ดาราเรียลลิตีทีวีเผยชีวิตจากรุ่งเป็นร่วง

NEWS: อดีตดาราเรียลลิตีทีวีเผยชีวิตที่พลิกผัน และเรียกร้องให้มีบริการช่วยเหลือและสนับสนุนที่ดีกว่านี้สำหรับผู้เข้าร่วมแข่งขันในรายการโทรทัศน์ของออสเตรเลีย หลังจากรัฐสภาอังกฤษไต่สวนหาความจริงกรณีการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวเนื่องกับรายการโทรทัศน์แนวนี้

เดวิด วิตโค วัย 31 ปีเป็นนายแบบชายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของออสเตรเลีย

คุณลิลี เอสตาโลต เอเจนต์ของเขาจากบริษัทแชดวิกค์ โมเดลส์ กล่าวว่า เขาเคยเป็นนายแบบในสังกัดของบริษัทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่ง

“เขาเป็นคนที่นิสัยน่ารักมากๆ ตลก แล้วมีมุกขำๆ เยอะ เดวิดเคยเป็นนายแบบที่ประสบความสำเร็จมาก หนึ่งในนายแบบชายชั้นนำของบริษัทเราที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมา 10 ปี เขาได้ไปถ่ายแบบและเดินแบบในนิวยอร์ก มิลาน ในเอเชีย เกาหลี ญี่ปุ่น และในฐานะเอเจนต์ เรารักเขามากเลย” คุณเอสตาโลต กล่าว

ขณะที่การงานของเขากำลังรุ่งเรือง เดวิดได้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันหาคู่รายการ เดอะ แบเชอลอเรตต์ (The Bachelorette) เป็นซีซัน (season) แรกของออสเตรเลีย

“ทางรายการได้ส่งอีเมลถึงผมและบอกว่า ‘คุณสามารถสมัครได้’ ผมกำลังอยู่ที่ลอสแอนเจลิส กับเพื่อนๆ พวกเขาก็บอกว่า ‘สมัครสิ ทำไปขำๆ’ ผมคิดว่า นี่เป็นโอกาสที่จะได้ลองอะไรที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เป็นรายการทีวี บางทีอาจเปิดสู่สิ่งใหม่ๆ ให้ผมได้ก้าวเข้าไปในอนาคต” เดวิด เล่า

แต่เขาบอกว่า บทบาทของเขาในรายการเรียลลิตีโชว์ดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง

ในทุกรายการเรียลลิตีทีวีต้องมีตัวร้าย และในรายการซีซันนั้น ตัวร้ายก็คือเดวิด

เขากล่าวว่า การตัดต่อโดยเลือกเฟ้น และสภาพแวดล้อมที่บงการโดยโปรดิวเซอร์ของรายการ เป็นต้นเหตุที่มีทำเขาถูกผู้ชมมองว่าเป็นผู้ร้ายของเรื่อง

ผลเลวร้ายที่ตามมาคือ ปฏิกิริยาที่รุนแรงและทันทีทันใดจากผู้ชม

“เมื่อคุณเดินไปตามถนน คุณได้ยินผู้คนกระซิบกระซาบกันเลย มันเกิดขึ้นฉับพลัน ในโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย ตามมุกขำขันที่แพร่กระจายทางโซเชียลมีเดีย ผู้คนพากันเปรียบเทียบผมเป็นสิ่งที่เลวร้าย เหมือนกันผู้คนทั้งเมืองมองผมเป็น ‘ตัวเห..’ หรือ’ ‘ไปตายซะ’ มันเป็นปฏิกิริยาที่สะสมจากเล็กๆ น้อยๆ จนพอกพูนใหญ่ขึ้น จนทำให้ผมเกิดภาวะสติแตก” เดวิด เล่า
Reality tv
David Witko was a contestant on the first season of Australian Bachelorette.
คุณเอสตาโลต กล่าวว่า อาชีพนายแบบดาวรุ่งของเดวิด ก็จบสิ้นลงด้วย ทันทีที่รายการออกอากาศ

“งานต่างๆ หยุดลงทันที ทันทีเลย คำตอบที่เราได้รับจากลูกค้าคือ ‘ไม่เอาคนนี้’  ‘ผู้ชายจากแบเชอลอเรตต์ใช่ไหม ไม่เอา’ ..มันค่อนข้างรุนแรง มันจบสิ้นลงทีเดียว”

นอกเหนือจากผลกระทบต่ออาชีพของเขาแล้ว สุขภาพจิตของเดวิดก็ย่ำแย่ลงอย่างมาก หลังจากที่เขาเข้าร่วมรายการโทรทัศน์เรียลลิตีดังกล่าว

“มันทำให้ผมพูดไม่ออกจริงๆ เลย ไม่ใช่แค่สำนวน  มันพยายามตอบคำถามต่างๆ แต่ไม่มีคำพูดใดพูดออกมาได้ เพราะความบอบช้ำในใจ ผมคิดว่ามันเป็นภาวะความเครียดทางจิต” เดวิด เล่า

คุณวินนี ซาลามอน นักวิชาการที่ทำการวิจัยในการศึกษาปริญญาเอกของเธอเรื่องการเข้าร่วมรายการโทรทัศน์แนวเรียลลิตีโชว์ เธอกล่าวว่า

“คนจำนวนมากบอกว่า ‘ฉันไม่ต้องการออกจากบ้านไปไหนเลยเป็นเวลา 2 ปี’ คนจำนวนมากประสบภาวะซึมเศร้าหลังจากรายการเรียลลีตีทีวีจากหลายสาเหตุด้วยกัน ภาวะซึมเศร้าเป็นผลกระทบจากประสบการณ์นั้น และมันอาจเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปีทีเดียวสำหรับผู้เข้าร่วมรายการจำนวนมาก”

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐสภาอังกฤษได้มีริเริ่มการไต่สวนหาความจริงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตรายการโทรทัศน์เรียลลิตีโชว์ หลังมีกรณีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งเชื่อมโยงการรายการเรียลลิตีโชว์ที่โด่งดังที่นั่น

บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่ผลิตรายการเรียลลิตีโชว์ที่ได้รับความนิยมของออสเตรเลีย กล่าวว่า บริษัทคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมรายการเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก และพวกเขาได้จัดบริการสนับสนุนทางจิตวิทยาให้แก่ผู้ร่วมรายการ ตลอดช่วงเวลาของการถ่ายทำและขณะที่รายการออกอากาศด้วย

แต่คุณวินนี ซาลามอน กล่าวว่า ผู้ร่วมรายการที่เธอได้สัมภาษณ์สำหรับการวิจัยของเธอให้ข้อมูลที่ต่างออกไป

“ฉันสามารถพูดได้เฉพาะสิ่งที่ผู้ร่วมรายการเรียลลิตีโชว์บอกกับฉัน และพวกเขาทุกคนบอกว่าพวกเขาไม่รู้สึกว่าสามารถเข้าถึงนักจิตวิทยาได้มากเท่าที่ต้องการเลย หรือนักจิตวิทยาเหล่านั้นทำงานในฐานะตัวแทนของรายการ และทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของรายการ แทนที่จะทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร่วมรายการ” คุณซาลามอน เผย

สำหรับเดวิด วิตโค เขากล่าวว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเรียลลิตีทีวี เพื่อพยายามทำให้แน่ใจได้ว่าผู้ร่วมรายการจะได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งในช่วงถ่ายทำรายการและหลังการถ่ายทำ

“เรียลลิตีโชว์นั้น แม้ว่ามันจะดูหรูหราเพียงใดสำหรับผู้ชม ผู้ชมไม่ได้ตระหนักว่ามันมีการขู่เอาชีวิต ผู้เข้าร่วมรายการหลังถ่ายทำเสร็จแล้วตกอยู่ในความรู้สึกอยากจบชีวิตตนเอง และผมคิดว่าเราจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าควรมีการให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือที่เหมาะสมหลังถ่ายทำรายการเสร็จแล้วด้วย และอย่างน้อยรายการเองจำเป็นต้องมีความโปร่งใสกว่านี้เยอะ” เดวิด กล่าว

หากคุณต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับสุขภาพจิต สามารถโทรศัพท์ติดต่อ Lifeline ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่หมายเลข 13 11 14 หรือ Beyond Blue ที่หมายเลข 1300 224 636

You can read the full article in English on SBS's The Feed page

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 14 October 2019 2:56pm
Updated 14 October 2019 3:05pm
Presented by Parisuth Sodsai
Source: The Feed


Share this with family and friends