กราฟฟิกดีไซเนอร์ไทยผู้อยู่เบื้องหลังแอปฯ ธนาคารออสเตรเลีย

คุณ ธีรพล ธีรวรางกูร หรือคุณอ๋อ กับการทำงานจากบ้านในยุคโควิด

คุณ ธีรพล ธีรวรางกูร หรือคุณอ๋อ กับการทำงานจากบ้านในยุคโควิด Source: Supplied by Dhiraphon Dhiravarangkura

คุณ ธีรพล ธีรวรางกูร หรือคุณอ๋อ กราฟฟิกดีไซเนอร์ฝีมือฉกาจคนไทยในซิดนีย์เล่าประสบการณ์ เริ่มต้นจากนักเรียนไทยที่ลุ่มหลงการออกแบบจนได้ก้าวเข้าไปเป็น Senior Interaction Designer ที่เคยมีส่วนในการสร้างสรรค์แอปพลิเคชันของธนาคารใหญ่อย่าง CommonWealth Bank of Australia ให้ลูกค้านับล้านๆ คนใช้ และขณะนี้ทำงานที่ Macquarie Bank เขาเปิดประตูสู่งานด้านนี้ที่รายได้ดีและมีโอกาสเติบโตสูงในออสเตรเลียได้อย่างไร เอสบีเอส ไทย พาคุณไปพูดคุยกับเขา


กดฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
digital visual graffic designer image

กราฟฟิกดีไซเนอร์ไทยผู้อยู่เบื้องหลังแอปฯ ธนาคารออสเตรเลีย

SBS Thai

21/01/202216:59
คุณ ธีรพล ธีรวรางกูร หรือคุณอ๋อ อธิบายถึงลักษณะงานที่เขาทำในตำแหน่ง Senior Interaction Designer ว่าเป็นงานที่อยู่ในทีมดิจิทัลของบริษัท

“งานที่ผมทำจะเป็นงานออกแบบโดยใช้ skill (ทักษะ) ด้านกราฟฟิกดีไซน์ user interface (ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้) และจะมีทักษะทางด้าน user experience (ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน) เข้ามาประกอบด้วย แพลตฟอร์มที่ทำจะเป็นพวก mobile application (แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ) หรือเป็น responsive website (เว็บไซต์ที่แสดงผลได้บนหน้าจอหลากหลาย ทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊ก) ของบริษัท ซึ่งทำให้คนนับสิบๆ ล้านคนใช้” คุณอ๋อ กล่าว

เขาเล่าต่อไปว่า ลักษณะงานที่สำคัญของตำแหน่งนี้นอกจากความสามารถในการดีไซน์แล้ว ก็คือการเข้าใจการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานต่อแอปพลิเคชันนั้น (user experience)

“งานนี้ค่อนข้างสนุกและท้าทาย แต่ยากในเวลาเดียวกัน เพราะเราจะต้องเรียนรู้ว่า user (ผู้ใช้งาน) จะต้องตอบโต้กับองค์ประกอบต่างๆ ในแอปพลิเคชันของเราอย่างไร และเราจะต้องเป็นผู้ที่หาทางออกที่ดีที่สุดระหว่างความต้องการของธุรกิจและความต้องการของผู้ใช้”
เราจะต้องเรียนรู้ว่า user (ผู้ใช้งาน) จะต้องตอบโต้กับองค์ประกอบต่างๆ ในแอปพลิเคชันของเราอย่างไร และเราจะต้องเป็นผู้ที่หาทางออกที่ดีที่สุดระหว่างความต้องการของธุรกิจและความต้องการของผู้ใช้
คุณอ๋ออธิบายให้เห็นภาพกระบวนการคิดและการทำงานของเขาโดยยกตัวอย่างโปรเจ็ก home loan calculator หรือแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ลูกค้าคำนวณได้ว่าทางธนาคารจะให้กู้เงินซื้อบ้านได้สูงสุดเท่าไร

“จุดแรกเราจะต้องมีคำถามมาก่อนว่า เขามีรายรับ รายจ่ายเท่าไร มีภาระผูกพันมากน้อยแค่ไหน มีลูกกี่คน เขาจะซื้ออยู่เอง หรือจะลงทุน รูปแบบที่เราจะถามเขาก็อาจทำให้มันดูไม่ซับซ้อน ยิงคำถามมาทีละคำถาม แล้วเราจะต้องใช้การออกแบบ visual communication (การสื่อสารด้วยภาพ) เข้ามาช่วยด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้สี การจัดองค์ประกอบเลย์เอาต์ การใช้ตัวหนังสือหนา เพราะมันจะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายและไม่สับสน และอาจมีการใช้แอนิเมชัน (ภาพเคลื่อนไหว) เข้ามาช่วยด้วย” คุณอ๋อ อธิบาย
หลังจากที่ลูกค้าคลิกปุ่มให้คำนวณหรือ calculate แล้ว ผลลัพธ์ที่เราให้ลูกค้าอาจจะไม่ใช่แค่เป็นตัวหนังสือ แต่อาจใช้พวกกราฟ อาจจะใช้ data visualization (การแสดงข้อมูลให้เป็นรูปแบบของภาพ) ซึ่งช่วยให้ลูกค้าเข้าใจและเปรียบเทียบได้ง่ายยิ่งขึ้น
คุณอ๋อกล่าวถึงผลงานที่เขาเคยมีส่วนร่วมและสร้างความภาคภูมิใจแก่ตนเองอย่างมากคือ ผลงานแอปพลิเคชันของธนาคารแห่งหนึ่งที่ช่วยให้ "ลูกค้าทุกคน" ซึ่งอาจมีข้อจำกัดสามารถใช้งานแอปพลิเคชันนี้ได้อย่างสะดวก ซึ่งได้รับรางวัลที่หนึ่งของออสเตรเลียด้วย

“คำว่า "ทุกๆ คน" ก็คือ ทั้งผู้พิการ ทั้งคนชราที่สายตาไม่ดี เขาอาจสามารถขยายขนาดตัวหนังสือให้ใหญ่ขึ้นได้ หรือใช้ screen reader (โปรแกรมอ่านออกเสียงสิ่งที่ปรากฎอยู่บนหน้าจอ) และลูกค้ายังสามารถปรับเปลี่ยนส่วนต่างๆ บนหน้าจอให้เหมาะกับผู้ใช้ผู้นั้นโดยเฉพาะได้” คุณอ๋อ กล่าว
ธีรพล ธีรวรางกูร (อ๋อ)
ธีรพล ธีรวรางกูร (อ๋อ) Source: Supplied by Dhiraphon Dhiravarangkura
แต่กว่าที่จะได้รับความไว้วางใจจากธุรกิจใหญ่ๆ ในออสเตรเลียให้มาทำงานในตำแหน่งนี้ได้ คุณอ๋อได้สะสมประสบการณ์และสร้างชื่อให้ตนเองจากการเคยทำงานเป็น senior art director (ผู้คุมงานศิลป์อาวุโสประจำทีม) มานับสิบปีของบริษัทโฆษณาชั้นนำของโลกซึ่งมีสาขาในออสเตรเลียด้วย เช่น Ogilvy, Saatchi & Saatchi, DDB และ McCann

"สมัยก่อนคนที่เรียนจบดีไซน์มา ก็อยากจะทำงานโฆษณา อยากจะอยู่ในเอเจนซี่ แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไป บริษัทต่างๆ มีอินเฮาส์ (ทีมงานภายใน) มีทีมดิจิทัลเป็นของตัวเอง ซึ่งบริษัทพวกนั้นเป็นบริษัทที่มีงบประมาณมากๆ เขาก็จะจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาอยู่ในบริษัท แทนที่จะไปจ้างเอเจนซี่ทำ" คุณอ๋อ กล่าว พร้อมเสริมว่า ทุกวันนี้ความใฝ่ฝันในด้านการทำงานของคนที่เรียนด้านดิจิทัลดีไซน์มา คือการได้ร่วมงานกับบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลก (global tech companies) ต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, Google หรือธนาคารที่มีแผนกดิจิทัลของตนเอง
สมัยก่อนคนที่เรียนจบดีไซน์ ก็อยากจะทำงานโฆษณา ทำงานเอเจนซี่ แต่ทุกวันนี้ความใฝ่ฝันในด้านการทำงานของคนที่เรียนด้านดิจิทัลดีไซน์ คือการร่วมงานกับบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลกต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, Google หรือธนาคารที่มีแผนกดิจิทัลของตนเอง
เขาแนะนำว่า การทำงานในตำแหน่งนี้นั้น ต้องใช้ทักษะสำคัญรอบด้าน

“จริงๆ แล้วผมจบด้านศิลปะและกราฟฟิกดีไซน์มา ช่วงแรกๆ ผมก็ไม่ได้มีความรู้ด้าน user experience หรอก แต่พอได้มาทำงานในด้านนี้ มันได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้ผม ถ้าทำงานเป็น Interaction Designer ก็จะต้องมีทักษะด้านการออกแบบกราฟฟิกดีไซน์ ด้านพาณิชย์ศิลป์ และมีความรู้ด้าน user experience ซึ่งเป็นการออกแบบที่ยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง” คุณอ๋อกล่าวถึงทักษะสองส่วนแรกที่ต้องมี

ทักษะส่วนต่อมานั้นจำเป็นในการสื่อสารภายในทีมและภายในองค์กร ซึ่งจำเป็นเช่นกัน

“พวก soft skills (ทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะที่ช่วยให้เราสามารถทำงานและสื่อสารกับผู้อื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ก็สำคัญเช่นกัน เพราะองค์กรใหญ่ๆ การใช้ภาษา การสื่อสาร และการ presentation (การพูดเพื่อนำเสนอผลงาน) ก็สำคัญ เพราะต้องอธิบายคอนเซ็ปต์ อธิบาย rationale (พื้นฐานหรือที่มาของเหตุผล) ให้คนเข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรและแนวทางแก้ปัญหาที่เราแนะนำเป็นอย่างไร”

คุณอ๋อเล่าว่า ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด ที่อาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานในบางอุตสาหกรรม หรือคนทำงานในบางอาชีพมีรายได้ลดลง หรือบางคนพบความไม่แน่นอนในการทำงาน แต่งานด้านที่คุณอ๋อบอกว่า กำลังมีความต้องการคนทำงานด้านนี้มากกว่าเดิมในออสเตรเลีย และค่าตอบแทนก็ดีด้วย เพราะมีความต้องการคนทำงานด้านนี้สูง

คุณอ๋อกล่าวว่า ตนเองนั้นก็มีเส้นทางในการทำงานในออสเตรเลียเช่นเดียวกับนักเรียนไทยคนทั่วไป ที่เรียนจบในประเทศไทยแล้วเดินทางมาเรียนต่อที่นี่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและหลงใหลในการออกแบบ ทำให้มีนายจ้างในออสเตรเลียมองเห็นแววและให้โอกาสที่เป็นก้าวแรกสู่วงการ โดยเริ่มจากตำแหน่งเล็กๆ และเติบโตจนนำไปสู่อนาคตที่สดใสในวันนี้
พอผ่านงานแรกไปแล้ว งานที่สองหรืองานต่อๆ มาจะง่ายขึ้น เพราะเราจะรู้จักคนในวงการมากขึ้น แล้วเขาก็จะเป็นคนแนะนำเรา
คุณอ๋อฝากถึงคนที่อยากทำงานในด้านเดียวกับเขา ให้ต้องเตรียมพร้อมทั้งในด้านผลงานที่เคยทำและการสมัครงาน

“ถ้าอยากทำงานด้าน Interaction Design และ user experience ผมคิดว่าจุดแรกที่จะต้องมุ่งเน้นและเตรียมตัวคือ portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) ของเรา เราจะต้องทำให้เรซูเม (resume) ของเราดูมีความเป็นมืออาชีพ อาจจะให้เพื่อนฝรั่งมาช่วยตรวจภาษาก่อนที่เราจะส่งไปสมัครงาน ถ้าถูกเรียกไปสัมภาษณ์งาน ก็จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากๆ ต้องฝึกฝนบ่อยๆ และให้คิดไปเลยว่าอยากได้เงินเดือนเท่าไร อย่าไปอึกๆ อักๆ ในเวลาสัมภาษณ์ เพราะมันดูไม่มีความเป็นมืออาชีพ” คุณอ๋อ ธีรพล ธีรวรางกูร แนะนำ
ถ้าอยากทำงานด้าน Interaction Design และ user experience ผมคิดว่าจุดแรกที่จะต้องมุ่งเน้นและเตรียมตัวคือ portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) ของเรา เราจะต้องทำให้เรซูเม (resume) ของเราดูมีความเป็นมืออาชีพ
นอกจากนี้ คุณอ๋อ ยังได้กล่าวถึง คนไทยที่จบด้านกราฟฟิกดีไซน์มา แล้วอยากเข้ามาทำงานในด้านนี้ในออสเตรเลีย ที่ต้องใช้เรื่อง user experience เข้ามาประกอบด้วย จะเริ่มต้นทำอย่างไร พร้อมคุยถึงบรรยากาศการทำงานด้านนี้ในบริษัทใหญ่ๆ ในออสเตรเลีย ติดตามฟังได้ในบทสัมภาษณ์เต็มๆ ที่นี่

กดฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
digital visual graffic designer image

กราฟฟิกดีไซเนอร์ไทยผู้อยู่เบื้องหลังแอปฯ ธนาคารออสเตรเลีย

SBS Thai

21/01/202216:59
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


 


Share