ชาวออสเตรเลียที่ ‘ชื่อออกเสียงตลกๆ’ แต่ไม่ต้องการเปลี่ยนชื่อ

ผู้คนมักปฏิบัติต่อ เจียห์-ยัง โล (Jieh-Yung Lo) อย่างแตกต่างออกไป เมื่อเขาเรียกตนเองว่า เจ-โล แต่เขาไม่ต้องการใช้ชื่อเล่นนั้นอีกต่อไปแล้ว

A man smiles as he poses in front of a beach

เจียห์-ยัง มีชื่อที่ออกเสียงยาก แต่เขาไม่อยากให้คนเรียกเขาว่า เจ-โล อีกต่อไป Source: Supplied / Charis Chang

ประเด็นสำคัญ
  • ผู้คนที่มี 'ชื่อที่ออกเสียงตลก ๆ' กำลังเลือกที่จะไม่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษแทน
  • แต่บางคนที่มีชื่อที่ออกเสียงยากก็ได้รับผลกระทบด้านลบ รวมถึงการถูกกีดกันทางสังคม
  • ผู้คนใช้ความพยายามมากขึ้นในการออกเสียงชื่อคนให้ถูกต้อง และมีวิธีที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้น
ในช่วงสั้น ๆ ในวัย 20 ต้นๆ เจียห์-ยัง โล (Jieh-Yung Lo) เคยแนะนำตัวเองว่าชื่อ "เจ-โล" (J-Lo)

“มันได้รับความนิยมและทันใดนั้นผมก็เริ่มใช้ชื่อนี้ เพราะทุกคนปฏิบัติต่อผมต่างออกไปเมื่อผมเรียกตัวเองว่า "เจ-โล" เจียห์-ยัง โล บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว เจียห์-ยัง เคยเป็นและบางครั้งก็ยังคงเป็น "ผู้ชายที่มีชื่อตลก ๆ" อยู่ดี

หนุ่มวัย 37 ปีผู้นี้เริ่มเปลี่ยนไปใช้ชื่อเจ-โล เพื่อให้เรียกง่ายขึ้น เมื่อตอนที่เขาเริ่มทำโครงการหลากวัฒนธรรมที่สโมสรฟุตบอล เอสเซนดอน (Essendon Football Club) เนื่องจากผู้เล่นหลายคนไม่สามารถออกเสียงชื่อเขาได้

“ผมรู้สึกเหมือนกำแพงพังทลายลง พวกเขาเป็นมิตรมากขึ้นและพูดคุยกับผมมากขึ้น” เจียห์-ยัง เล่าถึงปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่อเขาเมื่อใช้ชื่อ เจ-โล

"โดยการใช้ชื่อเล่นที่ว่านั้น พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาสามารถเริ่มเปิดบทสนทนากับผมได้ และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้มองว่าผมเป็นผู้มาจากดินแดนอื่น หรือเป็นคนต่างชาติพันธุ์ พวกเขามองว่าผมเป็นคนหนึ่งในกลุ่มของพวกเขา"
A man speaks as he stands at a lectern
เจียห์-ยัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ Center for Asian-Australian Leadership แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หรือ เอเอ็นยู Source: Supplied
ดังนั้น เจียห์-ยัง จึงใช้ชื่อ เจ-โล เช่นกัน เมื่อเขาก้าวเข้าสู่การเมืองเป็นครั้งแรก

“คนจำนวนมากในพรรคแรงงาน ซึ่งตอนนี้ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้ว พวกเขายังคงเรียกผมว่า เจ-โล” เจียห์-ยัง กล่าว

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เจียห์-ยัง เริ่มเสียใจกับการตัดสินใจของตน

“ผมรู้สึกเหมือนกำลังทรยศต่อสิ่งล้ำค่าที่ตกทอดกันมาและอัตลักษณ์ของผม รวมทั้งทรยศต่อพ่อแม่ของผม” เจียห์-ยัง กล่าว

พ่อแม่ของเจียห์-ยัง บอกว่าชื่อของเขาหมายถึงการมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่ปล่อยให้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มารบกวนจิตใจหรือมาขัดขวางทาง

“ชื่อของเราเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ของเรามอบให้เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของภาษาจีน” เขากล่าว "ชื่อของเรามีความหมายสะท้อนถึงความปรารถนาของพ่อแม่ - ความหวังและความปรารถนาในสิ่งที่พวกเขาต้องการให้คุณมีคุณสมบัติหรือเป็นเมื่อคุณโตขึ้น"

ดังนั้นเมื่อ เจียห์-ยัง ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเขตโมนาชในปี 2008 เขาจึงต้านทานคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานบางคนในพรรคแรงงานที่จะให้เขาเปลี่ยนชื่อเป็น "เจฟฟ์" หรือ "เจสัน" เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ๆ ว่าเขาอาจจะพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก แต่เขาต้องการที่แสดงให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขาและซื่อสัตย์กับตนเอง
ชื่อของเราเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ของเรามอบให้เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของภาษาจีน
เจียห์-ยัง โล
เจียห์-ยัง ได้พิสูจน์ว่าเขาคิดถูกแล้ว เมื่อเขาได้รับการเลือกตั้งโดยใช้ชื่อจริงของเขา และด้วยวัยเพียง 23 ปี เขาก็กลายเป็นลูกชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนคนแรกที่ได้นั่งในสภาเทศบาลเขตโมนาช ในเมลเบิร์น

เขาเชื่อว่าความปรารถนาที่จะพิสูจน์ว่าคนในพรรคคิดผิดที่จะให้เขาเปลี่ยนชื่อ ทำให้เขามีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะเดินเคาะประตูบ้านของผู้คนและหาเสียงอย่างหนักที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง

“พ่อแม่ของผมภูมิใจที่ผมไม่ยอมคล้อยตามคนอื่น และผมใช้ชื่อตัวเอง” เจียห์-ยัง กล่าว

เปลี่ยนจาก 'การกลืนกลาย (assimilation) ไปสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา (authenticity)'

ทุกวันนี้ เจียห์-ยัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ Center for Asian-Australian Leadership แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หรือเอเอ็นยู กล่าวว่า ดูเหมือนว่าผู้คนมากขึ้นเลือกที่จะไม่เปลี่ยนมาใช้ชื่อภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งย้ายถิ่นฐานมาอยู่ใหม่

“ผมคิดว่าเป็นเพราะออสเตรเลียมีความหลากหลายมากขึ้นๆ มีการเปิดใจยอมรับมากขึ้น และเป็นสากลมากขึ้น” เจียห์-ยัง กล่าว
People walking across the road
“ผมคิดว่าเป็นเพราะออสเตรเลียมีความหลากหลายมากขึ้นๆ มีการเปิดใจยอมรับมากขึ้น และเป็นสากลมากขึ้น” เจียห์-ยัง โล กล่าว Source: AAP
"ผมคิดว่าผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ มีความหลงใหลและภูมิใจในมรดกและบรรพบุรุษของพวกเขามากขึ้น”

"ตอนนี้พวกเขามองว่าชื่อของตนว่าเป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศแทนที่จะพยายามแอบซ่อนมันไว้"

เจียห์-ยัง ยังเชื่อว่าได้มีการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยเปลี่ยนจาก เปลี่ยนจาก 'การกลืนกลาย (assimilation) ไปสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา (authenticity)'

“ผู้คนต่างต้องการที่จะเป็นตัวตนที่แท้จริงของตนเองมากขึ้น” เจียห์-ยัง กล่าว

คนที่มีชื่อแปลกๆ ไม่คุ้นหูอาจถูกกีดกันทางสังคมได้

ดร.ฟิโอนา สวี-ลิน ไพรซ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ มานานหลายสิบปี เพื่อช่วยพวกเขาออกเสียงชื่อนักศึกษาในพิธีสำเร็จการศึกษาและในสถานการณ์อื่นๆ

ดร.ไพรซ์ ผู้อำนวยการของ Globalize Consulting กล่าวว่า มีการยอมรับมากขึ้นถึงความสำคัญของการออกเสียงชื่อผู้คนอย่างถูกต้อง

“ถ้าคุณไม่สามารถเรียกชื่อบุคคลใดได้ มันเป็นเหมือนการกีดกันบุคคลนั้นไม่ให้มีส่วนร่วมทางสังคม” ดร.ไพรซ์ กล่าว

เธอกล่าวต่อไปว่า เธอเคยได้ยินเรื่องราวของบางคนที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษเพราะความพยายามของเพื่อนร่วมงานในการเรียกชื่อเขานั้นแย่มากจนเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเพื่อนกำลังเรียกชื่อเขาอยู่

“ฉันมีหลายคนมาบอกว่า มันทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในอาชีพการงาน เพราะเวลามีคนมาแนะนำตัวคนที่มาเยี่ยมสำนักงาน.... พวกเขาก็จะลังเล หลบเลี่ยงไม่อยากเจอ หรือหลบหน้าตามทางเดิน” ดร.ไพรซ์ กล่าว

แต่ ดร. ไพรซ์กล่าวว่าผู้คนไม่ควรคิดคาดคะเนเอาเองเกี่ยวกับผู้คนจากภูมิหลังหลากวัฒนธรรมที่มีชื่อภาษาอังกฤษ

เธอกล่าวว่าชาวจีนบางคนใช้ชื่อที่แตกต่างกันในบริบทที่ต่างกัน และบางวัฒนธรรมก็สนับสนุนให้ผู้คนใช้ชื่อใหม่เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
A woman wearing a blue jacket
ดร.ฟิโอนา สวี-ลิน ไพรซ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม Source: Supplied
“หากผู้คนเลือกที่จะเปลี่ยนชื่อของตนและพวกเขาพอใจกับการตัดสินใจนั้น มีข้อโต้แย้งว่าคุณก็ควรเคารพในสิ่งนั้น” ดร. ไพรซ์ กล่าว

ดร. ไพรซ์กล่าวว่าการมีชื่อแปลกๆ ไม่คุ้นหูยังสร้างแรงกดดันอย่างมากให้กับบุคคลที่ต้องสอนคนอื่นออกเสียงชื่อเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำ

ต้องมุ่งเน้นที่วิธีแก้ปัญหาที่ใช้งานได้จริง

ดร. ไพรซ์เชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องถือว่าการออกเสียงชื่อเป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติ มากกว่าที่จะเป็นประเด็นทางศีลธรรม ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะนิสัยของบุคคล

“มีแรงกดดันมากมายว่าผู้คนควรทำให้ดีขึ้น แต่ไม่มีความช่วยเหลือมากนักว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร” ดร. ไพรซ์ กล่าว

สำหรับเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่พูดภาษาอังกฤษเท่านั้น ดร. ไพรซ์กล่าวว่า พวกเขาอาจไม่สามารถออกเสียงบางเสียงจากภาษาที่ไม่คุ้นเคยได้ อย่าว่าแต่การจำว่าชื่อควรออกเสียงอย่างไรหลังได้ยินการออกเสียงชื่อนั้นเพียงครั้งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชื่อไม่ได้ออกเสียงตามตัวสะกด

คำแนะนำของเธอสำหรับคนที่อยากลองออกเสียงชื่อคนให้ถูกต้องคือถามคนๆ นั้นหรือคนที่รู้จักพวกเขาหรือคนที่พูดภาษาเดียวกันก่อน จดบันทึกว่าพวกเขาออกเสียงชื่อนั้นอย่างไรเพื่อให้คุณจำได้ในภายหลัง ไม่ว่าจะผ่านการบันทึกเสียงหรือโดยการเขียนตามการออกเสียง

เธอกล่าวว่า ผู้คนมักจะพอใจเป็นอย่างยิ่งที่ผู้อื่นมีความพยายามในการออกเสียงชื่อของพวกเขาให้ถูกต้อง

นอกจากนั้น คุณมักจะค้นหาการออกเสียงชื่อทางออนไลน์ได้ แม้แต่ Google Translate บางครั้งก็อาจมีประโยชน์ถ้าคุณรู้ว่าเป็นชื่อภาษาอะไร

'ชื่อที่ฟังดูตลก' กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น

เจียห์-ยัง กล่าวว่า มันเคยทำให้เขาหงุดหงิดเมื่อตอนที่เขายังเด็ก ซึ่งผู้คนมักเรียกเขาว่า "ผู้ชายที่มีชื่อฟังดูตลก" ตอนนี้เขาไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เลวร้ายเพราะมันแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยเขาก็สร้างความประทับใจที่น่าจดจำ และหวังว่าผู้คนจะรู้ชื่อของเขาเมื่อเวลาผ่านไป

นอกจากนี้ เขายังริเริ่มมาตรการบางอย่างเพื่อให้ผู้อื่นจำชื่อของเขาได้ง่ายขึ้น รวมถึงการใช้เครื่องหมายยัติภังค์ (hyphen) ในชื่อของเขา เหนื่องจากหลายๆ คนเคยคิดและยังคงคิดว่า ยัง (Yung) ในชื่อของเขาเป็นชื่อกลาง (middle name)

ในสถานการณ์ทางสังคม ผู้คนมักจะขอให้เจียห์-ยังแนะนำตัวเอง แทนที่จะให้คนอื่นเป็นคนแนะนำตัวเขา นอกจากนี้เขาใช้วิธีทำเหมือนตนเองเป็นบุคคลที่สาม ซึ่งทำให้เขามีโอกาสพูดชื่อของเขาซ้ำๆ และช่วยให้คนอื่นจดจำชื่อเขาและออกเสียงได้

ตัวอย่างเช่น เขาอาจจะเล่าเรื่องและพูดว่า 'เจียห์-ยัง ตอนนั้นคุณกำลังคิดอะไรอยู่กันแน่?'

แต่เขาก็ไม่โกรธถ้าคนอื่นออกเสียงชื่อเขาไม่ถูกต้อง

“ผมมีคนจีนเรียกชื่อผมผิดด้วย ดังนั้นผมจึงไม่คาดหวังว่าทุกคนจะเรียกชื่อผมถูก” เจียห์-ยัง กล่าว
A man smiles as he poses in front of a beach
เจียห์-ยัง โล มีชื่อที่ออกเสียงยาก แต่เขาไม่ต้องการให้คนเรียกเขาว่า เจ-โล อีกต่อไป Source: Supplied / Charis Chang
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขากล่าวว่าชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนจำนวนมากได้เล่าให้เขาฟัง ถึงการค้นพบชื่อภาษาจีนของพวกเขาอีกครั้งและยินดียอมรับชื่อตามประเพณีจีนของตน

“เพราะพวกเขาถูกบังคับให้เก็บกดมานานเมื่อโตขึ้น” เจียห์-ยัง กล่าว “ตอนนี้มีสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองและรู้สึกสบายใจกับมันได้ … และคุณสามารถรักษาสมดุลของทั้งสองอย่างได้ คุณสามารถเป็นชาวออสเตรเลียและคุณสามารถเป็นชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนได้ คุณไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง” เจียห์-ยัง กล่าว

"ตอนนี้เมื่อผมแนะนำตัวเองกับคนใหม่ๆ ... มันเป็นความกระตือรือร้นแบบเดียวกับที่ผมได้รับจากผู้คนเมื่อผมเรียกตัวเองว่าเจ-โลย้อนกลับไปในปี 2008 ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกกับผมว่า ในฐานะสังคม พวกเขากำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น”

"ผมไม่ใช่คนไม่เข้าพวก ที่มี 'ชื่อที่ฟังดูตลกๆ ' อีกต่อไป ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่มี 'ชื่อที่ฟังดูตลกๆ' เหมือนกัน"

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Published 20 February 2023 2:08pm
By Charis Chang
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends