คุณพ่อคุณแม่คนไทยสลดเหตุกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กในไทย

คุณพ่อคุณแม่ชาวไทย กล่าวว่ามีหลายประเด็นที่นำไปสู่เหตุกราดยิงในศูนย์เด็กเล็ก ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ที่คร่าชีวิตไป 38 ราย และย้ำถึงสิ่งที่อาจช่วยป้องกันไม่ให้โศกนาฎกรรมเช่นนี้เกิดซ้ำสอง

THAILAND-SHOOTING-CHILDREN

เจ้าหน้าที่กำลังนับโลงศพที่บรรจุร่างของเหยื่อเหตุกราดยิงในศูนย์เด็กเล็กอุทัยสวรรค์ ที่โรงพยาบาลอุดรธานี Source: AFP / MANAN VATSYAYANA/AFP via Getty Images

คำเตือน: บทความนี้มีเนื้อหาที่อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่สบายใจ

เมื่อวันพุธ (6 ต.ค.) ส.ต.ท.ปัญญา คำราบ เป็นอดีตตำรวจ สภ.นาวัง ซึ่งถูกไล่ออกจากราชการในคดียาเสพติด ได้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง และนำอาวุธปืน 2 กระบอกไปก่อกราดยิง ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์ ในพื้นที่ ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และหลังจากนั้นยังก่อเหตุยิงตามเส้นทางที่หลบหนี ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 38 ราย บาดเจ็บ 12 ราย จากนั้นได้กลับไปยังบ้านพัก แล้วสังหารภรรยาและลูก ก่อนที่จะยิงตัวตาย

“พอได้ข่าวแล้ว รู้สึกห่วงลูกตัวเอง เพราะลูกไปเดย์แคร์ที่ออสเตรเลีย แล้วเวลาไปไทย เขาก็ไปเดย์แคร์ที่ไทยด้วย นึกถึงลูกเลย ความปลอดภัยอยู่ตรงไหน” คุณนัท คุณแม่คนไทยในเมลเบิร์น บอกกับเอสบีเอส ไทย
พอได้ข่าวแล้ว รู้สึกห่วงลูกตัวเอง นึกถึงลูกเลย ความปลอดภัยอยู่ตรงไหน
คุณนัท คุณแม่คนไทยในเมลเบิร์น
คุณนัท
คุณนัท คุณแม่คนไทยในเมลเบิร์น Source: Supplied
“ศูนย์ที่เกิดเหตุเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเราเข้าใจว่าน่าจะได้ตามมาตรฐาน แต่มาตรฐานไม่ได้กำหนดให้มีการใช้รหัสเข้าห้องหรือเข้าตัวตึก ซึ่งเราก็เห็นว่าห้องที่เด็กอยู่จะเป็นห้องโล่งๆ ถ้าเขาผ่านเข้ามาได้ แสดงว่ามาตรฐานไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นห้องที่ล็อกได้ หรือมีมาตรฐานเซอเคียวริตี (security)” คุณนัท กล่าว

คุณฉั่ง คุณพ่อคนไทยที่เดินทางไปๆ มาๆ ในออสเตรเลียทุกปี ก็ตั้งคำถามการเข้า-ออกของศูนย์ดูแลเด็กเล็กเช่นกัน พร้อมถามถึงความรวดเร็วในการเข้าไปจัดการเหตุการณ์ของเจ้าหน้าที่

“สถานที่ที่เกิดเหตุทำไมถึงมีคนเข้าไปก่อเหตุได้ง่ายขนาดนั้น และเมื่อเกิดเหตุแล้ว ระยะเวลาในการเข้าไปจัดการกับเหตุการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำไมถึงใช้เวลานานขนาดนั้น จนเกิดเหตุต่างๆ ตามมามากมาย” คุณฉั่ง กล่าว

คุณมิ้ม คุณแม่ลูก 2 ที่ทำงานในศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ที่เมลเบิร์นด้วย มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจสามารถป้องกันได้

“นี่เป็นความหละหลวมในความปลอดภัยของศูนย์ดูแลเด็กเล็ก และรัฐบาลก็ไม่ได้จริงจังเรื่องการปราบปรามยาเสพติด” คุณมิ้ม แสดงความเห็น
คุณมิ้ม
คุณมิ้ม คุณแม่ลูก 2 ที่ทำงานศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ที่เมลเบิร์น Source: Supplied
“ศูนย์ควรมีการตั้งประตูที่มีการแสกนหรือมีรหัส เพื่อให้คนที่สามารถเข้าได้จริงๆ เข้า และควรจะมีพนักงานหรือผู้จัดการอยู่ข้างหน้าประตู เพื่อสังเกตคนที่เข้าออกและผู้ปกครอง ควรมีการเข้มงวดด้านความปลอดภัย”

เธอกล่าวด้วยว่าปัญหายาเสพติดเป็นสิ่งที่ต้องปราบปรามอย่างเร่งด่วน
"ต้นเหตุทั้งหมดมาจากสารเสพติด ก็ต้องมีการปราบปรามอย่างจริงจังและเข้มงวดมากขึ้น เพราะเราเห็นบ่อยๆ ที่มีคนเสพยาแล้วก่อเรื่องแบบนี้มากมาย ที่ไปทำร้ายผู้คนหรือฆ่าคน"

สำหรับประเด็นเรื่องสุขภาพจิตที่เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่เหตุการณ์เศร้าสลดนี้นั้น คุณนัท คุณแม่คนไทยในเมลเบิร์น มองว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องยื่นมือเข้าไปแทรกแซง โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถืออาวุธ

“ตำรวจที่ก่อเหตุ เขามีพฤติกรรมแบบนี้ เขามีอารมณ์แบบนี้ แล้วก่อเหตุ แต่ไม่มีการทำอะไรเลย (ก่อนหน้านั้น) รัฐต้องแข็ง คือถ้าคนอย่างนี้ออกมา รัฐจะต้องบังคับพาเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ หรือไม่สามารถเป็นภัยต่อสังคมได้ คิดว่าตรงนี้รัฐยังทำได้ไม่ดีพอ เมื่อเจ้าตัวเขา เขาไม่เคยคิดหรือไม่สนใจจะไปรับการบำบัด รัฐต้องใช้วิธีบังคับ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาเป็นภัยต่อสังคม ยิ่งเขาเป็นคนในเครื่องแบบ และมีอาวุธอยู่กับตัว ยิ่งน่าจัดการก่อนคนอื่นเลย” คุณนัท แสดงความเห็น
เขาไม่เคยคิดหรือไม่สนใจจะไปรับการบำบัด รัฐต้องใช้วิธีบังคับ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาเป็นภัยต่อสังคม ยิ่งเขาเป็นคนในเครื่องแบบ และมีอาวุธอยู่กับตัว ยิ่งน่าจัดการก่อนคนอื่นเลย
คุณนัท คุณแม่คนไทยในเมลเบิร์น
จากการที่คนร้ายได้ก่อเหตุ และหลังจากนั้นได้สังหารภรรยาและลูกของตนเอง จึงทำให้มีการคาดเดาว่า อดีตนายตำรวจผู้นี้อาจมีพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัวด้วย และนี่อาจเป็นหนึ่งในสิ่งผลักดันให้เขาก่อเหตุสยองขวัญเช่นนี้

คุณฉั่ง คุณพ่อคนไทย มองว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐและสังคมควรรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้มากขึ้น
คุณฉั่ง 2.png
คุณฉั่ง คุณพ่อคนหนึ่งในประเทศไทย Source: Supplied
“กฎหมายคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัวที่เมืองไทยก็มี กฎมีความเข้มงวดและมีโทษรุนแรงพอสมควร เพียงแต่ว่าประเทศไทยไม่ได้มีการรณรงค์เหมือนอย่างในออสเตรเลียหรือประเทศอื่นๆ คือไม่มีการรณรงค์ให้คนรู้ว่าจะทำอย่างไร และอีกอย่างคือเรื่อง mindset ความประนีประนอม ในออสเตรเลียถ้าเราหรือใครเห็นความรุนแรงในครอบครัว เขาจะไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องในครอบครัวเขานะ หรือเป็นเรื่องผัวเมียนะ เราอย่าไปยุ่งกับเขาเลย แต่เขาจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องให้ความช่วยเหลือ” คุณฉั่ง กล่าวทิ้งท้าย
ในออสเตรเลียถ้าเราหรือใครเห็นความรุนแรงในครอบครัว เขาจะไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องในครอบครัวเขานะ หรือเป็นเรื่องผัวเมียนะ เราอย่าไปยุ่งกับเขาเลย แต่เขาจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องให้ความช่วยเหลือ
คุณฉั่ง คุณพ่อคนหนึ่งในประเทศไทย
หากคุณหรือคนที่คุณรู้จัก ต้องการความช่วยเหลือ โปรดติดต่อ Lifeline ที่หมายเลขโทรศัพท์ 13 11 14 หรือ Beyond Blue ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1300 22 4636

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 7 October 2022 2:51pm
Updated 7 October 2022 3:44pm
By Parisuth Sodsai, Chollada Kromyindee
Source: SBS

Share this with family and friends