ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นเป็นเป้าหมายโฆษณางานที่ให้ค่าแรงผิดกฎหมาย

เกือบ 9 ใน 10 ของโฆษณารับสมัครงานที่ประกาศเป็นภาษาต่างประเทศในนิวเซาท์เวลส์ ถูกพบว่า เสนอค่าจ้างให้ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน ในอัตราที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

Migrant workers

Migrant worker Source: SBS/Migrant Worker Justice Initiative

จากการสำรวจล่าสุด พบว่า ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานกำลังตกเป็นเป้าหมาย ของโฆษณารับสมัครงานที่ประกาศเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งเสนอให้ค่าจ้างที่ต่ำกว่าที่ระบุตามกฎหมาย

สหภาพแรงงาน ยูเนียนส์ นิวเซาท์เวลส์ (Unions NSW) ได้สำรวจโฆษณารับสมัครงาน 3,000 ชิ้นที่ประกาศเป็นภาษาต่างๆ เช่น จีน เกาหลี เวียดนาม เนปาล สเปน และโปรตุเกส และพบว่าร้อยละ 88 ของประกาศรับสมัครงานเหล่านั้น เสนอค่าจ้างให้ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติ

การสำรวจยังได้พบรายละเอียดที่น่าวิตก ของการพยายามเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

ร้อยละ 91 ของโฆษณารับสมัครงานเหล่านั้น ที่เป็นภาษาเวียดนาม เสนอค่าจ้างให้ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ขณะที่ร้อยละ 88 ของโฆษณาที่เป็นภาษาเกาหลีและจีนเสนอค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

ประกาศรับสมัครงานส่วนใหญ่ที่เป็นภาษาเนปาล (ร้อยละ 86) โปรตุเกส (ร้อยละ 84) และสเปน (ร้อยละ 76) เสนอให้ค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด

อัตราที่ต่ำที่สุดที่พบในประกาศรับสมัครงานต่างๆ เหล่านั้น คือ 8 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงสำหรับตำแหน่งช่างทำเล็บ ขณะที่อัตราที่ต่ำที่สุดที่พบรองลงมาคือ 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

รายงานดังกล่าว ได้แนะนำให้รัฐบาลยกเลิกจำนวนการทำงานสูงสุดที่ทำได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับนักเรียนต่างชาติ เพื่อลดความกดดันที่นักเรียนต่างชาติจะยอมทำงานโดยได้ค่าจ้างเป็นเงินสด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลีย ได้ประกาศแผนจะให้การขโมยค่าจ้างเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง ที่มีบทลงโทษเป็นการจำคุก 4 ปี

ภายใต้ข้อเสนอการปฏิรูปเหล่านี้ ผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคลธรรมดาอาจถูกปรับสูงถึง 1.1 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทที่ทำผิดอาจถูกปรับสูงถึง 5.5 ล้านดอลลาร์

บทลงโทษทางกฎหมายแพ่งสำหรับการจ่ายค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนดอาจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 เช่นกัน

ในคำแถลง โฆษกของนายคริสเตียน พอร์เทอร์ รัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ กล่าวว่า การปฏิรูปดังกล่าวจะรวมไปถึงการให้มี “มาตรการใหม่ที่สำคัญเพื่อปกป้องลูกจ้างไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ” สำหรับลูกจ้างในออสเตรเลียทั้งหมด รวมทั้ง ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน

โฆษกยังกล่าวว่า พวกเขาดำเนินการโดยตรงเกี่ยวกับปัญหาการประกาศรับสมัครงานที่ให้ค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด แม้ว่าจะไม่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา

“ด้วยการเสนอข้อห้ามใหม่ ที่ห้ามไม่ให้นายจ้างโฆษณาอัตรค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” โฆษกของนายพอร์เทอร์ กล่าว

การสำรวจดังกล่าว ดำเนินการสำรวจในเดือนธันวาคม 2019 ถึงเดือนสิงหาคม 2020 โดยโฆษณารับสมัครงานที่ถูกตรวจสอบดังกล่าวนั้นเป็นตำแหน่งงานด้านการทำความสะอาด ด้านการให้บริการต้อนรับ (hospitality) ด้านการค้าปลีก ด้านการก่อสร้าง และด้านการทำผม

โฆษณารับสมัครงานด้านอุตสาหกรรมเกษตรกรรม ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้

คุณสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำและสิทธิในที่ทำงานเป็นภาษาไทย ได้ที่เว็บไซต์ของ Fair Work Ombudsman


รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

เจ้าของสวนเล่ากว่าจะได้เชอร์รีแดงก่ำหวานฉ่ำ


Share
Published 14 December 2020 12:56pm
Updated 14 December 2020 2:05pm
By Tom Stayner
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News, AAP


Share this with family and friends