วีซ่าออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากงบประมาณฯ ปี 2019

NEWS: ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานในออสเตรเลียจะได้ประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ที่ประกาศเมื่อวันอังคาร แต่ผู้ยื่นขอวีซ่าใหม่จะเผชิญค่าธรรมเนียมซึ่งสูงขึ้น

Composite image of an Australian visa label and budget 2019-20 documents

Source: AAP

You can read the full version of this story in English on SBS News .

มีชุมชนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจำนวนมากที่ดูแล้วน่าจะได้รับผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินรอบก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันอังคาร (2 เม.ย.)

รัฐบาลได้กันเงินเป็นจำนวน $64.2 ล้านดอลลาร์สำหรับมาตรการด้าน “ความเป็นปึกแผ่นทางสังคม” ที่จะช่วยให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน “ได้ตั้งตัวและกลมกลืนไปกับชุมชนต่างๆ ของพวกเขา”

เอกสารงบประมาณแผ่นดินระบุว่า “งบประมาณแผ่นดินครั้งนี้ จะให้เงินสนับสนุนต่อกีฬาในระดับท้องถิ่น ต่อชุมชนภาษาต่างๆ ต่อแหล่งรวมชุมชนระดับชาติ และมีเงินให้เปล่าเพื่อสนับสนุนความเข้าใจซึ่งกันและกันและเฉลิมฉลองความหลากหลาย”

เงินจำนวนกว่า $12 ล้านดอลลาร์สำหรับระยะเวลาสามปี จะถูกใช้จ่ายในโครงการให้เปล่าด้านภาษาและพหุวัฒนธรรม ซี่งจะ “สนับสนุนเหล่าโรงเรียนสอนภาษาระดับชุมชน และเชื่อมโยงเยาวชนชาวออสเตรเลียเข้ากับภาษาและมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนของพวกเขา”

เงินอีกจำนวน $22.6 ล้านดอลลาร์สำหรับระยะเวลาสี่ปี จะถูกใช้จ่ายเพื่อขยายโครงการแหล่งรวมชุมชน (community hubs program) และก่อตั้งโครงการแหล่งรวมเยาวชนแห่งชาติ (national youth hubs program) ขึ้น

และเงินอีกจำนวน $7.3 ล้านดอลลาร์สำหรับระยะเวลาสามปี ได้ถูกกันไว้สานต่อเงินให้เปล่าเพื่อสนับสนุนการรวมตัวกันทางสังคม โดยมีไว้ให้องค์กรต่างๆ ในชุมชนที่ช่วยเหลือให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานที่เพิ่งเดินทางมาถึงใหม่หลอมรวมตัวเข้ากับสังคมของชาวออสเตรเลีย

ในงบประมาณแผ่นดินยังมีข่าวดีสำหรับชุมชนชาวกรีกในนครเมลเบิร์น โดยมีกองทุนจำนวน $5 ล้านดอลลาร์ให้สำหรับแหล่งศูนย์รวมชาวกรีก (Greek Centre Hub) ในนครดังกล่าว และให้กับแหน่งประธานชาวเฮลเลนิก (ชาวกรีก) ของแหล่งชุมชนนอกประเทศทั่วโลก (Hellenic Chair in Global Diasporas) ณ คณะวัฒนธรรมและนิเทศศาสตร์ (School of Culture and Communications) ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น

โดยเงินส่วนที่เหลือจำนวน $64.2 ล้านดอลลาร์ก็จะกระจายไปยังโครงการอื่นๆ

ความเปลี่ยนแปลงต่อการอพยพย้ายถิ่นฐาน

งบประมาณแผ่นดินยังแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของรัฐบาลต่อการอพยพย้ายถิ่นฐาน

ก่อนหน้านี้ พรรคร่วมได้ประกาศว่าจะลดจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานที่รับเข้าประเทศลงจาก 190,000 รายให้เหลือ 160,000 รายเป็นระยะเวลาสี่ปี ตั้งแต่ปี(งบประมาณ) 2019-20 เป็นต้นไป

จากการวิเคราะห์แจกแจงงบประมาณฯ จะมีที่สำหรับรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานด้วยช่องทางทักษะ (skilled stream) จำนวน 108,682 ราย และช่องทางด้านครอบครัว (family stream) จำนวน 47,732 ราย ซึ่งรวมถึง 3,586 รายสำหรับช่องทางของเด็กและผู้มีสิทธิได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษอยู่ในนั้นแล้ว

โดยเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเพื่อสนับสนุนให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานอยู่อาศัยและทำงานนอกเมืองใหญ่ให้มากขึ้น เงินจำนวน $50 ล้านดอลลาร์สำหรับระยะเวลาห้าปี จะถูกใช้จ่ายสำหรับวีซ่าชนิดใหม่ๆ ที่จะ “สนับสนุนต่อความต้องการด้านต่างของพื้นที่ส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียให้ดียิ่งขึ้น”

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 2019 เป็นต้นไป จะมีการนำวีซ่าทักษะใหม่สองประเภทมาใช้ โดยจะบังคับให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานอยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียเป็นระยะเวลาห้าปี หลังจากนั้นผู้ที่เลือกใช้วีซ่าดังกล่าวก็จะมีสิทธิที่จะเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้านวีซ่า

รัฐบาลจะเดินหน้าขึ้นเงินค่าธรรมเนียมยื่นสมัครวีซ่า สำหรับทุกๆ ซับคลาส (subclasses) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน $275 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลาสี่ปี

การทดสอบแต้มคะแนนสำหรับการย้ายถิ่นฐานด้วยทักษะจะได้รับการปรับเปลี่ยน เพื่อเพิ่มแต้มคะแนนให้รายบุคคลและคู่ครองซึ่งมีทักษะภาษาอังกฤษ

จะมีค่าใช้จ่ายจำนวน $1.3 ล้านดอลลาร์ จากการที่รัฐบาลยกเว้นค่ายื่นขอวีซ่าสำหรับผู้เข้าแข่งขันและเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนร่วมกับการแข่งขันคริกเก็ต International Cricket Council T20 World Cup ที่ประเทศออสเตรเลียในปี 2020

ชาวอินโดนีเซียยังเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยไม่คาดฝันจากงบประมาณแผ่นดินปีนี้ โดยจะมีจำนวนวีซ่าเวิร์กแอนด์ฮอลิเดย์ (work and holiday visas) ให้กับผู้ถือสัญชาติอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 2,500 รายเป็น 5,000 รายตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มรายได้(ของรัฐบาล)ขึ้นเป็นจำนวน $40.4 ล้านดอลลาร์
ตามไปกดเครื่องคำนวณว่าท่านได้รับผลกระทบจากงบประมาณปีนี้เป็นเงินเท่าไร:

งบประมาณแผ่นดิน 2019: ใครได้ใครเสีย?

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 3 April 2019 12:08pm
Updated 3 April 2019 7:37pm
By Nick Baker
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS News


Share this with family and friends