หากเกิดวิกฤตในฤดูร้อน การแจ้งเตือนเหล่านี้จะช่วยให้คุณปลอดภัย

ผู้คนในออสเตรเลียจะพักผ่อนหย่อนใจในฤดูร้อน แต่สำคัญยิ่งที่จะต้องทำตนให้ปลอดภัย ระบบเตือนภัยฉุกเฉินและการแจ้งเตือนภัยต่อไปนี้จะช่วยให้คุณปลอดภัยและมีข้อมูลพร้อมรับสถานการณ์

NSW Rural Fire Service crews protect properties on Waratah Road and Kelyknack Road as the Wrights Creek fire approaches Mangrove Mountain north of Sydney, Thursday, December 5, 2019. (AAP Image/Dan Himbrechts) NO ARCHIVING

Source: AAP

ออสเตรเลียมักมีเหตุการณ์ไฟป่าเกิดขึ้น แต่ปี 2019-2020 นั้นไม่เหมือนกับปีใดๆ

ไฟป่าได้สร้างความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยทำลายพื้นที่ไปกว่า 14 ล้านเอเคอร์ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 20 ราย และคาดว่าสัตว์ 1,000 ล้านตัวต้องจบชีวิตลง


ประเด็นสำคัญของบทความ

  • ระบบเตือนภัย 3 ระดับของออสเตรเลียได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม
  • มีสัญญาณเตือนด้วยสีที่ต่างกันภายในรูปสามเหลี่ยม ซึ่งแต่ละสีนั้นระบุถึงความรุนแรงของเหตุการณ์ คือ สีเหลืองสำหรับ “มีคำแนะนำ” สีส้มสำหรับให้ “เฝ้าระวังและดำเนินการ” และสีแดงสำหรับ “คำเตือนฉุกเฉิน”
  • การแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินเป็นระบบเตือนภัยทางโทรศัพท์แห่งชาติ ที่ใช้โดยบริการฉุกเฉินต่างๆ เพื่อส่งข้อความเป็นเสียงไปยังโทรศัพท์บ้าน และส่งข้อความเป็นตัวหนังสือไปยังโทรศัพท์มือถือ เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินที่มีแนวโน้มและเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว

ความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าในฤดูร้อนนี้มีมากพอๆ กับปีที่ผ่านมา แต่มีสิ่งสำคัญที่แตกต่างออกไปในปีนี้ ดร.ริชาร์ด ทอร์นตัน ผู้บริหารระดับสูงของ ศูนย์วิจัยความร่วมมือด้านไฟป่าและภัยธรรมชาติ (Bushfire and Natural Hazards Cooperative Research Centre) กล่าว

“ไฟป่าสามารถเริ่มขึ้นได้จากไฟผ่า หรือความสะเพร่าจากกองไฟที่ก่อขึ้นโดยผู้ตั้งแคมป์ หรือจากรถยนต์ที่จอดอยู่เหนือหญ้าที่ยาว หรือจากสิ่งใดๆ เหล่านั้น ซึ่งนั่นสามารถทำให้ผู้คนไม่ทันได้ตั้งตัว”

หลังเหตุการณ์ไฟป่าที่สร้างความเสียหายอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการไต่สวนหาความจริงสาธารณะเกี่ยวกับเหตุการณ์หายนะ ได้พิจารณาแผนสำหรับออสเตรเลีย ที่จะรับมือกับเหตุการณ์รุนแรงสุดโต่งทางสภาพอากาศทั้งหมด

โดยส่วนหนึ่งของคำแนะนำจากคณะกรรมาธิการดังกล่าว คือการเรียกร้องให้รัฐบาลของรัฐและมณฑลต่างๆ หันมาใช้ระบบแจ้งเตือนสำหรับภัยทุกประเภทในออสเตรเลีย

ผลคือ ได้มีการพัฒนาระบบเตือนภัยแห่งชาติของออสเตรเลียรูปแบบใหม่ โดย ออสเตรเลเชียน ไฟร์ แอนด์ อีเมอร์เจนซี เซอร์วิส ออทอริตีส์ เคาน์ซิล (Australasian Fire and Emergency Service Authorities Council) หรือ เอเอฟเอซี (AFAC) และได้เริ่มนำออกมาใช้งานตั้งแต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ระบบแจ้งเตือนภัย 3 ระดับ

การวิจัยโดย เอเอฟเอซี พบว่า ชุมชนอย่างกว้างขวางให้การสนับสนุนระบบแจ้งเตือนภัย 3 ระดับที่เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน
grassfires firefighter Australia
Source: Getty Images
การแจ้งเตือนภัยด้วยการใช้สีเป็นสัญลักษณ์ภายในรูป 3 เหลี่ยมดังกล่าว ได้แก่ สีเหลืองสำหรับ “มีคำแนะนำ” (Advice) สีส้มสำหรับให้ “เฝ้าระวังและดำเนินการ” (Watch and Act) และสีแดง สำหรับ “คำเตือนฉุกเฉิน” (Emergency Warning)

ระดับแรกคือ “มีคำแนะนำ” (Advice) หมายถึง ไฟป่าได้เริ่มขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีอันตรายในทันที

ระดับที่สองคือ “เฝ้าระวังและดำเนินการ” (Watch and Act) หมายถึงสภาพการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงและประชาชนควรดำเนินการเพื่อปกป้องตนเอง

ระดับที่สามคือ “คำเตือนฉุกเฉิน” (Emergency Warning) หมายถึง ประชาชนกำลังตกอยู่ในอันตราย และการดำเนินการที่ล่าช้าจะทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง

จากนี้ไป คุณจะได้เห็นสัญลักษณ์เหล่านี้บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ

หากคุณเห็นสัญลักษณ์นี้ใกล้ตัวคุณ อย่ารอช้า

จะมีข้อมูลให้เกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อปกป้องตนเอง

คุณอาจเห็นสามเหลี่ยมสีส้ม มาพร้อมกับการแจ้งให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ‘Watch and Act: Prepare to Leave’ หมายถึง ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมอพยพออกจากพื้นที่

นอกจากไฟป่าแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ระบบแจ้งเตือนภัยด้วยการใช้สีเป็นสัญลักษณ์นี้จะถูกใช้สำหรับเหตุฉุกเฉินทุกประเภท
Firefighter attending small fire
Source: Getty Images

การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เวสเทิร์นออสเตรเลียและนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีได้ตัดสินใจจะนำระบบแจ้งเตือนรูปแบบใหม่นี้มาใช้ในภายหลัง และการแจ้งเตือนสำหรับภัยอื่นๆ เช่น น้ำท่วม พายุไซโคลน และมวลอากาศร้อนจัด จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในระยะเวลาหลายเดือนข้างหน้า

คุณฟิโอนา ดันสแตน ประธานกลุ่มข้อมูลสาธารณะและการแจ้งเตือนแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการด้านอัคคีภัยและบริการฉุกเฉินแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า หัวใจของระบบเตือนภัยแห่งชาติดังกล่าว คือระบบแจ้งเตือนภัยที่ใช้สีแตกต่างกัน เพื่อบ่งบอกถึงความรุนแรงของภัยที่เกิดขึ้น

“เราได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนที่แบ่งเป็นการแจ้งเตือน 3 ระดับ เรามีระดับ“มีคำแนะนำ” (Advice) ระดับ “เฝ้าระวังและดำเนินการ” (Watch and Act) และระดับ “คำเตือนฉุกเฉิน” (Emergency Warning)”

สำหรับไฟบางสถานการณ์ อาจมีการแจ้งเตือนผ่านทางวิทยุหรือโทรทัศน์ไปพร้อมๆ กับเสียงเตือนภัย เช่น เสียงหวอหรือเสียงไซเรน

แต่สำหรับไฟป่าในบางสถานการณ์อาจเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแทบไม่มีเวลาแจ้งเตือนประชาชนเลย คุณดันสแตน กล่าว

“เมื่อเรารู้ว่าเรามีผู้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างทันทีทันใด เราจะส่งข้อความเตือนทางโทรศัพท์บ้านหรือส่งข้อความเตือนทางโทรศัพท์มือถือผ่านระบบที่เรียกว่า ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Emergency Alert)”

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Emergency Alert) นี้เป็นระบบแจ้งเตือนภัยทางโทรศัพท์ทั่วประเทศ ที่ใช้โดยบริการฉุกเฉินต่างๆ เพื่อส่งข้อความเป็นเสียงไปยังโทรศัพท์บ้าน และส่งข้อความเป็นตัวหนังสือไปยังโทรศัพท์มือถือเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นแล้ว

คุณไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนหรือแจ้งขอรับการแจ้งเตือนฉุกเฉิน ระบบนี้จะทำงานจากฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ทั่วประเทศ
Firefighter nsw rural service
Firefighter nsw rural service Source: Getty Images
การฟังวิทยุในท้องถิ่นเป็นอีกทางหนึ่งที่จะได้รับแจ้งถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากไฟป่าและสภาพอากาศที่รุนแรง เช่นเดียวกับการติดตามข้อมูลทางเว็บไซต์และทางแอปพลิเคชันของหน่วยงานด้านอัคคีภัยในท้องถิ่น คุณฟิโอนา ดันสแตน กล่าว

“หน่วยงานด้านอัคคีภัยและบริการฉุกเฉินมีเว็บไซต์ ดังนั้น ข้อมูลต่างๆ จะแสดงไว้บนเว็บไซต์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของตัวหนังสือให้อ่าน หรือเป็นแผนที่ให้สามารถดูได้ว่าพื้นที่ใดที่กำลังมีการแจ้งเตือน”

จากการที่ชาวออสเตรเลียไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ผู้คนมากมายจะมุ่งหน้าไปพักค้างแรมยังที่ตั้งค่ายพักแรมต่างๆ ทั่วประเทศ

เซอิจิ อิวาโอ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติของเซาท์ออสเตรเลีย กล่าวว่า ฝนที่ตกลงมาเมื่อไม่นานนี้ทำให้พืชพันธุ์ในป่าเติบโตขึ้นมากในพื้นที่พักผ่อนที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน

“หญ้ากำลังเติบโต ซึ่งนี่ไม่ใช่ปีที่ปกติ ดังนั้น เราจึงวิตกเกี่ยวกับเหตุไฟไหม้หญ้าแห้ง (grass fire)”

เขาขอให้ผู้ตั้งค่ายพักแรมต้องรู้ถึงข้อจำกัดในการจุดไฟตามที่อุทยานต่างๆ ที่มีป้ายแจ้งไว้ และใช้สามัญสำนึกเมื่อก่อกองไฟในที่พื้นที่ป่า

“หากลมพัดแรงเกินไป พวกเขาต้องตัดสินใจเองว่าจะไม่ก่อไฟ หรือต้องรับผิดชอบในความปลอดภัยของการก่อไฟด้วย จะต้องมีคนที่คอยเฝ้าดูกองไฟที่ก่อขึ้นมาตลอดเวลา”

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติได้ที่

เรียนรู้เกี่ยวกับการแจ้งเตือนภัยในระดับต่างๆ

ลิงก์ไปยังแอปพลิเคชันการแจ้งเตือนภัยไฟป่า:

,
bushfires firefighter female
Source: Getty Images
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 21 December 2020 1:59pm
Updated 21 December 2020 3:52pm
By Wolfgang Mueller
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS Radio


Share this with family and friends