ต่อจากนี้ทีมหมู่ป่าอาจเผชิญกับอุปสรรคที่ท้าทายที่สุด

EDITOR'S CHOICE: หลังจากที่ติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ อุปสรรคต่อไปของทั้งโค้ชและผู้เล่นทั้ง 12 คนก็คือการรักษาตัว

ภาพสมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย

ภาพสมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คน Source: Reuters Image Grab/Facebook/Ekapol Chantawong

ทั่วโลกต่างใจจดจ่อกับการกู้ชีพผู้เล่นฟุตบอลเยาวชนทั้ง 12 คนและโค้ชของพวกเขาจากถ้ำที่ประเทศไทย – แต่สิ่งที่ยากลำบากที่สุดสำหรับพวกเขานั้นก็อาจเป็นช่วงการรักษาตัว

เด็กๆ 8 คนแรกที่ได้รับการกู้ชีพนั้นมีอายุระหว่าง 11 ถึง 16 ปี และในตอนนี้ก็ “มีสุขภาพดีโดยทั่วๆ ไปและยิ้มแย้มแจ่มใส” ทั้งยังรับประทานอาหารปกติได้แล้วที่โรงพยาบาล หลังจากติดอยู่ใต้ดินกว่าสองสัปดาห์ โดยมีเด็กจำนวนสองคนซึ่งสงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อที่ปอด และทุกคนนั้นยังคงถูกจำกัดในการที่จะพบตัวบิดามารดาเนื่องจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

แต่นักจิตวิทยาก็กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์ว่า ความกระทบกระเทือนทางจิตใจนั้นอาจเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่จะต้องก้าวข้ามผ่าน

ดร. เมริน เลโควิคซ์ ผู้อำนวยการหน่วยจิตวิทยาเด็กประจำคลินิกของมหาวิทยาลัยซิดนีย์กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์เมื่อวันอังคาร (11 ก.ค.) ว่า ความเสี่ยงต่อชีวิตและความปลอดภัยนั้น อาจเป็นสิ่งที่ “ยากลำบากอย่างมาก และน่าวิตกกังวล สำหรับเด็กๆ”

ทีมฟุตบอลดังกล่าวได้ติดอยู่ในเครือข่ายของถ้ำหลวง โดยปราศจากอาหาร แสงสว่างจากธรรมชาติ และไม่ทราบเลยว่าจะได้รับการช่วยเหลือเมื่อไร หรือจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่
ขณะนี้เด็กๆ ได้ออกจากถ้ำมาแล้ว (AAP)
ขณะนี้เด็กๆ ได้ออกจากถ้ำมาแล้ว (AAP) Source: AAP
แต่เธอก็เน้นย้ำในแง่มุมที่ว่า ทางทีมนั้นดูจะมีสภาวะทางจิตใจที่ดี หรือ “in good spirit” เมื่อนักประดาน้ำได้เข้าไปพบตัว

“(การที่มีสภาวะทางจิตใจที่ดี)นั้น อาจช่วยให้พวกเขาคงตัวให้อยู่ในความสงบ หรืออาจมุ่งเน้นที่จะสงวนพละกำลังเอาไว้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเมื่อคำนึงถึงระยะเวลายาวนานซึ่งพวกเขาอยู่ที่นั่น โดยมันจะช่วยป้องกันไม่ให้มีความรู้สึกสิ้นหวัง” ดร. เมริน เลโควิคซ์  กล่าว

ทั้งยังอาจช่วยให้พวกเขานั้น “พัฒนาแนวคิดต่อเรื่องของการฟื้นฟู และเรื่องความแข็งแกร่ง ในประสบการณ์ครั้งนี้”

ไม่มีประโยชน์ที่จะตื่นตระหนก

คุณไบรอัน อีวานส์ ผู้ประสานงานของคณะกรรมการกู้ชีพจากถ้ำแห่งออสเตรเลีย (The Australian Cave Rescue Commission) ก็กล่าวย้ำว่า “สภาพจิตใจที่สงบนิ่งและมุ่งมั่น” นั้นอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเด็กๆ

“ดูแล้วเหมือนกับว่า ทีมนักประดาน้ำและก็โค้ชของพวกเขานั้น ได้ทำหน้าที่อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นที่พึ่งของพวกเขา” คุณอีวานส์กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“ในการสำรวจถ้ำ คุณจำเป็นต้องมอบความไว้วางใจให้กับผู้คนรอบๆ ตัวคุณ และจากมุมมองของเด็กๆ  พวกเขาก็น่าจะรู้สึกดีต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้ยนต่อไปในข้างหน้า”

“หากคุณนั้นติดอยู่ไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ตาม มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะแก้ไขมันอย่างไร และหลุดพ้นจากสถานการณ์นั้นออกมาให้ได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะตื่นตระหนกและกระวนกระวายไปๆ มาๆ เพราะหินผาต่างๆ นั้นก็จะไม่มีวันขยับเขยื้อน”
เด็กๆ สี่คนแรกหลุดพ้นจากถ้ำและถูกนำไปยังโรงพยาบาลโดยเฮลิคอปเตอร์
เด็กๆ สี่คนแรกหลุดพ้นจากถ้ำและถูกนำไปยังโรงพยาบาลโดยเฮลิคอปเตอร์ (AAP) Source: AAP
ดร. เลโควิคซ์ คาดว่าขณะนี้เด็กๆ นั้นจะเผชิญกับการปรับตัวเป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งเธอก็กล่าวว่ามันไม่ “ผิดปรกติหรือแปลกประหลาด” หลังจากที่ได้รับความกระทบกระเทือน

“กลุ่มอาการต่างๆ [ของการปรับตัว] อาจรวมถึงความเครียดทางอารมณ์ ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ... ความเปลี่ยนแปลงต่อการอยากอาหาร ระดับการทำกิจกรรมต่างๆ ระดับของกำลังวังชา หรือต่อสมาธิ” เธออธิบาย

“ผู้คนเกือบทั้งหมดจะพบว่า กลุ่มอาการเหล่านี้จะลดน้อยลงในช่วงเดือนต่อๆ ไป”

“สำหรับบางคน พวกเขาอาจประสบกับอาการต่างๆ ซึ่งรุนแรงขึ้นหรืออาการของความทุกข์ที่ชัดเจน ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ อาจเกี่ยวพันกับภาวะความเครียดผิดปกติหลังเหตุสะเทือนใจ (post-traumatic stress disorder) ความวิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า"

“ซึ่งสำหรับบุคคลเหล่านี้ ดิฉันคิดว่ามันสำคัญอย่างมากที่จะให้มีการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีการให้ความช่วยเหลือตามที่จำเป็น เพื่อให้พวกเขานั้นเดินหน้าต่อไปได้ในการรักษาตัว”

ถึงการรักษาทางการแพทย์จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ดร. เลโควิคซ์ก็เน้นย้ำว่า การเป็นที่พึ่งโดยครอบครัวนั้น ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

“จะมีผู้คนจำนวนหลายล้านคนจากทั่วโลกซึ่งติดตามเรื่องราวนี้ และเฝ้ามองความเป็นไปด้วยความคิดอันมีความหวังและความปรารถนาดีต่อเด็กๆ กลุ่มนี้” เธอกล่าว

“มันอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเราในตอนนี้ที่จะบอกว่า จะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง และจะมีความยากลำบากอะไรบ้างสำหรับเด็กๆ ในเรื่องที่จะฟื้นฟูรักษาตัว”

“มันสำคัญอย่างมาก ที่เราพึงหตระหนักไว้ว่า พวกเขานั้นจำเป็นจะต้องกลับเข้าไปสู่สังคมของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง”


Share
Published 11 July 2018 10:09am
Updated 11 July 2018 2:58pm
By Sophie Gidley
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS News


Share this with family and friends