รำลึกถึงทหารที่สิ้นชีพในการสร้างเส้นทางสายมรณะไทย-พม่า

คุณโคลิน แฮมลีย์ วัย 99 ปี และคุณนอร์แมน แอนเดอร์สัน วัย 98 ปี(SBS News)

คุณโคลิน แฮมลีย์ วัย 99 ปี และคุณนอร์แมน แอนเดอร์สัน วัย 98 ปี Source: SBS News

วันนี้ จะมีการรำลึกถึงและเชิดชูเกียรติเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรนับหมื่นคน ที่เสียชีวิตในการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า ที่สร้างเสร็จสิ้นเมื่อ 75 ปีก่อน


กด (►) ที่ภาพด้านบน เพื่อฟังเสียงรายงานข่าวเรื่องนี้เป็นภาษาไทย

หรือ กด (►) ด้านล่าง เพื่อชมวิดีโอรายงานข่าวเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ

เส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือที่รู้จักกันดีว่าเส้นทางรถไฟสายมรณะ เป็นเส้นทางรถไฟที่สร้างขึ้นโดยเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของกองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

วันที่ 16 ตุลาคมนี้ เป็นวันครบรอบ 75 ปี ที่เส้นทางรถไฟสายนี้ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ วันนี้เป็นยกย่องเชิดชูเกียรติทหารเชลยศึกที่สิ้นชีพในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะนี้

ความทรงจำอันเลวร้ายเกี่ยวกับชีวิตในฐานะทหารเชลยสงครามไม่เคยเลือนหายไปจากใจของคุณโคลิน แฮมลีย์ วัย 99 ปี และคุณนอร์แมน แอนเดอร์สัน วัย 98 ปี

คุณแอนเดอร์สัน จำได้ดีว่า ชีวิตท่ามกลางความโหดร้ายของสงครามนั้นเป็นการมีชีวิตอยู่โดยไม่รู้ชะตากรรมข้างหน้า

“ทั้งหมดที่เราทำ คือเราใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างดีที่สุดที่เราจะพูดได้เกี่ยวกับพวกทหารญี่ปุ่นคือ พวกเขาเป็นทีมคนสารเลวที่มีความเคียดแค้นพยาบาท และพวกเขาก็มาลงที่เรา” คุณแอนเดอร์สัน กล่าว
Roses and photographs laid in memory of those who died at the Hellfire Pass section of the Thai Burma railway.
Roses and photographs laid in memory of those who died at the Hellfire Pass section of the Thai Burma railway. Source: AAP
เมื่อกว่า 70 ปีก่อน คุณโคลิน แฮมลีย์ และคุณนอร์แมน แอนเดอร์สัน เป็นทหารที่สู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2

คุณแอนเดอร์สันได้รับบาดเจ็บขณะสู้รบ เพียงสองวันก่อนที่สิงคโปร์จะถูกญี่ปุ่นยึดครอง

สำหรับคุณแฮมลีย์นั้นเพิ่งไปสู้รบที่ตะวันออกกลาง แต่การเดินทางกลับบ้านของเขาอ้อมไปสู่โชคชะตาที่พลิกผัน

จากนั้น แทนที่จะเดินทางลงไปทางใต้มากขึ้น เราก็เริ่มมุ่งหน้าไปทางเหนือ แล้วเราก็เริ่มตระหนักว่า เราไม่ได้กำลังกลับบ้านที่ออสเตรเลีย แต่เรากำลังเดินทางไปที่อื่น แล้วเราก็ลงจอดที่เกาะชวา” คุณแฮมลีย์ เล่า

จากนั้น นายทหารผ่านศึกทั้งสองถูกกองทัพญี่ปุ่นจับเป็นเชลยสงคราม พร้อมกับเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรอีกว่า 60,000 คน ซึ่งรวมไปถึงเซอร์โดนัลด์ เวียรี ดันลอป และแรงงานชาวเอเชียอีกว่า 250,000 คน โดยพวกเขามีหน้าที่สร้างเส้นทางรถไฟระยะทาง 415 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศพม่า เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถนำกำลังพลเดินทางได้โดยไม่ต้องผ่านเส้นทางทะเลที่มีความเสี่ยงสูงกว่า

คุณแอนเดอร์สัน เล่าว่าเชลยสงครามและแรงงานที่สร้างทางรถไฟเส้นนี้ต่างอดอยากหิวโหย และยังถูกบังคับใช้แรงงานทั้งวันทั้งคืน แทบไม่ได้พัก

“เราดำรงชีวิตอยู่ด้วยการกินอาหารเหลวแก้วหนึ่ง ซึ่งเป็นข้าวเละๆ วันละสองมื้อ แก้วหนึ่งตอนเช้า แล้วอีกแก้วตอนบ่าย จากนั้นผมก็ล้มป่วยเป็นมาลาเรีย และโรคบิด” คุณแอนเดอร์สัน เล่าถึงความหลังอันขมขื่น

ถึงแม้ว่าทั้งสองจะไม่ได้ลงแรงก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ แต่คุณแอนเดอร์สันก็ได้ยินเรื่องราวที่เชลยสงครามเล่าให้กันฟัง เกี่ยวกับช่องเขาขาด ที่เชลยสงครามพากันเรียกว่า เฮลไฟร์ พาสส์ (Hellfire Pass) หรือช่องไฟนรก

“การใช้แรงงานก่อสร้างที่เลวร้ายที่สุดคือช่วงช่องไฟนรก ซึ่งเป็นส่วนที่พยุงทางรถไฟทั้งหมดไว้ และพวกเขาตัดสินใจว่าจะต้องทำงานเป็นสองกะ การทำงานในกะกลางคืนจึงเป็นการทำงานโดยมีแสงไฟจากกองไฟที่มีไม้ไผ่เป็นเชื้อฟืน แล้วมีบางคนพูดเล่นๆ ว่านรกคงเป็นแบบนี้นี่เอง นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อเรียกกันว่า ช่องไฟนรก” คุณแอนเดอร์สัน อธิบาย
Tens of thousands - including Allied POWs and local workers were killed during the building of the Thai-Burma railway.
Tens of thousands - including Allied POWs and local workers were killed during the building of the Thai-Burma railway. Source: AAP
คุณแฮมลีย์ เล่าต่อไปว่าเชลยสงครามที่ทำการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะมีอาหารรับประทานเพียงน้อยนิด และไม่มียารักษาโรคใดๆ จึงทำให้เชลยสงครามจำนวนไม่น้อยล้มป่วยลง

แต่มิตรภาพระหว่างพวกพ้องที่แข็งแกร่งช่วยสร้างกำลังใจให้พวกเขาสู้ต่อไป

“คุณรู้ไหม ผมได้ฉลองวันเกิดครบ 21 ปี ที่พม่าด้วยนะ สหายของผมก็ให้ของขวัญมาด้วยชิ้นหนึ่ง เขาล้วงเอาบุหรี่ออกมาซองหนึ่ง ที่มีสิบมวน ซึ่งเขาได้เก็บไว้มา 18 เดือนแล้ว และเราก็แบ่งบุหรี่ซองนั้นสูบ ในวันเกิดครบ 21 ปีของผม ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1943” คุณแฮมลีย์ ย้อนเหตุการณ์

ในวันที่ 16 ตุลาคม อดีตเชลยสงครามทั้งสองจะร่วมพิธีรำลึกถึง 75 ปี การเสร็จสิ้นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า คุณแฮมลีย์ กล่าวว่า ในวันนี้ จะมีพิธีระลึกถึงชาวออสเตรเลียกว่า 2,800 และทหารสัมพันธมิตรอีกราว 10,000 คน ที่เสียชีวิตในระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะเส้นนี้

ผมรู้สึกภูมิใจมากเกี่ยวกับการประพฤติตัวของคนของเรา ทั้งในช่วงนั้น และในช่วงหลายปีหลังจากนั้น หลังสงคราม” คุณแฮมลีย์ กล่าวทิ้งท้าย

You can read the full article in English 


Share