หวั่นผลเลือกตั้งไทยอาจทำประเทศดิ่งลงเหวการเซ็นเซอร์

NEWS: ประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2014 และก็มีความเป็นไปได้ที่ทหารอาจยังรักษาอำนาจเอาไว้ จึงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็ดน หลังเกิดการปราบปรามอย่างมากมายในระหว่างการปกครองโดยทหาร

You can read the full version of this article in English on SBS News .

คุณแอบบี โอไบรอัน รายงานจากกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

“แม้ว่าผมจะทรมาน ทุกๆ วัน ผมก็ไม่หวาดกลัว แม้ว่าขาทั้งสองข้างของผมจะถูกตีตรวน ดวงตามทั้งสองของผมก็ยังมองขึ้นสู่ท้องฟ้า”

สมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่โด่งดังที่สุดของประเทศไทย เขียนข้อความดังกล่าวจากในห้องขัง

ชายวัย 55 ปีคนดังกล่าวใช้เวลาในเรือนจำแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาเจ็ดปี เนื่องมาจากการเผยแพร่บทความจำนวนสองบทความซึ่งถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า
Somyot Prueksakasemsuk, one of Thailand’s most prominent les majeste prisoners.
Somyot Prueksakasemsuk, one of Thailand’s most prominent les majeste prisoners. Source: Abbie O'Brien
เขาเล่าว่า เขาถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2018 แต่กลับออกไปสู่บรรยากาศของการเซ็นเซอร์ที่หนักหน่วงกว่าเมื่อเขาถูกจับเสียอีก

“แย่กว่า แย่กว่าในแง่ของบรรยากาศการเมืองไทย” เขากล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“โดยรวมๆ คุณสามารถเห็นได้ว่า ประชาชนนั้นหวาดกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น”

เขากล่าวว่าเป็นเช่นนี้ตั้งแต่เมื่อทหารยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารในปี ค.ศ. 2014

“ในช่วงห้าปี ยังมีกฎหมายที่แย่ๆ มากมาย กฎหมายที่เป็นเผด็จการ ถึงแม้เราจะมีการเลือกตั้ง สิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นก็ยังถูกจำกัด” เขากล่าว

สองวันหลังจาก ไทยก็ได้ถลำลงสู่ห้วงเหวของความไม่แน่นอนที่ยิ่งลึกลงกว่าเดิม
Thais go to the polls after five years of military rule.
Thais go to the polls after five years of military rule. Source: Abbie O'Brien
ดร. เกร็ก เรย์มอนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของประเทศไทยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ได้ไปที่กรุงเทพฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของเขา

“รัฐธรรมนูญนั้นไม่ยุติธรรม ในแง่ที่ว่าพรรคซึ่งได้เก้าอี้ สส. จำนวนมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ก็อาจไม่จำเป็นว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาล” เขากล่าว

พรรคซึ่งฝักใฝ่ทหาร นำโดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ จันทร์โอชา นั้นไม่มีเก้าอี้เพียงพอที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก

ฝ่ายตรงข้ามพรรคหลักได้แก่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝั่งของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้รับจำนวน สส. มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร

ทว่าเมื่อเก้าอี้สมาชิกวุฒิสภา นั้นถูกวางเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นของทางทหาร ก็อาจเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะยังคงเป็นผู้นำต่อไป ถ้าหากว่าเขาสามารถตั้งรัฐบาลผสมได้

“นี่ก็เป็นเพราะว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล คะแนนเสียงของวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คนซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็จะถูกนับรวมด้วยในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี” ดร. เรย์มอนด์ กล่าว

หลังจากที่ปกครองโดยทหารมาเป็นเวลาห้าปี ก็มีความคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นการหวนคืนสู่ประชาธิปไตยและเสถียรภาพ

แต่บางคนก็หวาดกลัวว่า เมื่อดูแล้วทหารก็อาจยังอยู่ในอำนาจต่อไป ก็จะไม่มีการลดหล่อนใดๆ ให้กับผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมือง โดยมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า คสช. เพิ่มความกวดขันมากขึ้นด้วยซ้ำในระหว่างที่ปกครองประเทศ

บุศรินทร์ แปแนะ มาจากองค์กรไอลอว์ (iLaw) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนที่เฝ้าระวังการปฏิบัติต่อพลเมืองโดยรัฐบาล

เธอกล่าวกับเอสบีเอสนิวส์ว่า ทหารได้ใช้อำนาจบริหารเพื่อยับยั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

“ได้มีการใช้มาตรา 44 เพื่อออกคำสั่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อเสรีภาพของประชาชน เช่นการสั่งห้ามรวมตัวกันเกินห้าคน และการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นและจับกุมประชาชนได้ เพื่อนำไปปรับทัศนคติเป็นจำนวนเจ็ดวัน” เธอกล่าว

สื่อมวลชนต่างๆ ก็ตกเป็นเป้าเช่นเดียวกัน

ในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง สำนักข่าววอยซ์ทีวี ถูกสั่งระงับใบอนุญาตเป็นเวลา 15 วัน หลังจากที่มีรายการสองรายการถูกพบว่าก่อให้เกิดความแตกแยก

“เพราะฉะนั้นหน้าจอของเราก็ดับเลยจริงๆ เป็นเวลาหนึ่งวัน เรานำเรื่องดังกล่าวไปขึ้นศาล ซึ่งเราก็ได้รับชัยชนะที่ศาลปกครอง ตอนนี้พวกเขาก็ยื่นขออุทธรณ์” มล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หนึ่งในผู้ออกความคิดเห็นด้านการเมืองของสถานีกล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

ตัวของ มล. ณัฏฐกรณ์ เองนั้นก็ถูกสั่งระงับมิให้ออกอากาศเป็นจำนวนหลายครั้ง
เขากล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหาร และก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม

“กสทช. นั้น เป็นกลุ่มของผู้ถูกทหารแต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งของ คสช. ที่มีวาระยืดออกไปอย่างไม่มีกำหนด” มล. ณัฏฐกรณ์ กล่าว
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 28 March 2019 5:19pm
Updated 28 March 2019 5:25pm
By Abbie O'Brien
Presented by SBS Thai
Source: SBS News


Share this with family and friends