5 วิธีบริหารการเงินของคุณให้ดียิ่งขึ้น

เนื่องในโอกาสสัปดาห์ด้านการเงินของโลก เอสบีเอส นิวส์ เสนอวิธีที่ชาวออสเตรเลียจะบริหารจัดการด้านการเงินของตนให้ดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอธิบายหลักการสำคัญของวิธีการเหล่านี้

You can read the full article in English

การค้นพบของคณะกรรมาธิการไต่สวนหาความจริงสาธารณะด้านการธนาคารในออสเตรเลียชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ผู้บริโภคจะต้องเข้าไปบริหารจัดการด้านการเงินของตนเองมากขึ้น

“มันค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าเราเคยไว้วางใจธนาคาร และบุคคลทั่วไปเคยมอบหมายเรื่องการเงินให้สถาบันที่ไว้ใจดูแลแทนได้ แต่ (ตอนนี้) ผู้คนทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว” คุณมาร์คัส แพดเลย์ นักวิเคราะห์ด้านการเงินบอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“พวกเขาไว้ใจสถาบันที่มุ่งหวังผลกำไร และเพื่อจะปกป้องตนเอง พวกเขามีทางเลือกสองทางคือ กระตือรือร้นในเรื่องการเงินของตนเอง หรือหาคนที่พวกเขาไว้ใจได้มาทำแทนให้”

สัปดาห์แห่งการเงินโลก (Global Money Week 25-31 มีนาคม) เป็นการรณรงค์ประจำปีให้ประชาชนตระหนักเรื่องการเงินของตน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ และคนอายุน้อยได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการเงิน การดำรงชีพ และแนวคิดผู้ประกอบการ โดยร่วมรณรงค์กับองค์กรโออีซีดี หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เพียงแค่คนอายุน้อยเท่านั้น แต่คนอื่นๆ ทั่วไปยังควรมีความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเงินและการสร้างความมั่งคั่งของตนเอง

คุณแพดเลย์ กล่าวว่า การกระตือรือร้น หมายถึงการแสวงหาข้อมูลที่ควรรู้ให้แก่ตนเอง ไม่ว่าเราจะมีอายุเท่าใด ต่อไปนี้คือ 5 วิธีที่จะช่วยคุณเริ่มต้น

1. เก็บออมเงินและจ่ายหนี้ให้หมด

“จ่ายให้ตัวเองก่อน วันที่เงินเดือนของคุณออก ไม่ว่าจะโอนเงินโดยอัตโนมัติหรือต้องโอนเงินเอง ให้คุณโอนเงินจำนวนที่จะคุณจะไม่พลาดออกไปออมไว้ และนั่นจะทำให้คุณเข้าสู่แผนการออมเงินประจำอย่างมีวินัย” คุณมาร์ก ไบน์แฮม ที่ปรึกษาด้านการเงินและซีอีโอของสมาคมที่ปรึกษาด้านการเงิน กล่าว

เขากล่าวว่า เราควรชำระหนี้ที่จัดว่าเป็นหนี้ที่ไม่ดี (bad debt) ให้หมดก่อน เช่นหนี้บัตรเครดิต และชำระในจำนวนที่มากกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชำระ

“จำนวนเงินที่ต้องชำระขั้นต่ำมักอยู่ที่เพียงแค่ร้อยละ 2 คุณจึงจ่ายครอบคลุมแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น และดังนั้น สำหรับคนทั่วไป จะต้องใช้เวลา 15 ถึง 20 ปีกว่าที่คุณจะชำระหนี้บัตรเครดิตได้หมด”

2. เข้าใจดอกเบี้ยทบต้น

คุณแพดเลย์ กล่าวว่า สำคัญที่เราจะต้อง “เคารพเงินจำนวนน้อยๆ เพราะในระยะยาวแล้ว เงินเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นเงินจำนวนมากได้ เช่น เงิน 1,000 ดอลลาร์ที่ลงทุนในอัตราร้อยละ 10 ในระยะเวลา 50 ปี จะกลายเป็นเงินจำนวน 117,000 ดอลลาร์ได้”

คุณไบน์แฮม เรียกมันว่า “การร่ำรวยอย่างช้าๆ” เพราะไม่ว่าอะไรที่ทำในระยะเวลาสั้นๆ มักมีความเสี่ยงสูงและโดยมากมักไม่ประสบความสำเร็จ

แต่ในสภาพแวดล้อมของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนั้น เขากล่าวว่า ความเข้าใจการลงทุนรูปแบบต่างๆ และการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ

“อย่างหุ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของบริษัทนานาชาติ หรือออสเตรเลีย หรือพันธบัตร ดอกเบี้ยอัตราคงตัว หรืออสังหาริมทรัพย์ คุณควรมีความเข้าใจเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องไปลงคอร์สเรียน แต่การมีความรู้ความเข้าใจนิดหน่อยจะช่วยได้มากทีเดียว”

3. จัดการเงินซูเปอร์ของคุณให้เรียบร้อย

กรมสรรพากรของออสเตรเลีย หรือเอทีโอ เผยว่ามีเงินซูเปอร์แอนนูเอชัน หรือเงินเกษียณรวมกันจำนวนกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์ ที่หาเจ้าของไม่พบ โดยเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินซูเปอร์ที่เจ้าของไม่รู้ว่ามีบัญชีอยู่ถึง 3.4 ล้านบัญชี และบัญชีเหล่านั้นถูกเรียกเป็นค่าบริหารจัดการบัญชีด้วย

“คนจำนวนมากไม่รู้ว่าเงินซูเปอร์ของพวกเขาอยู่ที่ใด นั่นเป็นสิ่งที่ตามหาได้ง่ายมาก และให้นำบัญชีเงินซูเปอร์ทั้งหมดของคุณมารวมกันไว้” คุณไบน์แฮม แนะนำ

“คุณสามารถค้นหาได้ผ่านเว็บไซต์ของเอทีโอ คุณสามารถค้นหาบัญชี (เงินซูเปอร์) ทั้งหมดของคุณได้ โดยใช้หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณ”

เว็บไซต์ มีรายละเอียดว่าคุณจะค้นหาบัญชีซูเปอร์ที่สูญหายของคุณได้อย่างไร แต่คุณจำเป็นต้องลงทะเบียนและสร้างบัญชีที่เว็บไซต์เสียก่อน

คุณแพดเลย์ เสริมว่า สำคัญที่จะต้องเรียนรู้ว่าจะติดตามดูเงิน บริหารจัดการเงินเกษียณของคุณทางออนไลน์ และนำเงินเข้าสมทบในบัญชีเงินซูเปอร์ของคุณได้อย่างไร

“รัฐบาลแนะนำให้เราเก็บสะสมเงินร้อยละ 9.5 นั่นคงดีหากเราสามารถเก็บออกได้ร้อยละ 15 นั่นจะสร้างความแตกต่างได้มากทีเดียว ที่คุณจะสามารถทำในสิ่งที่คุณต้องการได้เร็วขึ้น แทนที่จะยังคงต้องทำงานต่อไป”

4. หลีกเลี่ยงการใช้เงินไปเพื่อความสวยหรูแต่เปล่าประโยชน์

“จำนวนเงินที่ใช้ไปอย่างเปล่าประโยชน์เพียงเพื่อจะได้ดูว่าประสบความสำเร็จ อย่างมีบ้านใหญ่โต มีรถคันใหญ่ หรืออะไรก็ตามที่ก่อหนี้ เป็นผลเสียอย่างร้ายกาจในระยะยาว” คุณแพดเลย์ กล่าว

5. เรียนรู้ที่จะต่อรอง

ให้พูดคุยกับผู้ที่ดูแลด้านการเงินของคุณ คุณแพดเลย์ แนะ

“เจรจาต่อรองให้ดีขึ้น กับธนาคาร บริษัทให้บริการน้ำไฟหรือโทรศัพท์ กดดันนายจ้างให้ขึ้นเงินเดือนให้คุณ และนำเงินเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อคุณในระยะยาว ดีกว่าที่จะใช้จ่ายในระยะสั้น”

การได้รับคำแนะนำที่ดีก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

เว็บไซต์ ของเอสิก (ASIC) มีรายละเอียดว่าคุณจะหาที่ปรึกษาทางการเงินหรือนักวางแผนทางการเงินได้อย่างไร

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 25 March 2019 3:15pm
Updated 29 March 2019 5:43pm
By Ricardo Goncalves
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends