปัจจัยที่มาจากมนุษย์” ดร.บาร์ช กล่าว

“การบินบนเครื่องบินในปัจจุบันมีความปลอดภัยมากถึง 680 เท่า หากเทียบกับเครื่องบินในบุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้อได้เปรียบเกือบทั้งหมดที่พัฒนามาจนถึงกลางช่วงปี 1990 นั้น คือการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ทั้งเครื่องยนต์เจ็ทมีความไว้ใจได้ การพัฒนาเรดาร์ ระบบต่อต้านการปะทะ (anti-collision) ระบบแจ้งเตือนเมื่อเครื่องบินอยู่ห่างจากพื้นในระยะอันตราย (ground proximity warning system) ระบบการจำลองการบินที่ทันสมัย ทั้งหมดนี้นำไปสู่การลดจำนวนอุบัติเหตุที่น่าเหลือเชื่อ ” ดร.บาร์ช กล่าวเสริม

ด้านนนางเนโกรนีระบุว่า ในความจริงแล้ว มันจะเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะหาปัจจัยร่วม มากกว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางอากาศ

“ไม่มีอุบัติเหตุใดเกิดขึ้นด้วยสาเหตุเดียว ในโลกของความปลอดภัยทางอากาศ เราจะพูดเสมอว่าอุบัติเหตุนั้นเป็นผลมาจากลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ขาดตอน ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งขาดไปอุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น” นางเนโกรนีระบุ

เหตุการณ์เที่ยวบิน MH370 จะซ้ำรอยอีกหรือไม่

เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ เที่ยวบินที่ MH370 ได้หายไปในเดือนมีนาคม 2014 ขณะกำลังมุ่งหน้าจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียไปยังปลายทางในกรุงปักกิ่งของประเทศจีน

ลูกเรือบนเครื่องบินลำดังกล่าวได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเป็นครั้งสุดท้าย  40 นาทีหลังจากที่เครื่องบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า จากนั้นก็ถูกติดตามโดยเรดาร์ของทหารเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมง ก่อนที่เครื่องบินจะเบนออกนอกเส้นทางไปทางทิศตะวันตก และหายไปจากจอเรดาร์ ผู้โดยสารบนเครื่องทั้งหมด 239 ชีวิตถูกสรุปว่าเสียชีวิตทั้งหมด ใช้งบประมาณในภารกิจค้นหาและกู้ซากที่ไม่สำเร็จนับ $10 ล้านดอลลาร์

รายงานอิสระจากมาเลเซียถึงเหตุการณ์ดังกล่าวระบุว่า “ไม่สามารถหาเหตุผลของการหายตัวไปได้” แต่ นายก๊ก ซู ชอน หัวหน้าการสืบสวนระบุว่า “เราไม่มีความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวดำเนินการโดยตัวนักบินเอง” แต่ในขณะที่หลายบทวิเคราะห์ รวมถึงความเห็นของนายโทมัสเชื่อว่า มีความเป็นไปได้มากว่าเป็นการฆ่าตัวตายของกัปตัน

“(ในกรณีเที่ยวบิน MH370) เราสงสัยอย่างมากว่าจะเป็นการฆ่าตัวตายของกัปตัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มันน่าสลดยิ่ง จากตัวเลขของเที่ยวบินทั้งหมดทั่วโลก พบว่ามีประมาณ 13 ครั้งในรอบ 50 ปี มันเป็นเรื่องที่เกือบจะบันทึกไว้ไม่ได้เลย” นายโทมัสกล่าว

“แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าจริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น” นายโทมัสกล่าวเสริม

ด้านนางเนโกรนีระบุว่า มันยังมีคำอธิบายอื่นๆ ซึ่งเธอเขียนรายละเอียดไว้ในหนังสือ Crash Detective เมื่อปี 2016 โดยเรื่องที่น่าสงสัยนั้น มีการพูดถึงการที่เครื่องบินอาจเผชิญกับสภาวะสูญเสียแรงดันอากาศ ทำให้กัปตันอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน (hypoxia) ซึ่งทำให้ทักษะและการตัดสินใจในการควบคุมเครื่องบินลดลง โดยเธอแย้งว่าการตัดสินใจเลี้ยวออกนอกเส้นทางเป็นการกระทำแบบไม่มีตรรกะ

ที่น่ากลัวไปกว่านั้น จากการศึกษาโดยคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งของออสเตรเลีย ได้มีการบันทึกอุบัติเหตุทางอากาศที่มีการสูญเสียแรงดันอากาศไว้ถึง 500 เหตุการณ์บนเครื่องบินพาณิชย์ในรอบ 30 ปี

นอกจากนี้ นางเนโกรนียังระบุว่า ตำแหน่งของห้องครัวบนเครื่องบินที่อยู่เหนือแหล่งควบคุมระบบไฟฟ้า ซึ่งในเครื่องบินลำอื่นเคยเกิดเหตุการณ์ของเหลวรั่วไหลลงไปในห้องควบคุมระบบไฟฟ้าที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้เช่นกัน อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับสายการบินควอนตัสเมื่อปี 2008 ในเที่ยวบินลอนดอน-กรุงเทพฯ ซึ่งกัปตันสามารถนำเครื่องลงจอดอย่างปลอดภัยโดยไม่มีระบบไฟฟ้า

สายการบินได้รับการกำชับว่า ต้องติดตามเครื่องบินของตนเองอย่างใกล้ชิดเมื่อทำการบิน แต่นางเนโกรนีระบุว่า พนักงานดูแลความปลอดภัยของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ได้เตือนไปยังฝ่ายบริหารของสายการบิน 7 เดือนก่อนที่เที่ยวบิน MH370 จะหายไปว่า ระบบของพวกเขาสามารถติดตามเครื่องบินที่กำลังทำการบินได้ทุกๆ 30 นาทีเท่านั้น โดยนางเนโกรนีเสริมว่า การทำให้มั่นใจว่าระบบติดตามการบินของสายการบินเป็นไปตามข้อบังคับ  ป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้แน่ใจว่าเรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก

ส่วนนายโทมัสระบุว่า การเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้มีการติดตามเที่ยวบินให้บ่อยครั้งขึ้นได้มีการประกาศใช้ไปทั่วโลก


Share
Published 1 August 2018 3:25pm
Updated 1 August 2018 3:35pm
By Kelsey Munro
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS World News


Share this with family and friends